เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 8: โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–26


บทที่ 8

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–26

คำนำ

หลังจากโจเซฟ สมิธได้รับนิมิตแรกในปี ค.ศ. 1820 ท่านแบ่งปันประสบการณ์กับนักเทศน์คนหนึ่งที่ไม่ยอมรับประจักษ์พยานของท่าน นอกจากนี้ คนอื่นๆ ในชุมชมยังข่มเหงเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธด้วย คนในตำแหน่งสูงต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ท่านต่อสาธารณชนโดยไม่กลัวว่าจะเกิดความยุ่งยาก แม้จะมีการต่อต้านครั้งนี้ แต่โจเซฟ สมิธยังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานของท่าน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–23

นักเทศน์และคนในตำแหน่งสูงหลายคนยั่วยุให้ข่มเหงโจเซฟ สมิธ

เริ่มชั้นเรียนโดยอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้ที่ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เล่าเกี่ยวกับการสนทนาของท่านกับชายหนุ่มคนหนึ่งในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนอ่านส่วนแรกของเรื่องนี้ ให้ชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรถ้าพวกเขาเป็นชายหนุ่มคนนี้ (ท่านอาจต้องการบอกนักเรียนว่าตอนจบของเรื่องจะอยู่ท้ายบท)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“เขาพูดว่า ‘ผมต้องคุยกับใครสักคน ผมไม่มีใครเลย …’

“ข้าพเจ้าถามว่า ‘ปัญหาของคุณคืออะไร’

“เขาตอบว่า ‘เมื่อผมเข้าร่วมศาสนจักรเกือบปีมาแล้ว คุณพ่อบอกให้ผมออกจากบ้านและอย่ากลับมาอีก และผมไม่กลับไปอีกเลย’

“เขากล่าวต่อไปว่า ‘ไม่กี่เดือนต่อมา สโมสรคริกเก็ตตัดผมออกจากรายชื่อสมาชิก ห้ามผมร่วมทีมกับผู้เล่นคนอื่นๆ ที่โตมาด้วยกัน ทั้งกับคนที่ผมสนิทและเป็นเพื่อนด้วย’

“เขากล่าวต่อจากนั้นว่า ‘เดือนที่แล้วเจ้านายไล่ผมออกจากงานเพราะผมเป็นสมาชิกของศาสนจักรนี้ และผมยังไม่ได้งานใหม่ …

“‘และเมื่อคืนหญิงสาวที่ผมออกเดทด้วยปีครึ่งบอกว่าเธอจะไม่แต่งงานกับผมเพราะผมเป็นมอรมอน’” (“The Loneliness of Leadership” [Brigham Young University devotional address, Nov. 4, 1969], 3, speeches.byu.edu)

หลังจากอ่านเรื่องนี้ ให้เชิญนักเรียนสองสามคนตอบคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเคยรู้สึกไหมว่าท่านได้รับการปฏิบัติอย่างไร้เมตตาหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะความเชื่อทางศาสนาของท่าน สถานการณ์คืออะไร (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวกับชั้นเรียนเช่นกัน)

ให้ดูรูป นิมิตแรก (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 90; ดู LDS.org ด้วย) อธิบายว่าถึงแม้โจเซฟ สมิธได้รับพรอย่างมากเพราะประจักษ์พยานที่ท่านได้รับเนื่องจากนิมิตแรก แต่ท่านถูกทดสอบอย่างแสนสาหัสเช่นกัน กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรจากการตอบสนองของโจเซฟ สมิธต่อการต่อต้านที่ท่านประสบเพราะประจักษ์พยานของท่าน

นิมิตแรก

มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นคู่ เชิญแต่ละคู่ผลัดกันอ่านออกเสียงจาก โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:21–23 ขอให้พวกเขามองหาคำและวลีที่พูดถึงการต่อต้านที่โจเซฟ สมิธเผชิญเพราะประจักษ์พยานของท่าน (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีที่พวกเขาพบ) หลังจากนักเรียนอ่านจบแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • คำหรือวลีใดสะดุดใจท่าน

  • ใครชักนำให้ข่มเหงโจเซฟ สมิธ ณ เวลานี้ (คนที่ดำรงตำแหน่งสูงในชุมชนผู้อ้างตนเป็นชาวคริสต์)

  • เมื่อท่านพิจารณาอายุและสภาวการณ์ในชีวิตของโจเซฟ สมิธ การข่มเหงจากคนเหล่านี้ยากเป็นพิเศษสำหรับโจเซฟอย่างไร

ชี้แจงว่าประโยคในตอนท้ายของ โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20 ที่เริ่มจาก “ดูเหมือน …” เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อนั้นที่เหลือในใจโดยเริ่มจากคำดังกล่าว โดยมองหาเหตุผลที่โจเซฟ สมิธให้ไว้ว่าเหตุใดท่านจึงประสบการข่มเหงนี้เมื่ออายุยังน้อย

ตามคำกล่าวของโจเซฟ สมิธ เหตุใดท่านจึงประสบการข่มเหงนี้เมื่ออายุยังน้อย (ซาตานทราบดีว่าโจเซฟ สมิธจะเป็น “ผู้ก่อกวนและผู้ก่อความรำคาญให้อาณาจักรของเขา” [โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:20])

อธิบายว่าขณะที่นักเรียนศึกษาโจเซฟ สมิธ—ประวัติวันนี้ พวกเขาจะเรียนรู้ความจริงสำคัญที่จะช่วยพวกเขารับมือกับการต่อต้านและการข่มเหงที่พวกเขาอาจประสบเพราะความเชื่อและการปฏิบัติอันชอบธรรมของพวกเขา

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–26

ถึงแม้ผู้คนจะเกลียดและข่มเหงโจเซฟ สมิธ แต่ท่านยังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานของท่าน

ชูพระคัมภีร์ของท่าน และถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านชื่นชมใครในพระคัมภีร์เพราะอุปนิสัยหรือพลังซึ่งเป็นแบบอย่างของเขา (เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายคำตอบพอสังเขป

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาชื่อคนที่ประสบการณ์ของเขาคล้ายกับประสบการณ์ของโจเซฟ สมิธ

  • เหตุใดโจเซฟ สมิธจึงสามารถนึกถึงประสบการณ์ของตนและคิดว่าเหมือนกับอัครสาวกเปาโล (เปาโลถูกหัวเราะเยาะเพราะประจักษ์พยานของท่านในพระเยซูคริสต์แต่ยังคงแน่วแน่ต่อประจักษ์ฑยานนั้น)

  • ท่านคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างไรกับโจเซฟ สมิธเมื่อมองว่าท่านมีหลายอย่างเหมือนอัครสาวกเปาโล (ดู 2 โครินธ์ 11:23–27 สำหรับการสาธยายความทุกข์ของเปาโล)

  • เราสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรบ้างจากแบบอย่างของโจเซฟ สมิธในเรื่องการศึกษาและไตร่ตรองประสบการณ์ของเปาโล (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้: ในยามยากลำบาก เราสามารถดึงพลังมาจากแบบอย่างของผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระคัมภีร์)

เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานและอธิบายว่านี่เป็นตัวอย่างของหลักธรรม ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่าหลักคำสอนและหลักธรรมของพระกิตติคุณคือความจริงพื้นฐานที่ไม่แปรเปลี่ยนซึ่งให้การนำทางสำหรับชีวิตเรา เพื่อช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงหลักธรรมนี้กับชีวิตพวกเขาและรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมดังกล่าว ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเข้มแข็งขึ้นโดยการศึกษาประสบการณ์ของผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระคัมภีร์เมื่อใด (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน)

กระตุ้นให้นักเรียนเปิดพระคัมภีร์หาพลังทุกครั้งที่พวกเขาประสบความยากลำบาก

เขียนข้อความต่อไปนี้ไว้บนกระดาน “ข้าพเจ้าเห็นนิมิต; ข้าพเจ้ารู้เรื่องนี้, และข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบเรื่องนี้, และข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:25)

  • วลีนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธเรื่องนิมิตแรก

  • ท่านสามารถได้รับพยานว่าโจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์จริงๆ อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:24–25 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่สามารถช่วยเราได้เมื่อเราเผชิญการต่อต้านหรือกำลังหวั่นไหวในประจักษ์พยานของเรา เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียน สิ่งที่พบลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ตัวอย่างของความจริงที่นักเรียนอาจระบุได้แก่:

ความรู้ที่เราได้รับจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นความจริงแม้ชาวโลกจะไม่ยอมรับ

เราควรสนใจว่าพระผู้เป็นเจ้าคิดอย่างไรกับเรามากกว่ามนุษย์คิดอย่างไร

แม้เราจะถูกเกลียดชังและถูกข่มเหงเพราะประจักษ์พยานของเรา เรายังต้องแน่วแน่ต่อประจักษ์พยานเหล่านั้น

เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันความจริงที่พวกเขาค้นพบ กระตุ้นให้พวกเขาตั้งใจฟังกันและกัน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาบันทึกความจริงที่เรียนรู้จากกันลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ขณะนักเรียนแบ่งปันความจริงที่ค้นพบ ให้ถามดังนี้

  • โจเซฟ สมิธเป็นแบบอย่างของความจริงนั้นอย่างไร

  • ความจริงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อท่านได้อย่างไร

  • การดำเนินชีวิตตามความจริงนั้นมีผลต่อการเลือกของท่านอย่างไร

อ่านออกเสียงส่วนที่เหลือของเรื่องที่ประธานฮิงค์ลีย์เล่าเกี่ยวกับชายหนุ่มในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผู้เผชิญการต่อต้านอย่างหนักเพราะความเชื่อทางศาสนาของเขา

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ข้าพเจ้าพูดว่า ‘ถ้านี่ทำให้คุณสูญเสียมากขนาดนั้น ทำไมคุณไม่ออกจากศาสนจักรแล้วกลับไปบ้านคุณพ่อของคุณ กลับไปสโมสรคริกเก็ตและกลับไปทำงานที่มีความหมายต่อคุณมากและไปหาหญิงสาวที่คุณคิดว่าคุณรักเธอ’

“เขาไม่พูดอะไรอยู่พักใหญ่ จากนั้นเขาก็เอามือกุมศีรษะ และร้องไห้สะอึกสะอื้น ในที่สุด เขาเงยหน้า น้ำตาคลอ และพูดว่า ‘ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมรู้ว่านี่เป็นความจริง และถ้านั่นทำให้ผมต้องสูญเสียชีวิต ผมก็จะไม่มีวันทิ้งไปเด็ดขาด’” (“The Loneliness of Leadership,” 3–4)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกความจริงข้อหนึ่งที่เขียนไว้และจดว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อประยุกต์ใช้ความจริงนั้นในชีวิตพวกเขา

สรุปบทเรียนโดยเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:26 ขอให้นักเรียนดูตามและระบุหลักธรรมที่โจเซฟ สมิธพบว่าเป็นความจริง

  • พรใดมาสู่โจเซฟ สมิธเพราะท่านเชื่อคำสัญญาจากยากอบ (โจเซฟเรียนรู้ว่าเมื่อเราทูลขอปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธา พระองค์จะประทานแก่เราด้วยพระทัยกว้างขวาง ท่านเรียนรู้ด้วยว่าเมื่อเราทำตามสัญญาในพระคัมภีร์ เราจะได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับความจริงเหล่านั้น)

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าเมื่อเราวางใจพระผู้เป็นเจ้า เชื่อ และปฏิบัติตามสัญญาในพระคัมภีร์ เราจะได้รับคำตอบจากพระผู้เป็นเจ้าและมีพลังเอาชนะความท้าทายที่เราเผชิญ