เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 73: หลักคำสอนและพันธสัญญา 67


บทที่ 73

หลักคำสอนและพันธสัญญา 67

คำนำ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831 เอ็ลเดอร์กลุ่มหนึ่งมาร่วมการประชุมใหญ่พิเศษในเมืองไฮรัม โอไฮโอ เรื่องหนึ่งที่พูดถึงในการประชุมใหญ่คือการตีพิมพ์การเปิดเผยที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับ ระหว่างการประชุมนี้ พระเจ้าประทานการเปิดเผยต่อโจเซฟ สมิธและทรงกำหนดให้การเปิดเผยนี้เป็นคำนำของหนังสือการเปิดเผยที่จะตีพิมพ์ การเปิดเผยนั้นเวลานี้คือภาคที่หนึ่งของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา ต่อมาในการประชุมใหญ่ พระเจ้าประทานการเปิดเผยที่เวลานี้บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 67 ในการเปิดเผยนั้น พระเจ้าตรัสกับพี่น้องชายผู้มีคำถามเรื่องภาษาของการเปิดเผยที่พระองค์ประทานแก่ท่านศาสดาพยากรณ์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:1–3

พระเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนและทรงรู้ใจเรา

ก่อนเริ่มชั้นเรียนให้เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อใดที่ท่านรู้สึกว่าพระองค์ทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน เมื่อเริ่มชั้นเรียนขอให้นักเรียนตอบคำถาม

อธิบายว่าในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1831 เอ็ลเดอร์กลุ่มหนึ่ง รวมทั้งโจเซฟ สมิธมาชุมนุมกันเพื่อสนทนาเรื่องการตีพิมพ์การเปิดเผยที่ท่านศาสดาพยากรณ์ได้รับ โจเซฟ สมิธขอให้เหล่าเอ็ลเดอร์เป็นพยานว่าการเปิดเผยมาจากพระเจ้า แต่เอ็ลเดอร์บางคนลังเลไม่กล้าทำเช่นนั้น ความลังเลดังกล่าวนำไปสู่การเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 67

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:1–2 ในใจโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน

  • ในข้อเหล่านี้พระเจ้าตรัสอะไรเกี่ยวกับความสนพระทัยของพระองค์ต่อคำสวดอ้อนวอนของเรา (ถึงแม้นักเรียนจะให้คำตอบต่างกันมากมาย แต่พึงให้พวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: พระเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเราและทรงรู้ใจเรา เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • การรู้หลักธรรมนี้จะช่วยท่านปรับปรุงการสวดอ้อนวอนของท่านได้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความสำคัญของหลักธรรมบนกระดาน ให้พวกเขาสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาและทรงทราบความปรารถนาของใจพวกเขา หลังจากนักเรียนสองสามคนมีโอกาสแบ่งปันแล้ว จงกระตุ้นให้นักเรียนสวดอ้อนวอนขอความรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาและทรงรู้ใจพวกเขา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าเหตุใดเอ็ลเดอร์บางคนจึงไม่ได้รับพรที่พระเจ้าทรงมอบให้พวกเขา

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เหตุใดความกลัวจึงอาจเป็นเหตุให้บางคนไม่ได้รับพร ขอให้นักเรียนตอบ ขณะที่พวกเขาสนทนาคำถามนี้ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราปล่อยให้ความกลัวอยู่ในใจเรา เมื่อนั้นเราอาจสูญเสียพรได้

  • ผู้คนมีความกลัวอะไรบ้างที่อาจหยุดยั้งพวกเขาไม่ให้ได้รับพร (ตัวอย่างอาจได้แก่ กลัวเข้ากับคนอื่นไม่ได้ กลัวทำผิดพลาด กลัวการเปลี่ยนชีวิต กลัวความล้มเหลว กลัวการกลับใจ และอื่นๆ)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความกลัวที่อาจขัดขวางไม่ให้พวกเขาปฏิบัติด้วยศรัทธา กระตุ้นให้นักเรียนแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าขณะแทนที่ความกลัวด้วยศรัทธา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:4–9

พระเจ้าทรงจัดหาวิธีให้เหล่าเอ็ลเดอร์ได้รับประจักษ์พยานถึงการเปิดเผยผ่านโจเซฟ สมิธ

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เหตุใดเราจึงควรสนับสนุนผู้นำศาสนจักรของเราทั้งที่เรารู้ว่าพวกท่านไม่ดีพร้อม

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 67 เชิญนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าเหล่าเอ็ลเดอร์รู้สึกอย่างไรกับการเปิดเผยที่จะตีพิมพ์ในหนังสือพระบัญญัติ (ท่านอาจต้องการเตือนความจำนักเรียนว่าการเปิดเผยของโจเซฟ สมิธชุดแรกที่รวบรวมไว้ใช้ชื่อว่าหนังสือพระบัญญัติ ในปี 1835 ศาสนจักรตีพิมพ์หนังสือภายใต้ชื่อหลักคำสอนและพันธสัญญา)

  • เหล่าเอ็ลเดอร์รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเปิดเผย (เอ็ลเดอร์หลายคน “แสดงประจักษ์พยานที่จริงจัง” ถึงความจริงของการเปิดเผย แต่ “มีการสนทนาบางอย่างเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการเปิดเผย” ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5เอ็ลเดอร์บางคนคิดว่าพวกเขาสามารถ “บรรยายได้เกินกว่าภาษา [ของโจเซฟ สมิธ]”)

อธิบายว่าเอ็ลเดอร์บางคนกังวลเรื่องภาษาที่ใช้ในการเปิดเผย พวกเขาอาจรู้สึกว่าต้องตรวจแก้การเปิดเผยอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้พร้อมตีพิมพ์ และพวกเขาอาจกลัวสิ่งที่ศัตรูของศาสนจักรจะทำกับการเปิดเผยทันทีที่ตีพิมพ์ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:4–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาพระดำรัสตอบของพระเจ้าต่อข้อกังวลเรื่องภาษาของการเปิดเผย

  • พระเจ้าทรงยอมรับอะไรเกี่ยวกับโจเซฟ สมิธ

ชี้ให้เห็นว่าทักษะด้านภาษาของโจเซฟ สมิธไม่สมบูรณ์แบบ ท่านไม่ได้มีคารมคมคายทุกครั้งที่ท่านพูด แต่กระนั้นพระเจ้ายังทรงเปิดเผยความจริงต่อท่านและทรงยอมให้ท่านกล่าวถึงความจริงนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้

  • เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่รู้ว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ต่อโจเซฟ สมิธทั้งที่พระองค์ทรงทราบว่าโจเซฟไม่สมบูรณ์แบบ

เชื้อเชิญให้นักเรียนสี่คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:6–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาคำท้าที่พระเจ้าประทานแก่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ภาษาของการเปิดเผย

  • พระเจ้าประทานคำท้าอะไรแก่ผู้ที่คิดว่าตนสามารถบรรยายได้เกินภาษาของการเปิดเผย

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจำอะไรได้จากบทก่อนเกี่ยวกับวิลเลียม อี. แม็คเลลลิน อธิบายว่าวิลเลียมตัดสินใจรับคำท้าของพระเจ้าให้เขียนการเปิดเผยเทียบเท่าการเปิดเผยที่โจเซฟ สมิธได้รับ จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้จากประวัติของโจเซฟ สมิธ

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“วิลเลียม อี. แม็คเลลลินเป็นคนฉลาดที่สุดตามความคิดเห็นของเขา มีการศึกษามากกว่าปัญญา และพยายามเขียนพระบัญญัติให้เหมือนพระบัญญัติของพระเจ้าอย่างน้อยหนึ่งข้อ แต่ล้มเหลว เพราะการเขียนในพระนามของพระเจ้าเป็นความรับผิดชอบที่น่าหวั่นเกรง เหล่าเอ็ลเดอร์และทุกคนที่นั่นซึ่งเห็นชายคนนี้พยายามอย่างไร้ผลในการเลียนแบบภาษาของพระคริสต์ ต่างเกิดศรัทธาอีกครั้งในความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ และในความจริงของพระบัญญัติตลอดจนการเปิดเผยซึ่งพระเจ้าประทานแก่ศาสนจักรผ่านการเป็นเครื่องมือของข้าพเจ้า เหล่าเอ็ลเดอร์เต็มใจแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงเหล่านั้นต่อชาวโลก” (ใน History of the Church, 1:226)

อธิบายว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ เอ็ลเดอร์หลายคนที่นั่นลงนามในเอกสารโดยให้ ประจักษ์พยานอย่างเป็นกิจลักษณะ ถึงความจริงของการเปิดเผยในหนังสือพระบัญญัติ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดโจเซฟ สมิธผู้มีขีดจำกัดด้านการศึกษาตามระบบจึงสามารถเขียนการเปิดเผยเหล่านี้แต่วิลเลียม อี. แม็คเลลลินผู้มีการศึกษาดีกลับไม่สามารถทำได้

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับการตัดสินผู้นำของเราเพราะความไม่สมบูรณ์แบบของพวกเขา

ชี้ให้ดูคำถามบนกระดานเกี่ยวกับการทำตามผู้นำที่ไม่สมบูรณ์แบบ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบไว้ใต้คำถาม

หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:10–14

พระเจ้าทรงแนะนำผู้ติดตามพระองค์เกี่ยวกับวิธีเตรียมอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พรอะไรเกิดขึ้นได้บ้างเมื่อเราอดทนกับตัวเราเองและผู้อื่น เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวต่อไปนี้ที่เล่าโดยประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ในทศวรรษ 1960 ศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเริ่มการทดลองเล็กๆ เกี่ยวกับการควบคุมตนเองของเด็กอายุสี่ขวบ เขาวางมาร์ชเมลโลชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งตรงหน้าเด็กและจากนั้นบอกเด็กๆ ว่าพวกเขากินได้ทันทีหรือถ้ารอ 15 นาที พวกเขาจะได้มาร์ชเมลโลสองชิ้น

“จากนั้นเขาปล่อยเด็กไว้ตามลำพังและเฝ้าดูอยู่หลังกระจกสองทางว่าจะเกิดอะไรขึ้น เด็กบางคนกินมาร์ชเมลโลทันที บางคนรอได้เพียงไม่กี่นาทีก่อนแพ้การล่อลวง มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์สามารถรอได้” (“จงอดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 70)

  • ท่านคิดว่าการทดลองของศาสตราจารย์ท่านนี้และสิ่งที่เขาพบจะเชื่อมโยงกับเราได้อย่างไร

  • ท่านได้รับพรอะไรบ้างเพราะท่านอดทน

เชื้อเชิญให้นักเรียนทำแผนภูมิสองคอลัมน์ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา ขอให้พวกเขาเขียนตรงคอลัมน์แรกว่า รางวัล และคอลัมน์ที่สองว่า วิธีได้รางวัล แบ่งชั้นเรียนเป็นคู่ๆ ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:10–14 กับคู่ของตนและมองหารางวัลที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาและการกระทำที่จำเป็นต่อการได้รางวัล เชื้อเชิญให้พวกเขาบันทึกคำตอบลงในคอลัมน์ที่เหมาะสมในแผนภูมิของพวกเขา

หลังจากนักเรียนมีเวลาศึกษาและสนทนาพอสมควรแล้ว ให้ใช้คำถามด้านล่างช่วยพวกเขารายงานสิ่งที่พบต่อชั้นเรียน

  • พระเจ้าทรงเสนอรางวัลอะไรให้เอ็ลเดอร์เหล่านี้

  • เหล่าเอ็ลเดอร์ต้องทำอะไรจึงจะได้รับรางวัลเหล่านี้ (ขณะที่นักเรียนกล่าวถึงวลี “ทนพระสิริของพระผู้เป็นเจ้า” ท่านอาจต้องการอธิบายว่าคำว่า ทน หมายถึงอดทนหรือคงอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง)

อธิบายว่าข้อนี้ประยุกต์ใช้กับเราทุกคน เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: หากเราปลดเปลื้องตนให้พ้นจากความริษยาและความกลัว นอบน้อมถ่อมตน และดำเนินต่อไปด้วยความอดทน เราจะสามารถทนพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าได้

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเราจึงต้องอดทนขณะพยายามมีค่าควรแก่การทนพระสิริ (อยู่ในที่ประทับ) ของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสิ่งที่ค้นพบจากการทดลองเรื่องมาร์ชเมลโลตามที่ประธานอุคท์ดอร์ฟเล่า ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นคนบริสุทธิ์ต่อพระพักตร์พระเจ้า

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“เมื่อเวลาผ่านไป [ศาสตราจารย์] เฝ้าติดตามเด็กๆ และเริ่มสังเกตความเกี่ยวเนื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ เด็กที่รอไม่ไหวจะประสบปัญหาชีวิตในเวลาต่อมาและมีปัญหาด้านพฤติกรรมมากกว่า ส่วนเด็กที่รอมักมองโลกในแง่ดีและมีแรงบันดาลใจมากกว่า ได้เกรดดีกว่า มีรายได้มากกว่า และมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่า

“… ความสามารถในการรอคอย—อดทน—เป็นอุปนิสัยสำคัญที่ทำนายความสำเร็จในชีวิตภายหน้าได้ …

“… หากปราศจากความอดทน เราจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยไม่ได้ เราจะดีพร้อมไม่ได้ โดยแท้แล้ว ความอดทนเป็นกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ที่ขัดเกลาความเข้าใจ ทำให้ความสุขลึกซึ้ง เน้นการกระทำ และหวังสันติ” (“จงอดทนต่อไป,” 70)

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการทดลองนี้เกี่ยวกับพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราอดทน

เชื้อเชิญให้นักเรียน ไตร่ตรองและสวดอ้อนวอน เกี่ยวกับด้านต่างๆ ของชีวิตที่พวกเขาต้องมีความอดทนมากขึ้นกับตนเองและผู้อื่น กระตุ้นให้พวกเขาตั้งเป้าหมายที่จะช่วยให้พวกเขามีค่าควรแก่การทนพระสิริของพระผู้เป็นเจ้าได้

บทจิวารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:3 “ความกลัวในใจเจ้า”

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“จำไว้ว่าศรัทธาและความสงสัยจะอยู่ในความคิดเดียวกันในเวลาเดียวกันไม่ได้เพราะอย่างหนึ่งจะขจัดอีกอย่างหนึ่ง จงขับความสงสัยออกไป จงปลูกฝังศรัทธา” (“เรียกให้รับใช้,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 79)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:5 “ความบกพร่องของเขาเจ้าก็รู้”

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีที่เราควรตอบสนองเมื่อเรารับรู้ความบกพร่องในคนรอบข้างดังนี้

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“อันที่จริง พระเจ้าผู้ทรงดีพร้อม พระองค์ทรงเรียกคนบกพร่องมาช่วยงานของพระองค์ พระเจ้าทรงประกาศต่อผู้ร่วมงานบางคนของโจเซฟ สมิธว่าพระองค์ทรงทราบว่าพวกเขาสังเกตเห็นความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ของโจเซฟ แม้กระนั้น พระเจ้าก็ยังทรงเป็นพยานว่าการเปิดเผยที่ประทานผ่านท่านศาสดาพยากรณ์เป็นความจริง (ดู คพ. 67:5, 9)

“ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ท่านสังเกตเห็นความอ่อนแอของกันและกัน แต่เราไม่ควรป่าวประกาศ ขอให้เราปลาบปลื้มความก้าวหน้าเล็กๆ น้อยๆ ที่เราและผู้อื่นทำ แทนที่จะยินดีในความล้มเหลว และเมื่อเกิดความผิดพลาด จงใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน ไม่ใช่บ่อนทำลาย

“ข้าพเจ้าชื่นชมคำกล่าวแบบใจกว้างเหล่านี้จากโมโรไนศาสดาพยากรณ์และบรรณาธิการที่เก่งมาก ทว่าอ่อนน้อมถ่อมตนมาก

“‘อย่ากล่าวโทษข้าพเจ้าเพราะความบกพร่องของข้าพเจ้า, หรือทั้งบิดาข้าพเจ้า, เพราะความบกพร่องของท่าน, ทั้งกล่าวโทษคนที่เขียนไว้ก่อนท่าน; แต่แทนที่จะทำเช่นนั้น จงน้อมขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า ที่พระองค์ทรง แสดงให้ความบกพร่องของเราประจักษ์แก่ท่าน, เพื่อ ท่านจะเรียนรู้ให้มีปัญญากว่าที่เรามีมา.’ (มอรมอน 9:31; เน้นตัวเอน)

“หากนั่นเป็นเจตคติของเรา คงจะมีคนทำให้เราขุ่นเคืองได้น้อยมาก

“นอกจากนี้ หากต้องเลือกระหว่างดัดนิสัยสมาชิกศาสนจักรคนอื่นๆ หรือตัวเรา มีคำถามแน่นอนว่าเราควรเริ่มที่ไหน กุญแจคือเบิกตาเราให้กว้างจะได้เห็นความผิดพลาดของตัวเราและหลับตาบ้างจะได้ไม่เห็นความผิดพลาดของผู้อื่น—ไม่ใช่ทำกลับกัน! ความบกพร่องของผู้อื่นไม่ละเว้นเราจากการที่ต้องแก้ไขข้อเสียของเราเอง” (“A Brother Offended,” Ensign, May 1982, 38–39)