เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 107: หลักคำสอนและพันธสัญญา 102


บทที่ 107

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102

คำนำ

ราวเดือนมกราคม ค.ศ. 1834 ศาสนจักรเติบโตจนมีสมาชิกเกิน 3,000 คน การเติบโตนี้ทำให้ต้องมีผู้นำมาบริหารจัดการกิจธุระของศาสนจักรเพิ่มขึ้น วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1834 มหาปุโรหิตยี่สิบสี่คนมาร่วมการประชุมใหญ่ในบ้านของโจเซฟ สมิธเพื่อจัดตั้งสภาสูงชุดแรกของศาสนจักร ออร์สัน ไฮด์ เสมียนของการประชุม บันทึกว่าสภาสูงอาจทำผิดพลาดบางอย่างในบันทึกการประชุม ด้วยเหตุนี้ สภาจึงออกเสียงให้ท่านศาสดาพยากรณ์ทำการแก้ไขที่จำเป็น โจเซฟ สมิธใช้วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ทำการตรวจแก้บันทึกเริ่มแรกเหล่านั้นด้วยการดลใจ วันต่อมาคือวันที่ 19 กุมภาพันธ์มีการแก้ไขและยอมรับบันทึกดังกล่าว ปัจจุบันบันทึกการประชุมเหล่านี้อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 102สรุปการสถาปนาสภาสูงและให้คำแนะนำแก่ฝ่ายประธานสเตคและสภาสูงเมื่อพวกเขาดำเนินการลงโทษผู้ทำการล่วงละเมิดร้ายแรง (สังเกตว่าฝ่ายประธานท้องถิ่นและสภาท้องถิ่นอาจได้รับมอบอำนาจให้ทำตามระเบียบปฏิบัติเหล่านี้เช่นกัน)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:1–5

จัดตั้งสภาสูงชุดแรกของศาสนจักร

อ่านออกเสียง เรื่องราวต่อไปนี้ ที่เล่าโดยประธานฮาโรลด์ บี. ลี

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี

“หลายปีก่อน … ข้าพเจ้ารับใช้เป็นประธานสเตค เรามีคดีร้ายแรงมากที่ต้องดำเนินการต่อหน้าสภาสูงและฝ่ายประธานสเตคอันส่งผลให้ต้องปัพพาชนียกรรมชายผู้ทำร้ายเด็กสาวที่น่ารักคนหนึ่ง หลังจากประชุมกันเกือบทั้งคืนเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องทำงานเช้าวันรุ่งขึ้น ค่อนข้างอิดโรย และเจอพี่ชายของชายคนที่เรา [พูดคุยกับเขาในสภา] เมื่อคืน ชายคนนี้บอกว่า ‘ผมอยากบอกคุณว่าน้องชายผมไม่ได้ทำผิดอย่างที่พวกคุณกล่าวหา’

“‘คุณรู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่ได้ทำผิด’ ข้าพเจ้าถาม

“‘เพราะผมสวดอ้อนวอน และพระเจ้าบอกผมว่าเขาบริสุทธิ์’ ชายคนนั้นตอบ” (Teachings of Harold B. Lee, ed. Clyde J. Williams [1996], 420–421)

  • ในความคิดเห็นของท่าน ชายคนนั้นจะได้รับคำตอบตรงข้ามกับการชี้ขาดของฝ่ายประธานสเตคและสภาสูงได้อย่างไร

อธิบายว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 102 มีหลักธรรมที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าฝ่ายประธานสเตคและสภาสูงพยายามจะรู้พระประสงค์ของพระเจ้าเกี่ยวกับวิธีช่วยสมาชิกศาสนจักรผู้ทำการล่วงละเมิดร้ายแรงอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าสภาสูงคืออะไร

  • สภาสูงคืออะไร (กลุ่มมหาปุโรหิต 12 คนที่มี “ประธานหนึ่งหรือสามคน” ควบคุม ในศาสนจักรปัจจุบัน ประธานสเตคและที่ปรึกษาของเขาควบคุมสภาสูง)

อธิบายว่าสภาสูงที่อธิบายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 102 มีบางด้านที่แตกต่างจากสภาสูงในสเตคปัจจุบัน สภาดังกล่าวมีอำนาจขี้ชาดในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอและพื้นที่โดยรอบและมีฝ่ายประธานสูงสุดควบคุม อย่างไรก็ดี เมื่อสมาชิกศาสนจักรเพิ่มขึ้น ศาสนจักรจัดตั้งสเตคและเรียกฝ่ายประธานสเตคกับสภาสูงให้บริหารงานศาสนจักรภายในเขตสเตคของตน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาจุดประสงค์ของสภาสูงและวิธีแต่งตั้ง

  • ศาสนจักรแต่งตั้งสภาสูงอย่างไร จุดประสงค์ของสภาคืออะไร

หลังจากนักเรียนตอบคำถามข้างต้นแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: สภาสูงได้รับแต่งตั้งโดยการเปิดเผยเพื่อยุติปัญหาสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในศาสนจักร อธิบายว่า “ปัญหาสำคัญๆ” โดยทั่วไปหมายถึงสถานการณ์ซึ่งสมาชิกทำการล่วงละเมิดร้ายแรง

อธิบายว่าเรื่องราวของประธานลีเมื่อเริ่มบทเรียนให้ตัวอย่างความรับผิดชอบประการหนึ่งของสภาสูง คือทำหน้าที่เป็นสภาวินัยศาสนจักรภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายประธานสเตค เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจจุดประสงค์ของสภาวินัย ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังจุดประสงค์ของสภาวินัยศาสนจักร

“การล่วงละเมิดร้ายแรงส่วนใหญ่ เช่นการฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองขั้นรุนแรง การกระทำทารุณกรรมคู่ครอง การกระทำทารุณกรรมเด็ก การล่วงประเวณี การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน การข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรมบ่อยครั้งต้องถูกลงโทษอย่างเป็นกิจจะลักษณะจากศาสนจักร การลงโทษทางวินัยอย่างเป็นทางการของศาสนจักรอาจรวมถึงการจำกัดสิทธิ์การเป็นสมาชิกในศาสนจักร หรือสูญเสียสมาชิกภาพในศาสนจักร …

“… จุดประสงค์ของสภาวินัยคือ [1] ช่วยจิตวิญญาณของผู้ล่วงละเมิด [2] คุ้มครองผู้บริสุทธิ์ และ [3] ปกป้องความบริสุทธิ์ ความดีงาม และชื่อเสียงของศาสนจักร

“การลงโทษทางวินัยของศาสนจักรเป็นกระบวนการที่ได้รับการดลใจซึ่งจะใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยผ่านกระบวนการดังกล่าวและโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ สมาชิกจะได้รับการอภัยบาป เกิดสันติสุขในใจอีกครั้ง และมีพลังหลีกเลี่ยงการล่วงละเมิดในอนาคต” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 221-222)

  • อะไรคือจุดประสงค์สามประการของสภาวินัยศาสนจักร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาวลีที่บอกว่าสมาชิกสภาสูงต้องทำการเรียกของพวกเขาให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:6–34

อรรถาธิบายระเบียบปฏิบัติของสภาวินัย

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:6–11 โดยบอกนักเรียนว่าข้อเหล่านี้อธิบายว่าสภาสูงพึงดำเนินการอย่างไรเมื่อสมาชิกสภาอยู่ไม่ครบ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:12–14 ในใจเพื่อเรียนรู้วิธีเลือกสมาชิกสภาสูงให้พูดในสภาวินัย จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • จับสลากหมายความว่าอย่างไร (ในกรณีนี้หมายความว่าสมาชิกสภาจะจับหมายเลขตั้งแต่ 1 ถึง 12)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:15–18 และขอให้ชั้นเรียนมองหาเหตุผลว่าทำไมสภาสูงจึงจับสลาก

  • เราเรียนรู้อะไรจาก ข้อ 15–16 เกี่ยวกับวิธีดำเนินการสภาวินัย (หลังจากนักเรียนตอบแล้วให้เขียนบนกระดานดังนี้: ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ สภาวินัยดำเนินการตามความเที่ยงธรรมและความยุติธรรม)

  • หากสมาชิกสภาสูงจับได้เลขคู่ระหว่างสภาวินัย เขามีความรับผิดชอบอะไร นี่แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระเจ้าทรงเป็นห่วงสมาชิกศาสนจักรที่ทำบาปร้ายแรง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:19 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่ประธานของสภาต้องทำหลังจากพิจารณาคดีความทั้งสองฝ่ายแล้ว จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • การฟังสมาชิกสภาพูดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกล่าวหาและประโยชน์ของศาสนจักรก่อนจะช่วยประธานสเตคทำการชี้ขาดอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ และให้ชั้นเรียนสังเกตสิ่งที่ประธานสภาทำนอกเหนือจากฟังความจากทั้งสองฝ่ายของคดี

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ข้าพเจ้าประสงค์จะรับรองกับท่าน … ว่าจะไม่มีการตัดสินความใดๆ จนหลังจากสวดอ้อนวอนแล้ว การดำเนินการกับสมาชิกเป็นเรื่องจริงจังเกินกว่าจะฟังผลจากการตัดสินความของมนุษย์เท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากคนๆ เดียว จะต้องมีการนำทางของพระวิญญาณ แสวงหาอย่างจริงจังและทำตามหลังจากนั้นหากต้องมีความยุติธรรม” (“In … Counsellors There Is Safety,” Ensign, Nov. 1990, 50)

  • ประธานสเตคทำอะไรนอกเหนือจากพิจารณาคดีความทั้งสองฝ่าย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19ประธานจะขอให้สภาทำอะไรหลังจากเขาทำการชี้ขาด

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:20–22 โดยอธิบายว่าข้อเหล่านี้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำหากมีความไม่แน่ใจกับการชี้ขาดนั้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:23 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและระบุสิ่งที่ควรทำในกรณีที่ประเด็นหลักคำสอนไม่กระจ่าง เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เรียนรู้

  • ความจริงอะไรสอนไว้ใน ข้อ 23 (หลังจากนักเรียนตอบแล้วให้เขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: พระเจ้าทรงเปิดเผยพระดำริของพระองค์ต่อคนที่เป็นประธานควบคุมสภาวินัย)

สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:27–34 โดยอธิบายว่าสามารถอุทธรณ์การชี้ขาดของสภาวินัยสเตคต่อฝ่ายประธานสูงสุดได้

ทบทวนเรื่องที่ประธานฮาโรลด์ บี. ลีเล่าไว้ตอนต้นบทเรียนนี้กับนักเรียน

  • ท่านจะมีความเชื่อมั่นในใครมากกว่ากัน—ฝ่ายประธานสเตคและสภาสูงหรือคนที่ท้าทายการชี้ขาดของพวกท่าน

  • จากความจริงที่ท่านเรียนรู้ในการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 102เหตุใดเราจึงสามารถเชื่อมั่นในการชี้ขาดของสภาวินัยศาสนจักร

หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวส่วนที่เหลือของประธานลี

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี

“ข้าพเจ้าขอให้เขาเข้ามาในห้องทำงานและเรานั่งลง และข้าพเจ้าถามว่า ‘คุณจะรังเกียจไหมถ้าผมจะถามคุณสักสองสามข้อ’

“เขาตอบว่า ‘ไม่เลยครับ’ …

“‘คุณอายุเท่าไหร่ครับ’

“‘สี่สิบเจ็ดครับ’

“‘คุณดำรงฐานะปุโรหิตอะไรครับ’

“เขาตอบว่าเขาคิดว่าผู้สอน

“‘คุณรักษาพระคำแห่งปัญญาหรือเปล่าครับ’

“‘เปล่าครับ’ …

“‘คุณจ่ายส่วนสิบหรือเปล่าครับ’

“เขาตอบว่า ‘เปล่าครับ’—และเขาไม่คิดจะจ่ายตราบใดที่ชายคนนั้น … เป็นอธิการของวอร์ดสามสิบสอง

“ข้าพเจ้าถามว่า ‘คุณเข้าร่วมการประชุมฐานะปุโรหิตหรือเปล่าครับ’

“เขาตอบว่า ‘เปล่าครับท่าน! ’ …

“‘คุณไม่ได้เข้าร่วมการประชุมศีลระลึกด้วยใช่ไหม’

“‘ไม่ครับท่าน’

“‘คุณสวดอ้อนวอนกับครอบครัวหรือเปล่า’ และเขาตอบว่าเปล่า

“‘คุณศึกษาพระคัมภีร์หรือเปล่า’ เขาตอบว่าเปล่า สายตาเขาไม่ดี และเขาอ่านไม่ได้เลย …

“‘แล้วตอนนี้’ ข้าพเจ้าพูด ‘ชายที่ดีที่สุดสิบห้าคนในสเตคไพโอเนียร์สวดอ้อนวอนเมื่อคืน … ส่วนคุณซึ่งไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เลย คุณบอกว่าคุณสวดอ้อนวอนและได้รับคำตอบตรงกันข้าม คุณจะอธิบายว่าอย่างไรครับ’

“จากนั้นชายคนนี้ก็ให้คำตอบที่ข้าพเจ้าคิดว่าถูกต้องที่สุด เขาตอบว่า ‘ประธานลีครับ ผมคิดว่าผมต้องได้คำตอบผิดแหล่งแน่นอน’” (Teachings of Harold B. Lee, 421–22)

ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเองว่าเหตุใดเราจึงสามารถวางใจการชี้ขาดของฝ่ายประธานสเตคและสภาสูงในศาสนจักร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102 สภาวินัยของศาสนจักร

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายเกี่ยวกับสภาวินัยของศาสนจักรดังนี้

เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“บางครั้งสมาชิกถามว่าเหตุใดศาสนจักรจึงจัดสภาวินัย จุดประสงค์มีสามด้านคือ ช่วยจิตวิญญาณของผู้ล่วงละเมิดให้รอด คุ้มครองผู้บริสุทธิ์ และพิทักษ์ความบริสุทธิ์ หลักคุณธรรม และชื่อเสียงอันดีงามของศาสนจักร

“ฝ่ายประธานสูงสุดแนะนำว่า ต้อง จัดสภาวินัยในกรณีฆาตกรรม การสมสู่ร่วมสายโลหิต [การกระทำทารุณกรรมเด็ก (ทางเพศหรือทางร่างกาย)] หรือการละทิ้งความเชื่อ ต้องจัดสภาวินัยเช่นกันเมื่อผู้นำที่โดดเด่นของศาสนาจักรทำการล่วงละเมิดร้ายแรง เมื่อผู้ล่วงละเมิดเป็นผู้ล่าที่อาจเป็นภัยคุกคามบุคคลอื่น เมื่อบุคคลนั้นแสดงให้เห็นรูปแบบของการล่วงละเมิดร้ายแรงซ้ำๆ [และ] เมื่อการล่วงละเมิดร้ายแรงรู้กันทั่วไป …

“ศาสนจักรอาจเรียกประชุมสภาวินัยเช่นกันเพื่อพิจารณาสถานะของสมาชิกในศาสนจักรหลังจากการล่วงละเมิดร้ายแรงเช่น การทำแท้ง การผ่าตัดแปลงเพศ เจตนาฆ่า การข่มขืน การใช้กำลังกระทำทารุณกรรมทางเพศ การเจตนาทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บร้ายแรงทางร่างกาย การล่วงประเวณี การผิดประเวณี ความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ … การกระทำทารุณกรรมคู่ครอง การจงใจละเลยความรับผิดชอบในครอบครัว การปล้น การย่องเบา การยักยอก การลักขโมย การขายยาผิดกฎหมาย การฉ้อโกง การให้การเท็จ หรือการสาบานเท็จ [ศาสนจักรอาจเรียกประชุมสภาวินัยเช่นกันเมื่อผู้ล่วงละเมิดมีความผิดฐานทำการหลอกลวงร้ายแรง การแถลงความเท็จ หรือรูปแบบอื่นของการฉ้อโกงหรือความไม่ซื่อสัตย์ในธุรกรรมด้านธุรกิจ]

“ศาสนจักรจะไม่เรียกประชุมสภาวินัยเพื่อไต่สวนคดีแพ่งหรือคดีอาญา การชี้ขาดของศาลแพ่งอาจจะช่วยตัดสินว่าควรเรียกประชุมสภาวินัยของศาสนจักรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การชี้ขาดของศาลแพ่งจะไม่ชี้นำการชี้ขาดของสภาวินัย

“ศาสนจักรจะไม่จัดสภาวินัยในเรื่องดังต่อไปนี้ การไม่จ่ายส่วนสิบ ไม่เชื่อฟังพระคำแห่งปัญญา ไม่เข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร หรือไม่ต้อนรับผู้สอนประจำบ้าน อีกทั้งไม่จัดสภาเพราะความล้มเหลวทางธุรกิจหรือการไม่ชำระหนี้ด้วย สภาวินัยไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างสมาชิก อีกทั้งไม่จัดให้สมาชิกที่เรียกร้องให้ลบชื่อพวกเขาออกจากบันทึกศาสนจักรหรือ [แข็งขันน้อย] …

“สภาวินัยเริ่มด้วยการสวดอ้อนวอนเปิด ตามด้วยการแถลงเหตุผลที่เรียกประชุมสภาวินัย จากนั้นจะขอให้สมาชิกบอกด้วยคำสามัญเรียบง่ายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดและอธิบายความรู้สึกของเขาและขั้นตอนการกลับใจที่เขาทำ สมาชิกอาจตอบคำถามจากผู้นำเพื่อความกระจ่าง ต่อจากนั้นจะให้เขาออกนอกห้อง และผู้นำหารือกัน สวดอ้อนวอน และทำการชี้ขาด

“สภาคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น ละเมิดพันธสัญญาพระวิหารหรือพันธสัญญาการแต่งงานหรือไม่ ใช้ตำแหน่งของความไว้วางใจและอำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดหรือไม่ ชื่อเสียง ความรุนแรง และขนาดของการล่วงละเมิด อายุ วุฒิภาวะ และประสบการณ์ของผู้ล่วงละเมิด ประโยชน์ของเหยื่อที่บริสุทธิ์และสมาชิกครอบครัวที่บริสุทธิ์ เวลาระหว่างการล่วงละเมิดกับการสารภาพ การสารภาพเป็นไปด้วยความสมัครใจหรือไม่ และหลักฐานของการกลับใจ

“คนที่นั่งในสภาต้องรักษาความลับทุกเรื่องอย่างเคร่งครัดและจัดการเรื่องนี้ด้วยวิญญาณของความรัก วัตถุประสงค์ของพวกเขาไม่ใช่การลงโทษ แต่ช่วยสมาชิกทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อยืนอย่างสะอาดต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าอีกครั้ง

“การชี้ขาดของสภาต้องทำด้วยการดลใจ สภาสามารถทำการชี้ขาดหนึ่งในสี่ต่อไปนี้ (1) ไม่ดำเนินการใดๆ (2) การภาคทัณฑ์อย่างเป็นทางการ (3) การจำกัดสิทธิ์ หรือ (4) ปัพพาชนียกรรม

“ถึงแม้จะทำการล่วงละเมิด แต่สภาอาจชี้ขาด ไม่ดำเนินการใดๆ ณ เวลานั้น (สภาจะแนะนำให้สมาชิกรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากอธิการของเขา)

การภาคทัณฑ์อย่างเป็นทางการ เป็นการลงโทษชั่วคราว เป็นวิธีช่วยให้สมาชิกกลับใจอย่างสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่ควบคุมของสภากำหนดเงื่อนไขซึ่งหากทำตามนั้นการภาคทัณฑ์จะสิ้นสุด ระหว่างการภาคทัณฑ์ อธิการหรือประธานสเตคติดต่อใกล้ชิดอยู่เสมอเพื่อช่วยให้บุคคลนั้นก้าวหน้า

“การชี้ขาดข้อสามที่สภาอาจดำเนินการคือ จำกัดสิทธิ์ สมาชิก การจำกัดสิทธิ์ [มุ่งหมายให้ทำ] ชั่วคราวเท่านั้นแต่ไม่จำเป็นต้องระยะสั้น บุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิ์ยังคงมีสมาชิกภาพในศาสนจักร พวกเขาได้รับการกระตุ้นให้เข้าร่วมการประชุมทั่วไปของศาสนจักรแต่ไม่มีสิทธิ์กล่าวคำสวดอ้อนวอนต่อหน้าสาธารณชนหรือเป็นผู้พูด พวกเขาจะไม่ดำรงตำแหน่งในศาสนจักร ไม่รับศีลระลึก ไม่ออกเสียงสนับสนุนเจ้าหน้าที่ศาสนจักร ไม่ถือใบรับรองพระวิหาร และไม่ใช้ฐานะปุโรหิต แต่พวกเขาจะจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคและยังคงสวมการ์เม้นท์พระวิหารหากรับเอ็นดาวเม้นท์แล้ว

ปัพพาชนียกรรม เป็นการตัดสินขั้นรุนแรงที่สุดที่สภาวินัยของศาสนจักรจะดำเนินการ บุคคลที่ถูกปัพพาชนียกรรมไม่ถือเป็นสมาชิกของศาสนจักรอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่ได้เอกสิทธิ์ของการเป็นสมาชิกศาสนจักร รวมถึงการสวมการ์เม้นท์พระวิหารและการจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาค พวกเขาจะเข้าร่วมการประชุมทั่วไปของศาสนจักร แต่ถูกจำกัดการมีส่วนร่วมในการประชุมเหล่านั้นเหมือนบุคคลที่ถูกจำกัดสิทธิ์ บุคคลที่ถูกปัพพาชนียกรรมได้รับการกระตุ้นให้กลับใจและดำเนินชีวิตจนมีคุณสมบัติพร้อมรับบัพติศมาในท้ายที่สุด” (“A Chance to Start Over: Church Disciplinary Councils and the Restoration of Blessings,” Ensign, Sept. 1990, 15–16)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 102:18 สิทธิ์ของผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา

ในปี 1840 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธให้คำแนะนำสำหรับสภาสูงเกี่ยวกับสิทธิ์ของคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำบาป หลักธรรมที่ท่านสอนยังคงใช้กับสภาวินัยของศาสนจักรในปัจจุบัน ท่านสอนว่า

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“สภาไม่ควรไต่สวนคดีใดโดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่อยู่ หรือไม่มีโอกาสอยู่ ทั้งพวกเขาไม่ควรพิจารณาคำร้องทุกข์ของฝ่ายหนึ่งก่อนนำคดีของเขาขึ้นมาพิจารณา ทั้งพวกเขาไม่ควรยอมให้เปิดโปงบุคคลใดต่อหน้าสภาสูงโดยที่บุคคลนั้นไม่อยู่และไม่พร้อมแก้ต่างให้ตน สมาชิกสภาต้องไม่มีอคติหรือต่อต้านบุคคลที่พวกเขาจะต้องดำเนินคดี” (ใน History of the Church, 4:154) หากคู่กรณีหรือพยานคนสำคัญไม่สามารถเข้าร่วมสภาวินัยได้ เจ้าหน้าที่ควบคุมจะขอให้เขาส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร