บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน
สถานที่ศูนย์กลางของไซอัน; หลักคำสอนและพันธสัญญา 57–59 (หน่วย 13)
เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน
บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน
บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษาบทเรียนเรื่อง “สถานที่ศูนย์กลางของไซอัน” และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 57–59 (หน่วย 13) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน
วันที่ 1 (สถานที่ศูนย์กลางของไซอัน)
ในบทนี้นักเรียนได้รับสาระโดยสังเขปของแนวคิดเรื่องไซอัน พวกเขาค้นพบว่าไซอันหมายถึงแผ่นดินและเมืองกับกลุ่มคนที่ใจบริสุทธิ์ นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับที่ตั้งของนครแห่งไซอันและไซอันต้องสร้างบนหลักธรรมแห่งความชอบธรรม นักเรียนศึกษาเช่นกันเกี่ยวกับความลำบากตรากตรำของวิสุทธิชนขณะพวกเขาพยายามสถาปนาไซอันในเทศมณฑลแจ็คสัน รัฐมิสซูรี
วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 57)
ส่วนหนึ่งของบทเรียนนี้นักเรียนเรียนรู้ว่านครแห่งไซอันจะตั้งอยู่ในเมืองอินดิเพนเดนซ์ เทศมณฑลแจ๊คสัน รัฐมิสซูรี และจะสร้างพระวิหารที่นั่น พระเจ้าประทานคำแนะนำให้แต่ละคนที่ได้รับเรียกให้ช่วยสถาปนาไซอัน เมื่อนักเรียนเรียนเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ พวกเขาค้นพบว่าเราควรใช้ข้อดีของแต่ละคนช่วยสร้างอาณาจักรของพระเจ้าตามที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ
วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58)
โดยศึกษาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เหล่าเอ็ลเดอร์ผู้เผชิญกับภารกิจใหญ่โตของการสร้างไซอัน นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: เราจะได้รับพรหากเรารักษาพระบัญญัติของพระเจ้า รางวัลนิรันดร์ของเราจะยิ่งใหญ่กว่าหากเรายังคงซื่อสัตย์ในความยากลำบาก และหากเราใช้สิทธิ์เสรีทำสิ่งที่ทำให้เกิดความชอบธรรม เราจะได้รับรางวัล นักเรียนใคร่ครวญสัญญาของพระเจ้าเช่นกันว่าหากเรากลับใจจากบาปของเรา พระเจ้าจะทรงให้อภัยและไม่จำบาปของเราอีก
วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59)
โดยศึกษาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่วิสุทธิชนผู้เดินทางไปมิสซูรี นักเรียนเรียนรู้ว่าเราต้องรักพระผู้เป็นเจ้าสุดใจ สุดพลัง ความนึกคิด และพละกำลังของเรา และหากเรารักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ นั่นจะช่วยเราต่อต้านการล่อลวงและเอาชนะบาป พวกเขาเรียนรู้เช่นกันว่าเราทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงขุ่นเคืองเมื่อเราไม่แสดงความสำนึกคุณต่อพระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ นักเรียนระบุพรที่พวกเขาจะได้รับหากพวกเขารักษาพระบัญญัติของพระเจ้า
คำนำ
บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมเรื่องการกลับใจดีขึ้น ขณะนักเรียนเรียนหลักธรรมเหล่านี้ พวกเขาจะได้พิจารณาว่าพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อกลับใจและสัญญาการให้อภัยของพระเจ้าจะเป็นพรแก่ชีวิตพวกเขาได้อย่างไร แม้จะกล่าวถึงเนื้อหานี้บ้างในบทเรียนประจำวัน แต่บทนี้เปิดโอกาสให้ท่านได้ช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมเรื่องการกลับใจดีขึ้นและวิธีประยุกต์ใช้ในชีวิตพวกเขา
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:34–43
พระเจ้าประทานคำแนะนำเกี่ยวกับไซอันและทรงสอนหลักธรรมเรื่องการกลับใจ
ก่อนชั้นเรียนเริ่ม ให้เขียนคำถามไว้บนกระดานดังนี้ กลับใจหมายถึงอะไร ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันกลับใจอย่างสมบูรณ์ เมื่อเริ่มชั้นเรียนให้ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะตอบคำถามอย่างไร
เขียนชื่อต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: มาร์ติน แฮร์ริส, วิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์ส และ ซีบา พีเตอร์สัน
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:38–41, 60 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ชายเหล่านี้ขณะพวกเขาเตรียมสร้างไซอัน ขณะนักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ ให้เขียนคำตอบของพวกเขาไว้ใต้ชื่อที่เหมาะสมบนกระดาน
-
พระเจ้าตรัสว่ามาร์ติน แฮร์ริสทำบาปอะไร พระเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำอะไร
-
พระเจ้าตรัสว่าวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพ์สทำบาปอะไร พระเจ้าทรงบัญชาให้เขาทำอะไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าวลี “หมายมั่นจะลำพอง” [ข้อ 41] ไม่ได้หมายถึงทำดีที่สุดหรือพยายามปรับปรุง แต่วลีนี้กล่าวถึงความปรารถนาที่เต็มไปด้วยความจองหองและไม่ชอบธรรมเพื่อให้ดูดีกว่าหรือสำคัญกว่าคนอื่นๆ)
-
ซีบา พีเตอร์สันกำลังพยายามทำอะไรกับบาปของเขา
ชี้ให้เห็นว่าบาปของคนเหล่านี้ส่อเค้าว่าจะขัดขวางไม่ให้พวกเขาช่วยสร้างไซอัน
-
มีวิธีใดบ้างที่บาปของเราอาจจำกัดความสามารถของเราในการรับใช้พระเจ้า
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:42 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการกลับใจ
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ พระเจ้าทรงสัญญาอะไรหากเรากลับใจจากบาปของเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรากลับใจจากบาปของเรา พระเจ้าจะทรงให้อภัยและไม่จำบาปของเราอีก เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำที่สอนหลักธรรมนี้ใน ข้อ 42)
-
สัญญานี้ประยุกต์ใช้กับบาปใดของเรา (บาปทั้งหมด)
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังคำหรือวลีที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมที่เขียนไว้บนกระดาน
“ไม่ว่าการล่วงละเมิดนั้นจะเป็นอะไร และไม่ว่าการกระทำของเราจะทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดเพียงใด ความผิดนั้นจะถูกขจัดออกไป สำหรับข้าพเจ้าแล้วข้อความไพเราะที่สุดในพระคัมภีร์ทั้งหมดคือเมื่อพระเจ้าตรัสว่า ‘ดูเถิด, คนที่กลับใจจากบาปของเขา, คนคนนั้นได้รับการให้อภัย, และเรา, พระเจ้า, ไม่จำมันอีก’ [คพ. 58:42]
“นั่นคือคำสัญญาของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และการชดใช้” (“การชดใช้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 77)
-
การรู้ว่าท่านสามารถได้รับการให้อภัยบาปทั้งหมดเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร
อธิบายว่าบางคนเข้าใจผิดคิดว่าหากพวกเขายังจำบาปของตนเองได้แสดงว่าพวกเขายังไม่ได้กลับใจอย่างสมบูรณ์ รับรองกับพวกเขาว่าความจำเรื่องบาปของพวกเขาจะช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงการทำผิดซ้ำ
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานฮาโรลด์ บี. ลี ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ท่านสอนเกี่ยวกับความสงบในมโนธรรมที่เกิดขึ้นได้ผ่านการกลับใจ
“ถ้าเวลามาถึงเมื่อท่านได้ทำทั้งหมดที่ทำได้เพื่อกลับใจจากบาปของท่าน ไม่ว่าท่านเป็นใคร ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใด และได้ทำการแก้ไขและชดเชยจนสุดความสามารถของท่านแล้ว ถ้าสิ่งนั้นจะส่งผลต่อสถานภาพของท่านในศาสนจักรและท่านได้ไปพบเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกต้องเหมาะสม เมื่อนั้นท่านจะต้องการได้รับคำตอบยืนยันว่าพระเจ้าทรงยอมรับท่านหรือไม่ ในการค้นหาจิตวิญญาณของตน หากท่านแสวงหาและพบความสงบในมโนธรรม นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพระเจ้าทรงยอมรับการกลับใจของท่านแล้ว” (Stand Ye in Holy Places [1974], 185)
ชี้ให้เห็นว่าสัญญาที่เขียนไว้บนกระดานมีเงื่อนไข เราจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าต่อเมื่อเราทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อกลับใจจากบาปของเราอย่างสมบูรณ์
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากจุลสาร เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งเพิ่มเติมที่พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหมายของการกลับใจ
“การกลับใจเป็นมากกว่าการเพียงแต่ยอมรับว่าท่านทำผิด การกลับใจคือการเปลี่ยนแปลงความคิดและใจ รวมถึงการหันหลังให้บาปและการหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัย ความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์อย่างจริงใจผลักดันให้เกิดการกลับใจ” (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [จุลสาร, 2011], 28)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:43 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสองสิ่งที่เราต้องทำเพื่อกลับใจจากบาปของเราอย่างสมบูรณ์
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อนี้ สิ่งที่เราต้องทำสองสิ่งมีอะไรบ้างเพื่อกลับใจจากบาปของเราอย่างสมบูรณ์ (เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เพื่อกลับใจ เราต้องสารภาพและละทิ้งบาปของเรา)
-
หลักคำสอนนี้่ช่วยเราอย่างไรในการตอบคำถามที่ว่า “ฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันกลับใจอย่างสมบูรณ์” (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการสารภาพและการละทิ้งบาปจำเป็นต่อการกลับใจอย่างสมบูรณ์)
-
การสารภาพบาปหมายความว่าอย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าการสารภาพบาปหมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“การสารภาพและการละทิ้งเป็นกฎเกณฑ์ที่มีพลัง เป็นยิ่งกว่าการพูดแบบขอไปทีว่า ‘ฉันยอมรับผิด ฉันเสียใจ’ การสารภาพบาปเป็นการยอมรับจากส่วนลึกและบางครั้งด้วยความเจ็บปวดว่าเราผิดพลาดและทำผิดต่อพระผู้เป็นเจ้าและมนุษย์” (“ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 50)
-
การสารภาพบาปของเราช่วยเราหันหลังให้บาปและหันมาหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัยอย่างไร
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องนี้ นักเรียนอาจสงสัยว่าต้องสารภาพบาปอะไรบ้างและกับใคร อธิบายว่าเราต้องสารภาพบาปทั้งหมดต่อพระบิดาบนสวรรค์ บาปร้ายแรง เช่นการล่วงละเมิดทางเพศ (รวมถึงการใช้สื่อลามก) ควรสารภาพต่ออธิการหรือประธานสาขา
ให้นักเรียนดูหลักคำสอนสุดท้ายที่ท่านเขียนไว้บนกระดาน
-
การละทิ้งบาปของเราหมายความว่าอย่างไร (หันหลังให้บาปและหยุดทำบาปโดยสิ้นเชิง)
เป็นพยานถึงการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดตลอดจนหลักธรรมเรื่องการกลับใจและการให้อภัยที่ท่านสนทนาไปแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่ามีบาปที่พวกเขาต้องกลับใจหรือไม่ และกระตุ้นให้พวกเขากลับใจโดยปฏิบัติตามความจริงที่พวกเขาได้เรียนรู้
เตือนความจำนักเรียนว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:42–43 เป็นข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานว่าพวกเขาทำอย่างไรขณะพยายามท่องจำข้อนี้
หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–64)
เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 60–64ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาดังนี้: หากคนหนึ่งไม่ให้อภัยความผิดที่อีกคนหนึ่งทำ ใครรับโทษบาปที่ใหญ่หลวงกว่า เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาตอบสนองอย่างไรเมื่อถูกการกระทำหรือถูกคำพูดของผู้อื่นทำร้าย แม้ในกรณีร้ายแรงที่สุด พระเจ้าทรงเรียกร้องเราให้อภัยใคร อธิบายว่าในหน่วยถัดไปนักเรียนจะเรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้และวิธีตอบสนองการทำผิดของผู้อื่น