บทที่ 84
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81
คำนำ
วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1832 พระเจ้าทรงเรียกเจสส์ กอสและซิดนีย์ ริกดันให้รับใช้เป็นที่ปรึกษาของโจเซฟ สมิธ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา วันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1832 พระเจ้าประทานการเปิดเผยที่บันทึกใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 81 ในการเปิดเผยนี้ พระองค์ตรัสถึงบทบาทของที่ปรึกษาประธานศาสนจักรและทรงสรุปพรสำหรับคนที่ซื่อสัตย์ในการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขา เจสส์ กอสไม่ซื่อสัตย์เหมือนเดิม และพระเจ้าทรงเรียกเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ซึ่งเวลานี้ชื่อของเขาปรากฏใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 81ให้ดำรงตำแหน่งแทนบราเดอร์กอสในฝ่ายประธาน ณ เวลาของการเปิดเผยนี้ เราเรียกประธานศาสนจักรและที่ปรึกษาว่าฝ่ายประธานฐานะปุโรหิตระดับสูง ต้น ค.ศ. 1834 การเปิดเผยเรียกประธานและที่ปรึกษาของเขาว่าฝ่ายประธานสูงสุด (ดู คพ. 102:26–28)
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:1–7
พระเจ้าทรงอธิบายบทบาทของที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด
ก่อนชั้นเรียน ให้เขียน คำถามต่อไปนี้ ไว้บนกระดาน
เริ่มชั้นเรียนโดยเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามบนกระดาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนานี้ท่านอาจจะอธิบายว่าถึงแม้ผู้นำศาสนจักรจะได้รับการดลใจให้เรียกสมาชิกศาสนจักรคนหนึ่งดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับบุคคลที่รับการเรียกว่าเขาจะตอบรับอย่างซื่อสัตย์หรือไม่
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 81 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาตัวอย่างของคนที่พระเจ้าทรงเรียกแต่ไม่ซื่อสัตย์ต่อการเรียกของเขา
-
ตอนแรกพระเจ้าทรงเรียกใครเป็นที่ปรึกษาของโจเซฟ สมิธในฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูง
-
เหตุใดเจสส์ กอสจึงสูญเสียการเรียกของเขา
อธิบายว่าเจสส์ กอสได้รับเรียกให้รับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูงเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1832 วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1832 เขาเริ่มงานเผยแผ่กับเซเบดี คอลทริน ขณะทำงานเผยแผ่ครั้งนี้ บราเดอร์กอสพูดคุยกับภรรยาและพยายามโน้มน้าวเธอให้เชื่อความจริง แต่เธอไม่ยอมเข้าร่วมศาสนจักร ต่อมาไม่นาน บราเดอร์คอลทรินป่วยหนักและกลับไปเคิร์ทแลนด์ น่าเสียดายที่บราเดอร์กอสไม่ทำงานเผยแผ่ให้เสร็จสมบูรณ์และไม่ซื่อสัตย์ในศาสนจักร
-
ตามคำนำภาค พระเจ้าทรงเรียกใครแทนเจสส์ กอส
ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีต่อไปนี้ในคำนำภาค “การเปิดเผยนี้ … ควรถือเป็นก้าวหนึ่งสู่การจัดตั้งฝ่ายประธานสูงสุดอย่างเป็นทางการ” อธิบายว่าศาสนจักรไม่ได้เรียกประธานศาสนจักรและที่ปรึกษาของเขา (ฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูง) ว่า “ฝ่ายประธานสูงสุด” จนถึง ค.ศ. 1834 (ดู คพ. 102:26–28) พระเจ้าไม่ทรงเปิดเผยการจัดตั้งศาสนจักรต่อท่านศาสดาพยากรณ์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในคราวเดียว พระองค์ทรงเปิดเผยการจัดตั้งส่วนต่างๆ ตามความจำเป็นที่เกิดขึ้นและเมื่อวิสุทธิชนพร้อมรับ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์เกี่ยวกับฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูง
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 ฝ่ายประธานถืออะไร (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้: ฝ่ายประธานของฐานะปุโรหิตระดับสูงถือกุญแจทั้งหลายแห่งอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีที่สอนความจริงนี้)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักคำสอนนี้ เตือนความจำพวกเขาว่า “กุญแจฐานะปุโรหิตคือสิทธิอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ผู้นำฐานะปุโรหิตกำกับดูแล ควบคุม และ ปกครองการใช้ฐานะปุโรหิตของพระองค์บนแผ่นดินโลก ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตเป็นผู้ควบคุมการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต (ดู คพ. 65:2; 81:2; 124:123) ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตมีสิทธิ์ควบคุมดูแลและกำกับดูแลศาสนจักรภายในขอบเขตอำนาจที่กำหนดไว้
“พระเยซูคริสต์ทรงถือกุญแจฐานะปุโรหิตทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ทรงประสาทสุญแจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกให้อัครสาวกแต่ละคนของพระองค์ อัครสาวกผู้มีอาวุโสสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งได้แก่ประธานศาสนจักรเป็นเพียงคนเดียวบนแผ่นดินโลกที่มีสิทธิอำนาจใช้กุญแจฐานะปุโรหิตทั้งปวง” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 2.1.1)
-
กุญแจของฐานะปุโรหิตเปิดทางให้ฝ่ายประธานสูงสุดทำอะไรได้บ้าง (กำกับดูแลงานของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก)
ให้ดูภาพฝ่ายประธานสูงสุดชุดปัจจุบันหรือภาพของฝ่ายประธานสูงสุดแต่ละท่าน ถามนักเรียนว่าพวกเขาสามารถบอกชื่อฝ่ายประธานสูงสุดได้หรือไม่
เขียนหัวข้อต่อไปนี้บนกระดาน: ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด
-
จากความเข้าใจของท่าน ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดมีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:3 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์เกี่ยวกับการเรียกเขาเป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์พึงทำอะไรในฐานะที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด (เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบไว้บนกระดานใต้หัวข้อ ท่านอาจต้องการอธิบายว่าที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดสนับสนุนและให้กำลังใจประธาน)
-
ท่านคิดว่าสำหรับที่ปรึกษาแล้ว “ซื่อสัตย์ในการปรึกษา” ประธานหมายความว่าอย่างไร
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าซื่อสัตย์ในการปรึกษาหมายความว่าอย่างไร ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าที่ปรึกษาในฝ่ายประธานควรปรึกษากับประธานอย่างไร
“[ที่ปรึกษา] เป็น ผู้ช่วยประธานของเขา …
“ในฐานะผู้ช่วย ที่ปรึกษาจึงไม่ใช่ประธาน เขาไม่ยึดครองความรับผิดชอบและทำเกินหน้าประธานของเขา
“ในการประชุมฝ่ายประธาน ที่ปรึกษาแต่ละคนมีอิสระที่จะพูดแสดงความคิดของพวกเขาทุกเรื่องที่อยู่ตรงหน้าฝ่ายประธาน แต่ประธานคือผู้มีสิทธิ์ทำการตัดสินใจ และที่ปรึกษาของเขามีหน้าที่สนับสนุนเขาในการตัดสินใจนั้น จากนั้นการตัดสินใจของเขากลายเป็นการตัดสินใจของฝ่ายประธาน ไม่ว่าความคิดก่อนหน้านี้ของพวกเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม” (“In … Counsellors There Is Safety,” Ensign, Nov. 1990, 49)
-
ตามที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าว ที่ปรึกษาในฝ่ายประธานควรปรึกษากับประธานอย่างไร
-
การเข้าใจวิธีซื่อสัตย์ในการปรึกษาจะช่วยคนที่กำลังรับใช้เป็นที่ปรึกษาในฝายประธานในศาสนจักรได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาเคยรับใช้ (หรือเคยเห็นคนอื่นรับใช้)ในฝ่ายประธานในศาสนจักร (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าฝ่ายอธิการทำหน้าที่ฝ่ายประธานของวอร์ด) ขอให้พวกเขาพิจารณาว่าพวกเขาหรือคนอื่นๆ เคยทำอะไรเพื่อให้การสนับสนุนฝ่ายประธานในโควรัมฐานะปุโรหิตหรือชั้นเรียนเยาวชนหญิงของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:4 ในใจโดยมองหาสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์หากเขาจะซื่อสัตย์ในการเรียกของเขา ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “ส่งเสริมรัศมีภาพของพระเจ้า … ของเจ้า” ในบริบทนี้บอกเป็นนัยว่าเราสามารถช่วยนำผู้คนให้ถวายเกียรติและนมัสการพระเจ้าโดยซื่อสัตย์ในการเรียกของเรา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4เราจะทำอะไรได้บ้างหากเราซื่อสัตย์ในการเรียกของเรา (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกัน แต่คำตอบของพวกเขาควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเราซื่อสัตย์ในการเรียกของเรา เราสามารถทำความดีมากที่สุดต่อผู้อื่นและส่งเสริมรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า ใช้คำพูดของนักเรียน เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
-
การรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในการเรียกของศาสนจักรจะช่วยให้เราทำความดีอันประเสริฐต่อผู้อื่นได้อย่างไร
-
การรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในการเรียกของศาสนจักรจะช่วยส่งเสริมรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาเคยเห็นบุคคลหนึ่งทำความดีมากที่สุดต่อผู้อื่นโดยรับใช้อย่างซื่อสัตย์ในการเรียกของเขา เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันข้อสังเกตของพวกเขากับชั้นเรียน
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมที่พระเจ้าประทานแก่เฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์
-
จากสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งกับเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ใน ข้อ 5 เราสามารถเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการซื่อสัตย์ในการเรียกขอเราหรือการเป็นสมาชิกที่ซื่อสัตย์ของศาสนจักร
-
ท่านคิดว่า “ช่วยเหลือคนอ่อนแอ, ยกมือที่อ่อนแรง, และให้กำลังเข่าที่อ่อนล้า” หมายความว่าอย่างไร
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์มาร์วิน เจ. แอชตันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังข้อคิดในความหมายของวลีเหล่านี้
“ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:5อาจตีความข้อนี้ได้ว่าพระเจ้าทรงกำลังกระตุ้นเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์ให้เพิ่มพลังคนอ่อนแอ (‘ช่วยเหลือคนอ่อนแอ’) ให้กำลังใจคนเหนื่อยล้าหรือท้อแท้ (‘ยกมือที่อ่อนแรง’) ให้ความกล้าและความเข้มแข็งแก่คนที่เข่าอ่อนล้าและใจหวาดกลัว” (“Strengthen the Feeble Knees,” Ensign, Nov. 1991, 70)
-
เราจะ “ช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ, ยกมือที่อ่อนแรง, และให้กำลังเข่าที่อ่อนล้า” ด้วยวิธีใดได้บ้าง (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)
-
ท่านเคยยกหรือให้กำลังใจผู้อื่นเมื่อใด
ท้าทายให้นักเรียนเลือกหนึ่งคำตอบบนกระดานและหาโอกาสช่วยคนรอบข้าง
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 81:6–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับเฟรเดอริค จี. วิลเลียมส์หากเขาจะซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
เป็นพยานถึงความสำคัญของการซื่อสัตย์ในการเรียกของเราและการช่วยคนรอบข้างให้พวกเขามีคุณสมบัติคู่ควรรับชีวิตนิรันดร์ด้วย