บทที่ 110
หลักคำสอนและพันธสัญญา 105
คำนำ
ในการเชื่อฟังคำแนะนำของพระเจ้า ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกับอาสาสมัครและทหารใหม่อีกราว 200 คนจัดตั้งกลุ่มที่รู้กันในชื่อว่าค่ายไซอันเพื่อไปช่วยวิสุทธิชนที่ถูกขับไล่ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรี วันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1834 ขณะตั้งค่ายอยู่ใกล้แม่น้ำฟิชชิงในมิสซูรี โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 105 ในการเปิดเผยนี้ พระเจ้าทรงแจ้งวิสุทธิชนว่าแผ่นดินแห่งไซอันจะไม่ได้รับการไถ่ ณ เวลานั้น พระเจ้าประทานคำแนะนำเช่นกันเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อไถ่ไซอันในอนาคต
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:1–19
พระเจ้าทรงแนะนำวิสุทธิชนให้รอการไถ่ไซอัน
ก่อนชั้นเรียน ให้เตรียม ถ้วยกระดาษ หนังยาง และด้ายสามเส้น เส้นรอบวงของหนังยางต้องน้อยกว่าเส้นรอบวงของถ้วยกระดาษ ผูกเชือกกับยางรัดให้ระยะห่างเท่ากัน
เริ่มบทเรียนโดยขออาสาสมัครสามคน วางถ้วยไว้บนพื้นราบ และแนะนำให้อาสาสมัครยกถ้วยโดยใช้ยางรัดกับเชือก บอกพวกเขาว่าพวกเขาจะแตะยางรัดไม่ได้ พวกเขาต้องจับเชือก (เพื่อทำงานนี้ให้สำเร็จ นักเรียนจะต้องดึงด้ายพร้อมกันด้วยแรงเท่ากันเพื่อให้หนังยางยืดออกจนกว้างพอจะคล้องและยกถ้วยขึ้นมาได้)
หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมนี้แล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้
-
ความสามัคคีมีบทบาทอะไรในการทำงานนี้ให้สำเร็จ
เตือนความจำนักเรียนว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1834 พระเจ้าทรงแนะนำศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ ให้รวบรวมทรัพย์สมบัติทางโลกและเกณฑ์อาสาสมัครไปช่วยเหลือวิสุทธิชนที่ถูกไล่ออกจากเทศมณฑลแจ็คสัน มิสซูรีในการทวงที่ดินคืน ขณะนักเรียนเริ่มการสนทนา หลักคำสอนและพันธสัญญา 105วันนี้ กระตุ้นให้พวกเขามองหาบทบาทของความสามัคคีขณะวิสุทธิชนพยายามทวงแผ่นดินแห่งไซอันคืน
ขอให้นักเรียนนึกถึงจำนวนอาสาสมัครที่พระเจ้าทรงประสงค์จะให้ร่วมค่ายไซอัน (500 คน) และจำนวนต่ำสุดที่พระองค์ทรงเรียกร้อง (100 คน) จากการศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 103 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนฟังจำนวนคนที่อาสาเข้าร่วมค่ายไซอันจริงๆ เมื่อกลุ่มนี้ออกเดินทางครั้งแรก
เมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ พยายามเกณฑ์อาสาสมัครและทรัพย์สินเงินทองให้แก่ค่ายไซอัน พวกท่านไม่ประสบผลสำเร็จดังหวัง ขณะที่ค่ายหรือกองทหารเริ่มเดินทัพเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1834 มีคนอาสาไปเพียง 122 คนเท่านั้น ค่ายไซอันเกณฑ์อาสาสมัครเพิ่มระหว่างทางไปมิสซูรี เมื่อกลุ่มที่ไฮรัม สมิธกับไลมัน ไวท์เกณฑ์จากเขตมิชิแกนมาสมทบกับคณะของโจเซฟ สมิธเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1834 ค่ายไซอันมีชายเพียง 200 กว่าคน หญิง 12 คน และเด็ก 9 คน (ดู Alexander L. Baugh, “Joseph Smith and Zion’s Camp,” Ensign, June 2005, 45)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาเหตุผลประการหนึ่งว่าทำไมสมาชิกบางคนของศาสนจักรจึงเลือกไม่ช่วยเพื่่อนวิสุทธิชนในมิสซูรี จากนั้นขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:1–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าการไม่เชื่อฟังและการขาดความสามัคคีมีผลต่อสมาชิกของศาสนจักรอย่างไร (เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของ ข้อ 5ดีขึ้น อาจเป็นประโยชน์ถ้าจะอธิบายว่า “กฎของอาณาจักรซีเลสเชียล” รวมถึงกฎและหลักธรรมทั้งหมดที่เราต้องเชื่อฟัง ศาสนพิธีที่เราต้องได้รับ และพันธสัญญาที่เราต้องรักษาเพื่อสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก)
-
สมาชิกศาสนจักรไม่สามัคคีและไม่เชื่อฟังในด้านใด
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราต้องทำอะไรเพื่อช่วยเสริมสร้างไซอัน (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้ช่วยพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อช่วยเสริมสร้างไซอัน เราต้องสามัคคีกันและเชื่อฟังทั้งหมดที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอ)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการเชื่อฟังจึงจะเสริมสร้างไซอันได้
-
ประสบการณ์ใดได้ ช่วยให้ท่านเข้าใจ ความสำคัญของการที่สมาชิกศาสนจักรต้องสามัคคีกัน
อธิบายว่าคนที่อาสาไปค่ายไซอันประสบความท้าทายและปาฏิหาริย์มากมายตลอดการเดินทางของพวกเขา เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงย่อหน้าต่อไปนี้ ขอให้ชั้นเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาอาจจะตอบสนองความท้าทายบางอย่างอย่างไร
ค่ายไซอันเดินทัพราว 900 ไมล์ (1,450 กิโลเมตร) ผ่าน 4 รัฐ โดยเดินทางวันละประมาณ 20 ถึง 40 ไมล์ (ราว 30–60 กิโลเมตร) นาน 45 วัน สมาชิกค่ายประสบกับเท้าเป็นแผลพุพอง สภาพอากาศร้อนชื้น ความขาดแคลนอาหาร และอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ครั้งหนึ่ง ความกระหายอย่างรุนแรงทำให้สมาชิกค่ายบางคนจำใจดื่มน้ำในหนองซึ่งต้องกรองเอาลูกน้ำออกก่อน (บางครั้งก็ใช้ฟันเป็นตัวกรอง) หรือดื่มน้ำจากรอยเท้าม้าหลังเกิดพายุฝน ตลอดการเดินทาง ค่ายไซอันมักถูกผู้อื่นข่มขู่ด้วยการใช้กำลัง (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 145–147)
-
ท่านคิดว่าท่านจะตอบสนองความท้าทายเหล่านี้อย่างไร
อธิบายว่าหลังจากสมาชิกของค่ายไซอันมาถึงมิสซูรี พวกเขาทราบว่าดาเนียล ดังคลินผู้ว่าการรัฐมิสซูรีไม่ยอมรักษาสัญญาว่าจะช่วยให้วิสุทธิชนได้กลับไปแผ่นดินของพวกเขาในเทศมณฑลแจ็คสัน แม้ข่าวนี้จะทำให้ท้อใจ แต่ค่ายไซอันยังคงเดินหน้าไปเทศมณฑลแจ็คสันขณะรอคำแนะนำเพิ่มเติมจากพระเจ้า
บอกนักเรียนว่าคำแนะนำนั้นมาในการเปิดเผยจากพระเจ้าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1834 หลังจากค่ายไซอันเดินทางราวเจ็ดสัปดาห์และอยู่ห่างจากเทศมณฑลแจ็คสันเพียง 10–20 ไมล์เท่านั้น (ราว 15–30 กิโลเมตร) เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:9–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าตรัสว่าพวกเขาต้องทำเกี่ยวกับการไถ่ไซอัน
-
พระเจ้าทรงแนะนำให้ค่ายทำอะไรเกี่ยวกับการไถ่ไซอัน
-
หากท่านเป็นสมาชิกของค่ายไซอัน ท่านจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินการเปิดเผยนี้ก่อนถึงจุดหมาย
-
พระเจ้าประทานเหตุผลอะไรบ้างที่จะไม่ทรงไถ่ไซอันเวลานั้น
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:18–19 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสาเหตุที่พระเจ้ารับสั่งให้ค่ายไซอันเดินทางไปมิสซูรีและจากนั้นทรงเปิดเผยว่าพวกเขาไม่ต้องให้วิสุทธิชนกลับไปแผ่นดินแห่งไซอันเวลานั้น
-
ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดพระเจ้าทรงบัญชาให้ค่ายไซอันเดินทางไปถึงมิสซูรีและจากนั้นทรงเปิดเผยว่าจะยังไม่ไถ่ไซอัน (นี่เป็นการทดลองศรัทธา อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าอธิบายว่าการทดลองศรัทธาสามารถหมายถึงการทดสอบว่าเราจะเลือกวางใจและเชื่อฟังพระเจ้าไม่ว่าสภาวการณ์เป็นเช่นไรหรือไม่)
-
สมาชิกค่ายไซอันถูกทดสอบศรัทธาในด้านใดระหว่างประสบการณ์ของพวกเขา
-
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากข้อเหล่านี้ (หลักธรรมหนึ่งที่นักเรียนอาจระบุคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมพรอันสำคัญยิ่งให้คนที่ซื่อสัตย์ตลอดการทดลองของพวกเขา)
-
ท่านหรือคนรู้จักเคยประสบการทดลองศรัทธาเมื่อใด การทดลองศรัทธาของท่านเตรียมท่านให้พร้อมรับพรมากมายยิ่งขึ้นอย่างไร
บอกนักเรียนว่าชายหลายคนที่รับใช้กับค่ายไซอันได้รับพรให้มีโอกาสรับใช้ในอาณาจักรของพระเจ้า ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1835 ศาสนจักรจัดตั้งโควรัมอัครสาวกสิบสองและโควรัมที่หนึ่งแห่งสาวกเจ็ดสิบ อัครสาวกเก้าคนแรกและสมาชิกโควรัมสาวกเจ็ดสิบทุกคนเคยรับใช้ในค่ายไซอัน (ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 152)
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ขอให้ชั้นเรียนฟังบทบาทของค่ายไซอันในการเตรียมชายเหล่านั้นให้พร้อมรับตำแหน่งผู้นำ
“พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงต้องการให้ท่านต่อสู้ พระองค์ไม่ทรงจัดตั้งอาณาจักรโดยให้ชายสิบสองคนเปิดประตูพระกิตติคุณให้ประชาชาติต่างๆ ของแผ่นดินโลกและให้ชายเจ็ดสิบคนภายใต้การกำกับดูแลของพวกเขาเดินตามรอยพวกเขา เว้นเสียแต่พระองค์ทรงนำพวกเขาออกจากกลุ่มคนที่เคยมอบชีวิตตนและเคยทำการเสียสละมากเท่าอับราฮัม” (ใน History of the Church, 2:182; ดู ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา, 152)
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความสำคัญของการวางใจและการเชื่อฟังพระเจ้าเมื่อศรัทธาของเรากำลังถูกทดสอบ
หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:20–41
พระเจ้าทรงสอนวิสุทธิชนว่าต้องทำอะไรก่อนไถ่ไซอัน
สรุป หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:20–37 โดยอธิบายว่าพระเจ้ารับสั่งกับวิสุทธิชนในมิสซูรีว่าพวกเขาต้องตอบสนองการข่มเหงที่กำลังประสบอย่างไรขณะรอการไถ่ไซอันในอนาคต พระองค์ทรงแนะนำให้พวกเขานอบน้อมถ่อมตนและไม่จุดชนวนความขัดแย้ง พระองค์ทรงอธิบายว่าพวกเขาต้องได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ขณะเตรียมรับการไถ่ไซอันในท้ายที่สุด ดังที่พระองค์ตรัสไว้ก่อนหน้านี้ในการเปิดเผยเดียวกัน พวกเขาต้อง “ได้รับการสอนอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น, และมีประสบการณ์, และรู้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหน้าที่ของพวกเขา, และสิ่งซึ่ง [พระองค์ทรง] เรียกร้องจากมือพวกเขา” (คพ. 105:10)
-
เราควรตอบสนองการข่มเหงด้วยวิธีใดบ้าง
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 105:38–41 ในใจและเลือกวลีหนึ่งจากข้อเหล่านี้ที่สรุปสิ่งที่พระเจ้ารับสั่งให้วิสุทธิชนทำในการตอบโต้ผู้ข่มเหงพวกเขา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 40พรอะไรจะมาถึงวิสุทธิชนในมิสซูรีหากพวกเขามุ่งหมายจะสร้างสันติกับผู้อื่น (คำตอบของนักเรียนควรสะท้อนหลักธรรมต่อไปนี้: หากเรามุ่งหมายจะสร้างสันติกับผู้อื่น เมื่อนั้นสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเรา)
-
เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยสร้างสันติกับผู้อื่น
-
ท่านเคยได้รับพรอย่างไรเมื่อท่านมุ่งหมายจะสร้างสันติ รวมทั้งกับคนที่อาจจะข่มเหงท่าน
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อมุ่งหมายจะสร้างสันติกับผู้อื่นมากขึ้นในชีวิตพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และเขียนเป้าหมายลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าจะทำตามหลักธรรมนี้