เซมินารีและสถาบัน
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: หลักคำสอนและพันธสัญญา 106–108; 137 (หน่วย 23)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 106–108; 137 (หน่วย 23)

เนื้อหาเตรียมสอนสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

บทสรุปของบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านประจำวัน

บทสรุปต่อไปนี้ของเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 106–108; 137 (หน่วย 23) ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้สอนในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ จงทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วันที่ 1 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 106; 107:1–20)

โดยศึกษาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่วอร์เรน คาวเดอรีใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 106นักเรียนเรียนรู้ว่าหากเรานอบน้อมถ่อมตนต่อพระเจ้า เมื่อนั้นพระองค์จะทรงมีเมตตาต่อเรา ทรงยกเราขึ้น อีกทั้งประทานพระคุณและความมั่นใจแก่เรา นักเรียนเริ่มศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 107เช่นกัน ซึ่งเป็นการเปิดเผยเรื่องฐานะปุโรหิต จากภาคนี้พวกเขาเรียนรู้ว่าฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเป็นไปตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาศึกษาตำแหน่งและความรับผิดชอบต่างๆ ของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคด้วย

วันที่ 2 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:21–38)

เมื่อนักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 107ต่อ พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของโควรัมควบคุมของศาสนจักรได้แก่ ฝ่ายประธานสูงสุด โควรัมอัครสาวกสิบสอง และโควรัมสาวกเจ็ดสิบ อีกทั้งเรียนรู้ด้วยว่าคำตัดสินของโควรัมควบคุมเหล่านี้กระทำด้วยความสามัคคีและความชอบธรรม

วันที่ 3 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:39–100108)

จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 107นักเรียนเรียนรู้ว่าผู้ประสาทพรได้รับเรียกโดยการเปิดเผยและรับการวางมือแต่งตั้งภายใต้การกำกับดูแลของอัครสาวกสิบสอง และบิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคมีสิทธิอำนาจในการให้พรบุตรธิดาของตน นักเรียนศึกษาพระดำรัสของพระเจ้าต่อไลมัน เชอร์มันที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 108ด้วย พวกเขาค้นพบว่าเมื่อเราเชื่อฟังสุรเสียงของพระเจ้า เราเชื้อเชิญการให้อภัยของพระองค์ซึ่งทำให้จิตวิญญาณเราสงบ

วันที่ 4 (หลักคำสอนและพันธสัญญา 137)

ในบทนี้นักเรียนเรียนเรื่องนิมิตของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับอาณาจักรซีเลสเชียลและคนที่ท่านเห็นที่นั่น บทเรียนเน้นหลักธรรมต่อไปนี้: คนที่ตายโดยปราศจากความรู้เรื่องพระกิตติคุณผู้จะรับไว้ด้วยสุดใจของพวกเขาจะสืบทอดอาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดก; พระเจ้าจะทรงพิพากษาเราตามงานของเราและความปรารถนาของใจเรา; และเด็กทุกคนที่ตายก่อนวัยรับผิดชอบได้ล้วนรอดในอาณาจักรซีเลสเชียล

คำนำ

งานมอบหมายประจำสัปดาห์ไม่ได้ขอให้นักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:60–100 เชิงลึก แต่บทนี้จะเปิดโอกาสนั้นให้พวกเขา อีกทั้งจะช่วยให้พวกเขาคุ้นเคยกับตำแหน่งฐานะปุโรหิตและเข้าใจหน้าที่ของพวกเขาในการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ดีขึ้น นักเรียนจะเรียนรู้เช่นกันจากคำแนะนำที่ประทานแก่ไลมัน เชอร์มันดังบันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 108

ในการศึกษาตำแหน่งของฐานะปุโรหิตในบทนี้ สำคัญที่ต้องช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าแม้ชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตจะดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ แต่พรของฐานะปุโรหิตมีให้ทุกคน เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ฐานะปุโรหิตเป็นอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่ใช้ให้พรบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ทั้งชายและหญิง คำพูดสั้นๆ บางคำของเราเช่น ‘สตรีและฐานะปุโรหิต’ ถ่ายทอดแนวคิดที่ผิด ผู้ชายไม่ใช่ ‘ฐานะปุโรหิต’ การประชุมฐานะปุโรหิตเป็นการประชุมของผู้ดำรงและใช้ฐานะปุโรหิต พรของฐานะปุโรหิต เช่น บัพติศมา การรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร และการแต่งงานนิรันดร์มีให้ชายและหญิงเหมือนกัน ผู้มีสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัวและในศาสนจักรตามหลักธรรมที่พระเจ้าทรงสถาปนาไว้” (“อำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัวและศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 30) ชายและหญิงมีบทบาทสำคัญเท่าเทียมกันในครอบครัวและศาสนจักร (ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:60–100

พระเจ้าทรงเปิดเผยหน้าที่ของประธานโควรัมฐานะปุโรหิต

เขียนหัวข้อ ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และ ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ไว้บนกระดานเพื่อทบทวนพอสังเขป เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนตำแหน่งของฐานะปุโรหิตไว้ใต้หัวข้อที่เหมาะสม ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเขียนฐานะปุโรหิตหนึ่งตำแหน่งและส่งชอล์กหรือปากกาเขียนกระดานให้นักเรียนอีกคนหนึ่ง ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนนักเรียนเขียนครบทุกตำแหน่งของฐานะปุโรหิต กระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันเขียนเท่าที่ต้องการ (ตำแหน่งของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคได้แก่เอ็ลเดอร์ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร สาวกเจ็ดสิบ และอัครสาวก ตำแหน่งของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้แก่มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และอธิการ)

  • โควรัมฐานะปุโรหิตคืออะไร (กลุ่มพี่น้องชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตตำแหน่งเดียวกัน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและวงกลมตำแหน่งฐานะปุโรหิตที่จัดระเบียบเป็นโควรัม กระตุ้นให้ชั้นเรียนช่วยเท่าที่ต้องการ (ตำแหน่งต่อไปนี้มีโควรัม: อัครสาวก สาวกเจ็ดสิบ มหาปุโรหิต เอ็ลเดอร์ ปุโรหิต ผู้สอน และมัคนายก ท่านอาจต้องการอธิบายว่าแต่ละสเตคมีโควรัมมหาปุโรหิตหนึ่งโควรัม โดยมีประธานสเตคเป็นประธานโควรัม ในแต่ละวอร์ดจัดระเบียบมหาปุโรหิตเป็นกลุ่มมหาปุโรหิต)

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:60–63, 85–89, 93–94 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามและระบุว่าโควรัมที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ โควรัมฐานะปุโรหิตเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาพึงระบุความจริงต่อไปนี้: ประธานถูกกำหนดให้ควบคุมและกำกับดูแลงานของโควรัมฐานะปุโรหิตแต่ละโควรัม)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 87–88 โควรัมปุโรหิตต่างจากโควรัมมัคนายกและโควรัมผู้สอนอย่างไร (อธิการของวอร์ดเป็นประธานควบคุมโควรัมปุโรหิต เขาเป็นประธานควบคุมผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนทั้งหมดในวอร์ดเช่นกัน ในสาขา ประธานสาขาทำหน้าที่เป็นประธานของโควรัมปุโรหิต)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่แต่ละโควรัมฐานะปุโรหิตต้องมีประธาน ประธานของโควรัมฐานะปุโรหิตจะช่วยสมาชิกโควรัมของเขาได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:65–66 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามและระบุชื่อผู้นำศาสนจักรที่เป็นประธานควบคุมผู้ดำรงฐานะปุโรหิตทั้งหมด เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ นักเรียนพึงเข้าใจว่าข้อเหล่านี้หมายถึงประธานศาสนจักร

ขอให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:67, 91–92 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำหรือวลีที่พูดถึงสิทธิอำนาจและความรับผิดชอบของประธานศาสนจักร

  • จากที่ท่านเรียนรู้ในข้อเหล่านี้ ท่านจะสรุปสิทธิอำนาจและความรับผิดชอบของประธานศาสนจักรว่าอย่างไร (ถึงแม้นักเรียนจะใช้คำพูดต่างกันแต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: ประธานศาสนจักรดำรงสิทธิอำนาจให้ปฏิบัติศาสนพิธีและพรทั้งหมด และควบคุมทั้งศาสนจักร เชิญนักเรียนคนหนึ่งเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

ท่านอาจประสงค์จะอธิบายคำศัพท์บางคำใน ข้อ 92 เพิ่มเติมโดยใช้นิยามต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ

“ศาสดาพยากรณ์คือครูสอนความจริงที่รู้กัน ผู้หยั่งรู้คือผู้สำเหนียกความจริงที่ซ่อนอยู่ ผู้เปิดเผยคือผู้มีความจริงใหม่ ในความหมายกว้างที่สุด ชื่อเรียกที่ใช้บ่อยสุดคือศาสดาพยากรณ์ และมักรวมชื่อเรียกอื่นไว้ด้วย” (Evidences and Reconciliations, arr. G. Homer Durham, 3 vols. in 1 [1960], 258)

ให้ดูภาพประธานศาสนจักรคนปัจจุบัน

  • ท่านได้รับพรด้านใดบ้างเพราะสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ประธานศาสนจักรดำรงอยู่

ขอให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:99–100 ในใจ

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราต้องทำอะไรจึงจะคู่ควรยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้: เพื่อให้คู่ควรยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า เราต้องเรียนรู้หน้าที่ของเราและทำหน้าที่นั้นด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ)

ถึงแม้ข้อเหล่านี้เดิมทีพูดกับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตโดยตรง แต่หลักธรรมที่สอนประยุกต์ใช้ได้กับสมาชิกศาสนจักรทุกคน

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาสนทนาคำถามต่อไปนี้ อ่านคำถามทีละข้อ หรือเขียนไว้บนกระดาน

  • ท่านเคยได้รับพรจากการรับใช้ของสมาชิกศาสนจักรผู้ทำหน้าที่ของเขาอย่างขยันหมั่นเพียรอย่างไร

  • ท่านกำลังทำอะไรเพื่อเรียนรู้หน้าที่ของท่านและทำหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ

เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นพยานถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ในศาสนจักรและในครอบครัวของเรา

หลักคำสอนและพันธสัญญา 108:4–8

พระเจ้าประทานคำแนะนำและสัญญาแก่ไลมัน เชอร์มัน

เตือนความจำนักเรียนว่า หลักคำสอนและพันธสัญญา 108 ประกอบด้วยการเปิดเผยพระประสงค์ของพระเจ้าต่อไลมัน เชอร์มันผู้มาพบศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและขอให้รู้หน้าที่ของเขามากขึ้น

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 108:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ไลมัน ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ ท่านอาจต้องอธิบายว่า คำแนะนำ คือการแนะนำหรือการให้กำลังใจ

  • พระเจ้าทรงต้องการให้ไลมัน เชอร์มันทำให้พี่น้องของเขาเข้มแข็งในด้านใด

ขอให้นักเรียนระบุหลักธรรมจากคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ไลมันใน ข้อ 7–8 พวกเขาอาจระบุหลักธรรมหลากหลายรวมทั้ง: เราต้องทำให้ผู้อื่นเข้มแข็งในการสนทนาและการกระทำทั้งหมดของเรา (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ท่านจะทำให้คนรอบข้างท่านเข้มแข็งด้วยการสนทนาของท่านอย่างไร

  • ท่านจะทำให้คนรอบข้างท่านเข้มแข็งโดยการกระทำของท่านอย่างไร

ขอให้นักเรียนอธิบายประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีเมื่อบางคนทำให้พวกเขาเข้มแข็งโดยทำสิ่งที่ระบุไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 108. ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนที่พวกเขาสามารถทำให้เข้มแข็งวันนี้และการกระทำเฉพาะเจาะจงที่พวกเขาจะทำให้เข้มแข็ง

หน่วยถัดไป (หลักคำสอนและพันธสัญญา 109–112)

เพื่อช่วยนักเรียนเตรียมศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 109–112เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจาณาว่าเหตุใดพระวิหารจึงสำคัญ ท่านเคยเข้าร่วมการอุทิศพระวิหารหรือไม่ อธิบายว่าในหน่วยถัดไปพวกเขาจะเรียนเรื่องการอุทิศพระวิหารเคิร์ทแลนด์ พวกเขาจะเรียนรู้มากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นและใครปรากฏที่นั่น สิ่งที่เปิดเผยที่่นั่นจะเป็นพรแก่พวกเขาและครอบครัวพวกเขาตลอดไปได้อย่างไร