เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 18: หลักคำสอนและพันธสัญญา 11–12


บทที่ 18

หลักคำสอนและพันธสัญญา 11–12

คำนำ

ไม่นานหลังจากการฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1829 มีชายสองคนมาเยี่ยมศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในฮาร์โมนีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย พวกเขาคือไฮรัมพี่ชายของโจเซฟ สมิธและโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ ชายทั้งสองแสดงความปรารถนาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและช่วยฟื้นฟูพระกิตติคุณ หลักคำสอนและพันธสัญญา 11 บันทึกการเปิดเผยของพระเจ้าต่อไฮรัม สมิธว่าเขาจะสถาปนาอุดมการณ์ของไซอันได้อย่างไร หลักคำสอนและพันธสัญญา 12 บันทึกการเปิดเผยของพระเจ้าต่อโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์และวิธีที่เขาจะช่วยสถาปนาอุดมการณ์ของไซอันด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:1–14

ไฮรัม สมิธเรียนรู้ว่าเขาจะช่วยสถาปนาอุดมการณ์ของไซอันได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาต้องการเข้าร่วมกิจกรรมหรืออุดมการณ์ที่คุ้มค่า เช่น การวางแผนกิจกรรมศาสนจักร รับใช้คนขัดสน หรือเข้าร่วมสโมสรของโรงเรียนหรือองค์กร

  • ท่านต้องทำอะไรจึงจะเข้าร่วมกิจกรรมหรืออุดมการณ์นั้นได้ (นักเรียนอาจบอกว่าต้อง ลงชื่อเข้าร่วม กรอกแบบฟอร์ม พูดคุยกับคนที่รับผิดชอบ หรือทำอย่างอื่นที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาปรารถนาจะเข้าร่วม)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านหัวบทของภาคนี้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11 และ 12โดยมองหาชื่อของคนสองคนที่ปรารถนาจะร่วมงานของพระเจ้า จากนั้นให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:27 และ 12:7 ในใจและระบุว่าพระเจ้าทรงเชื้อเชิญใครอีกบ้างให้ช่วยงานของพระองค์

  • พระเจ้าทรงเชื้อเชิญใครอีกบ้างให้ช่วยงานของพระองค์ (ทุกคนที่ปรารถนาจะช่วยพระองค์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 11ให้อธิบายว่าการเปิดเผยในภาคนี้ประทานแก่ไฮรัม สมิธผู้ออกจากพอลไมรา รัฐนิวยอร์กมาพบโจเซฟน้องชายที่ฮาร์โมนีย์ รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นไปได้ว่าไฮรัมทราบเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ความก้าวหน้าของการแปลพระคัมภีร์มอรมอน เขาต้องการรู้ว่าเขาจะช่วยโจเซฟในงานของพระเจ้าได้อย่างไร โจเซฟทูลถามพระเจ้าและได้รับการเปิดเผยนี้ (เพื่อช่วยให้นักเรียนรับรู้ความสำคัญที่ความปรารถนามีบทบาทในงานของพระเจ้า ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาทำเครื่องหมายคำว่า ปรารถนา และ ความปรารถนา ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:3, 8, 10, 14, 17, 21, 27)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:5–9 ในใจ ขอให้นักเรียนครึ่งชั้นระบุพรที่พระเจ้าทรงสัญญากับไฮรัม เชิญอีกครึ่งชั้นระบุสิ่งที่ไฮรัมต้องทำเพื่อได้รับพรเหล่านั้น (ขณะที่นักเรียนตอบ ท่านอาจต้องชี้แจงว่า “ความลี้ลับของพระผู้เป็นเจ้า” [คพ. 11:7] คือความจริงทางวิญญาณที่รู้โดยการเปิดเผยเท่านั้น)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:8 เกี่ยวกับความปรารถนาจะทำงานของพระเจ้า (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เน้นความจริงต่อไปนี้ (1) เราจะได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าตามความปรารถนาอันชอบธรรมของเรา) (2) ถ้าเราปรารถนาจะทำงานของพระผู้เป็นเจ้า เราย่อมเป็นวิถีทางแห่งการทำดีมากมาย)

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อ “เป็นวิถีทางแห่งการทำดีมากมาย” ในคนรุ่นฉัน

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:10–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่ไฮรัมซึ่งจะช่วยให้เขาทำดีมากมายได้สำเร็จ เมื่อนักเรียนอ่านจบแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้ใต้คำถามบนกระดาน ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนลอกรายการนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย (รายการนี้จะเพิ่มขึ้นขณะบทเรียนดำเนินต่อไปเรื่อยๆ)

  • ท่านคิดว่าการวางใจในพระวิญญาณหมายความว่าอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–13ท่านจะรับรู้อิทธิพลของพระวิญญาณได้อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้ (1) พระวิญญาณของพระเจ้านำเราให้ทำดี ถ่อมตน และพิพากษาอย่างชอบธรรม (2) พระวิญญาณให้ความสว่างแก่ความคิดของเราและทำให้จิตวิญญาณของเราเปี่ยมด้วยปีติ)

ขณะที่ท่านสนทนาความจริงเหล่านี้ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:2–3 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ข้อนี้ในช่องว่างริมหน้าข้างๆ หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–14

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–13พระวิญญาณทรงมีอิทธิพลต่อความคิดและใจเราในวิธีใดได้บ้าง

  • ท่านเคยประสบอิทธิพลของพระวิญญาณในวิธีใดวิธีหนึ่งเหล่านี้เมื่อใด ประสบการณ์นี้นำท่านให้ “ทำดี” ในด้านใดบ้าง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:15–30

พระเจ้าทรงบัญชาไฮรัม สมิธให้เตรียมรับการเรียกให้สั่งสอน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:15–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้ไฮรัม สมิธเตรียมทำ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าไฮรัม สมิธได้รับบัญชาไม่ให้สั่งสอนจนกว่าเขาจะได้รับเรียกให้ทำเช่นนั้น

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เหตุใดไฮรัม สมิธจึงต้อง “คอยต่อไปอีกหน่อย” ก่อนเขาจะได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณ (ท่านอาจต้องอธิบายว่า วลี “จนกว่าเจ้าจะมีคำของเรา, ศิลาของเรา, ศาสนจักรของเรา, และกิตติคุณของเรา” หมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพระเจ้ายังไม่ได้จัดตั้งศาสนจักรและยังไม่ได้จัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอน)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:17–20 ขณะชั้นเรียนดูตาม โดยดูว่าพระเจ้าตรัสว่าไฮรัมต้องทำอะไรจึงจะเป็นผู้สั่งสอนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพ ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของนักเรียนเพิ่มเข้าไปบนกระดาน ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนจดคำตอบของพวกเขาเช่นกัน

  • ท่านคิดว่าการแนบสนิทอยู่กับพระเจ้าด้วยสุดใจของท่านหมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าในบริบทนี้ คำว่า แนบสนิท หมายถึงเชื่อมั่นบางสิ่งอย่างแน่วแน่และไม่หวั่นไหว)

  • วลีใดกล่าวซ้ำใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:18 และ 20 (ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่าวลี “จงรักษาบัญญัติของเรา” ปรากฏใน ข้อ 6 และ 9เช่นกัน)

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน การรักษาพระบัญญัติเตรียมเราทางวิญญาณให้พร้อมทำงานของพระเจ้า

  • การรักษาพระบัญญัติวันนี้จะเตรียมท่านให้พร้อมรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา แต่งงาน และรับใช้ศาสนจักรในหลายปีข้างหน้าอย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21–22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาอีกสิ่งหนึ่งที่ไฮรัมต้องทำเพื่อช่วยให้เขาเป็นผู้สั่งสอนพระกิตติคุณที่มีประสิทธิภาพ

  • พระเจ้ารับสั่งกับไฮรัมว่าเขาต้องทำอะไรจึงจะสามารถประกาศพระวจนะของพระองค์ได้ (ท่านอาจต้องการเขียนคำว่า ศึกษาพระคัมภีร์ เพิ่มบนกระดาน)

  • อะไรคือความแตกต่างระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์เพื่อให้รู้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับการอ่านพระคัมภีร์เฉยๆ

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับไฮรัมและคนอื่นๆ ผู้ทำตามแบบแผนที่สอนใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21–22 (นักเรียนควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ คนที่ศึกษาพระวจนะของพระเจ้าจะได้รับพระวิญญาณของพระองค์และอำนาจในการทำให้ผู้อื่นเชื่อมั่นความจริงของพระกิตติคุณ)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 12

พระเจ้าทรงแนะนำโจเซฟ ไนท์เกี่ยวกับวิธีสถาปนาอุดมการณ์ของไซอัน

บอกชื่อคนมีชื่อเสียงสองสามคนกับนักเรียน ถามว่านักเรียนเคยได้ยินชื่อคนที่ท่านเอ่ยถึงหรือไม่และอธิบายพอสังเขปว่าเหตุใดเขาเหล่านั้นจึงเป็นที่รู้จักดี จากนั้นให้ถามว่าพวกเขาเคยได้ยินชื่อโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์หรือไม่

  • นึกถึงคนในวอร์ดหรือสาขาของท่านที่รับใช้อย่างเงียบๆ และซื่อสัตย์ พวกเขากำลังช่วยเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์และการที่เขาสนับสนุนช่วยเหลือการฟื้นฟูพระกิตติคุณ ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำนำภาคของ หลักคำสอนและพันธสัญญา 12 อธิบายว่าทุกวันนี้ไม่มีใครรู้จักโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ แต่เขาสนับสนุนศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเรื่องอาหารและเสบียงอื่นๆ ในช่วงวิกฤติของการทำงานแปลพระคัมภีร์มอรมอนหลักคำสอนและพันธสัญญา 12 บันทึกการเปิดเผยที่พระเจ้าประทานแก่โจเซฟ สมิธสำหรับโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1829 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 12:6–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยระบุลักษณะนิสัยอันชอบธรรมที่ผู้ต้องการช่วยงานของพระเจ้าควรมี

  • ตามที่กล่าวไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 12:8พระเจ้าทรงเรียกร้องลักษณะนิสัยอะไรบ้างจากคนที่ต้องการช่วยงานของพระองค์

  • ท่านกำลังพัฒนาลักษณะนิสัยเหล่านี้อย่างไรในชีวิตท่าน

บอกนักเรียนว่าโจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์พยายามพัฒนาและฝึกฝนลักษณะนิสัยอันชอบธรรมเหล่านี้เสมอ เขาให้ความช่วยเหลือทางโลกและทางวิญญาณแก่โจเซฟ สมิธตลอดการปฏิบัติศาสนกิจของท่านศาสดาพยากรณ์ หลายปีหลังจากโจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 12ท่านบันทึกเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ของโจเซฟ ไนท์ดังนี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“โจเซฟ ไนท์ ซีเนียร์ … เป็นคนซื่อสัตย์และแน่วแน่ ยุติธรรมและเป็นแบบอย่าง มีคุณธรรมและอ่อนโยน ไม่หันขวาหรือซ้าย … เขาเป็นคนชอบธรรม” (History of the Church, 5:124)

เพื่อกระตุ้นนักเรียนให้ใคร่ครวญและประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้วันนี้ ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันว่าพวกเขาจะจบวลีต่อไปนี้อย่างไร “เพื่อช่วยพระเจ้าในงานของพระองค์ ฉันจะ …”

ท่านอาจต้องการสรุปโดยบอกว่าท่านจะจบวลีนี้ว่าอย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:2 พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า “คมกว่าดาบสองคม”

เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดถึงพลังแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้

เอ็ลเดอร์ออร์สัน แพรทท์

“ข่าวสารของความจริงที่เรียบง่าย เมื่อส่งมาจากพระผู้เป็นเจ้า—เมื่อจัดพิมพ์โดยสิทธิอำนาจจากเบื้องบน ผ่านชายที่ได้รับการดลใจจากเบื้องบน จะเสียดแทงจิตใจเหมือนดาบสองคม และตัดอคติที่ฝังรากลึก ตัดเส้นเอ็นที่มีเหล็กหุ้มของความผิดพลาดและประเพณีเก่าแก่ที่กาลเวลาทำให้ศักดิ์สิทธิ์และปัญญามนุษย์ทำให้คนนิยมชมชอบเหล่านั้นขาดสะบั้น ข่าวสารดังกล่าวตัดแบ่งระหว่างความจริงกับความเท็จได้อย่างถูกต้องแม่นยำ—ระหว่างหลักคำสอนของพระคริสต์กับหลักคำสอนของมนุษย์ บั่นทอนข้อโต้เถียงทุกอย่างที่การเรียนรู้ของมนุษย์ใช้โต้แย้งกับความจริง ความคิดเห็น ข้อบัญญัติทางศาสนาที่ผู้ไม่ได้รับการดลใจคิดค้น และหลักคำสอนที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาศาสนา ทั้งหมดอันตรธานหายไปเหมือนน้ำค้างยามเช้า—ทั้งหมดถลำลงสู่สภาพไร้ความหมายเมื่อเทียบกับข่าวสารที่ส่งตรงมาจากสวรรค์” (“Divine Authority—or was Joseph Smith Sent of God?”Orson Pratt’s Works on the Doctrines of the Gospel [1945], 1:1)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:9 “อย่ากล่าวอะไรเลยนอกจากการกลับใจแก่คนรุ่นนี้” หมายความว่าอย่างไร

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธกล่าวว่า

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“เมื่อพระเจ้าทรงขอร้องผู้รับใช้ของพระองค์ไม่ให้กล่าวอะไรนอกจากการกลับใจ พระองค์มิได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ป่าวร้องเรื่องบัพติศมา และขอร้องผู้คนให้เชื่อฟังพระบัญญัติของพระเจ้า แต่พระองค์ทรงประสงค์ให้ทั้งหมดที่พวกเขาพูดและทำอยู่ในเจตนารมณ์ของการนำผู้คนมาสู่การกลับใจ ผู้สอนศาสนาคนใดก็ตามที่ไม่ทำเช่นนี้ในการปฏิบัติศาสนกิจของเขาถือว่าละทิ้งหน้าที่ของตน” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:57)

แน่วแน่ต่อศรัทธา สอนเรื่องการกลับใจดังนี้

“การกลับใจเป็นหลักธรรมข้อแรกประการหนึ่งของพระกิตติคุณ (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:4) จำเป็นต่อความสุขของท่านในชีวิตนี้และตลอดนิรันดร การกลับใจเป็นมากกว่าการยอมรับผิด การกลับใจคือการเปลี่ยนความคิดและจิตใจทำให้ท่านมีวิสัยทัศน์ใหม่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เกี่ยวกับตัวท่าน และเกี่ยวกับโลก รวมถึงการหันหลังให้บาปและการหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัย ความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะปฏิบัติตามพระบัญญัติจะผลักดันให้เกิดการกลับใจ” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 3)

หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:25 “อย่าปฏิเสธวิญญาณแห่งการเปิดเผย”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธอธิบายว่าคำแนะนำนี้ที่ประทานแก่ไฮรัม สมิธจะเป็น “คำแนะนำที่ดีสำหรับเราทุกคนในปัจจุบัน มีสมาชิกบางคนของศาสนจักรที่ดูเหมือนจะพร่ำบ่นเพราะพระเจ้าไม่ประทานการเปิดเผยใส่ไว้ในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา เช่นที่เคยทำตั้งแต่ต้น และพวกเขาทูลถามว่าเหตุใดการเปิดเผยในศาสนจักรจึงยุติ ปกติแล้วนักวิจารณ์เหล่านี้ไม่รักษาพระบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้แล้วอย่างซื่อสัตย์และดวงตาของพวกเขามืดบอดต่อข้อเท็จจริงที่ว่าการเปิดเผยและการนำทางของพระเจ้ามีให้ศาสนจักรไม่ขาดสาย คนที่ไม่มีวิญญาณแห่งการเล็งเห็นจะมองไม่เห็นว่าพระหัตถ์ของพระเจ้าทรงนำทางผู้คนตั้งแต่ต้นและการนำทางนี้ประจักษ์ชัดในปัจจุบันเช่นเดียวกับในเวลาอื่นต่อทุกคนที่ถ่อมตนและมีวิญญาณที่สำนึกผิด (ดู เจคอบ 4:8)” (Church History and Modern Revelation, 2 vols. [1953], 1:57; see also Doctrine and Covenants Student Manual, 2nd ed. [Church Educational System manual, 2001], 26)