คลังค้นคว้า
หลักคำสอนพื้นฐาน


หลักคำสอนพื้นฐาน

หลักคำสอนพื้นฐานควรได้รับการเน้นในชั้นเรียนเซมินารีและสถาบัน ครูต้องช่วยนักเรียนระบุ เข้าใจ เชื่อ อธิบาย และประยุกต์ใช้หลักคำสอนพื้นฐานเหล่านี้ของพระกิตติคุณ การทำเช่นนั้นจะช่วยนักเรียนเสริมสร้างประจักษ์พยานของตนเองและเพิ่มความซาบซึ้งต่อพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ การศึกษาหลักคำสอนเหล่านี้จะช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมมากขึ้นในการสอนความจริงสำคัญเหล่านี้ให้ผู้อื่น

ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ของ 100 ข้อที่เซมินารีและสถาบันศาสนาคัดเลือกไว้ได้รับเลือกเพื่อสนับสนุนความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับหลักคำสอนพื้นฐาน ส่วนใหญ่ของข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ที่ระบุไว้ในเอกสารนี้จะพูดถึงข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ข้อเหล่านี้นำมารวมไว้เพื่อแสดงว่าเกี่ยวข้องกับหลักคำสอนพื้นฐานอย่างไร

1. พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์

มีพระบุคคลสามพระองค์ที่แยกจากกันในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ ได้แก่ พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์; พระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์; และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–20) พระบิดาและพระบุตรทรงมีพระวรกายสัมผัสได้เป็นเนื้อหนังและกระดูก และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีรูปกายเป็นวิญญาณ (ดู คพ. 130:22–23) พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวในจุดประสงค์และหลักคำสอน ทั้งสามพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ในการทำให้แผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์บรรลุผลสำเร็จ

พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา

พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาคือพระผู้ปกครองสูงสุดของจักรวาล พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเรา (ดู ฮีบรู 12:9) พระองค์ทรงดีพร้อม ทรงมีเดชานุภาพทั้งปวง และทรงทราบทุกสิ่ง พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงมีพระเมตตาอันสมบูรณ์พร้อม และน้ำพระทัยกรุณา

พระเยซูคริสต์

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรหัวปีของพระบิดาในวิญญาณและทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระบิดาในเนื้อหนัง พระองค์ทรงเป็นพระยาห์เวห์แห่งพันธสัญญาเดิมและพระเมสสิยาห์แห่งพันธสัญญาใหม่

พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพที่ปราศจากบาปและทรงชดใช้บาปของมนุษยชาติทั้งปวง (ดู แอลมา 7:11-13) พระชนม์ชีพของพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของวิธีที่มนุษยชาติทั้งปวงพึงดำเนินชีวิต (ดู ยอห์น 14:6; 3 นีไฟ 12:48) พระองค์ทรงเป็นบุคคลแรกบนแผ่นดินโลกที่ฟื้นคืนพระชนม์ (ดู 1 โครินธ์ 15:20–22]) พระองค์จะเสด็จมาอีกครั้งในเดชานุภาพและรัศมีภาพและจะทรงปกครองแผ่นดินโลกในช่วงมิลเลเนียม

การสวดอ้อนวอน การให้พร และศาสพิธีฐานะปุโรหิตทั้งหมดควรทำในพระนามของพระเยซูคริสต์ (ดู 3 นีไฟ 18:15, 20–21)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ฮีลามัน 5:12; คพ. 19:23; คพ. 76:22–24

พระวิญญาณบริสุทธิ์

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ พระองค์ทรงมีรูปกายที่เป็นวิญญาณและไม่มีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก บางครั้งเราเรียกพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระวิญญาณ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ พระวิญญาณพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณพระเจ้า และพระผู้ปลอบโยน

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร ทรงเปิดเผยความจริงของทุกสิ่ง และทรงชำระผู้ที่กลับใจและรับบัพติศมาให้บริสุทธิ์ (ดู โมโรไน 10: 4–5)

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: กาลาเทีย 5:22–23; คพ. 8:2–3

2. แผนแห่งความรอด

ในการดำรงอยู่ก่อนเกิด พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอแผนซึ่งจะทำให้เราสามารถเป็นเหมือนพระองค์ ได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ (ดู โมเสส 1:39) พระคัมภีร์เอ่ยถึงแผนของพระบิดาบนสวรรค์ว่าเป็นแผนแห่งความรอด แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข แผนแห่งการไถ่ และแผนแห่งความเมตตา

แผนแห่งความรอดประกอบด้วยการสร้าง การตก การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ตลอดจนกฎ ศาสนพิธี และหลักคำสอนทั้งหมดของพระกิตติคุณ สิทธิ์เสรีทางศีลธรรม—ความสามารถในการเลือกและกระทำด้วยตนเอง—จำเป็นต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์เช่นกัน (ดู 2 นีไฟ 2:27) เนื่องจากแผนนี้ เราจึงสามารถดีพร้อมได้โดยผ่านการชดใช้ ได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ และมีชีวิตตลอดกาลในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า (ดู 3 นีไฟ 12:48) สัมพันธภาพในครอบครัวสามารถดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดร

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ยอห์น 17:3; คพ. 58:27

ชีวิตก่อนมรรตัย

ก่อนเราเกิดมาในโลก เราอาศัยอยู่ในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ในฐานะบุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์ (ดู อับราฮัม 3:22–23) ในการดำรงอยู่ก่อนเกิดนี้ เรามีส่วนร่วมในสภากับบุตรธิดาทางวิญญาณคนอื่นๆ ของพระบิดาบนสวรรค์ ในสภานั้น พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอแผนของพระองค์และพระเยซูคริสต์ในโลกก่อนเกิดทรงทำพันธสัญญาเพื่อเป็นพระผู้ช่วยให้รอด

เราใช้สิทธิ์เสรีของเราทำตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์ เราเตรียมมาแผ่นดินโลกเพื่อเราจะก้าวหน้าต่อไปได้

ผู้ที่ทำตามพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ได้รับอนุญาตให้มาแผ่นดินโลกเพื่อรับประสบการณ์ความเป็นมรรตัยและความก้าวหน้าสู่ชีวิตนิรันดร์ ลูซิเฟอร์ บุตรทางวิญญาณอีกคนหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า กบฏต่อต้านแผนนี้ เขากลายเป็นซาตาน เขากับผู้ติดตามถูกขับไล่ออกจากสวรรค์และเสียสิทธิพิเศษที่จะได้รับร่างกายและการมีประสบการณ์ในความเป็นมรรตัย

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง เยเรมีย์ 1:4–5

การสร้าง

พระเยซูคริสต์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดา แผ่นดินโลกไม่ได้สร้างจากสิ่งว่างเปล่า แต่ได้รับการจัดระเบียบจากสสารที่มีอยู่แล้ว พระเยซูคริสต์ทรงสร้างโลกมากมายนับไม่ถ้วน (ดู คพ. 76:22–24)

การสร้างโลกเป็นสิ่งจำเป็นต่อแผนของพระผู้เป็นเจ้า โลกเป็นสถานที่ให้เราได้รับร่างกาย ได้รับการทดสอบและทดลอง และพัฒนาคุณลักษณะแห่งสวรรค์

เราใช้ทรัพยากรของโลกด้วยปัญญา วิจารณญาณ และความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ (ดู คพ. 78:19)

อาดัมเป็นมนุษย์คนแรกที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นบนแผ่นดินโลก พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาตามรูปลักษณ์ของพระองค์เอง มนุษย์ทั้งหลาย—ชายและหญิง—ได้รับการสร้างในพระฉายาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ปฐมกาล 1:26–27)

การตก

ในสวนเอเดน พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาอาดัมกับเอวาไม่ให้รับประทานผลของต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว ผลของการทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดความตายทางวิญญาณและทางร่างกาย ความตายทางวิญญาณคือการแยกจากพระผู้เป็นเจ้า ความตายทางร่างกายเป็นการแยกวิญญาณจากร่างกายมรรตัย เพราะอาดัมกับเอวาล่วงละเมิดพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจึงถูกขับออกจากที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าและกลายเป็นมรรตัย การล่วงละเมิดของอาดัมกับเอวาและการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาประสบ รวมถึงความตายทางวิญญาณและทางร่างกายเรียกว่าการตก

สืบเนื่องจากการตก อาดัมกับเอวาและลูกหลานของพวกท่านสามารถประสบกับปีติและความเศร้าโศก รู้จักความดีความชั่ว และมีลูก (ดู 2 นีไฟ 2:25) ในฐานะลูกหลานของอาดัมกับเอวา เราสืบทอดสภาพที่ตกแล้วระหว่างความเป็นมรรตัย เราถูกแยกจากที่ประทับของพระเจ้าและจำเป็นต้องมีความตายทางร่างกายเกิดขึ้น เรายังถูกทดสอบเช่นกันโดยความยากลำบากของชีวิตและการล่อลวงของปฏิปักษ์ (ดู โมไซยาห์ 3:19)

การตกเป็นส่วนสำคัญในแผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์ การตกมีสองทิศทางคือ—ลงต่ำแต่รุดหน้า นอกจากจะนำไปสู่ความตายทางร่างกายและทางวิญญาณแล้ว การตกยังเปิดโอกาสให้เราได้เกิดมาในโลกนี้ ได้เรียนรู้ และเจริญก้าวหน้าด้วย

ชีวิตมรรตัย

ชีวิตมรรตัยเป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ที่เราจะเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตนิรันดร์และพิสูจน์ว่าเราจะใช้สิทธิ์เสรีทำสิ่งที่พระเจ้าทรงบัญชา ระหว่างชีวิตมรรตัยนี้ เราต้องรักและรับใช้ผู้อื่น (ดู โมไซยาห์ 2:17; โมโรไน 7:45, 47–48)

ในความเป็นมรรตัย วิญญาณของเรารวมกับร่างกายของเรา ทำให้เรามีโอกาสเติบโตและพัฒนาในวิธีที่ชีวิตก่อนเกิดไม่อาจทำได้ ร่างกายของเราเป็นส่วนสำคัญของแผนแห่งความรอดและควรได้รับความเคารพในฐานะของประทานจากพระบิดาบนสวรรค์ (ดู 1 โครินธ์ 6:19–20)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: โยชูวา 24:15; มัทธิว 22:36–39; 2 นีไฟ 28:7–9; แอลมา 41:10; คพ. 58:27

ชีวิตหลังความตาย

เมื่อเราตาย วิญญาณของเราจะเข้าสู่โลกวิญญาณ และรอการฟื้นคืนชีวิต วิญญาณของคนชอบธรรมจะเข้าไปสู่สภาพแห่งความสงบสุข ซึ่งเรียกว่าเมืองบรมสุขเกษม คนซื่อสัตย์มากมายจะสั่งสอนพระกิตติคุณแก่คนเหล่านั้นในเรือนจำวิญญาณ

ผู้ที่ตายโดยปราศจากความรู้เรื่องความจริงและผู้ที่ไม่เชื่อฟังขณะเป็นมรรตัยจะเข้าสู่สถานที่ชั่วคราวในโลกหลังความตาย ซึ่งเรียกว่า เรือนจำวิญญาณ ที่นั่น วิญญาณจะได้รับการสอนพระกิตติคุณ มีโอกาสกลับใจและยอมรับศาสนพิธีแห่งความรอดที่ทำแทนพวกเขาในพระวิหาร (ดู 1 เปโตร 4:6) คนที่ยอมรับพระกิตติคุณจะพำนักอยู่ในเมืองบรมสุขเกษมจนกว่าจะถึงการฟื้นคืนชีวิต

การฟื้นคืนชีวิตคือการรวมกันของร่างกายทางวิญญาณกับร่างกายเนื้อหนังและกระดูกของเราที่ดีพร้อมแล้ว (ดู ลูกา 24:36–39) หลังการฟื้นคืนชีวิต วิญญาณกับร่างกายจะไม่แยกจากกันอีกต่อไปและเราจะเป็นอมตะ ทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินโลกจะได้รับการฟื้นคืนชีวิตเพราะพระเยซูคริสต์ทรงเอาชนะความตายแล้ว (ดู 1 โครินธ์ 15:20–22) คนชอบธรรมจะได้รับการฟื้นคืนชีวิตก่อนคนชั่วร้ายและจะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตแรก

การพิพากษาครั้งสุดท้ายจะเกิดขึ้นหลังการฟื้นคืนชีวิต พระเยซูคริสต์จะทรงพิพากษาบุคคลแต่ละคนเพื่อกำหนดรัศมีภาพนิรันดร์ที่เขาจะได้รับ การพิพากษาจะขึ้นอยู่กับการเชื่อฟังที่แต่ละบุคคลมีต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า (ดู วิวรณ์ 20:12; โมไซยาห์ 4:30)

มีอาณาจักรแห่งรัศมีภาพสามแห่ง (ดู 1 โครินธ์ 15:40–42) อาณาจักรซีเลสเชียลเป็นชั้นสูงสุด ผู้ที่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูและเชื่อฟังหลักธรรมพระกิตติคุณจะพำนักอยู่ในอาณาจักรซีเลสเชียล ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า พระบิดา และพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์ (ดู คพ. 131:1–4)

อาณาจักรที่สองของอาณาจักรแห่งรัศมีภาพสามแห่งคืออาณาจักรเทอร์เรสเตรียล คนเหล่านั้นผู้พำนักในอาณาจักรนี้คือชายหญิงที่น่ายกย่องของแผ่นดินโลกผู้ไม่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู

อาณาจักรทีเลสเชียลเป็นอาณาจักรต่ำที่สุดในอาณาจักรแห่งรัศมีภาพสามแห่ง คนที่ได้รับอาณาจักรนี้เป็นมรดกจะเป็นคนที่เลือกความชั่วร้ายแทนที่จะเป็นความชอบธรรมระหว่างชีวิตมรรตัยของพวกเขา คนเหล่านี้จะได้รับรัศมีภาพหลังจากถูกไถ่ออกจากเรือนจำวิญญาณ

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ยอห์น 17:3

3. การชดใช้ของพระเยซูคริสต์

การชดใช้เป็นการรับโทษของบาป ดังนั้นจึงขจัดผลของบาปออกจากคนบาปที่กลับใจและทำให้เขาคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าได้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นเพียงพระองค์เดียวที่สามารถทำการชดใช้เพื่อมนุษยชาติทั้งปวง การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ได้แก่การทนทุกข์เพื่อบาปของมนุษยชาติในสวนเกทเสมนี การหลั่งพระโลหิต การทนทุกข์กับการสิ้นพระชนม์บนกางเขน และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์จากหลุมฝังศพ (ดู ลูกา 24:36–39; คพ. 19:16–19) พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถรับการชดใช้เนื่องจากพระองค์ทรงรักษาพระองค์ให้ปราศจากบาปและมีพลังอำนาจเหนือความตาย พระองค์ทรงสืบทอดความสามารถในการสิ้นพระชนม์จากพระมารดาของพระองค์ พระองค์ทรงสืบทอดเดชานุภาพในการฟื้นคืนพระชนม์อีกครั้งจากพระบิดาผู้ทรงเป็นอมตะของพระองค์

โดยพระคุณซึ่งเป็นผลจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด คนทั้งปวงจะฟื้นคืนชีวิตและได้รับความเป็นอมตะ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้เราได้รับชีวิตนิรันดร์เช่นกัน (ดู โมโรไน 7:41) เพื่อรับของประทานนี้ เราต้องดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ซึ่งรวมถึงการมีศรัทธาในพระองค์ กลับใจจากบาปของเรา รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และอดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่ (ดู ยอห์น 3:5)

ในฐานะส่วนหนึ่งของการชดใช้ พระเยซูคริสต์ไม่เพียงทรงทนทุกข์เพื่อบาปของเราเท่านั้น แต่ยังทรงรับเอาความเจ็บปวด ความเจ็บไข้ และความทุพพลภาพของคนทั้งปวงไว้กับพระองค์ด้วย (ดู แอลมา 7:11–13) พระองค์ทรงเข้าใจความทุกข์ทรมานของเราเพราะพระองค์ทรงประสบมาแล้ว พระคุณของพระองค์ หรือพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถเพิ่มพลังให้เราแบกรับภาระของเราและทำหน้าที่ซึ่งเราไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตนเอง (ดู มัทธิว 11:28–30; ฟีลิปปี 4:13; อีเธอร์ 12:27)

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ยอห์น 3:5; กิจการของอัครทูต 3:19–21

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

ศรัทธาคือ “หวังในสิ่งที่ไม่เห็น, ซึ่งจริง” (แอลมา 32:21; ดู อีเธอร์ 12:6 ด้วย) ศรัทธาเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า

ศรัทธาต้องมีศูนย์กลางอยู่ในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ศรัทธานำบุคคลสู่ความรอด การมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์หมายถึงการพึ่งพาพระองค์อย่างสมบูรณ์และวางใจในการชดใช้อันไม่มีขอบเขต พระเดชานุภาพ และความรักของพระองค์ รวมถึงเชื่อในคำสอนของพระองค์และเชื่อว่าถึงแม้เราไม่ได้เข้าใจทุกสิ่ง แต่พระองค์เข้าพระทัย (ดู สุภาษิต 3:5–6; คพ. 6:36)

มากกว่าความเชื่อเพียงอย่างเดียว ศรัทธาแสดงออกโดยวิธีที่เราดำเนินชีวิต (ดู ยากอบ 2:17–18) ศรัทธาเพิ่มขึ้นได้เมื่อเราสวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า พระบิดา พระวิญญาณบริสุทธิ์ และอำนาจฐานะปุโรหิตเช่นเดียวกันกับด้านอื่นๆ ที่สำคัญของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ศรัทธาช่วยให้เรารับการรักษาทางวิญญาณและร่างกาย รับพลังความเข้มแข็งที่จะมุ่งหน้าต่อไป เผชิญกับความยากลำบาก และเอาชนะการล่อลวง (ดู 2 นีไฟ 31:19–20) พระเจ้าจะทรงทำการอัศจรรย์มากมายในชีวิตเราตามศรัทธาของเรา

ผ่านศรัทธาในพระเยซูคริสต์ คนจะได้รับการปลดบาปและในที่สุดจะสามารถพำนักอยู่ในที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: มัทธิว 11:28–30

การกลับใจ

การกลับใจคือการเปลี่ยนแปลงความคิดและใจที่จะทำให้เกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า ตัวเราเอง และเกี่ยวกับโลก การกลับใจรวมถึงการหันหลังให้บาปและการหันไปหาพระผู้เป็นเจ้าเพื่อขออภัย เป็นแรงจูงใจอันเกิดจากความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาอันจริงใจที่จะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

บาปของเราทำให้เราไม่สะอาด—ไม่มีค่าควรที่จะกลับไปอยู่ในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ของเรา โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซููคริสต์ พระบิดาในสวรรค์ของเราทรงเตรียมทางเดียวสำหรับเราที่จะได้รับการอภัยบาป (ดู อิสยาห์ 1:18)

การกลับใจรวมถึงความรู้สึกเสียใจที่ทำบาป การสารภาพกับพระบิดาบนสวรรค์และกับผู้อื่นตามความจำเป็น การละทิ้งบาป การพยายามชดเชยทุกสิ่งที่เสียหายจากบาปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู คพ. 58:42–43)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: อิสยาห์ 53:3–5; ยอห์น 14:6; 2 นีไฟ 25:23, 26; คพ. 18:10–11; คพ. 19:23; คพ. 76:40–41

4. สมัยการประทาน การละทิ้งความเชื่อ และการฟื้นฟู

สมัยการประทาน

สมัยการประทานเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงเปิดเผยหลักคำสอน ศาสนพิธี และฐานะปุโรหิตของพระองค์ นี่เป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงมีผู้รับใช้ที่ได้รับสิทธิอำนาจอย่างน้อยหนึ่งคนบนแผ่นดินโลก ผู้ซึ่งดำรงฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์และมีภาระหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในการเผยแผ่พระกิตติคุณและประกอบศาสนพิธีในนั้น ทุกวันนี้เราอยู่ในสมัยการประทานสุดท้าย—สมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลาซึ่งเริ่มจากการเปิดเผยพระกิตติคุณแก่โจเซฟ สมิธ

สมัยการประทานก่อนหน้านี้เกี่ยวข้องกับอาดัม เอโนค โนอาห์ อับราฮัม โมเสส และพระเยซูคริสต์ นอกเหนือจากนี้ ยังมีสมัยการประทานอื่นๆ รวมทั้งสมัยการประทานของชาวนีไฟและชาวเจเร็ด แผนแห่งความรอดและพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้รับการเปิดเผยและสอนในทุกสมัยการประทาน

การละทิ้งความเชื่อ

เมื่อผู้คนหันไปจากหลักธรรมพระกิตติคุณและไม่มีกุญแจฐานะปุโรหิต พวกเขาอยู่ในสภาวะของการละทิ้งความเชื่อ

มีช่วงเวลาหลายช่วงตลอดประวัติศาสตร์โลกที่มีการละทิ้งความเชื่อทั่วไปเกิดขึ้น ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งศาสนจักรของพระองค์ (ดู 2 เธสะโลนิกา 2:1–3) หลังจากมรณกรรมของบรรดาอัครสาวกของพระผู้ช่วยให้รอด หลักธรรมพระกิตติคุณเสื่อมโทรมและเกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ได้มาจากสิทธิอำนาจที่ถูกต้องในองค์กรศาสนจักรและศาสนพิธีฐานะปุโรหิต เพราะความชั่วร้ายที่แพร่ไปทั่ว พระเจ้าจึงทรงถอดถอนสิทธิอำนาจและกุญแจของฐานะปุโรหิตจากแผ่นดินโลก

ระหว่างการละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ผู้คนขาดการนำทางจากสวรรค์จากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิต ศาสนจักรหลายแห่งจัดตั้งขึ้น แต่พวกเขาไม่มีสิทธิอำนาจที่จะประสาทของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือทำศาสนพิธีฐานะปุโรหิตอื่นๆ บางส่วนของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ถูกแก้ไขหรือสูญหายไป และผู้คนไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป

การละทิ้งความเชื่อครั้งนี้เนิ่นนานจนถึงเวลาที่พระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ และทรงเริ่มฟื้นฟูความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณ

การฟื้นฟู

การฟื้นฟูเป็นการสถาปนาความจริงและศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้าอีกครั้งหนึ่งท่ามกลางมนุษย์บนแผ่นดินโลก (ดู กิจการของอัครทูต 3:19–21)

ในการเตรียมรับการฟื้นฟู พระเจ้าทรงยกบรรดาบุรุษผู้สูงส่งระหว่างช่วงเวลาที่เรียกว่าการปฏิรูป พวกเขาพยายามกลับไปสู่หลักคำสอน การปฏิบัติ และองค์กรทางศาสนาตามวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่มีฐานะปุโรหิตหรือความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณ

การฟื้นฟูเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1820 เมื่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ ทรงปรากฏต่อโจเซฟ สมิธ เพื่อตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:15–20) เหตุการณ์สำคัญบางอย่างของการฟื้นฟูคือการแปลพระคัมภีร์มอรมอน การฟื้นฟูฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และการจัดตั้งศาสนจักรวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1830

ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนฟื้นฟูให้แก่โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีโดยยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1829 ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจแห่งอาณาจักรฟื้นฟูในปี 1829 เช่นกัน เมื่ออัครสาวกเปโตร ยากอบ และยอห์นประสาทฐานะปุโรหิตและกุญแจเหล่านี้ให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี

ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณได้รับการฟื้นฟู ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเป็น “ศาสนจักรที่แท้จริงและดำรงอยู่แห่งเดียวตลอดทั้งพื้นพิภพ” (คพ. 1:30) ในที่สุดศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะเติมเต็มทั้งแผ่นดินโลกและจะดำรงอยู่ตลอดไป

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: อิสยาห์ 29:13–14; เอเสเคียล 37:15–17; เอเฟซัส 4:11–14; ยากอบ 1:5–6

5. ศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผย

ศาสดาพยากรณ์คือบุคคลผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกให้พูดแทนพระองค์ (ดู อาโมส 3:7) ศาสดาพยากรณ์เป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์และสอนพระกิตติคุณของพระองค์ พวกท่านทำให้รู้พระประสงค์และพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า พวกท่านประณามบาปและเตือนเรื่องผลของบาป บางครั้ง พวกท่านพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ในอนาคต (ดู คพ. 1:37–38) คำสอนมากมายของศาสดาพยากรณ์พบได้ในพระคัมภีร์ เมื่อเราศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ เราสามารถเรียนรู้ความจริงและได้รับการนำทาง (ดู 2 นีไฟ 32:3)

เราสนับสนุนประธานของศาสนจักรเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย ในฐานะบุคคลเดียวบนแผ่นดินโลกผู้รับการเปิดเผยเพื่อนำทางศาสนจักรทั้งหมด เราสนับสนุนที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเช่นกัน

การเปิดเผยเป็นการสื่อสารจากพระผู้เป็นเจ้าต่อบุตรธิดาของพระองค์ เมื่อพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ต่อศาสนจักร พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ พระคัมภีร์—ไบเบิล พระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา พระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า—มีการเปิดเผยที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณและในยุคสุดท้าย ประธานศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกทุกวันนี้

บุคคลแต่ละคนสามารถรับการเปิดเผยซึ่งจะช่วยพวกเขาเกี่ยวกับความต้องการ ความรับผิดชอบและข้อสงสัยเฉพาะตนเองได้ และช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของพวกเขาให้เข้มแข็ง การเปิดเผยส่วนใหญ่ต่อผู้นำและสมาชิกศาสนจักรมาโดยความรู้สึกและความคิดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ตรัสกับความนึกคิดและใจเราในเสียงสงบแผ่วเบา (ดู คพ. 8:2–3) การเปิดเผยมาโดยผ่านนิมิต ความฝัน และการเยือนของเหล่าเทพได้เช่นกัน

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: สดุดี 119:105; เอเฟซัส 4:11–14; 2 ทิโมธี 3:15–17; ยากอบ 1:5–6; โมโรไน 10:4–5

6. ฐานะปุโรหิตและกุญแจฐานะปุโรหิต

ฐานะปุโรหิตเป็นพลังอำนาจและสิทธิอำนาจนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านฐานะปุโรหิต พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างและปกครองฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก โดยผ่านพลังอำนาจนี้ พระองค์ทรงทำให้บุตรธิดาของพระองค์ได้รับความสูงส่งและทำให้เกิด “ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39)

พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตให้สมาชิกชายที่มีค่าควรของศาสนจักรเพื่อพวกเขาจะปฏิบัติในพระนามของพระองค์เพื่อความรอดของบุตรธิดาพระองค์ กุญแจฐานะปุโรหิตเป็นสิทธิของฝ่ายประธาน หรือพลังอำนาจที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อปกครองและกำกับดูแลอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก (ดู มัทธิว 16:15–19) ผ่านกุญแจเหล่านี้ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตสามารถได้รับมอบอำนาจให้สั่งสอนพระกิตติคุณและปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอดได้ ทุกคนที่รับใช้ในศาสนจักรได้รับเรียกภายใต้การนำของคนที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ดังนั้น พวกเขาได้รับสิทธิที่จะได้รับพลังอำนาจที่จำเป็นต่อการรับใช้และทำความรับผิดชอบในการเรียกของเขาให้เกิดสัมฤทธิผล

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: คพ. 121:36, 41–42

ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน

ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนมักจะเรียกว่าฐานะปุโรหิตขั้นเตรียม ตำแหน่งของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้แก่ มัคนายก ผู้สอน ปุโรหิต และอธิการ ในศาสนจักรปัจจุบันนี้ สมาชิกชายที่มีค่าควรอาจได้รับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเมื่ออายุ 12 ปี

ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน “ถือกุญแจทั้งหลายแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพ, และของพระกิตติคุณแห่งการกลับใจ, และของบัพติศมา” (คพ. 13:1)

ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคือฐานะปุโรหิตที่สูงกว่า หรือเหนือกว่า และดูแลในเรื่องทางวิญญาณ (ดู คพ. 107:8) ฐานะปุโรหิตที่เหนือกว่านี้ประทานแก่อาดัมและดำรงอยู่บนแผ่นดินโลกเมื่อใดก็ตามที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระกิตติคุณของพระองค์

ในตอนแรกฐานะปุโรหิตนี้เรียกว่า “ฐานะปุโรหิตศักดิ์สิทธิ์, ตามระเบียบของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (คพ. 107:3) ในภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ซึ่งมาจากมหาปุโรหิตผู้ยิ่งใหญ่มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยของศาสดาพยากรณ์อับราฮัม

ตำแหน่งภายในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคได้แก่เอ็ลเดอร์ มหาปุโรหิต ผู้ประสาทพร สาวกเจ็ดสิบ และอัครสาวก ประธานของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคคือประธานศาสนจักร

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: เอเฟซัส 4:11–14

7. ศาสนพิธีและพันธสัญญา

ศาสนพิธี

ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ศาสนพิธีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการปฏิบัติอย่างเป็นทางการที่มีความหมายทางวิญญาณ พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดศาสนพิธีแต่ละอย่างเพื่อสอนความจริงทางวิญญาณ ศาสนพิธีแห่งความรอดจะกระทำโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตและภายใต้การกำกับดูแลของผู้ที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีบางอย่างจำเป็นต่อความสูงส่งและเรียกว่าศาสนพิธีแห่งความรอด

ศาสนพิธีแห่งความรอดอันดับแรกของพระกิตติคุณคือบัพติศมาโดยลงไปในน้ำทั้งตัวโดยผู้ที่มีสิทธิอำนาจ บัพติศมาจำเป็นสำหรับแต่ละคนที่จะเป็นสมาชิกศาสนจักรและเข้าอาณาจักรซีเลสเชียล (ดู ยอห์น 3:5)

คำว่า บัพติศมา มาจากคำในภาษากรีกที่แปลว่าจุ่มหรือลงไปในน้ำทั้งตัว การลงไปในน้ำทั้งตัวเป็นสัญลักษณ์ของความตายจากชีวิตที่เป็นบาปของบุคคลและการเกิดใหม่สู่ชีวิตทางวิญญาณ อุทิศตนเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาของพระองค์ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของความตายและการฟื้นคืนชีวิตเช่นกัน

หลังจากรับบัพติศมา ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปจะวางมือบนศีรษะบุคคลนั้นและยืนยันเขาเป็นสมาชิกของศาสนจักร ส่วนหนึ่งของศาสนพิธีที่เรียกว่าการยืนยันนี้คือบุคคลดังกล่าวจะได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์แตกต่างจากอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก่อนบัพติศมา บุคคลหนึ่งสามารถสัมผัสถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นครั้งคราวและโดยผ่านอิทธิพลนั้นสามารถได้รับประจักษ์พยานถึงความจริงได้ (ดู โมโรไน 10:4–5) หลังจากรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ บุคคลจะได้รับสิทธิ์ในการมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนที่ยั่งยืนหากเขารักษาพระบัญญัติ

ศาสนพิธีแห่งความรอดอื่นๆ ได้แก่การแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (สำหรับผู้ชาย) เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร และการผนึกการแต่งงาน (ดู คพ. 131:1–4) ศาสนพิธีช่วยให้รอดของฐานะปุโรหิตทั้งหมดมีพันธสัญญาควบคู่อยู่ด้วย ในพระวิหาร ศาสนพิธีแห่งความรอดเหล่านี้สามารถกระทำแทนผู้วายชนม์ ศาสนพิธีที่กระทำแทนจะบังเกิดผลก็ต่อเมื่อบุคคลผู้ล่วงลับยอมรับศาสนพิธีดังกล่าวในโลกวิญญาณและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ศาสนพิธีอื่นๆ เช่น การให้พรผู้ป่วย การตั้งชื่อและให้พรเด็ก มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางวิญญาณของเรา

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: กิจการของอัครทูต 2:36–38

พันธสัญญา

พันธสัญญาเป็นข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าประทานเงื่อนไขสำหรับพันธสัญญา และเรายอมทำสิ่งที่พระองค์ทรงขอให้เราทำ จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาจะประทานพรบางประการสำหรับการเชื่อฟังของเรา (ดู คพ. 82:10)

ศาสนพิธีช่วยให้รอดของฐานะปุโรหิตทั้งหมดมีพันธสัญญาควบคู่อยู่ด้วย เราทำพันธสัญญากับพระเจ้าเมื่อบัพติศมาและจะต่อพันธสัญญาเหล่านั้นโดยการรับส่วนศีลระลึก ชายที่ได้รับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเข้าสู่คำปฏิญาณและพันธสัญญาของฐานะปุโรหิต เราทำพันธสัญญาเพิ่มขึ้นในพระวิหาร

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: อพยพ 19:5–6; สดุดี 24:3–4; 2 นีไฟ 31:19–20; คพ. 25:13

8. การแต่งงานและครอบครัว

การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้าและครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนแห่งความรอดและความสุขของพระองค์ ความสุขในชีวิตครอบครัวส่วนมากจะสำเร็จได้เมื่อมีพื้นฐานบนคำสอนของพระเจ้า พระเยซูคริสต์

อำนาจการสร้างอันศักดิ์สิทธิ์ต้องใช้ระหว่างชายกับหญิงที่แต่งงานถูกต้องตามกฎหมายในฐานะสามีภรรยาเท่านั้น บิดามารดาต้องมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดินโลก เลี้ยงดูบุตรธิดาของตนด้วยความรักและความชอบธรรม จัดหาสิ่งจำเป็นทางร่างกายและทางวิญญาณของพวกเขา

สามีภรรยามีความรับผิดชอบสำคัญที่จะรักและดูแลกัน บิดาต้องนำครอบครัวด้วยความรักและความชอบธรรม จัดหาสิ่งจำเป็นต่างๆ ของชีวิต มารดารับผิดชอบเบื้องต้นในการเลี้ยงดูบุตรธิดา ในความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้บิดามารดามีหน้าที่ช่วยเหลือกันในฐานะเป็นหุ้นส่วนเท่าๆ กัน

แผนแห่งความสุขจากสวรรค์ทำให้สัมพันธภาพของครอบครัวดำเนินต่อไปแม้หลังความตาย พระเจ้าทรงสร้างโลกและทรงเปิดเผยพระกิตติคุณเพื่อครอบครัวจะได้รับการจัดตั้ง ผนึก และได้รับความสูงส่งนิรันดร์ (ดัดแปลงจาก “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165;ดู lds.org/topics/family-proclamation ด้วย)

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ปฐมกาล 2:24; สดุดี 127:3; มาลาคี 4:5–6; คพ. 131:1–4

9. พระบัญญัติ

พระบัญญัติคือกฎและข้อกำหนดที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่มนุษยชาติ เราแสดงความรักต่อพระองค์โดยรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (ดู ยอห์น 14:15) การรักษาพระบัญญัตินำพรจากพระเจ้ามาให้ (ดู คพ. 82:10)

พระบัญญัติพื้นฐานสองข้อคือ “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน … และ … จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:36–39)

พระบัญญัติสิบประการเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของพระกิตติคุณและเป็นหลักธรรมนิรันดร์ที่จำเป็นสำหรับความสูงส่งของเรา (ดู อพยพ 20:3–17) พระเจ้าทรงเปิดเผยพระบัญญัติเหล่านั้นแก่โมเสสในสมัยโบราณและพระองค์ตรัสย้ำอีกครั้งในการเปิดเผยยุคสุดท้าย

พระบัญญัติอื่นๆ ได้แก่ การสวดอ้อนวอนทุกวัน (ดู 2 นีไฟ 32:8–9) สอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น (ดู มัทธิว 28:19–20) รักษากฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ (ดู คพ. 46:33) จ่ายส่วนสิบเต็ม (ดู มาลาคี 3:8–10) อดอาหาร (ดู อิสยาห์ 58:6–7) ให้อภัยผู้อื่น (ดู คพ. 64:9–11) มีวิญญาณของความสำนึกคุณ (ดู คพ. 78:19) และถือปฏิบัติพระคำแห่งปัญญา (ดู คพ. 89:18–21)

ข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้อง: ปฐมกาล 39:9; อิสยาห์ 58:13–14; 1 นีไฟ 3:7; โมไซยาห์ 4:30; แอลมา 37:35; แอลมา 39:9; คพ. 18:15–16; คพ. 88:124

ถ้าท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหัวข้อนี้ สามารถดูได้ที่ LDS.org, Teachings, Gospel Topics; หรืออ่านใน แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004)

พิมพ์