คลังค้นคว้า
บทที่ 88: กิจการของอัครทูต 9


บทที่ 88

กิจการของอัครทูต 9

คำนำ

พระเยซูทรงปรากฏต่อเซาโลขณะเขาเดินทางไปเมืองดามัสกัส หลังจากนั้นตาของเซาโลมองไม่เห็น หลังจากอานาเนียรักษาเขา เซาโลรับบัพติศมาและเริ่มสั่งสอนในเมืองดามัสกัส สามปีต่อมา เซาโลไปกรุงเยรูซาเล็ม แต่ชีวิตของเขาถูกคุกคาม อัครสาวกส่งเขาไปที่ทาร์ซัส เปโตรทำปาฏิหาริย์ในเมืองลิดดาและยัฟฟา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 9:1–9

พระเยซูทรงปรากฏต่อเซาโลบนถนนสู่เมืองดามัสกัส

เขียนคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบน กระดาน (คำกล่าวนี้มีใน “สิ่งดีเลิศจะตามมา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2010, 25–26)

“มีบางอย่างที่พวกเราหลายคนไม่ได้ทำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อภัยและลืมความผิดพลาดในชีวิตก่อนหน้านี้—ทั้งความผิดพลาดของเราเองและความผิดพลาดของผู้อื่น …

“จงให้ผู้คนกลับใจ จงให้ผู้คนเติบโต จงเชื่อว่าคนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้” (เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวบนกระดาน จากนั้นให้ถามชั้นเรียนว่า

  • มีสถานการณ์ใดบ้างซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการการยอมให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงและเชื่อว่าพวกเขาทำเช่นนั้นได้

  • มีสถานการณ์ใดบ้างซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 9 ที่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของบางคนที่เปลี่ยนแปลงและปรับปรุง

อธิบายว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ของ กิจการของอัครทูต 9 มุ่งเน้นประสบการณ์ของชายคนหนึ่งชื่อเซาโล เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง คำบรรยาย ต่อไปนี้

เซาโลเกิดที่เมืองในประเทศกรีกชื่อทาร์ซัส (ดู กิจการของอัครทูต 21:39) และเป็นคนสัญชาติโรมัน (ดู กิจการของอัครทูต 16:37) ท่านเป็นชาวยิวจากเชื้อสายของเบนยามิน (ดู โรม 11:1) และได้เล่าเรียนในกรุงเยรูซาเล็มจากกามาลิเอล (ดู กิจการของอัครทูต 22:3) ซึ่งเป็นพวกฟาริสีที่มีชื่อเสียงและเป็นอาจารย์สอนธรรมบัญญัติอันเป็นที่นับถือ (ดู กิจการของอัครทูต 5:34) เซาโลกลายเป็นพวกฟาริสี (ดู กิจการของอัครทูต 23:6) และเขาพูด “ภาษาฮีบรู” (อาจจะเป็นอาราเมอิค) และกรีก (ดู กิจการของอัครทูต 21:37, 40) ภายหลังเขาเป็นที่รู้จักในชื่อภาษาละตินว่า เปาโล (ดู กิจการของอัครทูต 13:9) (ดู Bible Dictionary, Paul.)

เตือนนักเรียนว่าเซาโลอยู่ที่นั่นขณะสเทเฟนถูกขว้างด้วยก้อนหิน (ดู กิจการของอัครทูต 7:58–59) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 8:1–3 และให้นักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 9:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเซาโลปฏิบัติกับผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • เซาโลปฏิบัติกับผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 9:1–2 เหตุใดเซาโลจึงไปเมืองดามัสกัส

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 9:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเซาโลเดินทางไปเมืองดามัสกัส

  • ใครปรากฏต่อเซาโล

ชี้ให้เห็นวลี “ถีบประตักก็เจ็บตัวเจ้าเอง” (มีในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษหรือในกิจการ 26:14) ใน ข้อ 5 อธิบายว่า ประตัก หมายถึงปฏักหรือไม้แหลมที่ไว้ใช้กระตุ้นให้สัตว์เคลื่อนที่ (หากเป็นไปได้ให้นักเรียนดูไม้ปลายแหลม) ในกรณีนี้การ “ถีบประตัก” หมายถึงการต่อสู้กับพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาทำเครื่องหมายที่คำถามของเซาโลดังที่บันทึกใน ข้อ 6

  • คำถามของเซาโลสอนอะไรเราเกี่ยวกับเขา (เขาปรารถนาที่จะยอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า)

สรุป กิจการของอัครทูต 9:7–9 โดยอธิบายว่าคนที่ร่วมเดินทางไปกับเซาโลเห็นแสงสว่างแต่ไม่ได้ยินสุรเสียงของพระเยซูเมื่อพระองค์ตรัสกับเซาโล (ดู กิจการของอัครทูต 22:9 ด้วย) หลังจากนิมิตนี้ ตาของเซาโลมองไม่เห็น เขาถูกจูงไปเมืองดามัสกัส เขาไม่กินและดื่มอะไรเลยเป็นเวลาสามวัน

  • ให้จินตนาการว่าท่านเป็นเซาโล หากท่านเคยข่มเหงสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์อย่างโหดร้าย ท่านจะคิดและรู้สึกอย่างไรในตอนนี้

กิจการของอัครทูต 9:10–22

อานาเนียจากเมืองดามัสกัสรักษาเชาโล เขารับบัพติศมา และสั่งสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 9:10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเจ้าทรงบัญชาอานาเนีย สมาชิกศาสนจักรในเมืองดามัสกัสให้ทำอะไร

  • พระเจ้าทรงบัญชาอานาเนียให้ทำอะไร

ชี้ให้เห็นว่าความตั้งใจเดิมของเซาโลในการไปเมืองดามัสกัสคือเพื่อจับกุมคนเช่นอานาเนีย

  • หากท่านเป็นอานาเนียและรู้ชื่อเสียงของเซาโล ท่านอาจคิดอย่างไรหลังจากได้รับบัญชานี้จากพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 9:13–16 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนอานาเนียเกี่ยวกับเซาโล

  • ทัศนะของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเซาโลต่างจากทัศนะของอานาเนียที่มีต่อเซาโลอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15 พระเจ้าทรงเลือกเซาโลให้เป็นอะไรและทำอะไร (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าวลี “ภาชนะที่เลือกสรร” อาจหมายถึงความจริงที่ว่าเซาโลได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้ปฏิบัติศาสนกิจของเขา)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 16 แม้ว่าเซาโลจะเป็นภาชนะที่พระเจ้าทรงเลือกสรร แต่เขาจะประสบกับอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ว่าพระเจ้าทอดพระเนตรเราอย่างไร (นักเรียนอาจระบุความจริงหลากหลาย แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นว่า พระเจ้าทอดพระเนตรเราดังที่เราสามารถจะเป็นได้ และ พระเจ้าทอดพระเนตรเห็นศักยภาพของเราในการช่วยเหลือพระองค์ในงานของพระองค์ เขียนความจริงเหล่านี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าภูมิหลัง อุปนิสัย และความสามารถของพวกเขาแต่ละคนสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือพระเจ้าในงานของพระองค์ได้อย่างไร ขอให้นักเรียนบันทึกความคิดของพวกเขาไว้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 9:17–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่อานาเนียทำหลังจากที่พระเจ้าทรงช่วยเขาเข้าใจศักยภาพของเซาโลและภารกิจของเขาในอนาคต

  • อานาเนียทำอะไรให้เซาโล

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 20 เซาโลทำอะไรทันทีหรือ “ไม่ได้รีรอ” หลังจากรับบัพติศมาและมีกำลังขึ้น

ชี้ให้เห็นว่าการกลับใจ บัพติศมา และการสั่งสอนของเซาโลแสดงให้เห็นถึงศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์และการยอมตนต่อพระประสงค์ของพระเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 9:21–22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้คนตอบสนองต่อการสั่งสอนของเซาโลอย่างไร

  • ผู้คนตอบสนองต่อการสั่งสอนของเซาโลอย่างไร

  • เหตุใดผู้คนจึงประหลาดใจเมื่อพวกเขาฟังเซาโล

เตือนนักเรียนว่าคำถามที่เซาโลถามพระเยซูตามที่บันทึกไว้ใน กิจการของอัครทูต 9:6 แสดงให้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตนและความปรารถนาของเขาที่จะยอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า

  • เช่นเดียวกับเซาโล เราต้องทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงและทำให้ศักยภาพที่พระเจ้าทอดพระเนตรเห็นในเราเกิดสัมฤทธิผล (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเรายอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้า เราจะเปลี่ยนแปลงและจะทำให้ศักยภาพที่พระเจ้าทอดพระเนตรเห็นในเราเกิดสัมฤทธิผล)

เชื้อเชิญอาสาสมัครสองคนออกมาที่หน้าชั้นเรียน ให้ดินเหนียวอ่อนๆ ที่ใช้ปั้นกับนักเรียนคนหนึ่ง และให้ดินเหนียวที่แข็งแล้วกับนักเรียนอีกคน (หากท่านไม่มีดินเหนียว เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าทำกิจกรรมนี้ และถามคำถามพวกเขาหลังกิจกรรมนี้) ให้เวลาอาสาสมัคร 30 วินาทีในการสร้างสรรค์บางสิ่งที่พวกเขาเลือกจากดินเหนียวของตนเอง หากนักเรียนที่มีดินเหนียวที่แข็งแล้วบอกว่ายากเกินไป กระตุ้นให้เขาพยายามต่อไป

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญอาสาสมัครให้แสดงสิ่งที่พวกเขาสร้างสรรค์ ถามนักเรียนที่มีดินเหนียวที่แข็งแล้วว่า

  • เหตุใดจึงเป็นการยากที่จะปั้นบางอย่างจากดินเหนียวของท่าน

ขอบคุณอาสาสมัครและเชิญพวกเขากลับไปนั่ง ถามชั้นเรียนว่า

  • เราสามารถเปรียบดินเหนียวที่แข็งแล้วกับบางคนที่ไม่ยอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร

  • ดินเหนียวที่ปั้นได้เปรียบเหมือนคนที่ยอมต่อพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างไร

  • การยอมต่อพระเจ้าช่วยท่านหรือคนอื่นให้เปลี่ยนแปลงและบรรลุศักยภาพที่พระเจ้าทอดพระเนตรเห็นในเราหรือในพวกเขาได้อย่างไร

อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“[คนหนึ่ง] ไม่สามารถถามคำถามสำคัญในชีวิตของเขา [หรือเธอ] มากไปกว่าสิ่่งที่เปาโลถามไว้ว่า ‘… พระเจ้า พระองค์จะให้ข้าพระองค์ทำอะไร’” (Listen to a Prophet’s Voice, Jan. 1973, 57)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามที่ว่า “พระเจ้า พระองค์จะให้ข้าพระองค์ทำอะไร” (มีในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาอังกฤษใน ข้อ 6) เชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกการกระตุ้นเตือนทุกครั้งที่พวกเขาได้รับ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว อ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเบ็นสัน

“[บุคคล] หนึ่งไม่สามารถทำอะไรได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าการแสวงหาหนทางที่จะนำเขา [หรือเธอ] ไปสู่คำตอบของคำถามนั้นและจากนั้นทำตามคำตอบนั้นให้สำเร็จลุล่วง” (Listen to a Prophet’s Voice, 57)

กระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาคำตอบต่อคำถามนี้ต่อไปและให้ทำตามการกระตุ้นเตือนทุกครั้งที่พวกเขาได้รับ

กิจการของอัครทูต 9:23–31

ชีวิตของเซาโลถูกคุกคามในกรุงเยรูซาเล็ม และอัครสาวกส่งเขาไปทาร์ซัส

ชี้ให้เห็นว่าหลังจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโล เขาอาศัยอยู่ในประเทศอาระเบียและหลังจากนั้นกลับมาที่เมืองดามัสกัส (ดู กาลาเทีย 1:17) สรุป กิจการของอัครทูต 9:23–26 โดยอธิบายว่าพวกยิวในกรุงดามัสกัสวางแผนฆ่าเซาโล แต่สมาชิกศาสนจักรช่วยเขาหนีออกจากเมือง สามปีหลังจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา (ดู กาลาเทีย 1:18) เซาโลไปที่กรุงเยรูซาเล็มที่ซึ่งสมาชิกศาสนจักรไม่กล้ายอมรับเขาเพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าเขาได้กลายเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของพระเยซูคริสต์

  • ท่านคิดว่าเหตุใดสมาชิกบางคนจึงลังเลที่จะยอมรับว่าเซาโลเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของพระเยซูคิสต์

สรุป กิจการของอัครทูต 9:27–31 โดยอธิบายว่าบารนาบัส สมาชิกศาสนจักรคนหนึ่ง (ดู กิจการของอัครทูต 4:36–37) นำเซาโลไปหาเหล่าอัครสาวกและบอกพวกเขาเกี่ยวกับนิมิตของเซาโลและการสั่งสอนอย่างกล้าหาญของเขาในเมืองดามัสกัส จากนั้นสมาชิกของศาสนจักรตอนรับเซาโลเข้าสู่เพื่อนร่วมสมาชิก เมื่อพวกยิวซึ่งพูดภาษากรีกในกรุงเยรูซาเล็มพยายามฆ่าเซาโล ผู้นำศาสนจักรส่งเขาไปที่เมืองทาร์ซัส ศาสนจักรประสบสันติสุขและการเจริญเติบโตในแคว้นยูเดีย กาลิลี และสะมาเรีย

กิจการของอัครทูต 9:32–43

เปโตรทำปาฏิหาริย์ในเมืองลิดดาและยัฟฟา

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่อ่าน กิจการของอัครทูต 9:32–35 และนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่าน กิจการของอัครทูต 9:36–42 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาปาฏิหาริย์ที่เปโตรทำและผู้คนตอบสนองอย่างไร อธิบายว่า สงเคราะห์ (ข้อ 36) เป็นการบริจาคให้คนจน

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสนทนาเป็นคู่เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ที่เปโตรทำและผู้คนตอบสนองอย่างไร จากนั้นให้ถามชั้นเรียนว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 35 และ 42 ผู้คนในเมืองลิดดาและผู้คนในเมืองยัฟฟาตอบสนองต่อการปฏิบัติของเปโตรอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากการตอบสนองของพวกเขาเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติต่อผู้อื่น (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน โดยการปฏิบัติต่อผู้อื่น เราสามารถช่วยให้ผู้คนหันมาหาพระเจ้าและเชื่อในพระองค์)

อธิบายว่าการมอบพรฐานะปุโรหิตเป็นวิธีหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้อื่น เพื่อช่วยนักเรียนรู้วิธีอื่นๆ ที่เราสามารถปฏิบัติต่อผู้อื่นได้ ให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 36 และ 39 ทาบิธาปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร

  • คนที่ “ทำคุณประโยชน์มากมาย” (ข้อ 36) และคนที่รับใช้ผู้อื่นช่วยให้ผู้คนหันมาหาพระเจ้าและเชื่อในพระองค์ได้อย่างไร

  • คุณประโยชน์ที่บางคนทำช่วยให้ท่านหรือคนอื่นหันมาหาพระเจ้าและเชื่อในพระองค์เมื่อใด

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาในบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 9:1–2 สิทธิอำนาจของเซาโลในการจับสมาชิกศาสนจักรมีขอบเขตอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม

เซาโลได้รับอำนาจจากมหาปุโรหิตในกรุงเยรูซาเล็มเพื่อไปนอกเหนือแคว้นยูเดียและจับชาวยิวไปพิจารณาคดีต่อหน้าสภายิว ซึ่งมหาปุโรหิตอนุญาตเนื่องจาก “ชาวโรมันให้สภายิวใช้อำนาจในการตัดสินคดีทางแพ่งและทางอาญา (ยกเว้นในคดีที่มีโทษประหาร) เหนือชุมชนชาวยิวทั้งหมด แม้นอกปาเลสไตน์” (เจ. อาร์. ดัมเมโลว์, ed., A Commentary on the Holy Bible [1909], 831) เนื่องจากกฎของโมเสสเป็นทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎศาสนาสำหรับชาวยิว ชาวคริสต์เชื้อสายยิวจึงถูกจับในฐานะอาชญากรได้ “หนังสือ” ที่เซาโลถือเป็นเอกสารที่มีคำสั่งเกี่ยวกับจุดประสงค์ของเซาโลและการยืนยันอำนาจของเขาในการทำงานตามวัตถุประสงค์ของเขา

กิจการของอัครทูต 9:1–22 การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเซาโล

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี อธิบายว่า “เซาโลแห่งทาร์ซัสเป็นคนหนึ่งที่กล้าหาญและมุ่งมั่นอย่างจริงจังในการกำจัดศาสนาคริสต์ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นนิกายหนึ่งซึ่งสร้างมลทินแก่พระผู้เป็นเจ้า” (ใน Conference Report, Oct. 1946, 144) อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์กับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในเซาโล เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบรรยายสิ่งที่เซาโลอาจประสบระหว่างสามวันที่ตาเขามองไม่เห็นดังนี้

“ระหว่างสามวันที่ [เซาโล] มองไม่เห็นเกิดการเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยซึ่งได้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ในเวลาต่อมา ช่างเป็นความรวดร้าวจิตวิญญาณที่เขารู้สึก ช่างเป็นการปลุกเร้ามโนธรรม ช่างเป็นการเสียใจในบาปอย่างเป็นที่ชอบพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเขาอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อเตรียมยอมต่อการนำทางของอานาเนีย” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 2:90)

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์กล่าวดังนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใจของเซาโล

“เพื่อทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใส [ของเซาโล] สมบูรณ์เขารับบัพติศมา ชีวิตของเปาโลเปลี่ยนไป เป็นเรื่องยอดเยี่ยมที่ชายซึ่งจับชายเสื้อของผู้ปลิดชีวิตสเทเฟนภายหลังจะกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อหลักธรรมซึ่งสเทเฟนสละชีพปกป้อง …

“… ชีวิตของเปาโลถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนที่ถนนดามัสกัส ก่อนหน้านี้เขาเป็นผู้ประหัตประหารศาสนาคริสต์ แต่หลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นบนถนนดามัสกัสเขาเป็นหนึ่งในผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่กล้าหาญที่สุด” (ใน Conference Report, Oct. 1964, 108–9)

กิจการของอัครทูต 9:2 ความพยายามของเซาโลในการจับกุมผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์

ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์สอนเกี่ยวกับเจตนารมย์ของเซาโลในการพยายามจับกุมผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ ดังนี้

“ด้วยความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งเพื่อยุติสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นศาสนานอกรีตจนเขาได้รับสิทธิในฐานะเจ้าหน้าที่ของสภายิวเพื่อจับกุมผู้ติดตามของพระเยซูเมื่อใดก็ตามที่เขาพบพวกนั้น เขาไปบ้านทีละหลัง ลากตัวชายหลายคนออกจากภรรยาและลูกๆ ของพวกเขา เขาจับกุมแม้แต่ผู้หญิงและโยนพวกเขาเข้าคุก แน่นอนว่าเสียงร่ำไห้และคำวิงวอนที่น่าสงสารของเด็กเล็กๆ ต้องทำให้หัวใจอันขมขื่นของเขาเจ็บปวดเกือบจะมากกว่ามรณสักขีของสเทเฟนผู้ซื่อสัตย์ เป็นที่แน่นอนว่า เมื่อเขาบังคับให้ชายและหญิงออกจากบ้านของพวกเขา หน้าอันซีดสลดของเด็กๆ ที่คู้ตัว และเสียงสะอื้นของใจที่รวดร้าวของเด็กๆ คงจะติดเป็นภาพอยู่ในจิตวิญญาณอันดื้อรั้นของเขาจนทำให้เขาอ่อนน้อมถ่อมตน หรือไม่เช่นนั้นก็ตามหลอกหลอนเขาตลอดทั้งชีวิต มีสิ่งเดียวที่จะปลอบโยนเขาในช่วงหลังของชีวิตเมื่อเขามองย้อนกลับไปดูประสบการณ์อันน่าสะพรึงกลัวเหล่านั้น คือสิ่งนี้ ดังที่กล่าวไว้ในคำพูดของเขาเองว่า ‘ข้าพระบาทเคยคิดในใจของตนเองว่า ควรจะทำหลายๆ อย่างเพื่อขัดขวางพระนามของพระเยซูชาวนาซาเร็ธ’ [กิจการของอัครทูต 26:9] เซาโลบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่เขากำลังทำตอนนั้น เขาเคยไม่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและคิดว่าจะเป็นที่พอพระทัยของพระบิดาในสวรรค์ในการทำให้ผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ปฏิเสธพระนามของพระองค์” (Ancient Apostles, 2nd ed. [1921], 147–48)

กิจการของอัครทูต 9:15–16 พระเจ้าทอดพระเนตรเราดังที่เราจะเป็น

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนสมาชิกศาสนจักรให้มองคนในแบบที่พระเจ้าทอดพระเนตรพวกเขา (ดู “มองผู้อื่นดังที่พวกเขาจะเป็น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 70)

พิมพ์