คลังค้นคว้า
บทที่ 75: ยอห์น 15


บทที่ 75

ยอห์น 15

คำนำ

ในเย็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยของพระองค์ หลังจากพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ว่าพระองค์ทรงเป็นเถาองุ่นแท้และสานุศิษย์ของพระองค์เป็นแขนง พระองค์ทรงบัญชาให้สานุศิษย์ของพระองค์รักกันและทรงเตือนพวกเขาถึงการข่มเหงที่พวกเขาจะประสบเนื่องจากการคบค้าสมาคมกับพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 15:1–11

พระเยซูทรงอธิบายว่าพระองค์ทรงเป็นเถาองุ่นแท้

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนคำว่า ประสบความสำเร็จ ไม่มีความสุข ปีติยินดี ตาย คุ้มค่า ไม่เกิดผล เกิดผลดี งอกงาม อุดมสมบูรณ์ และ ไม่ประสบความสำเร็จ บนกระดาน

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขากำลังมองย้อนกลับไปในชีวิตของพวกเขาในอีก 60 ปีข้างหน้า

  • คำเหล่านี้คำใดที่ท่านอยากบรรยายชีวิตของท่านเอง เพราะเหตุใด

ภาพ
เถาองุ่น

วาด ภาพ เถาองุ่นบนกระดาน ท่านอาจแนะนำให้นักเรียนลอกภาพวาดในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา อธิบายว่าพระเยซูทรงใช้อุปมาเถาองุ่นเพื่อช่วยให้สานุศิษย์ของพระองค์เข้าใจชีวิตที่เกิดผลดี งอกงาม และอุดมสมบูรณ์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 15:1–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าแต่ละส่วนของอุปลักษณ์นี้หมายถึงอะไร

  • เถาองุ่นหมายถึงอะไร (เขียนกำกับเถาองุ่นบนกระดานว่า พระเยซูคริสต์)

  • แขนงหมายถึงอะไร (เขียนกำกับแขนงว่า สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์)

  • ถ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นเถาองุ่นและเราเป็นแขนง ผลจะหมายถึงอะไร (ผลสามารถหมายถึงงานอันชอบธรรมและการปฏิบัติที่สานุศิษย์พระเยซูคริสต์ควรทำให้เกิดผล เขียนกำกับผลว่า งานที่ชอบธรรม)

ชี้ไปที่คำว่า ผู้ดูแลรักษา ใน ข้อ 1

  • ผู้ดูแลรักษาคืออะไร (คนที่คอยดูแลสวนองุ่น)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 1–2 พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นเหมือนผู้ดูแลรักษาอย่างไร (อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทรงปลูกเถาองุ่นแท้ [พระเยซูคริสต์] ซึ่งจะบำรุงเลี้ยงเถาอื่นๆ)

ให้นักเรียนดูแขนงเล็กๆ หรือกิ่งไม้ที่ท่านตัดออกจากต้นไม้และอธิบายว่าท่านตื่นเต้นเพียงใดเมื่อถึงเวลาที่ท่านจะสามารถเก็บผลจากแขนงนี้และกินผล ถามชั้นเรียนว่าพวกเขาคิดว่าท่านจะรับประทานผลจากแขนงนี้ได้เมื่อไหร่

  • เหตุใดแขนงนี้จะไม่ผลิตผลใดๆ (เนื่องจากมันถูกตัดออกจากต้น มันไม่สามารถได้รับการบำรุงเลี้ยงจนผลิตผลได้)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 15:4–5 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผลที่จะโตบนแขนงนั้น

  • พระเยซูตรัสว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผลที่จะโตบนแขนงนั้น (แขนงต้อง “ติดสนิท” อยู่กับเถา)

  • แขนงนี้เป็นเหมือนคนที่ถูกแยกหรือตัดออกจากพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาทำเครื่องหมายแต่ละครั้งที่มีคำว่า ติดสนิท ใน ข้อ 4–5 อธิบายว่าคำว่า ติดสนิท ดังที่ใช้ในข้อเหล่านี้หมายถึงคงอยู่และติดแน่นอยู่กับพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์ (ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา,”เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 40)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 ผลของการติดสนิทหรือติดแน่นอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดคืออะไร (สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์จะเกิดผลมาก)

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ถ้าเรารักษาพระบัญญัติเราจะติดสนิทกับความรักของพระผู้ช่วยให้รอดและ …

เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจวิธีหนึ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงช่วยเรารักษาพระบัญญัติและติดสนิทในความรักของพระองค์ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้

“…โดยผ่านพระคุณของพระเจ้า ผ่านศรัทธาในการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการกลับใจจากบาป แต่ละคนได้รับพลังและความช่วยเหลือเพื่อทำงานดีที่พวกเขาจะไม่สามารถทำได้หากปล่อยให้ทำตามวิธีของพวกเขาเอง พระคุณดังกล่าวคือพระเดชานุภาพอันกอปรด้วยพระปรีชาสามารถซึ่งยอมให้ชายหญิงได้รับชีวิตนิรันดร์และความสูงส่งหลังจากพวกเขาได้พยายามสุดความสามารถแล้ว” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระคุณ”)

  • พระเยซูคริสต์ทรงเสริมสร้างเราให้เข้มแข็งเพื่อรักษาพระบัญญัติในทางใดบ้าง

สรุป ยอห์น 15:6–8 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าคนที่ไม่ติดสนิทในพระองค์เป็นเหมือนแขนงที่ถูกตัดออก มันเหี่ยวแห้งและตาย แต่คนที่ติดสนิทกับพระเยซูคริสต์จะเกิดงานดีซึ่งสรรเสริญเกียรติพระผู้เป็นเจ้า

  • เราจะทำอะไรได้เพื่อติดสนิทหรือติดแน่นอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 15:9–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ทำอะไรและพรอะไรที่พวกเขาจะได้รับ

  • พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ทำอะไร

  • การรักษาพระบัญญัติทำให้เราติดสนิทกับความรักของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร (อธิบายว่าถึงแม้พระบิดาและพระบุตรทรงรักเราอย่างสมบูรณ์และไม่มีที่สิ้นสุด แต่การรักษาพระบัญญัติของพระองค์ทำให้เราได้รับความบริบูรณ์ของพรที่พระองค์ปรารถนาจะประทานแก่เราด้วยความรัก [ดู 1 นีไฟ 17:35; คพ. 95:12; 130:20–21])

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 เหตุใดพระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ติดสนิทกับพระองค์และนำงานชอบธรรมออกมา

ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะเติมข้อความที่ไม่ครบถ้วนบนกระดานให้เป็นหลักธรรมหนึ่งตามสิ่งที่พวกเขาอ่านใน ข้อ 11 ว่าอย่างไร (โดยใช้คำพูดของนักเรียน เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรารักษาพระบัญญัติเราจะติดสนิทอยู่กับความรักของพระผู้ช่วยให้รอดและได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดทำให้เราได้รับความบริบูรณ์แห่งปีติ

ขอให้นักเรียนนึกถึงคนบางคนที่พวกเขารู้จักผู้ที่มีปีติเนื่องจากเขาติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันเกี่ยวกับคนที่พวกเขานึกถึงและอธิบายสาเหตุที่คนนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีของหลักธรรมนี้ ท่านอาจพิจารณาเชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าการติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดนำปีติมาสู่พวกเขาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองวิธีที่พวกเขาจะยังคงติดแน่นอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดและได้รับปีติที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นด้วยเหตุนั้น

ยอห์น 15:12–17

พระเยซูทรงบัญชาสานุศิษย์ของพระองค์ให้รักกัน

เขียนคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบน กระดาน (คำกล่าวนี้มีอยู่ใน “พระพันธกิจและศาสนกิจของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, เม.ย. 2013, 18)

“โดยแท้แล้วหลักฐานยืนยันความเลื่อมใสที่เรามีต่อพระเยซูได้ดีที่สุดคือการเลียนแบบพระองค์ ” (ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน)

ขีดเส้นใต้คำว่า ความเลื่อมใส และ การเลียนแบบ ในข้อความบนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายว่าคำที่ขีดเส้นใต้หมายความว่าอย่างไร (ความเลื่อมใส เป็นความรักและความเคารพที่ยิ่งใหญ่ และ การเลียนแบบ หมายถึงการทำตามหรือทำให้เหมือน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการเลียนแบบพระเยซูจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงว่าเรารักและเคารพพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 15:12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราเลียนแบบพระองค์อย่างไร

  • พระเยซูทรงบัญชาให้เราทำอะไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชาให้เรารักกันอย่างที่พระองค์ทรงรักเรา กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาทำเครื่องหมายความจริงนี้ใน ข้อ 12)

  • ท่านคิดว่าการรักบางคนอย่างที่พระคริสต์ทรงรักท่านหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 15:13–17 ในใจ โดยมองหาวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักเรา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว แบ่งนักเรียนเป็นคู่และขอให้พวกเขาสนทนากับคู่ของเขาถึงสิ่งที่พวกเขาค้นพบ จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าอะไรคือการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

  • พระองค์ทรงแสดงความรักแบบนี้อย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่าการสละชีวิตของเราหมายความว่าอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์คลอดิโอ อาร์. เอ็ม. คอสตาแห่งสาวกเจ็ดสิบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์คลอดิโอ อาร์. เอ็ม. คอสตา

“[พระเยซูคริสต์] ประทานแบบอย่างอันเป็นเลิศของความรักเมื่อพระองค์ทรงประกาศว่า ‘ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่านี้ คือการสละชีวิตเพื่อมิตรสหายของตน’ [ยอห์น 15:13] ต่อมาพระองค์ทรงชดใช้บาปของเราทุกคน และพลีพระชนม์ชีพเพื่อเราทุกคนในท้ายที่สุด

“เราสามารถสละชีวิตเพื่อคนที่เรารักได้ไม่ใช่ตายแทนพวกเขา แต่มีชีวิตเพื่อพวกเขา—ให้เวลาของเรา อยู่ในชีวิตพวกเขาเสมอ รับใช้พวกเขา สุภาพ เอื้ออาทร แสดงรักแท้ต่อคนในครอบครัว และต่อมนุษย์ทั้งปวง—ตามที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน” (“อย่าผัดสิ่งที่ทำได้วันนี้ไปทำพรุ่งนี้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 94)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์คอสตากล่าว เราสามารถสละชีวิตของเราเพื่อคนอื่นในทางใดบ้าง

  • เคยมีบางคนสละชีวิตของเขาเพื่อท่านตามวิธีหนึ่งในวิธีเหล่านี้เมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงพระบัญญัติของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้รักผู้อื่นดังที่พระองค์ทรงรักเรา ให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเพื่อเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์เกี่ยวกับบางคนที่พวกเขาคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้พวกเขาแสดงความรักกับคนนั้นและวางแผน วิธี ที่พวกเขาจะทำเช่นนั้น

ยอห์น 15:18–27

พระเยซูทรงเตือนสานุศิษย์ของพระองค์ถึงการข่มเหงที่พวกเขาจะประสบเนื่องจากการเป็นพยานถึงพระองค์

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการติดสนิทอยู่กับพระองค์และแสดงความรักซึ่งกันและกัน พระองค์ทรงสอนพวกเขาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเพราะการเป็นพยานพิเศษถึงพระองค์และความรับผิดชอบในการแบ่งปันสิ่งนี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 15:18–20 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงสอนว่าโลกจะปฏิบัติต่อสานุศิษย์ของพระองค์อย่างไร (อธิบายว่าในข้อเหล่านี้ “โลก” หมายถึงผู้คนที่มีบาปและต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า)

  • พระเยซูทรงสอนอะไรถึงวิธีที่โลกจะปฏิบัติต่อสานุศิษย์ของพระองค์

ท่านอาจต้องการชี้ให้นักเรียนเห็นว่าเนื่องจาก “โลกเกลียดชัง” สานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด นักเรียนมีแนวโน้มที่จะพบกับสื่อและเว็บไซต์ต่อต้านมอรมอนและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง นักเรียนบางคนอาจเผชิญกับการกีดกัน การล้อเลียน และการคุกคามผ่านพฤติกรรมโกรธเคือง รวมถึงการรุกรานทางอินเทอร์เน็ต

หากเห็นสมควร ท่านอาจแนะนำนักเรียนว่าจะค้นหาคำตอบต่อข้อกล่าวหาที่มาจากความเกลียดชังศาสนจักรได้จากที่ไหนและด้วยวิธีใด นอกเหนือจากการหาความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจได้ นักเรียนสามารถหาจากแหล่งออนไลน์ที่ mormonnewsroom.org, lds.org/topics และ seektruth.lds.org

สรุป ยอห์น 15:21–25 โดยอธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงยืนยันว่าคนที่เกลียดชังพระองค์ก็เกลียดชังพระบิดาด้วยและพวกเขาจะต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของพวกเขา

อธิบายว่าถึงแม้ผู้อื่นจะเกลียดชังและข่มเหงผู้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอด แต่พระเยซูคริสต์ประทานวิธีที่โลกจะรับประจักษ์พยานของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 15:26–27 ในใจ โดยมองหาพยานผู้ซึ่งจะเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ต่อโลก

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าใครจะเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์ (พระวิญญาณบริสุทธิ์และสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองหลักธรรมและความจริงในบทเรียนนี้ กระตุ้นให้พวกเขาทบทวนสิ่งที่พวกเขาได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำและทำตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาอาจได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 15:4–5 หากเราติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอด เราจะทำให้เกิดงานชอบธรรม

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าการติดสนิทอยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดหมายความว่าอย่างไร

“‘จงติดสนิทอยู่กับเรา’ [ยอห์น 15:4] เป็นแนวคิดที่เข้าใจง่ายและไพเราะพอในภาษาอังกฤษที่สละสลวยของพระคริสตธรรมคัมภีร์ฉบับคิงเจมส์ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่ได้ใช้คำว่า ‘ติดสนิท’ บ่อยนัก ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีความซาบซึ้งใจมากขึ้นแม้สำหรับพระดำรัสข้อนี้จากพระเจ้าเมื่อข้าพเจ้ารู้จากการแปลข้อความเดียวกันในภาษาอื่น ในภาษาสเปนวลีที่คุ้นเคยนี้ถอดความได้ว่า ‘permaneced en mi.’ เช่นเดียวกันกับคำกริยาในภาษาอังกฤษ ‘ติดสนิท’ permanecer หมายถึง ‘คงอยู่ หรือ อยู่’ แต่ [คนพูดภาษาอังกฤษ] อย่างข้าพเจ้าฟังออกว่าคำนี้มีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า ‘ถาวร’ ในความหมายนี้จึงเป็น ‘อยู่—แต่อยู่ ตลอดกาล’ นั่นคือการเรียกในข่าวสารพระกิตติคุณที่มีต่อ [ทุกคน] ในโลก จงมา แต่มาเพื่อคงอยู่ จงมาด้วยความมั่นใจและอดทนนาน จงมาอย่างถาวร เพื่อเห็นแก่ท่านและเห็นแก่อนุชนทุกรุ่นที่ต้องตามท่านมา …

“… พระคริสต์คือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเราและเราต้อง ‘ติดสนิท’ ในพระองค์อย่างถาวร ไม่ย่อหย่อน แต่มั่นคงตลอดกาล เพราะผลของพระกิตติคุณจะเบ่งบานและเป็นพรแก่ชีวิตเรา เราต้องแนบสนิทอย่างมั่นคงกับพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดของเราทุกคนและกับศาสนจักรของพระองค์ซึ่งรับพระนามศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ไว้ พระองค์คือเถาองุ่นซึ่งเป็นแหล่งแท้จริงของความเข้มแข็งและเป็นเพียงแหล่งเดียวของชีวิตนิรันดร์” (ดู “จงเข้าสนิทอยู่ในเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 40)

เอ็ลเดอร์เจมส์ เอ็ม. พารามอร์ แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนเกี่ยวกับวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งผ่านความรักและพลังอำนาจของพระองค์ไปสู่คนที่รักษาพระบัญญัติ ดังนี้

“เมื่อเราแสวงหาพระบิดาในสวรรค์โดยการสวดอ้อนวอน โดยการเรียนรู้และรักษาพระบัญญัติของพระองค์ พระองค์จะทรงส่งผ่านความรักและพลังอำนาจมากมายของพระองค์มาให้เรา มีผู้คนหลายพันคนกล่าวคำพยานว่าพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า ‘ถ้าพวกท่านประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะติดสนิทอยู่กับความรักของเรา’ (ยอห์น 15:10) เป็นจริง ดังที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส เราจึงเริ่มติดสนิทตัวเราเองเป็นแขนงกับ ‘เถาองุ่นแท้’ เรารับความเข้มแข็งและพลังอำนาจเดียวกันนั้น และเราตาดหวังได้ว่าจะได้ผลเดียวกัน (ดู ยอห์น 15:1–6)” (“Love One Another,” Ensign, May 1981, 54)

ยอห์น 15:8–14 “พวกท่านเกิดผลมาก”

ประธานจอห์น เทย์เลอร์ สอนว่าเราต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ชื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และเชื่อฟังหากเราจะเป็นแขนงที่เกิดผลมาก

“ในฐานะวิสุทธิชนท่านพูดว่า ‘ฉันคิดว่าฉันเข้าใจหน้าที่ของฉันและฉันกำลังทำได้ดีมาก’ นั่นอาจเป็นเช่นนั้น ท่านเห็นกิ่งเล็กๆ นั้น มันเป็นสีเขียว งอกงามดีและเป็นภาพที่บ่งบอกชีวิตจริง มันแบกกิ่งก้านสาขาตามสัดส่วนของมันในต้นไม้ เชื่อมต่อกับลำต้น แขนงและราก แต่หากไม่มีสิ่งนี้ต้นไม้มีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ใช่แล้ว มันอยู่ได้ มันไม่จำเป็นต้องอวดอ้างตนเองหรือยกตนให้สูงขึ้นและพูดว่า ‘ฉันช่างเขียวขจีและงอกงามดี ฉันอยู่ในจุดที่สมบูรณ์อะไรเช่นนี้ ฉันทำได้ดีเพียงใด ฉันอยู่ตรงนี้ถูกต้องแล้ว และฉันกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง’ แต่ท่านทำเช่นนั้นโดยไม่มีรากได้หรือไม่’ ไม่ได้ ท่านแบกกิ่งก้านตามสัดส่วนและตำแหน่งที่เหมาะสมของท่านในต้นไม้ คนเรานี้ก็เช่นกัน เมื่อพวกเขาทำส่วนของพวกเขา เมื่อพวกเขาขยายการเรียกของพวกเขา ดำเนินชีวิตตามศาสนาของพวกเขาและเดินในการเชื่อฟังพระวิญญาณของพระเจ้า พวกเขามีส่วนของพระวิญญาณของพระองค์ประทานแก่พวกเขาเพื่อได้รับประโยชน์ยิ่งกว่านั้น ขณะที่พวกเขาอ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร และถือปฏิบัติตามกฎและพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมบนต้นไม้ พวกเขากำลังงอกงาม และผลิดอก เบ่งบาน ก้านใบและทุกสิ่งเกี่ยวกับพวกเขาดี พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งและกลุ่มหนึ่งของต้นไม้นั้น” (Deseret News, 16 Dec. 1857, 323)

ยอห์น 15:13 “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่านี้”

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์แบ่งปันความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับ ยอห์น 15:13ดังนี้

พระเยซูทรงเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า ไม่มีใครให้ข้าพเจ้าได้มากไปกว่านี้ ‘ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่านี้ คือการสละชีวิตเพื่อมิตรสหายของตน’ (ยอห์น 15:13) พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อข้าพเจ้า พระองค์ทรงเปิดทางสู่ชีวิตนิรันดร์ มีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งนี้ได้ ข้าพเจ้าหวังให้ตนมีค่าควรพอจะเป็นเพื่อนกับพระองค์” (“ประจักษ์พยานของข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2000, 88)

พิมพ์