คลังค้นคว้า
บทที่ 4: การศึกษาพระคัมภีร์


บทที่ 4

การศึกษาพระคัมภีร์

คำนำ

บทนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของการศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันและการอ่านพันธสัญญาใหม่ทั้งเล่มซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษานี้ นักเรียนสามารถเรียนรู้วิธีปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ความจำเป็นสำหรับ การศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันอย่างมีประสิทธิภาพ

แจก สำเนา ของ แบบสำรวจต่อไปนี้ให้นักเรียนแต่ละคน ให้นักเรียนพิจารณาข้อความและเขียนคำตอบของพวกเขาในช่อง รับรองกับนักเรียนว่าท่านจะไม่ให้พวกเขารายงานคำตอบ

ภาพ
เอกสารแจก แบบสำรวจ

หลังจากนักเรียนทำแบบสำรวจจนครบถ้วน ให้พวกเขาไตร่ตรองระหว่างบทเรียนว่าพวกเขาจะปรับปรุงการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“พระคัมภีร์ประกอบด้วยพระคำของพระคริสต์และเป็นแหล่งน้ำดำรงชีวิตซึ่งเรามีอยู่ตลอดเวลาและเราสามารถดื่มได้มากและดื่มได้นาน …

“โดยผ่านกิจวัตรประจำวัน ท่านและข้าพเจ้าสูญเสียน้ำจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนประกอบจำนวนมากของร่างกายเรา ความกระหายเป็นความต้องการน้ำของเซลล์ร่างกาย และน้ำในร่างกายเราจะต้องได้รับการเติมให้เต็มทุกวัน เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลหากจะ ‘เติม’ น้ำเป็นครั้งคราว โดยอยู่ในภาวะสูญเสียน้ำเป็นเวลานาน สิ่งเดียวกันนี้เป็นความจริงทางวิญญาณ ความกระหายทางวิญญาณคือความต้องการน้ำดำรงชีวิต การไหลอย่างต่อเนื่องของน้ำดำรงชีวิตดีกว่าการจิบเป็นครั้งคราวมากนัก” (“แหล่งน้ำดำรงชีวิต” [ไฟร์ไซด์ระบบการศึกษาของศาสนจักร, 4 ก.พ., 2007], 1, 7 lds.org/broadcasts)

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเอ็ลเดอร์เบดนาร์เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราจะได้รับจากการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน เราได้รับ “น้ำดำรงชีวิต” ที่เราต้องการ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

คุณค่าของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยของเรา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจคุณค่าและความสำคัญของพระคัมภีร์ในสมัยของเรา ท่านอาจต้องการฉายวีดิทัศน์ “พรของพระคัมภีร์” (3:04), ซึ่งมีอยู่ใน LDS.org ในวีดิทัศน์นี้ เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบรรยายถึงการเสียสละที่ชายคนหนึ่งทำเพื่อช่วยให้มีคนได้อ่านพระคัมภีร์ไบเบิลได้มากขึ้น หากท่านเปิดวีดิทัศน์ ให้หยุดหลังจากเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน ถามว่า “พวกเขาเข้าใจสิ่งใดที่เราต้องเข้าใจเช่นกัน” (นาทีที่ 1:56) เพื่อถามนักเรียนว่าพวกเขาจะตอบคำถามของท่านว่าอย่างไร จากนั้นฉายวีดิทัศน์ต่อ ในตอนท้ายของวีดิทัศน์ สอนบทเรียนต่อตรงย่อหน้าที่เริ่มว่า “หลังจากดูวีดิทัศน์ …”

หากท่านไม่ได้ฉายวีดิทัศน์ เชิญนักเรียนสี่คนออกมาที่หน้าชั้นเรียนและอ่านข้อความบางส่วนต่อไปนี้จากคำพูดของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สัน

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

1. “ในวันที่ 6 ตุลาคม ปี 1536 ร่างอันน่าอนาถถูกนำออกมาจากคุกใต้ดินในปราสาทวิลโวร์ดใกล้กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เกือบหนึ่งปีครึ่งชายคนนี้ต้องทนทุกข์อย่างโดดเดี่ยวในคุกมืดและอับชื้น นักโทษถูกมัดตรึงกับเสานอกกำแพงปราสาท เขามีเวลาเปล่งคำสวดอ้อนวอนครั้งสุดท้าย ‘พระองค์เจ้าข้า ขอทรงเปิดพระเนตรกษัตริย์อังกฤษด้วยเถิด’ จากนั้นเขาถูกรัดคอโดยฉับพลัน ร่างที่มัดติดกับเสาถูกเผาในทันที ชายผู้นี้คือใครกันเล่า และกล่าวโทษเขาด้วยความผิดใด… ” (“พรจากพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 39)

2. “ชื่อของเขาคือวิลเลียม ทินเดล มีความผิดโทษฐานแปลและเผยแพร่พระคัมภีร์ไบเบิลในภาษาอังกฤษ

“… ในการโต้เถียงอย่างดุเดือดกับบาทหลวงผู้หนึ่งซึ่งต่อต้านการให้คนธรรมดาสามัญครอบครองพระคัมภีร์ ทินเดลปฏิญาณว่า ‘หากพระผู้เป็นเจ้าทรงไว้ชีวิต ภายในไม่กี่ปีข้าพเจ้าจะทำให้เด็กขับรถไถรู้พระคัมภีร์มากกว่าท่านเสียอีก!” …

“วิลเลียม ทินเดลไม่ใช่คนแรกและคนสุดท้ายในบรรดาผู้เสียสละที่อยู่ในหลายประเทศหลายภาษาและยอมตายเพื่อนำพระคำของพระผู้เป็นเจ้าออกมาจากการปิดบัง … พวกเขารู้อะไรเล่าเกี่ยวกับความสำคัญของพระคัมภีร์ซึ่งเราต้องรู้เช่นกัน ชาวอังกฤษในศวรรษที่ 16 ซึ่งจ่ายเงินจำนวนมากมายมหาศาลและยอมเสี่ยงตายเพื่อให้ได้อ่านพระคัมภีร์ไบเบิล คนเหล่านั้นเข้าใจอะไรหรือที่เราทั้งหลายควรเข้าใจเช่นกัน” (“พรจากพระคัมภีร์,” 39)

ถามนักเรียนว่า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนจึงเสียสละอย่างใหญ่หลวงเช่นนั้นเพื่อให้ได้พระคัมภีร์

ขอให้ผู้อ่านคนที่สามอ่านคำกล่าวของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันต่อ

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

3. “ในสมัยของทินเดล ความไม่รู้พระคัมภีร์มีมากเนื่องจากผู้คนไม่มีสิทธิ์อ่านพระคัมภีร์ไบเบิล โดยเฉพาะในภาษาที่พวกเขาจะเข้าใจได้ ปัจจุบันนี้พระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์เล่มอื่นๆ อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่ความไม่รู้พระคัมภีร์กลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้คนไม่เปิดอ่านหนังสือเหล่านั้น พวกเขาจึงหลงลืมสิ่งที่ปู่ย่าตายายเคยรู้มา” (“พรจากพระคัมภีร์,” 40)

ถามนักเรียนว่า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนในสมัยของเราไม่อ่านพระคัมภีร์อย่างที่พวกเขาควรอ่าน

ขอให้ผู้อ่านคนที่สี่อ่านคำกล่าวของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันต่อ

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

4. “ลองนึกถึงความสำคัญของพรที่เรามีพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์เพิ่มเติมอีกราว 900 หน้า อันได้แก่พระคัมภีร์มอรมอน หลักคำสอนและพันธสัญญา และไข่มุกอันล้ำค่า … แน่นอนว่าการได้รับพรดังกล่าวพระเจ้าทรงกำลังบอกว่าเราจำเป็นต้องใช้แหล่งช่วยที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ตลอดเวลามากกว่าช่วงใดที่ผ่านมา (“พรจากพระคัมภีร์,” 43)

หลังจากดูวีดิทัศน์ (หรือหลังจากผู้อ่านคนที่สี่อ่านคำกล่าวของเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันจบ) ให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขาเชื่อว่าเอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟอร์สันพูดว่าอะไรเกี่ยวกับความจำเป็นของเราในการศึกษาพระคัมภีร์ หลังจากนักเรียนตอบแล้ว เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: ความจำเป็นของเราที่ต้องมีพระคัมภีร์ในปัจจุบันมีมากกว่าช่วงใดที่ผ่านมา

  • ทำไมท่านจึงคิดว่าความจำเป็นของเราที่ต้องมีพระคัมภีร์ในปัจจุบันมีมากกว่าช่วงใดที่ผ่านมา

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการศึกษาพระคัมภีร์จะเป็นประโยชน์ต่อเราในสมัยของเราอย่างไร อธิบายว่าอัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งท่านบรรยายสภาพบางอย่างของโลกในยุคสุดท้าย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 3:1-5, 13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาบาปและเจตคติบางประการที่เห็นได้ทั่วไปในสมัยของเรา (ท่านอาจต้องการบอกให้นักเรียนดูเชิงอรรถเพื่อช่วยนิยามคำศัพท์และวลียากๆ ในข้อเหล่านี้)

  • บาปหรือเจตคติอะไรบ้างที่ระบุไว้ในข้อเหล่านี้ที่ท่านเห็นในสังคมของท่านในปัจจุบัน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 3:14-17 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าเราจะพบความปลอดภัยในเวลาที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้ได้อย่างไร

  • เราจะพบความปลอดภัยในเวลาที่เต็มไปด้วยอันตรายนี้ได้อย่างไร

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์เราสามารถได้รับ

  • จาก 2 ทิโมธี 3:15–17 มีพรอะไรให้เราเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์และดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระคัมภีร์ (หลังจากที่นักเรียนตอบ ให้เติมข้อความบนกระดานให้ครบเพื่อให้อ่านได้ดังนี้: เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์เราสามารถได้รับปัญญา การแก้ไขสิ่งผิด และแนวทางที่จะนำเราไปสู่ความรอด)

อธิบายว่าข้อความบนกระดานเป็นตัวอย่างของหลักธรรมหนึ่ง หลักธรรมและหลักคำสอนของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นความจริงพื้นฐานที่ไม่แปรเปลี่ยนซึ่งให้การนำทางในชีวิตของพวกเรา หนึ่งในจุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์คือเพื่อสอนหลักคำสอนและหลักธรรมของพระกิตติคุณ เราสามารถทำให้การศึกษาพระคัมภีร์ประจำวันของเรามีความหมายมากขึ้นโดยการค้นคว้าหาหลักคำสอนและหลักธรรมต่างๆ ไตร่ตรองความหมาย และประยุกต์ใช้ในชีวิตเรา

พูดถึงหลักธรรมที่ท่านเขียนไว้บนกระดานอีกครั้ง

  • ท่านคิดว่าการที่เราสามารถได้รับปัญญา การแก้ไขสิ่งผิด และแนวทางเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์หมายความว่าอย่างไร

  • เมื่อใดที่ท่านรู้สึกว่าท่านได้รับปัญญา การแก้ไขสิ่งผิด และแนวทางเนื่องจากการศึกษาพระคัมภีร์ (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน)

การอ่านพันธสัญญาใหม่ทุกวัน

อธิบายว่าหนึ่งในความคาดหวังของหลักสูตรการศึกษาเซมินารีนี้คือการที่นักเรียนต้องอ่าน พันธสัญญาใหม่ทั้งเล่ม นี่เป็นข้อกำหนดของการได้รับวุฒิบัตรเซมินารี

อธิบายว่าการอ่านพันธสัญญาใหม่ทั้งเล่มจะต้องใช้ความมุ่งมั่นอันต่อเนื่องแต่ก็คุ้มค่ากับความพยายาม เพื่ออธิบายตัวอย่างเรื่องนี้ ให้สาธิตโดยเติมน้ำ (หรือเครื่องดื่ม) จนเต็มแก้วใส ให้นักเรียนสองคนยืนอยู่ข้างแก้วน้ำ ให้หลอดหนึ่งหลอดกับนักเรียนคนหนึ่ง ให้หลอดเจ็ดหลอดที่มัดรวมกันเป็นกำแก่นักเรียนอีกคน บอกให้พวกเขาดื่มน้ำทั้งหมดให้เร็วที่สุดโดยใช้หลอดหนึ่งหลอดหรือหลายๆ หลอด (นักเรียนที่ใช้หลอดหนึ่งหลอดควรจะดื่มน้ำได้อย่างต่อเนื่องและหมดก่อน นักเรียนอีกคนควรจะดูดน้ำขึ้นมาตามหลอดได้ลำบาก) เชิญนักเรียนสองคนนั่งลงและถามชั้นเรียนดังนี้

  • ท่านจะเชื่อมโยงกิจกรรมนี้กับเป้าหมายการอ่านพันธสัญญาทั้งเล่มระหว่างหลักสูตรการศึกษานี้อย่างไร (นักเรียนที่มีหลอดเจ็ดหลอดเป็นเหมือนคนที่พยายามอ่านพระคัมภีร์มากๆ ในคราวเดียว นักเรียนที่มีหลอดเดียวเป็นเหมือนคนที่ค่อยๆ อ่านทุกวัน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนมองเห็นว่าพวกเขาสามารถค่อยๆ อ่านพันธสัญญาใหม่ทั้งเล่มได้อย่างต่อเนื่อง ให้พวกเขาหารจำนวนหน้าในพันธสัญญาใหม่ (392 หน้าในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ฉบับมาตรฐาน โดยสหสมาคมพระคริสตธรรมสากล) กับจำนวนวันทั้งหมดจนกระทั่งจบหลักสูตร ตัวอย่างเช่น หากหลักสูตรต้องสอนในปีการศึกษาคือ 280 วัน นักเรียนจะต้องอ่านประมาณวันละ 1.4 หน้าเพื่ออ่านพันธสัญญาใหม่ให้จบก่อนสิ้นสุดหลักสูตร

เป็นพยานถึงพรที่มาสู่นักเรียนเมื่อพวกเขาศึกษาพันธสัญญาใหม่อย่างขยันหมั่นเพียร นักเรียนจะได้รับปัญญา การแก้ไขสิ่งผิด และแนวทางจากพระคัมภีร์และได้รับพรโดยมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อน

พูดถึงหลักธรรมบนกระดานอีกครั้ง และเป็นพยานว่าโดยการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน นักเรียนจะประสบกับพรที่เปาโลบรรยายไว้ใน 2 ทิโมธี 3:15–17 กระตุ้นให้นักเรียนตั้งเป้าหมายจัดเวลาไว้ทุกวันสำหรับการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวและอ่านพันธสัญญาใหม่ทั้งเล่ม เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเป้าหมายของพวกเขาในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

พรจะมาเมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้

“พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้พระคัมภีร์แก้ไขความคิดที่ไม่ถูกต้อง ขนบประเพณีผิดๆ และบาปกับผลกระทบอันรุนแรงของบาป พระองค์ทรงเป็นพระบิดาผู้เปี่ยมพระเมตตาซึ่งจะไม่ทรงปล่อยให้เราทนทุกข์และเสียใจโดยไม่จำเป็น ในขณะเดียวกันก็ทรงช่วยให้เราบรรลุศักยภาพแห่งสวรรค์ของเราด้วย …

“ในท้ายที่สุดแล้ว จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์ทุกเล่มคือเติมจิตวิญญาณของเราด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและในพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์” (“พรจากพระคัมภีร์” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 39-42)

ซิสเตอร์จูลี บี. เบค อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอนว่า

“ถ้าท่านยังไม่ได้สร้างนิสัยของการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน จงเริ่มเสียแต่เดี๋ยวนี้และศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อท่านจะพร้อมทำหน้าที่รับผิดชอบของท่านในชีวิตนี้และในนิรันดร …

“… กุญแจไขสู่ความรู้สำคัญคือการศึกษาต่อไปเรื่อยๆ … พระคัมภีร์จะเป็นพยานให้พระคริสต์ (ดู ยอห์น 5:39) พระคัมภีร์บอกเราทุกสิ่งที่เราควรทำ (ดู 2 นีไฟ 32:3) พระคัมภีร์ ‘สามารถให้ปัญญาแก่ [เรา] ในเรื่องความรอด’ (2 ทิโมธี 3:15)

“… โดยอุปนิสัยของการศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน ท่านจะได้รับการ ‘จูงใจให้เชื่อพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์,แท้จริงแล้ว, คำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์ผู้บริสุทธิ์, ซึ่งมีเขียนไว้ ’ (ฮีลามัน 15:7) ท่านจะเป็นมารดา (บิดา) และผู้นำที่จะช่วยเตรียมลูกหลานรุ่นต่อไปด้วยความเข้าใจและประจักษ์พยานในพระกิตติคุณ” (“จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเบิกบานในพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2004, 133–135)

ปาฏิหาริย์ของพระคัมภีร์ไบเบิลศักดิ์สิทธิ์

ในคำปราศัยการประชุมใหญ่สามัญที่มีชื่อว่า “ปาฏิหาริย์ของพระคัมภีร์ไบเบิลศักดิ์สิทธิ์” ( เลียโฮนา พ.ค.2007, 100-102), เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนความสำคัญและคุณค่าของพระคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์และสรรเสริญความพยายามของชาวคริสต์ผู้สละชีวิตและนักปฏิรูปผู้ที่ช่วยทำให้ทุกคนมีพระคัมภีร์ไบเบิล ท่านกระตุ้นให้เราสำนึกคุณสำหรับพระคัมภีร์ไบเบิลศักดิ์สิทธิ์และเป็นพยานว่า “เรามีพระคัมภีร์ไบเบิลทุกวันนี้ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ” (“ปาฏิหาริย์ของพระคัมภีร์ไบเบิลศักดิ์สิทธิ์,” 100)

พิมพ์