คลังค้นคว้า
คำนำสาส์นฉบับที่สองของเปาโลที่มีไปถึงชาวโครินธ์


คำนำสาส์นฉบับที่สองของเปาโลที่มีไปถึงชาวโครินธ์

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

สาส์นฉบับที่สองของเปาโลถึงชาวโครินธ์โดดเด่นในหัวข้อเรื่องการปลอบโยนท่ามกลางความทุกข์ ความเข้มแข็งท่ามกลางความอ่อนแอ (โดยมีเปาโลเองเป็นแบบอย่าง) และการแยกแยะผู้สอนจริงจากผู้สอนปลอม แบบอย่างและคำสอนของเปาโลดังที่บันทึกไว้ใน 2 โครินธ์สามารถกระตุ้นให้นักเรียนยังคงแน่วแน่และชื่อสัตย์ต่อพันธสัญญานิรันดร์ที่พวกเขาทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ ไม่ว่าสภาวการณ์หรือผลจะเป็นอย่างไร

ใครเขียนหนังสือนี้

เปาโลเขียนสาส์นฉบับที่สองที่มีไปถึงชาวโครินธ์ (ดู 2 โครินธ์ 1:1)

สาส์นฉบับนี้เขียนเมื่อใดและที่ไหน

ไม่นานหลังจากเปาโลเขียน 1 โครินธ์ มีการจลาจลที่เมืองเอเฟซัสเพื่อต่อต้านคำสอนของเขา (ดู กิจการของอัครทูต 19:23–41) และเขาเดินทางไปแคว้นมาซิโดเนีย (ดู กิจการของอัครทูต 20:1; 2 โครินธ์ 2:13; 7:5) ดูเหมือนว่าขณะเปาโลอยู่ที่แคว้นมาซิโดเนีย เขาเขียน 2 โครินธ์ ประมาณ ค.ศ. 55–57 (ดู Bible Dictionary, Pauline Epistles; คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล,” scriptures.lds.org)

สาส์นฉบับนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

หนังสือ 2 โครินธ์เขียนถึงสมาชิกศาสนจักรในเมืองโครินธ์ ขณะเปาโลอยู่ในแคว้นมาซิโดเนียระหว่างการเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สาม ทิตัสนำข่าวจากเมืองโครินธ์มาบอกเขาว่าสาส์นที่ส่งไปก่อนหน้านั้นวิสุทธิชนที่นั่นตอบรับเป็นอย่างดี (ดู 2 โครินธ์ 7:6–13) สาขาชาวโครินธ์กำลังก้าวหน้า แต่เปาโลเรียนรู้ด้วยว่ามีผู้สอนปลอมที่นั่นและกำลังทำให้หลักคำสอนที่บริสุทธิ์ของพระคริสต์เสื่อม ช่วงเวลาหนึ่งหลังจากการไปเยือนเมืองโครินธ์ครั้งแรกและอาจจะครั้งที่สอง (2 โครินธ์ 1:15–16) เมื่อเปาโลดูเหมือนจะตีสอนวิสุทธิชนบางคน (ดู 2 โครินธ์ 2:1; 12:21) ผู้สั่งสอนจากเขตกรุงเยรูซาเล็มมาที่เมืองโครินธ์และเริ่มสอนวิสุทธิชนว่าพวกเขาต้องถือปฏิบัติแบบชาวยิว ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนของเปาโล 2 โครินธ์ส่วนใหญ่ตอบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้สอนปลอมเหล่านี้

สาส์นของเปาโลเขียนถึงทั้งผู้ที่ต้องการถ้อยคำของเขามากขึ้น (ดู 2 โครินธ์ 1–9) และผู้ที่ลังเลจะยอมรับคำของเขา (ดู 2 โครินธ์ 10–13) โดยทั่วไป เนื้อหาของ 2 โครินธ์เปิดเผยจุดประสงค์หลายประการของสาส์นฉบับนี้

  1. เพื่อแสดงความขอบคุณและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้วิสุทธิชนที่ตอบรับสาส์นฉบับก่อนหน้านั้นของเขาอย่างดี

  2. เพื่อเตือนถึงผู้สอนปลอมที่ทำให้หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์เสื่อม

  3. เพื่อแก้ต่างให้อุปนิสัยส่วนตัวและสิทธิอำนาจของเขาในฐานะอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ (ดู 2 โครินธ์ 10–13)

  4. เพื่อกระตุ้นให้วิสุทธิชนชาวโครินธ์บริจาคเงินให้วิสุทธิชนผู้ยากไร้ในกรุงเยรูซาเล็มอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (ดู 2 โครินธ์ 8–9)

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

ขณะที่จดหมายหลายฉบับของเปาโลเน้นไปที่หลักคำสอน ส่วนใหญ่ของจดหมายฉบับนี้เน้นสัมพันธภาพของเปาโลกับวิสุทธิชนชาวโครินธ์และความรักความห่วงใยที่เปาโลมีต่อพวกเขา ถึงแม้เปาโลจะมั่นคงต่อการไม่เห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดทั้ง 2 โครินธ์ แต่เราจะเห็นเขาเป็นผู้นำฐานะปุโรหิตที่อ่อนโยนห่วงใยความสุขและความเป็นอยู่ของวิสุทธิชน เปาโลแบ่งปันรายละเอียดอัตชีวประวัติของเขาและเขียนถึง “หนามในเนื้อ” ของเขา (2 โครินธ์ 12:7)

ในประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ดังที่บันทึกไว้ใน 2 โครินธ์ 12:2–4 เปาโลบรรยายว่าตนเองเป็น “ชายคนหนึ่งที่อยู่ในพระคริสต์” ที่ “ถูกรับขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นที่สาม” ที่ซึ่งเขาได้เห็นและได้ยินถ้อยคำที่บอกไม่ได้ นิมิตนี้ พร้อมกับคำพูดของเขาเกี่ยวกับหลักคำสอนก่อนหน้านั้นถึงความแตกต่างกันในรัศมีภาพของร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิต (ดู 1 โครินธ์ 15:35–44) สามารถมองได้ว่าเป็นความสอดคล้องต้องกันของพระคัมภีร์ไบเบิลกับนิมิตที่บันทึกใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76

สรุปย่อ

2 โครินธ์ 1-5 เปาโลเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงปลอบโยนบุตรธิดาของพระองค์ในความทุกข์ยากทั้งหลายของพวกเขา เขาท้าทายวิสุทธิชนให้รักและให้อภัยกัน พระกิตติคุณและการทำงานของพระวิญญาณพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญกว่าถ้อยคำในกฎของโมเสส เปาโลให้กำลังใจผู้อ่านของเขาในช่วงที่ประสบความยากลำบากและเตือนพวกเขาถึงพระลักษณะอันเป็นนิรันดร์ของความรักและรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า เขาช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความจำเป็นในการคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

2 โครินธ์ 6–13 ขณะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากผู้สอนปลอม เปาโลแก้ต่างให้ความจริงใจของเขาในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าและเชื้อเชิญให้ผู้อ่านของเขาแยกตัวออกจากโลก เขาสอนเกี่ยวกับ “ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า” (ดู 2 โครินธ์ 7:10) เปาโลขอบคุณวิสุทธิชนชาวโครินธ์สำหรับการบริจาคให้คนยากไร้ในกรุงเยรูซาเล็มและกระตุ้นให้พวกเขาบริจาคด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อไป เขาพูดต่อต้าน “อัครทูตปลอม” (2 โครินธ์ 11:13) เปาโลสรรเสริญพระเจ้าและแบ่งปันรายละเอียดชีวประวัติของความยากลำบากและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ของเขา เขาเขียนเกี่ยวกับนิมิตถึงสวรรค์ชั้นที่สามของเขา เปาโลเชื้อเชิญให้วิสุทธิชนพิจารณาตนเองและพิสูจน์ว่าพวกเขาซื่อสัตย์