คลังค้นคว้า
บทที่ 132: 2 ทิโมธี 3–4


บทที่ 132

2 ทิโมธี 3–4

คำนำ

เปาโลเขียนถึงทิโมธีและอธิบายว่าการละทิ้งความเชื่อและความชั่วร้ายจะแพร่หลายในสมัยของพวกเขาเช่นเดียวกับในยุคสุดท้าย เขาแนะนำให้ทิโมธียังคงซื่อสัตย์ต่อความจริงที่เขาได้เรียนรู้ เปาโลสอนเกี่ยวกับจุดประสงค์ของพระคัมภีร์ เปาโลจบจดหมายของเขาโดยกระตุ้นให้ทิโมธีขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติศาสนกิจของเขาให้เกิดสัมฤทธิผล

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 ทิโมธี 3

เปาโลบรรยายถึงวาระสุดท้ายที่น่ากลัว

ก่อนชั้นเรียนเริ่ม ขอให้นักเรียนสองหรือสามคนแรกที่มาถึงวาดภาพบนกระดานคนละภาพเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อันตรายหรือเสี่ยงภัย หลังจากชั้นเรียนเริ่ม ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • คำที่ท่านจะใช้บรรยายสถานการณ์ที่วาดไว้บนกระดาน

อธิบายว่าส่วนหนึ่งของสาส์นที่เปาโลเขียนไปถึงทิโมธี เขาพยากรณ์ถึงสภาพวันเวลาของเขาและของเรา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 3:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลบรรยายถึงวันเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ว่าอย่างไร

  • เปาโลบรรยายถึงวันเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ว่าอย่างไร (หากจำเป็น ให้อธิบายว่าคำว่า น่ากลัว หมายถึงเต็มไปด้วยอันตรายและเสี่ยงภัย)

  • ความน่ากลัวหรืออันตรายทางศีลธรรมหรือทางวิญญาณใดบ้างที่ท่านเคยเห็นในสมัยของเรา

handout iconแบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ แจกสำเนา แผนภูมิต่อไปนี้ให้นักเรียนแต่ละคู่ เชื้อเชิญให้แต่ละคู่อ่าน 2 ทิโมธี 3:2–7 และตอบคำถามในแผนภูมิ แนะนำให้พวกเขาใช้เชิงอรรถเพื่อช่วยพวกเขาเข้าใจคำที่ยาก

เอกสารแจก

2 ทิโมธี 3:2–7

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 132

เปาโลบรรยายถึงตัวอย่างใดบ้างของสภาพในยุคสุดท้าย

ท่านเคยเห็นสภาพใดในสมัยของเรา (ให้ระบุสภาพที่เคยเห็นสองหรือสามสภาพ) เหตุใดสภาพเหล่านี้จึงอันตรายมาก

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนรายงานสิ่งที่สนทนากับชั้นเรียน รวมถึงสาเหตุที่สภาพเหล่านี้อันตรายมาก

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาเคยกังวลว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบจากภัยต่างๆ ที่เปาโลเอ่ยถึงในข้อที่พวกเขาศึกษาหรือไม่

  • ตามที่กล่าวไว้ในตอนท้ายของ 2 ทิโมธี 3:5 เปาโลกระตุ้นให้ทิโมธีทำอะไรที่จะช่วยเราในสมัยของเราได้ด้วย (เราไม่ควรเกี่ยวข้องกับความชั่วร้ายเหล่านั้น)

สรุป 2 ทิโมธี 3:8–11 โดยอธิบายว่าเปาโลบอกทิโมธีว่าคนที่ต่อต้านความจริงจะทำให้ความโง่ของพวกเขาปรากฏ เขาเขียนถึงความน่ากลัวและการข่มเหงหลายอย่างที่เขาทนรับเนื่องจากความพยายามใช้ชีวิตตามพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 3:12–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลพยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้นต่อคนที่ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

  • เปาโลพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

อธิบายว่าแม้จะมีความร้ายแรงของสภาพที่ยุ่งยากเหล่านี้ แต่เราสามารถพบความช่วยเหลือและการป้องกันได้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียง 2 ทิโมธี 3:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนซึ่งจะช่วยให้เราไม่เกี่ยวข้องกับภัยเหล่านี้

  • เปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับต่อต้านภยันตรายที่เขาบรรยายไว้

  • ท่านคิดว่าใน ข้อ 14 ซึ่งกล่าว่าการ “ดำเนินต่อไปในสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้วและเชื่ออย่างมั่นคง” หมายความว่าอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าวลีนี้หมายความว่าอย่างไร ให้เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ในช่วงเวลาที่ท่านหวาดกลัว หรือสงสัย หรือว้าวุ่นใจ จงยึดฐานที่มั่นซึ่งท่านชนะมาแล้ว … เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และทางออกไม่ได้มาในทันที จงยึดมั่นในสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้วและยืนหยัดจนกว่าความรู้เพิ่มเติมจะมาถึง” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93–94)

ชี้ไปที่วลี “ท่านก็รู้ว่าท่านเรียนมาจากใคร” ใน ข้อ 14 อธิบายว่าเราสามารถเรียนรู้และได้รับการยืนยันความจริงจากแหล่งที่วางใจได้เช่นศาสดาพยากรณ์ ผู้นำ ครู บิดามารดา และพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 14–15 เกี่ยวกับวิธีที่จะเอาชนะภยันตรายทางวิญญาณในยุคสุดท้าย (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราดำเนินต่อไปในความจริงที่เราเรียนรู้จากแหล่งที่วางใจและในพระคัมภีร์ เราจะเอาชนะภยันตรายทางวิญญาณของยุคสุดท้าย)

  • การพึ่งพาพระคัมภีร์และความจริงที่เราเรียนรู้ช่วยให้เราเอาชนะภยันตรายต่างๆ ในยุคสมัยเราได้อย่างไร

  • ท่านเคยเลือกพึ่งพาความจริงที่ท่านได้เรียนรู้เมื่อใด ท่านได้รับพรจากการทำเช่นนั้นอย่างไร (ท่านอาจให้นักเรียนตอบคำถามเหล่านี้ก่อนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดของพวกเขาแล้วเชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 3:16–17 และขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการแนะนำให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

  • เปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับการศึกษาพระคัมภีร์ที่จะช่วยเราในสมัยของเรา (ช่วยชั้นเรียนระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์ เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอน ได้รับการแก้ไขสิ่งผิด และคำแนะนำที่จะช่วยเราเติบโตไปสู่ความดีพร้อม เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

วงกลมรอบคำว่า หลักคำสอน การแก้ไขสิ่งผิด และ คำแนะนำ ในข้อความที่ท่านเขียนบนกระดาน ขอให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พระคัมภีร์ช่วยพวกเขาในทางใดทางหนึ่งต่อไปนี้ (1) ให้เข้าใจหลักคำสอนของพระกิตติคุณ (2) โดยให้การตักเตือนว่ากล่าวหรือการแก้ไขบางสิ่งที่ไม่ถูกต้องในความคิด การเลือก หรือพฤติกรรมของพวกเขา (3) โดยให้คำตอบแก่คำสวดอ้อนวอนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะแก้ไขปัญหา ให้เวลานักเรียนนึกถึงประสบการณ์ แล้วเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขานึกถึงกับชั้นเรียน (เตือนนักเรียนไม่ให้แบ่งปันเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป รวมถึงบาปในอดีต)

  • เนื่องจากเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าของพระคัมภีร์ไปแล้ว ท่านคิดว่าเหตุใดท่านจึงได้รับการกระตุ้นให้ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน

แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้นักเรียน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำแนะนำและคำสัญญาของเอ็ลเดอร์สก็อตต์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระคัมภีร์

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“อย่ายอมฟังคำเท็จของซาตานที่หลอกว่า ท่านไม่มีเวลาศึกษาพระคัมภีร์ จงเลือกใช้เวลาศึกษาพระคัมภีร์ การดื่มด่ำพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวันสำคัญกว่าการนอนหลับ การศึกษา การทำงาน การดูโทรทัศน์ วิดีโอเกมส์ หรือสังคมออนไลน์ ท่านอาจต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่เพื่อให้มีเวลาศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าต้องทำเช่นนั้น จงทำ

“… เมื่อท่านอุทิศเวลาทุกวันทั้งส่วนตัวและกับครอบครัวเพื่อศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ชีวิตท่านจะเต็มไปด้วยสันติสุข” (“ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 93)

เป็นพยานถึงความปลอดภัยและสันติสุขที่มาสู่คนเหล่านั้นผู้ดำเนินชีวิตต่อไปในความจริงที่พบในพระคัมภีร์ เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขารู้สึกว่าจะประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขาอย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนตั้งเป้าหมายตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขารู้สึก

2 ทิโมธี 4

เปาโลประกาศว่าเขาได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลังและสั่งให้ทิโมธีสั่งสอนต่อไป

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาเคยรู้สึกอยากเลิกทำงานที่ยาก

  • ท่านมีประสบการณ์อะไรเมื่อท่านทนทำต่อไปแม้ท่านต้องการเลิก

อธิบายว่า 2 ทิโมธีน่าจะเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายที่เปาโลเขียนก่อนการสิ้นชีวิตของเขา เชื้อเชิญชั้นเรียนครึ่งหนึ่งอ่าน 2 ทิโมธี 4:1–5 ในใจ โดยมองหาคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่ทิโมธี เชื้อเชิญอีกครึ่งหนึ่งให้อ่านข้อเดียวกัน โดยมองหาคำพยากรณ์ของเปาโลเกี่ยวกับอนาคตของศาสนจักรชาวคริสต์ในสมัยโบราณ กระตุ้นให้นักเรียนใช้เชิงอรรถเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่พวกเขาอ่าน หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนจากแต่ละกลุ่มให้รายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่า ข้อ 3–4 บันทึกคำพรรณนาของเปาโลถึงการละทิ้งความเชื่อที่กำลังเริ่มเกิดขึ้นในศาสนจักร พฤติกรรมดังที่เปาโลบรรยายนำไปสู่การละทิ้งความเชื่อครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูพระกิตติคุณ

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเปาโลจึงกระตุ้นให้ทิโมธีสั่งสอนและปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้คนต่อไปแม้เขารู้ว่าหลายคนจะหันไปจากความจริง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 ทิโมธี 3:6–8 และขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เปาโลเขียนเกี่ยวกับความพยายามของเขาเองในการเผยแพร่พระกิตติคุณ

  • เปาโลกล่าวอะไรเกี่ยวกับความพยายามของเขาในฐานะผู้สอนศาสนา (ชี้ให้เห็นว่าคำเปรียบเทียบของเปาโลในการต่อสู้อย่างเต็มกำลังและได้วิ่งแข่งจนครบรอบบรรยายว่าเขาบรรลุพันธกิจของเขาอย่างซื่อสัตย์อย่างไร)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 เปาโลรู้ว่าอะไรรอเขาอยู่หลังความตาย

  • เราเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เกี่ยวกับความพยายามของเราเพื่อยังคงซื่อสัตย์ในการทำสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เราทำ (นักเรียนควรระบุสิ่งต่อไปนี้ เมื่อเรายังคงซื่อสัตย์ในทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากเรา เราจะได้รับมงกุฎแห่งความชอบธรรม เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าการได้รับ “มงกุฎแห่งความชอบธรรม” รวมถึงการเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนบนกระดานถึงข้อเรียกร้องที่พระเจ้าประทานแก่เยาวชนของศาสนจักรเพื่อช่วยพวกเขาเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์

  • เหตุใดเยาวชนจึงเลือกที่จะเลิกซื่อสัตย์ต่อข้อเรียกร้องบางข้อเหล่านี้

  • ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างที่ดีของความซื่อสัตย์อย่างมั่นคงแม้เป็นเรื่องยากเหมือนกับเปาโล พวกเขาทำอะไรที่เป็นแบบอย่างของหลักธรรมนี้

สรุป 2 ทิโมธี 4:9–22 โดยอธิบายว่าเปาโลจบจดหมายของเขาโดยอธิบายว่าแม้บางครั้งเขาจะรู้สึกโดดเดี่ยวในการทำงานของเขา แต่พระเจ้าทรงอยู่กับเขาและเสริมกำลังเขา

กระตุ้นให้นักเรียนยังคงซื่อสัตย์ในการทำสิ่งที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากพวกเขา

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—2 ทิโมธี 3:15–17

ขอให้นักเรียนพับกระดาษเป็นสามท่อน ให้พวกเขาแผ่กระดาษออกและเขียน หลักคำสอนไว้ที่ท่อนแรก การตักเตือนว่ากล่าวและการแก้ไขสิ่งผิด ในส่วนบนของท่อนที่สอง อบรมในความชอบธรรม ในส่วนบนของท่อนที่สาม

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้กระดาษนี้เป็นที่คั่นพระคัมภีร์ของพวกเขาในหนึ่งสัปดาห์ เขียนในช่องที่เหมาะสมทุกครั้งที่พวกเขาอ่านพระคัมภีร์ที่ตอบจุดประสงค์หนึ่งข้อในบรรดาจุดประสงค์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ใต้หัวข้อ หลักคำสอน นักเรียนอาจเขียนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์และหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่พวกเขาเรียนรู้จากข้อเหล่านั้น ใต้หัวข้อ การตักเตือนว่ากล่าวและการแก้ไขสิ่งผิด นักเรียนอาจเขียนข้อพระคัมภีร์อ้างอิงและบอกว่าข้อความนั้นแก้ไขแนวคิดผิดๆ หรือการเลือกและพฤติกรรมผิดๆ ของพวกเขาอย่างไร และใต้หัวข้อ อบรมในความชอบธรรม นักเรียนอาจบันทึกข้อความที่ให้ข้อคิดกับพวกเขาว่างานดีอะไรที่พวกเขาสามารถทำได้

กระตุ้นให้นักเรียนนำกระดาษมาที่ชั้นเรียนในหนึ่งสัปดาห์และรายงานประสบการณ์ของพวกเขา ท่านอาจต้องการใส่การเตือนในพระคัมภีร์ของท่านหรือคู่มือเพื่อให้มีการสนทนาสั้นๆ ในหนึ่งสัปดาห์และทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

2 ทิโมธี 3:1–7 “วาระสุดท้ายนั้นจะเป็นเวลาที่น่ากลัว”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเวลาที่น่ากลัวที่พยากรณ์ไว้ใน 2 ทิโมธี 3:1–7 เป็นสภาพปัจจุบันที่มีอยู่ในโลกทุกวันนี้

“ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้เป็นคำเตือนซึ่งแสดงให้เห็นว่าควรหลีกเลี่ยงแบบแผนใด เราต้องระวังและพากเพียรมากกว่าเดิม เราสามารถทบทวนคำพยากรณ์เหล่านี้ทีละเรื่องและทำเครื่องหมายไว้กับเรื่องที่มองเห็นและเป็นที่กังวลในโลกปัจจุบันนี้

เวลาที่น่ากลัว—ปรากฏอยู่ เราอาศัยอยู่ในเวลาที่ไม่ปลอดภัย

รักเงินทอง โอ้อวด หยิ่งยโส—คนทุกประเภทปรากฏอยู่และอยู่ท่ามกลางเรา

ชอบดูหมิ่น ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อกตัญญู ชั่วร้าย ไร้มนุษยธรรม—สิ่งทั้งหมดนี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี

ไม่ให้อภัยกัน ใส่ร้ายกัน และอื่นๆ —ทุกสิ่งนี้สามารถทำเครื่องหมายได้เพราะหลักฐานที่มีอยู่ทั่วไปปรากฏอยู่รอบข้างเรา” (“กุญแจสู่การคุ้มครองทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 26)

ในคำพูดนี้ ประธานแพคเกอร์เป็นพยานต่อไปว่าพระคัมภีร์เป็นกุญแจในการปกป้องตนเองในเวลาที่น่ากลัวในยุคสุดท้าย

2 ทิโมธี 3:14 “แต่ท่านจงดำเนินต่อไปในสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้วและเชื่อมั่นคง”

เอ็ลเดอร์พอล บี. ไพเพอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่า

“ทุกวันนี้ความพยายามยังคงดำเนินต่อไป เสียงทางโลกดังขึ้นและรุนแรงขึ้น สิ่งเหล่านั้นกระตุ้นให้ผู้เชื่อละทิ้งความเชื่อที่โลกคิดว่าไร้สาระและไม่มีเหตุผล … บางครั้งเราอาจรู้สึกอ่อนแอและต้องการความมั่นใจทางวิญญาณมากกว่านี้ พระเจ้าตรัสบอกออลิเวอร์ คาวเดอรีว่า

“‘หากเจ้าปรารถนาพยานอีก, จงหวนระลึกถึงคืนที่เจ้าร้องหาเราในใจเจ้า, เพื่อเจ้าจะได้รู้เกี่ยวกับความจริงของสิ่งเหล่านี้

“‘เรามิได้พูดให้ความสงบแก่จิตใจเจ้าหรือเกี่ยวกับเรื่องนี้? เจ้าจะมีพยานใดดีไปกว่าจากพระผู้เป็นเจ้าเล่า?’ (คพ. 6:22–23)

“พระเจ้าทรงเตือนออลิเวอร์และเราให้พึ่งพาพยานส่วนตัวอันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับแล้วเมื่อเราถูกทดลองศรัทธา … ประสบการณ์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นสมอทางวิญญาณที่ช่วยให้เราปลอดภัยและอยู่บนเส้นทางในยามมีการทดลอง” (“ธำรงความศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 110–111)

2 ทิโมธี 4:7–8 “ข้าพเจ้าได้วิ่งแข่งจนครบถ้วน”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนให้ความหวังแก่เราทุกคนที่ล้มลุกคลุกคลานระหว่างการแข่งขันของเราที่นี่ในความเป็นมรรตัยดังนี้

“ในชีวิต เราไม่ได้มาที่แผ่นดินโลกเพียงเพื่อให้เกิดเป็นมนุษย์ แต่เรามาพร้อมกับพันธกิจและจุดประสงค์ และนั่นคือการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ …

“หากท่านก้าวพลาดในวัยเยาว์ อย่าปล่อยให้ความท้อแท้เอาชนะท่าน การพิพากษาของพระเจ้าไม่ใช่คะแนนเฉลี่ยทางวิญญาณ—โดยนำบาปและความผิดพลาดในอดีตมาเฉลี่ยเป็นคะแนนสุดท้าย พระองค์ทรงสัญญาว่า ‘คนที่กลับใจจากบาปของเขา, คนคนนั้นได้รับการให้อภัย, และเรา, พระเจ้า, ไม่จำมันอีก’ (คพ. 58:42)

“ดังนั้น ถ้าท่านไม่อยู่ในจุดที่ท่านต้องการจะอยู่ จงตัดสินใจวันนี้ว่าจะไปให้ถึงที่นั่น

“เราให้คะแนนชีวิตเราจากการประเมินว่าเราดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาที่ทำไว้ในศาสนพิธีแห่งความรอดได้ดีเพียงใด—บัพติศมา การได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ การชำระล้าง การชโลม เอ็นดาวเม้นท์ และการผนึก

“ท่าน สามารถ เข้าเส้นชัยพร้อมทุกคนได้

“‘จงก้าวไปข้างหน้าและอย่าถอยกลับ ความกล้าหาญ, … และก้าวต่อไป, ต่อไปถึงชัยชนะ! (คพ. 128:22)” (“สัจธรรมนำชีวิตสิบประการ,” เลียโฮนา, ก.พ. 2007, 37)