คลังค้นคว้า
บทที่ 72: ยอห์น 12


บทที่ 72

ยอห์น 12

คำนำ

มารีย์แห่งเบธานี น้องสาวของมารธาและพี่สาวของลาซารัสชโลมพระบาทพระเยซูคริสต์อันเป็นสัญลักษณ์ของการฝังพระศพพระองค์ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า วันต่อมาพระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิตและพยากรณ์เกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ แม้จะมีปาฏิหาริย์ของพระเยซู แต่บางคนก็ไม่เชื่อในพระองค์ พระองค์ทรงสอนถึงผลของการเชื่อและไม่เชื่อในพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 12:1–19

มารีย์ชโลมพระบาทพระเยซูและพระเยซูเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนวาดภาพบนกระดานเพื่อบรรยายภาพปาฏิหาริย์หนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอดที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาใหม่ หลังจากแต่ละคนวาดเสร็จแล้ว เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนเดาว่าเป็นภาพบรรยายปาฏิหาริย์ใด ขอให้นักเรียนที่วาดอธิบายเหตุผลที่เขาเลือกบรรยายภาพปาฏิหาริย์นี้

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าการเห็นหนึ่งในปาฏิหาริย์เหล่านี้อาจมีอิทธิพลต่อความเชื่อของพวกเขาในพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร ขณะที่พวกเขาศึกษา ยอห์น 12 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาวิธีต่างๆ ที่ผู้คนอาจตอบรับต่อปาฏิหาริย์ของพระผู้ช่วยให้รอด และความจริงที่จะช่วยเราเข้าใจการตอบรับเหล่านี้

สรุป ยอห์น 12:1–9 โดยอธิบายว่าหกวันก่อนปัสกา พระเยซูเสวยพระกระยาหารกับสหายบางคนในเบธานี มารีย์ น้องสาวของมารธาและพี่สาวของลาซารัส ชโลมพระบาทพระเยซูด้วยน้ำมันหอมราคาแพง มีคนมากมายได้ยินข่าวว่าพระเยซูประทับในเบธานีจึงมาพบพระองค์และลาซารัส ผู้ที่พระเยซูทรงทำให้เป็นขึ้นจากตายก่อนหน้านี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:10–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพวกหัวหน้าปุโรหิตต้องการทำอะไรกับลาซารัส ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าการทำให้ลาซารัสเป็นขึ้นมาเป็นหลักฐานอันโต้แย้งไม่ได้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีพลังอำนาจเหนือความตาย

  • พวกหัวหน้าปุโรหิตต้องการทำอะไรกับลาซารัส เพราะเหตุใด

  • ข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจความชั่วร้ายของพวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกฟาริสีอย่างไร (ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนว่าผู้นำชาวยิวเหล่านี้ต้องการสังหารพระผู้ช่วยให้รอดด้วย [ดู ยอห์น 11:47–48, 53])

สรุป ยอห์น 12:12–16 โดยอธิบายว่าวันรุ่งขึ้นจากวันที่มารีย์ชโลมพระบาทพระเยซู พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต (รายละเอียดในเบื้องต้นของการเสด็จเข้ากรุงอย่างผู้พิชิตสอนไว้ใน มัทธิว 21:1–11)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:17–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ผู้คนได้ยินเกี่ยวกับการทำให้ลาซารัสเป็นขึ้นจากตายระหว่างที่พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต

  • คนเหล่านี้ทำอะไรระหว่างพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 พวกฟาริสีมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร

ยอห์น 12:20–36

พระเยซูทรงพยากรณ์ถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

สรุป ยอห์น 12:20–22 โดยอธิบายว่า “พวกกรีก” (ข้อ 20)—เป็นไปได้ว่าได้เปลี่ยนใจเลื่อมใจศาสนายูดาห์—พวกเขามาที่เยรูซาเล็มเพื่อถือปฏิบัติปัสกาและขอเข้าเฝ้าพระเยซู เมื่อพระเยซูทรงทราบเกี่ยวกับคำขอของพวกเขา พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการทนทุกข์ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ที่จะกำลังมาถึง เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 12:27–33 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการชดใช้ของพระองค์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 27 พระเยซูเต็มพระทัยทำอะไรแม้ “ใจ [เป็น] ทุกข์” ของพระองค์ (แม้ว่าพระเยซูจะทรงทราบน้ำหนักของการทนทุกข์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่พระองค์ตัดสินพระทัยที่จะทำต่อไปเพื่อบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 28 พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนทูลขออะไร พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบว่าอย่างไร (อธิบายว่า “เรา … จะได้รับเกียรติอีก” บ่งบอกถึงความมั่นพระทัยเต็มที่ของพระบิดาบนสวรรรค์ในพระบุตรของพระองค์ว่าพระองค์จะทรงทำการชดใช้เสร็จสมบูรณ์)

  • พระคำของพระเยซูดังที่บันทึกไว้ใน ข้อ 32 เกี่ยวข้องกับการชดใช้ของพระองค์อย่างไร

อธิบายว่าหลังจากได้ยินคำสอนของพระเยซู ผู้คนกล่าวว่าพวกเขาเคยเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าพระเมสสิยาห์จะดำรงอยู่เป็นนิตย์ พวกเขาถามว่า “บุตรมนุษย์” เป็นใครและใครจะ “ถูกยกขึ้น” (ยอห์น 12:34)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:35–36 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูทรงตอบคำถามของพวกเขาอย่างไร

  • พระเยซูตรัสตอบคำถามของผู้คนว่าอย่างไร (พระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกพระองค์เองว่า “ความสว่าง”)

ยอห์น 12:37–50

พระเยซูทรงสอนถึงผลของการเชื่อและการไม่เชื่อในพระองค์

ดึงความสนใจของนักเรียนมายังภาพวาดบนกระดานที่บรรยายภาพปาฏิหาริย์บางอย่างของพระเยซู เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:11 และอีกคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:37 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวิธีต่างๆ ที่ผู้คนตอบรับปาฏิหาริย์ที่พระเยซูทรงทำ

  • ผู้คนตอบรับปาฏิหาริย์ของพระเยซูอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากปฏิกิริยาต่างๆ เหล่านี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปาฏิหาริย์กับการเชื่อในพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าเป็นที่แน่ชัดว่า ปาฏิหาริย์อย่างเดียวไม่ทำให้เราเชื่อในพระเยซูคริสต์)

  • แม้ว่าปาฏิหาริย์อย่างเดียวไม่ทำให้เราเชื่อในพระเยซูคริสต์ แต่สามารถมีอิทธิพลต่อศรัทธาของเราในพระองค์อย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดบางคนจึงเชื่อในพระเยซูคริสต์หลังจากได้เห็นหรือเรียนรู้เกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของพระองค์ในขณะที่คนอื่นไม่เชื่อ

สรุป ยอห์น 12:38–41 โดยอธิบายว่าความจริงที่ว่าบางคนเลือกไม่เชื่อในพระเยซูทำให้คำพยากรณ์ที่ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์บอกไว้มีสัมฤทธิผล (ดู อิสยาห์ 6:9–10; 53:1–3) แม้จะมีงานอันยิ่งใหญ่ของพระผู้ช่วยให้รอด แต่บางคนเลือกมองไม่เห็นสิ่งที่พระองค์ทรงทำและทำใจแข็งกระด้างต่อพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:42–43 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่ผู้นำชาวยิวบางคนที่เชื่อในพระเยซูไม่ “ยอมรับ” (ข้อ 42) หรือไม่ยอมรับความเชื่อของพวกเขาอย่างเปิดเผย

  • เหตุใดพวกเจ้าหน้าที่บางคนจึงไม่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาเชื่อในพระเยซู

  • การที่คนเรารัก “การชมของมนุษย์ มากกว่าการชมของพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 43)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้ (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมคล้ายกับหลักธรรมต่อไปนี้ การใส่ใจเกี่ยวกับการทำให้คนอื่นพอใจมากกว่าทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยจะกีดกั้นเราจากการยอมรับอย่างเปิดเผยถึงความเชื่อที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ ให้ถามว่า

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างของหลักธรรมนี้ในสมัยของเรา

  • มีวิธีที่เหมาะสมอะไรบ้างในการแสดงว่าเราเชื่อในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์

  • มีผลลัพธ์ด้านบวกอะไรบ้างที่จะมาจากการยอมรับว่าเราเชื่อในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์

เพื่อเตรียมนักเรียนให้ระบุหลักธรรมที่สอนใน ยอห์น 12:44–46 ขอให้พวกเขานึกถึงเวลาที่พวกเขามองไม่เห็นเนื่องจากความมืดทางโลก (เช่น เมื่อพวกเขาอยู่ในห้องมืดหรืออยู่ข้างนอกในตอนกลางคืน) เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนบรรยายถึงประสบการณ์ของพวกเขา บอกด้วยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร พวกเขาเสี่ยงอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ และการมีความสว่างจะช่วยพวกเขาอย่างไร

หากเหมาะสม ให้ปิดไฟในห้องแต่ยังคงจัดให้มีแสงสว่างบางอย่างอยู่ ชี้ให้เห็นว่าความมืดทางโลกจะช่วยให้เราเข้าใจว่าความมืดทางวิญญาณเป็นอย่างไร

  • การอยู่ในความมืดทางโลกคล้ายกับการอยู่ในความมืดทางวิญญาณอย่างไร

  • มีอันตรายอะไรบ้างที่จะมาจากการอยู่ในความมืดทางวิญญาณ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 12:44–46 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์จะได้รับพรอย่างไร

  • ตามที่กล่าวใน ยอห์น 12:46 คนเหล่านั้นที่เชื่อในพระเยซูคริสต์จะได้รับพรอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เปิดไฟในห้องหากท่านปิดไฟก่อนหน้านี้ โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ถ้าเราเชื่อในพระเยซูคริสต์ เราไม่ต้องอยู่ในความมืดทางวิญญาณ)

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างอย่างไร การเชื่อในพระองค์จะกำจัดความมืดทางวิญญาณจากชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างไร (ดู คพ. 50:23–25; 93:36–39ด้วย)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระเยซูคริสต์ทรงขจัดความมืดทางวิญญาณโดยประทานความสว่าง (หรือการนำทางและความกระจ่าง) ในชีวิตเราอย่างไร ให้แบ่งนักเรียนเป็น กลุ่ม กลุ่มละสองหรือสามคน จัดเตรียม เอกสารแจก ต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม

ภาพ
เอกสารแจก พระเยซูคริสต์ทรงขจัดความมืดทางวิญญาณ

พระเยซูคริสต์ทรงขจัดความมืดทางวิญญาณโดยประทานความสว่าง

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 72

สำหรับแต่ละหัวข้อต่อไปนี้ ให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • คนที่อยู่ในความมืดทางวิญญาณอาจเชื่ออะไรเกี่ยวกับหัวข้อนี้

  • พระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ให้ความสว่างอะไรเกี่ยวกับหัวข้อนี้

หัวข้อ

  • จุดประสงค์ของร่างกายเรา

  • ความบันเทิงและสื่อ

  • การได้มาซึ่งสันติสุขและความสุข

  • การแต่งงานและครอบครัว

  • ชีวิตหลังความตาย

ให้สนทนากันในชั้นเรียนถึงหัวข้อหนึ่งซึ่งอยู่ในรายการของเอกสารแจก โดยใช้คำถามที่ให้มา จากนั้นให้เชื้อเชิญนักเรียนใช้เวลาหลายนาทีเพื่อสนทนาหัวข้อที่เหลือโดยใช้คำถามเหล่านี้ (ท่านอาจต้องการเปลี่ยนหัวข้อเหล่านี้บางหัวข้อเป็นหัวข้อที่เข้ากับนักเรียนของท่านมากกว่า)

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มให้เลือกหัวข้อหนึ่งจากเอกสารแจกและรายงานการสนทนากลุ่มเกี่ยวกับหัวข้อนี้ จากนั้นให้ถามชั้นเรียนว่า

  • หลักธรรมที่เราระบุใน ข้อ 46 ช่วยให้เราเข้าใจสาเหตุที่เราอาจมองเห็นบางหัวข้อและบางประเด็นแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร

  • แสงสว่างจากพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เคยช่วยท่านในสถานการณ์ใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองแห่งสาวกเจ็ดสิบ ท่านเป็นพยานถึงพรที่มาจากการเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์และติดตามพระองค์

ภาพ
เอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กอง

“ความเชื่อเป็นการเลือก [ดู โมไซยาห์ 4:9] …

“เมื่อเราเลือกที่จะเชื่อ เราเข้าใจและเห็นสิ่งต่างๆ ในรูปแบบที่ต่างไป เมื่อเราเห็นและดำเนินชีวิตเช่นนั้น เรามีความสุขและชื่นชมยินดีในรูปแบบที่พระกิตติคุณเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้” (“Choose Goodness and Joy,” New Era, Aug. 2011, 44)

สรุป ยอห์น 12:47–50 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงสอนว่าคนเหล่านั้นที่ไม่เชื่อในพระคำของพระองค์และคนที่ปฏิเสธพระองค์จะถูกพระดำรัสของพระองค์พิพากษา ซึ่งเป็นพระดำรัสที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานให้พระองค์ตรัส

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพรที่ท่านประสบอันเป็นผลมาจากการเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมหนึ่งข้อที่พวกเขาเรียนรู้อย่างไร กระตุ้นให้นักเรียนเลือกเชื่อในพระเยซูคริสต์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 12:11, 37 ปาฏิหาริย์จะมีอิทธิพลต่อศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์อย่างไร

ประธานบริคัม ยังก์สอนว่าปาฏิหาริย์จะมีอิทธิพลต่อศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ดังนี้

“สิ่งอัศจรรย์ หรือการแสดงให้ประจักษ์ที่ไม่ธรรมดาของฤทธานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่สำหรับผู้ที่ไม่เชื่อ สิ่งเหล่านี้มีไว้เพื่อปลอบโยนวิสุทธิชน เพื่อเพิ่มพลังและทำให้ศรัทธาของผู้ที่รัก เกรงกลัว และรับใช้พระผู้เป็นเจ้าได้เข้มแข็งยิ่งขึ้น มิใช่เพื่อคนที่ไม่เชื่อ” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: บริคัม ยัง [1997], 286)

ยอห์น 12:27–34 “เพื่อจุดประสงค์นี้เอง เราจึงมาถึงช่วงเวลานี้”

เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 12:27 บ่งบอกถึงการยอมพระองค์เองเมื่อพระองค์เข้าใกล้การชดใช้

“เมื่อภาระหนักที่ไม่สามารถจินตนาการได้เริ่มอยู่บนพระคริสต์ นั่นยืนยันความเข้าใจอันมีมานานและชัดเจนด้วยความรู้ที่ว่าพระองค์ทรงต้องทำอะไรในเวลานี้ พระองค์ทรงเริ่มทำการชดใช้ และพระเยซูทรงประกาศว่า ‘เดี๋ยวนี้ใจของเราเป็นทุกข์ จะให้เราพูดอย่างไร? ข้าแต่พระบิดา ขอทรงช่วยข้าพระองค์ให้พ้นจากช่วงเวลานี้ อย่างนั้นหรือ’ จากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรำพึงทางวิญญาณหรือโดยรับสั่งกับคนเหล่านั้นเกี่ยวกับพระองค์ พระองค์ตรัสว่า ‘แต่เพื่อจุดประสงค์นี้เอง เราจึงมาถึงช่วงเวลานี้’ (ยอห์น 12:27)” (“Willing to Submit,” Ensign, May 1985, 72)

ยอห์น 12:46 การได้รับความคุ้มครองจากความสว่างที่พระเยซูคริสต์ประทาน

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความคุ้มครองที่มาจากความสว่างซึ่งพระเยซูคริสต์ประทานแก่เราดังนี้

“เราอยู่ในการสู้รบระหว่างพลังของความสว่างและความมืด …

“พระยาเวห์ทรงเป็นความสว่างและความรอดของข้าพเจ้า (ดู สดุดี 27:1) เช่นเดียวกับไฟศักดิ์สิทธิ์ที่ห้อมล้อมเด็กเล็กๆ ใน 3 นีไฟ (ดู 3 นีไฟ 17:24) ความสว่างของพระองค์จะโอบล้อมป้องกันระหว่างท่านกับความมืดของปฏิปักษ์เมื่อท่านดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควรต่อการได้รับความสว่างนั้น ท่านต้องการความสว่างนั้น เราต้องการความสว่างนั้น ให้ศึกษาพระคัมภีร์และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน อย่างถี่ถ้วนและฟังคำสอนของบิดามารดาตลอดจนผู้นำของท่าน จากนั้น โดยการเชื่อฟังคำแนะนำที่ชาญฉลาด จงเรียนรู้ที่จะได้รับความสว่างของพระกิตติคุณที่คุ้มครองท่านมาเป็นของท่านเอง” (“Out of Darkness into His Marvelous Light,” Ensign, May 2002, 70)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “แสงสว่างของพระคริสต์” ดู คพ. 88:7–13 ในคำพูดของท่าน “ความสว่างของพระคริสต์” (เลียโฮนา, เม.ย. 2005) ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนถึงความแตกต่างระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์กับ “แสงสว่างของพระคริสต์” (คพ. 88:7) แสงสว่างของพระคริสต์เป็นแหล่งที่มาอีกแหล่งหนึ่งของการดลใจที่แต่ละคนมีอยู่ บางครั้งเรียกว่าความสว่างภายในหรือความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ความรู้สึกทางศีลธรรม หรือมโนธรรม

พิมพ์