คลังค้นคว้า
บทที่ 21: มัทธิว 18


บทที่ 21

มัทธิว 18

คำนำ

พระเยซูคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์ถึงหลักธรรมที่จะช่วยพวกเขานำศาสนจักรของพระองค์หลังจากพระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเจ้าประทานอุปมาเรื่องทาสผู้ไม่ยอมให้อภัยเพื่อตอบคำถามของเปโตรเกี่ยวกับการให้อภัย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 18:1–20

พระเยซูคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์ถึงหลักธรรมที่จะช่วยพวกเขานำศาสนจักรของพระองค์

เขียนสิ่งที่ทำให้ขุ่นเคืองใจต่อไปนี้บนกระดาน ถูกหลอก; โดนขโมยของ; ถูกเพื่อนหักหลัง ขอให้นักเรียนใส่อันดับความขุ่นเคืองในใจโดยมีระดับจาก 1 ถึง 10 โดย 1 หมายถึงให้อภัยง่ายที่สุด และ 10 ยากที่สุด เชิญนักเรียนสองสามคนที่เต็มใจรายงานว่าพวกเขาจัดอันดับแต่ละความขุ่นเคืองอย่างไร

ให้นักเรียนไตร่ตรองว่าเหตุใดเราควรให้อภัยผู้อื่นแม้เป็นการยากที่จะทำเช่นนั้น

ให้นักเรียนศึกษา มัทธิว 18 เพื่อมองหาความจริงที่จะช่วยพวกเขาเข้าใจว่าเหตุใดเราจึงต้องให้อภัยผู้อื่น

สรุป มัทธิว 18:1–14 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงบัญชาสานุศิษย์ของพระองค์ให้นอบน้อมถ่อมตนและเป็นเหมือนเด็กเล็กๆ พระองค์ทรงอธิบายด้วยว่าคนที่่ “ทำผิด” ต่อเด็กเล็กๆ โดยทำให้พวกเขาหลงผิดไปหรือทำให้พวกเขาสะดุดในศรัทธาจะตกอยู่ภายใต้ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ข้อ 6–7) จากนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ให้ขจัดสิ่งที่ทำให้พวกเขาขุ่นเคืองหรือทำให้สะดุดออกไปจากชีวิตพวกเขา (ดู ข้อ 9) (หมายเหตุ: คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน มัทธิว 18:1–14 จะสนทนาอย่างลึกซึ้งมากขึ้นในบทเรียน มาระโก 9 และ ลูกา 15)

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำสานุศิษย์ให้ขจัดสิ่งที่จะทำให้พวกเขาสะดุดออกไปจากชีวิตพวกเขาแล้ว พระองค์ทรงบอกว่าบุคคลควรทำอะไรหากมีบางคนทำความผิด หรือทำบาปต่อเขา พระองค์ทรงสอนอัครสาวกถึงหลักธรรมอันเป็นวินัยของศาสนจักรด้วย

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 18:15 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูทรงบอกให้สานุศิษย์ของพระองค์ทำอะไรหากมีบางคนทำความผิดต่อพวกเขา

  • เราเรียนรู้อะไรจากข้อนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราควรทำหากมีคนล่วงเกินเรา

สรุป มัทธิว18:16–17 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงบอกอัครสาวกของพระองค์ว่าหากคนหนึ่งปฏิเสธที่จะยอมรับความผิดของเขาและปฏิเสธที่จะสารภาพบาปของเขา และมีพยานสองคนหรือมากกว่านั้นให้การถึงเขา คนนั้นจะถูกตัดขาดจากศาสนจักร ท่านอาจต้องการอธิบายว่า ปัจจุบันคนที่ควบคุมดูแลสภาวินัยศาสนจักรซึ่งตัดสินใจเรื่องเช่นนั้นมักจะแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าว่าบุคคลนั้นควรถูกตัดขาดจากศาสนจักรหรือรับปัพพาชนียกรรมหรือไม่

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 18:18–20 ขอให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาว่าสิทธิอำนาจใดที่อัครสาวกได้รับ

  • สิทธิอำนาจใดที่อัครสาวกได้รับ (อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงมอบกุญแจฐานะปุโรหิตให้อัครสาวก ซึ่งให้สิทธิอำนาจแก่พวกเขา ภายใต้การกำกับดูแลของเปโตร เพื่อปฏิบัติศาสนพิธีผนึกและตัดสินใจเรื่องการผูกมัดที่เกี่ยวข้องกับศาสนจักร รวมถึงคนบาปจะยังคงเป็นสมาชิกต่อไปได้หรือไม่ [ดู มัทธิว 16:19])

  • พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับอัครสาวกใน ข้อ 19–20 (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำสัญญาใน ข้อ 20)

มัทธิว 18:21–35

พระเจ้าประทานอุปมาเรื่องทาสที่ไม่ยอมให้อภัย

เชิญนักเรียนอ่านออกเสียงเรื่องเล่าต่อไปนี้จากประธานโธมัส เอส. มอนสัน เกี่ยวกับครอบครัวที่ลูกอายุสองเดือนของพวกเขาตาย

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“พ่อ [คนหนึ่ง] เป็นช่างทำตู้ และทำหีบศพสวยงามใส่ร่างลูกน้อยสุดที่รักของเขา วันจัดพิธีศพสภาพอากาศหม่นมัว สะท้อนถึงความรู้สึกเสียใจที่มีต่อการสูญเสียของพวกเขา ขณะที่ครอบครัวเดินไปโบสถ์ โดยพ่อเป็นผู้แบกหีบศพเล็กจิ๋ว มีเพื่อนไม่กี่คนรวมกันอยู่ที่นั่นแล้ว แต่ประตูโบสถ์ปิดใส่กุญแจ อธิการผู้มีงานยุ่งลืมงานศพ ความพยายามที่จะติดต่อเขาไร้ผล ผู้เป็นพ่อไม่ทราบจะทำอย่างไรดีจึงกอดหีบศพไว้ใต้วงแขน มีครอบครัวอยู่ข้างกาย เดินกรำฝนอุ้มหีบศพกลับบ้าน” (“ลิ่มที่ซอนอยู่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2002, 19)

  • หากท่านเป็นสมาชิกของครอบครัวนั้น ท่านจะรู้สึกอย่างไรถ้าอธิการไม่มาที่งานศพ

  • เหตุใดจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้อภัยอธิการ

อธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสั่งสอนอัครสาวก เปโตรถามพระองค์เกี่ยวกับการให้อภัย เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 18:21 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำถามของเปโตร

  • เปโตรถามอะไรพระผู้ช่วยให้รอด

อธิบายว่าผู้นำศาสนาบางคนในสมัยของเปโตรสอนว่าบุคคลหนึ่งไม่จำเป็นต้องให้อภัยอีกคนหนึ่งเกินกว่าสามครั้ง ในการถามพระเจ้าว่าเขาควรให้อภัยคนบางคนเจ็ดครั้งหรือไม่ เปโตรอาจคิดว่าเขาเป็นคนใจกว้าง (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, The Mortal Messiah, เล่ม 4 [1979–81], 3:91) ให้นักเรียนอ่าน มัทธิว 18:22 ในใจ โดยมองหาคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานแก่เปโตร

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราควรให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองหรือทำบาปต่อเรากี่ครั้ง (อธิบายว่า “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด” เป็นวิธีที่จะบอกว่าเราไม่ควรจำกัดจำนวนครั้งที่เราควรให้อภัยผู้อื่น)

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรจากพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการให้อภัยผู้อื่น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ พระเจ้าทรงบัญชาเราให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองหรือทำบาปต่อเรา)

  • การให้อภัยผู้อื่นหมายความว่าอย่างไร (อธิบายว่าการให้อภัยผู้อื่นคือการปฏิบัติต่อคนที่ทำให้เราขุ่นเคืองด้วยความรักและไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเขา [ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ให้อภัย,” scriptures.lds.org; คพ. 64:9–11] การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าเราจะยังคงปล่อยให้คนอื่นทำร้ายเราหรือผู้ที่ทำความขุ่นเคืองจะไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา ไม่ว่าจะทางกฎหมายหรือทางอื่น)

อธิบายว่าหลังจากตอบคำถามของเปโตรแล้ว พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาต่อสานุศิษย์ที่จะช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมเราต้องให้อภัยผู้อื่น

จับกลุ่มนักเรียนเป็นคู่และให้แต่ละคู่อ่าน มัทธิว 18:23–35 ด้วยกันโดยมองหาว่าเหตุใดเราควรให้อภัยผู้อื่น หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจอุปมานี้ลึกซึ้งมากขึ้น ให้เขียนคำต่อไปนี้บน กระดาน

เจ้า

ทาส

เพื่อนทาส

  • ทาสเป็นหนี้เจ้าอยู่เท่าไร (เขียนว่า เป็นหนี้เจ้า 10,000 ตะลันต์ ใต้ ทาส)

อธิบายว่าในสมัยของพระเยซู “10,000 ตะลันต์เท่ากับ 100,000,000 เดนาริอัน [ค่าเงินโรมัน] หนึ่งเดนาริอันเท่ากับค่าจ้างแรงงานหนึ่งวัน” (เจย์ เอ. แพรีย์ และโดนัลด์ ดับเบิลยู. แพรีย์, Understanding the Parables of Jesus Christ [2006], 95) ขอให้นักเรียนคำนวณว่าจะต้องใช้เวลากี่ปีทาสคนนี้จึงจะสามารถจ่ายหนี้หมดโดยหาร 100,000,000 ด้วย 365 วัน (100,000,000/365 = 273,973) เขียน 273,973 ปี บนกระดานใต้ เป็นหนี้เจ้า 10,000 ตะลันต์

  • เพื่อนทาสเป็นหนี้ทาสเท่าไหร่ (เขียน เป็นหนี้ทาส 100 เดนาริอัน ใต้ เพื่อนทาส)

อธิบายว่า 100 เพนส์เท่ากับ 100 เดนาริอัน ดังนั้นเพื่อนทาสจึงเป็นหนี้ทาสแค่การทำงาน 100 วันหรือเท่ากับหนึ่งในสามของรายได้ต่อปี เขียน 100 วัน บนกระดานใต้ เป็นหนี้ทาส 100 เดนาริอัน

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเจ้าจึงบอกทาสว่าเขาชั่วช้าที่ไม่ยกหนี้ให้เพื่อนทาสของเขา

ถามนักเรียนว่าพวกเขาคิดว่าแต่ละคนในสามคนนี้จากอุปมาหมายถึงใคร หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนบนกระดานว่าตัวแทนต่อไปนี้เป็นใคร เจ้า = พระบิดาบนสวรรค์ ทาส = เรา เพื่อนทาส = คนที่ทำให้เราขุ่นเคือง

  • หลักธรรมใดที่ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับสาเหตุที่เราควรให้อภัยผู้อื่น (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ ถ้าเราต้องการให้พระผู้เป็นเจ้าให้อภัยเรา เมื่อนั้นเราต้องเต็มใจให้อภัยผู้อื่น เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • บุคคลจะทำอะไรได้บ้างหากเขาลำบากใจที่จะให้อภัยคนบางคน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อจะเต็มใจให้อภัยผู้อื่นมากขึ้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุด หากเป็นไปได้ ทำเป็นเอกสารแจกให้นักเรียนแต่ละคน

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“เราต้องรู้จักและรับรู้อารมณ์โกรธ ต้องอาศัยความอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ถ้าเราคุกเข่าทูลขอพระบิดาบนสวรรค์เพื่อให้รู้สึกถึงการให้อภัย พระองค์จะทรงช่วยเรา พระเจ้าทรงเรียกร้องให้เรา ‘ให้อภัยคนทั้งปวง’ [คพ. 64:10] เพื่อประโยชน์ของเราเอง ‘ความเกลียดขัดขวางการเจริญเติบโตทางวิญญาณ’ [ออร์สัน เอฟ. วิทนีย์, Gospel Themes (1914), 144] ขอให้เราละทิ้งความเกลียดและความขมขื่นเท่านั้นพระเจ้าจะทรงนำเอาความสบายใจมาไว้ในใจเรา …

“… เมื่อมีความเศร้าโศกเกิดขึ้น เราไม่ควรตอบสนองโดยหาทางแก้แค้นส่วนตัว แต่ควรปล่อยให้ความยุติธรรมทำหน้าที่ของมันแล้วปล่อยวาง ไม่ง่ายเลยที่จะปล่อยวางและทำให้ใจว่างเปล่าจากความเคียดแค้นซึ่งจะทำให้เลวร้ายลงไปอีก พระผู้ช่วยให้รอดทรงเสนอสันติสุขที่มีค่าให้เราทุกคนผ่านการชดใช้ของพระองค์ แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเต็มใจละทิ้งความรู้สึกด้านลบของอารมณ์โกรธ ชิงชัง หรือการแก้แค้น สำหรับทุกคนที่ให้อภัย ‘ผู้ที่ละเมิดเรา’ [งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 6:13] แม้คนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรง การชดใช้จะนำมาซึ่งสันติสุขและการปลอบโยน” (เจมส์ อี. เฟาส์, “อำนาจเยียวยาของการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 86)

  • ประธานเฟาส์บอกให้เราทำอะไรที่ช่วยเราให้อภัยผู้อื่น

  • ตามที่ประธานเฟาสท์กล่าว เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราให้อภัยผู้อื่น

เตือนนักเรียนถึงเรื่องของประธานมอนสันที่แบ่งปันก่อนหน้านี้ในชั้นเรียนและขอให้นักเรียนอ่านบทสรุปของเรื่องนี้

ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ถ้าหนักแน่นน้อยกว่านี้ พวกเขาคงโทษอธิการและผูกใจเจ็บ ครั้นอธิการทราบเรื่องสลดใจดังกล่าว เขาจึงไปเยี่ยมครอบครัวนี้และขอโทษ พ่อซึ่งยังฝังใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นยอมรับคำขอโทษด้วยน้ำตาคลอหน่วย สองคนโอบกอดกันด้วยวิญญาณของความเข้าใจ” (“ลิ่มที่ซ่อนอยู่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2002, 19)

  • พระเจ้าทรงช่วยท่านให้อภัยคนที่ทำบาปต่อท่านหรือทำให้ท่านขุ่นเคืองอย่างไร

  • อะไรช่วยให้ท่านให้อภัยผู้อื่น (ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของเขา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่ามีใครที่พวกเขายังไม่ได้ให้อภัย ให้พวกเขาสวดอ้อนวอนขอความปรารถนาที่จะให้อภัยและความสามารถที่จะปล่อยวางความเจ็บปวดและความโกรธเพื่อว่าพระเยซูคริสต์จะช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงสันติสุขและความสบายใจผ่านการชดใช้ของพระองค์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มัทธิว 18:20 “มีสองสามคนประชุมกันที่ไหนในนามของเรา”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าคำสัญญาเรื่องการประชุมกันในพระนามของพระเยซูคริสต์ใช้กับเราเมื่อการประชุมได้รับการควบคุมดูแลโดยสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง ดังนี้

“พระเจ้าตรัสบอกเราว่า, ‘มีสองสามคนประชุมกันที่ไหนในนามของเรา เราจะอยู่ท่ามกลางพวกเขาที่นั่น’ (มัทธิว 18:20; ดู คพ. 6:32ด้วย)

“มีความปลอดภัยในการเรียนรู้หลักคำสอนเรื่องการประชุมที่สนับสนุนโดยสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง” (Reverence Invites Revelation, Ensign, พ.ย. 1991, 21)

มัทธิว 18:21–22 “เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด”

“คำตอบ ‘เจ็ดสิบครั้งคูณเจ็ด’ (จำนวนเชิงไฮเพอร์โบลาที่แปลว่าไม่สิ้นสุด) มีไว้สำหรับคนที่ทำบาปต่อเราแต่กลับใจ สำหรับคนที่ทำบาปต่อเราและปฏิเสธที่จะกลับใจ เรายังคงมีหน้าที่ให้อภัยในสามครั้งแรก แต่ในครั้งที่สี่ประจักษ์พยานฟ้องผู้ทำบาปต้องนำไปที่เบื้องพระพักตร์พระเจ้า หากการกลับใจและการแก้ไขเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการให้อภัย แต่ถ้าไม่มีการกลับใจ ผู้ทำบาปจะถูกส่งไปที่การพิพากษาของพระผู้เป็นเจ้า คำแนะนำเพิ่มเติมอยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:39–48 กฎการให้อภัย” (ดี. เคล ออกเดน และ แอนดรู ซี. สกินเนอร์, Verse by Verse: The Four Gospels [2006], 371–72)

สังเกตว่าวลี “เจ้าไม่พึงให้อภัยเขา” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:44 หมายถึงผู้กระทำผิดที่ไม่กลับใจควรรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาอย่างสมบูรณ์ ไม่ได้หมายความว่าเราควรยับยั้งการให้อภัยหรือยังคงรู้สึกเกลียดชังพวกเขาต่อไป (ดู Doctrine and Covenants and Church History Seminary Teacher Manual [Church Educational System manual, 2013], 349)

มัทธิว 18:22 การให้อภัยและการลงโทษทางวินัยของศาสนจักร

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน มัทธิว 18:22 เกี่ยวกับสถานการณ์อันเกี่ยวข้องกับการลงโทษทางวินัยของศาสนาจักร ดังนี้

“ไม่มีการจำกัดจำนวนครั้งที่พี่น้องควรให้อภัยกันและกันในความผิดส่วนตัวของพวกเขาเมื่ออยู่บนเงื่อนไขของการกลับใจที่แท้จริง อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้เจตนาจะหมายความว่าศาสนจักรเองจะยังให้อภัยและผูกมิตรสมาชิกที่ทำผิดไม่จบสิ้น มีบางครั้งที่คนบาปต้องถูกขับออกจากอาณาจักรไม่ว่าพวกเขาอาจจะเสียใจเพียงไรสำหรับการกระทำที่ไม่ชอบธรรม” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:423)

มัทธิว 18:23–30 พระเจ้าทรงบัญชาว่าเราต้องให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองช่วยให้เราเข้าใจว่าเราได้รับพรอย่างไรเมื่อเราให้อภัยผู้อื่น ดังนี้

“การให้อภัยเยียวยาบาดแผลอันน่าเศร้าสลดและน่ากลัว เพราะการให้อภัยยอมให้ความรักของพระผู้เป็นเจ้าล้างพิษของความเกลียดชังในใจและความคิดของเรา อีกทั้งชำระล้างความปรารถนาจะแก้แค้นให้หมดไปจากจิตสำนึกของท่าน การให้อภัยเปิดช่องว่างไว้ให้ความรักของพระเจ้าที่ฟื้นฟู เยียวยา และชำระใจ” (Healing the Tragic Scars of Abuse, Ensign, พ.ค. 1992, 33)

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับการให้อภัย

“พึงจำไว้ว่า สวรรค์เต็มไปด้วยผู้ที่มีสิ่งนี้เหมือนกัน นั่นคือ พวกเขาได้รับการให้อภัย และพวกเขาให้อภัย” (“ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 77)