คลังค้นคว้า
บทที่ 39: มาระโก 9:1–29


บทที่ 39

มาระโก 9:1–29

คำนำ

พระเยซูทรงจำแลงพระกายต่อหน้าเปโตร ยากอบ และยอห์น จากนั้นพระองค์ทรงสอนพวกเขาเกี่ยวกับบทบาทของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาในฐานะเอลีอัสผู้ที่จะมาเตรียมมรรคาสำหรับพระเมสสิยาห์ หลังจากพระเยซูเสด็จกลับมาหาสานุศิษย์คนอื่นๆ มีชายคนหนึ่งทูลวิงวอนพระองค์ให้ขับผีออกจากลูกชายของเขา พระเยซูทรงขับผีออกและสอนสานุศิษย์เกี่ยวกับความจำเป็นของการสวดอ้อนวอนและการอดอาหาร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มาระโก 9:1–13

พระเยซูทรงจำแลงพระกายต่อหน้าเปโตร ยากอบ และยอห์น และทรงสอนเกี่ยวกับเอลีอัส

เชื้อเชิญอาสาสมัครหลายๆ คนออกมาหน้าชั้นเรียนและสาธิตกิจกรรมที่จะเพิ่มความแข็งแรงทางร่างกายพอสังเขป

  • เหตุใดบางคนจึงต้องการหรือจำเป็นที่จะเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย

  • ความแข็งแรงทางร่างกายอาจเปรียบเหมือนความเข้มแข็งทางวิญญาณหรือศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร

  • ในสถานการณ์ใดบ้างที่ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์อาจได้รับการทดสอบและจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งเป็นพิเศษ (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

เมื่อนักเรียนศึกษา มาระโก 9:1–29 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงที่จะช่วยพวกเขาเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์

สรุป มาระโก 9:1–13 โดยอธิบายว่าในข้อเหล่านี้มีเรื่องราวการเปลี่ยนสภาพของพระเยซูต่อหน้าเปโตร ยากอบ และยอห์นบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพ ข้อความนี้เล่าไว้เช่นกันว่าพระเยซูทรงสอนอัครสาวกเหล่านี้ว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาทำให้บทบาทที่พยากรณ์ไว้ของเอลีอัสหรือผู้ที่จะเตรียมมรรคาสำหรับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดสัมฤทธิผล (ดู งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มาระโก 9:10 )

มาระโก 9:14–29

พระเยซูทรงขับผีออกจากบุตรของชายคนหนึ่ง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:14–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาภาพที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงพบเมื่อพระองค์กลับจากภูเขามาหาสานุศิษย์คนอื่นๆ ของพระองค์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอดและนักเรียนอีกคนหนึ่งอ่านถ้อยคำของบิดาในเรื่องราวที่ตามมาใน มาระโก 9:16–24 (ท่านอาจมอบหมายส่วนนี้ก่อนชั้นเรียนและเชื้อเชิญให้นักเรียนหาข้อความที่มอบหมายไว้) ท่านอาจแสดงบทบาทเป็นผู้บรรยายหรือเชื้อเชิญนักเรียนคนที่สามให้ทำหน้าที่นั้น ขอให้นักเรียนที่ได้รับมอบหมายอ่านออกเสียงข้อความของตนเองใน มาระโก 9:16–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ผู้เป็นบิดาต้องการจากสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอด

  • บิดาคนนั้นต้องการอะไรสำหรับบุตรชายของเขา (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าบุตรคนนั้นถูกผีสิง ซึ่งทำให้เป็นใบ้ หูหนวก [ดู มาระโก 9:17, 25] และโรคอื่นๆ เมื่อใดก็ตามที่ผีสิงบุตรชายเขา บุตรชายเขาจะเป็นลมชัก น้ำลายฟูมปาก กัดฟัน และตัวแข็งทื่อ)

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าเป็นบิดาคนนี้และให้ไตร่ตรองว่าเมื่อสานุศิษย์ไม่สามารถรักษาบุตรชายของเขาได้อาจส่งผลอย่างไรต่อศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและพลังอำนาจของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนที่มอบหมายไว้อ่าน มาระโก 9:19–22 ต่อ ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยจินตนาการว่าบิดาคนนี้น่าจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเขาสนทนากับพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านคิดว่าบิดาคนนี้รู้สึกอย่างไรเมื่อเขาสนทนากับพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ได้เพิ่มความเข้าใจของเราในด้านใดบ้างเกี่ยวกับความรู้สึกและคำวิงวอนของบิดาคนนี้

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“เมื่อไม่เหลือความหวังอื่น บิดาคนนี้ประเมินศรัทธาของตนแล้ววิงวอนพระผู้ช่วยให้รอดของโลกว่า ‘ถ้า ท่าน สามารถช่วย ได้ ก็โปรดสงสาร และช่วย เราทั้งสอง ด้วย’ [มาระโก 9:22; เน้นตัวเอน] ข้าพเจ้าแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้เมื่ออ่านข้อความนั้น เห็นได้ชัดว่าเขาจงใจใช้สรรพนาม เรา อันที่จริงชายผู้นี้กำลังกล่าวว่า ‘เราทั้งครอบครัวกำลังวิงวอน สภาพดิ้นรนของเราไม่มีวันสิ้นสุด เราอ่อนล้า บุตรชายของเราตกน้ำ เขาร่วงหล่นไปสู่กองไฟ เขาตกอยู่ในอันตรายตลอดเวลา และเราหวาดหวั่นตลอดเวลา เราไม่รู้จะหันไปหาใคร ท่าน จะช่วยเราได้ไหม เราจะขอบคุณสำหรับ ทุกอย่าง—ถึงจะเป็นพรบางส่วน แค่ความหวังริบหรี่ แม้การแบ่งเบาภาระเพียงเล็กน้อยที่แม่ของเด็กคนนี้ต้องแบกรับทุกวันทั้งชีวิต’” (ดู“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 93)

เชื้อเชิญให้นักเรียนที่ได้รับมอบหมายอ่านออกเสียงส่วนของพระผู้ช่วยให้รอด มาระโก 9:23 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรบิดาคนนี้

  • บิดาคนนี้ต้องเชื่อในใคร

  • หลักธรรมอะไรที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนบิดาคนนี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ หากเราเชื่อในพระเยซูคริสต์ ทุกสิ่งเป็นไปได้สำหรับเรา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายข้อความใน ข้อ 23 ที่สอนหลักธรรมนี้)

ชี้ให้เห็นว่า “ทุกสิ่ง” ประกอบด้วยพรที่ชอบธรรมทุกประการที่เป็นไปตามพระประสงค์ จุดประสงค์ และจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้า

  • การเชื่อหลักธรรมนี้ช่วยให้บางคนสามารถเผชิญกับความยากลำบากซึ่งดูเหมือนจะเอาชนะไม่ได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนที่ได้รับมอบหมายส่วนของบิดาอ่านออกเสียง มาระโก 9:24 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาคำตอบของบิดาซึ่งมีต่อหลักธรรมที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน

  • ท่านจะบรรยายศรัทธาของบิดาคนนี้ในเวลานั้นว่าอย่างไร

ขอให้นักเรียนสังเกตคำตอบสองส่วนของบิดาคนนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าสิ่งที่บิดาคนนั้นประกาศแสดงถึงอะไรที่เราทำได้ในเวลาที่เรา “ไม่เชื่อ” หรือในเวลาที่เราสงสัยหรือกลัว

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“เมื่อเผชิญความท้าทายเรื่องศรัทธา บิดาคนนี้ประเมินกำลังของเขาก่อน จากนั้นจึงได้รับรู้ถึงข้อจำกัดของตน ถ้อยคำที่เขาประกาศแต่แรกยืนยันโดยปราศจากความลังเล ว่า ‘ข้าพเจ้าเชื่อ’ ข้าพเจ้าต้องการบอกผู้ที่ปรารถนาจะมีศรัทธามากขึ้นว่า จงจดจำชายผู้นี้! “ในช่วงเวลาที่ท่านหวาดกลัว หรือสงสัย หรือว้าวุ่นใจ จงยึดฐานที่มั่นซึ่งท่านชนะมาแล้ว แม้จะมีพื้นที่จำกัดก็ตาม ในการเติบโตที่เราต้องประสบในชีวิตมรรตัย สิ่งทางวิญญาณที่เทียบเท่ากับความทุกข์ของเด็กคนนี้หรือความสิ้นหวังของบิดาคนนี้จะเกิดขึ้นกับเราทุกคน เมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และทางออกไม่ได้มาในทันที จงยึดมั่นในสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้วและยืนหยัดจนกว่าความรู้เพิ่มเติมจะมาถึง” (ดู “ข้าพเจ้าเชื่อ,” 93–94)

  • เราเรียนรู้อะไรจากบิดาคนนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้ในเวลาที่เราไม่เชื่อ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน หากเรายึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อ …)

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับการรับมือความไม่เชื่อจากอีกส่วนหนึ่งในคำกล่าวของบิดาคนนี้ใน ข้อ 24 (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เพิ่มวลีในข้อความบนกระดานดังต่อไปนี้ และแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า…)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:25–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อตอบคำวิงวอนของบิดาคนนั้น

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรเพื่อตอบคำวิงวอนของบิดาคนนั้น

  • ท่านจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนโดยใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้จากเรื่องราวนี้อย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบ เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อสื่อถึงหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรายึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระองค์จะทรงช่วยเราเสริมสร้างศรัทธาของเรา)

พูดถึงสถานการณ์ที่เขียนไว้บนกระดานซึ่งท่านสนทนาในตอนเริ่มต้นของบทเรียน

  • หลักธรรมนี้จะใช้ในสถานการณ์เช่นนั้นได้อย่างไร

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเคยได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้าในเวลาที่ขาดความเชื่อโดยยึดมั่นในความเชื่อและแสวงหาความช่วยเหลือจากพระองค์เมื่อใด (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน)

กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในช่วงเวลาที่ขาดความเชื่อ

เตือนความจำนักเรียนว่าในตอนแรกบิดาคนนี้นำบุตรชายของเขามาให้สานุศิษย์บางคนของพระองค์รักษา เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาเป็นสานุศิษย์เหล่านี้

  • ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรหลังจากล้มเหลวในการขับผีออกจากเด็กหนุ่มคนนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:28 และขอให้ชั้นเรียนมองหาคำถามที่สานุศิษย์ทูลถามพระเยซู

  • สานุศิษย์ทูลถามอะไรพระเยซู

ขอให้นักเรียนทบทวน มาระโก 9:19 โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงบรรยายถึงผู้คน รวมถึงสานุศิษย์ของพระองค์ที่อยู่ที่นั่นอย่างไร (พวกเขา “ขาดความเชื่อ”) อธิบายว่า ขาดความเชื่อ ในที่นี้หมายถึงการขาดศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ศรัทธาในพระเยซูคริสต์จำเป็นสำหรับการทำให้พรฐานะปุโรหิตมีประสิทธิผล

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มาระโก 9:29 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงตอบคำถามสานุศิษย์ของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรสานุศิษย์ของพระองค์

  • คำสวดอ้อนวอนและการอดอาหารมีอิทธิผลต่อศรัทธาของบุคคลอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบ ช่วยพวกเขาเข้าใจความจริงต่อไปนี้ เราสามารถเพิ่มศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ผ่านการสวดอ้อนวอนและการอดอาหาร)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้จากหนังสือ แน่วแน่ต่อศรัทธา ขอให้ชั้นเรียนฟังดูสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ความจริงนี้

“เรื่องราวนี้ [ของพระเยซูที่ทรงขับผีออกจากบุตรของชายคนหนึ่ง] สอนว่าคำสวดอ้อนวอนและการอดอาหารจะให้พลังเพิ่มเติมแก่ผู้ที่ให้และได้รับพรฐานะปุโรหิต อีกทั้งประยุกต์ใช้ได้กับความพยายามส่วนตัวของท่านที่จะดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ถ้าท่านมีความอ่อนแอหรือบาปที่ท่านพยายามเอาชนะ ท่านอาจต้องอดอาหารและสวดอ้อนวอนเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือหรือการให้อภัยที่ท่านปรารถนา เช่นเดียวกับผีที่พระคริสต์ทรงขับออก ความยุ่งยากของท่านอาจจัดอยู่ในประเภทที่ยุติได้ด้วยการสวดอ้อนวอนและอดอาหารเท่านั้น” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 91)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อความนี้ มีสถานการณ์อะไรบ้างซึ่งประยุกต์ใช้ความจริงนี้ได้

  • การสวดอ้อนวอนและการอดอาหารช่วยเพิ่มศรัทธาของท่านในพระคริสต์และทำให้ท่านได้รับพรอันชอบธรรมที่ท่านแสวงหาเมื่อใด

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองถึงพรที่พวกเขาแสวงหาให้ตนเองหรือผู้อื่นที่อาจได้มาโดยการเพิ่มศรัทธาของพวกเขาในพระเยซูคริสต์ผ่านคำสวดอ้อนวอนและการอดอาหาร เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนเป้าหมายเพื่อสวดอ้อนวอนและอดอาหารสำหรับพรเหล่านี้ในวันอาทิตย์อดอาหารครั้งหน้า

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

ท่านอาจดูข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่นักเรียนอาจไม่คุ้นเคยล่วงหน้า เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านและทำเครื่องหมาย ท่านอาจมอบหมายข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ใหม่ข้อหนึ่งให้นักเรียนแต่ละคนหรือแต่ละคู่และขอให้พวกเขาวาดภาพในแผ่นกระดาษซึ่งบอกถึงความจริงที่สอนในข้อนั้น เชื้อเชิญให้พวกเขาอธิบายภาพของพวกเขากับชั้นเรียน ท่านอาจแสดงภาพหล่านี้เพื่อเป็นข้ออ้างอิงในอนาคต

(หมายเหตุ: ท่านอาจใช้กิจกรรมนี้ในตอนเริ่มต้นหรือท้ายบทเรียน หากมีเวลา)

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

มาระโก 9:22–24 การยึดมั่นในสิ่งที่เราเชื่อและแสวงหาความช่วยเหลือเพื่อเสริมสร้างความเชื่อของเรา

เอ็ลเดอร์ เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำแนะนำต่อไปนี้เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเชื่อของเรา

“เมื่อปัญหาเกิดขึ้นและมีคำถาม อย่าเริ่มต้นด้วยการพูดเกี่ยวกับศรัทธาว่าท่าน ไม่ มีมากเพียงใด ราวกับให้ “ความไม่เชื่อ” ของท่านเป็นตัวนำ … ข้าพเจ้าไม่ได้ขอให้ท่านแสร้งมีศรัทธาที่ท่านไม่มี ข้าพเจ้า กำลัง ขอให้ท่านแน่วแน่ต่อศรัทธาที่ท่าน มี อยู่แล้ว บางครั้ง เราปฏิบัติราวกับว่าการประกาศตรง ๆ เกี่ยวกับความสงสัยเป็นการแสดงถึงความกล้าหาญทางศีลธรรมที่สูงส่งยิ่งกว่าการประกาศตรง ๆ เกี่ยวกับศรัทธา นั่นไม่ใช่เลย! ดังนั้น ขอให้เราทุกคนจดจำข่าวสารชัดเจนจากพระคัมภีร์เรื่องนี้ว่า จงตรงไปตรงมาเกี่ยวกับข้อสงสัยของท่านเท่าที่จำเป็น ชีวิตเต็มไปด้วยข้อสงสัยไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง แต่หากท่านและครอบครัวต้องการรักษาให้หาย จงอย่าให้ข้อสงสัยเหล่านั้นมาขวางไม่ให้ศรัทธากระทำสิ่งอัศจรรย์ …

“… เมื่อความสงสัยหรือความยากลำบากเกิดขึ้น อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ หากเราต้องการความช่วยเหลืออย่างอ่อนน้อมจริงใจเท่าบิดาคนนี้ เราจะได้รับ พระคัมภีร์เรียกความปรารถนาที่จริงจังเช่นนั้นว่าเป็น ‘เจตนาแท้จริง” ซึ่งพยายาม ‘ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว, โดยไม่ทำการหน้าซื่อใจคดและการหลอกลวงต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า’ [2 นีไฟ 31:13] ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าในการตอบสนองคำรบเร้า เช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงส่งความช่วยเหลือมาจากทั้งสองฝั่งของม่านเพื่อเสริมสร้างความ เชื่อของเรา” (“ข้าพเจ้าเชื่อ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 94)

หากนักเรียนของท่านคนใดกำลังต่อสู้ดิ้นรนกับความสงสัยหรือความกลัวที่เกิดขึ้นจากคำถามเกี่ยวกับหลักคำสอนหรือประวัติของศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถเชื้อเชิญให้พวกเขาศึกษาหัวข้อที่เกี่ยวข้องจากหน้า หัวข้อพระกิตติคุณ (ดู lds.org/topics)

มาระโก 9:28–29 การอดอาหารร่วมกับการสวดอ้อนวอน

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังต่อไปนี้

“เราสังเกตว่าในพระคัมภีร์ ส่วนมากการอดอาหารจะเกี่ยวข้องกับการสวดอ้อนวอนเสมอ หากปราศจากการสวดอ้อนวอน การอดอาหารไม่ใช่การอดอาหารที่สมบูรณ์แบบ เป็นแค่การปล่อยให้หิว หากเราต้องการให้การอดอาหารเป็นมากกว่าการไม่รับประทานอาหาร เราต้องยกระดับจิตใจของเรา ความคิดของเรา และเปล่งเสียงของเราในการเข้าร่วมกับพระบิดาบนสวรรค์ การอดอาหารร่วมกับการสวดอ้อนวอนอย่างทรงพลังเป็นสิ่งที่มีพลังมาก” (“The Law of the Fast,” Ensign, พ.ค. 2001, 73)

สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรวมการอดอาหารกับการสวดอ้อนวอนเข้าด้วยกัน รวมถึงผลที่ตามมาซึ่งทำให้เกิดพลังทางวิญญาณที่เพิ่มขึ้นในชีวิตเรา ให้อ่านเอ็ลเดอร์คาร์ล บี. แพรทท์, “พรของการอดอาหารอย่างถูกต้อง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 59–61