คลังค้นคว้า
บทที่ 5: บริบทและภาพรวมของพันธสัญญาใหม่


บทที่ 5

บริบทและภาพรวมของพันธสัญญาใหม่

คำนำ

ในบทเรียนนี้ นักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพันธสัญญาใหม่ รวมถึงปัจจัยที่ทำให้ชาวยิวหลายคนปฏิเสธพระเยซูในฐานะพระเมสสิยาห์และพระผู้ช่วยให้รอด นักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของพันธสัญญาใหม่เช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

บริบทของพันธสัญญาใหม่

ภาพ
ส่วนหนึ่งจากภาพวาด สเทเฟน
ภาพ
สเทเฟนเห็นพระเยซูทางขวาพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

ให้นักเรียนดูส่วนหนึ่งของ ภาพ สเทเฟนมองเห็นพระเยซูทางขวาพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 63; ดู LDS.orgด้วย) โดยการใช้กระดาษหรือวัสดุอีกชิ้นเพื่อปิดส่วนอื่นของภาพยกเว้น สเทเฟน (ผู้ชายที่ใส่หมวกสีน้ำเงิน)

ให้นักเรียนบรรยายว่าเกิดอะไรขึ้นใน ภาพ ถามพวกเขาว่าเหตุใดพวกเขาจึงคิดว่าผู้ชายคนนี้อยู่บนพื้นและยื่นมือของเขาออกมา หลังจากที่นักเรียนตอบ ให้เปิดภาพที่เหลือ

  • การเห็นภาพเต็มช่วยให้ท่านเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

เชิญนักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 7:56-59 เพื่อเข้าใจว่าภาพนี้แสดงเหตุการณ์ที่สเทเฟน สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ กำลังถูกหินขว้างจนตายและมองเห็นพระเยซูทรงยืนอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

  • เราจะเปรียบเทียบการเผยภาพนี้กับความเข้าใจพระคัมภีร์ได้อย่างไร

อธิบายว่ากิจกรรมนี้แสดงถึงความสำคัญของความเข้าใจบริบทในพระคัมภีร์ คำว่า บริบท หมายถึงสภาวะที่อยู่รอบๆ หรือให้ภูมิหลังของข้อพระคัมภีร์ เหตุการณ์ หรือเรื่องราวในพระคัมภีร์ ชี้ให้เห็นว่าเมื่อนักเรียนเริ่มคุ้นเคยกับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพันธสัญญาใหม่ พวกเขาสามารถเข้าใจและประยุกต์ใช้คำสอนของพระคัมภีร์ได้ดีขึ้น

ผู้นำศาสนายิวระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 10:3-5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำหรือวลีที่ศาสดาพยากรณ์เจคอบใช้เพื่อบรรยายสภาพทางวิญญาณของชาวยิวบางคนระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เจคอบใช้คำหรือวลีใดบรรยายสภาพทางวิญญาณของชาวยิวบางคน (อธิบายว่าคำว่า การฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิต ใน ข้อ 5 อ้างถึงการสั่งสอนเพื่อหา “ผลประโยชน์และการสรรเสริญของโลก” แทนที่จะเป็นความผาสุกของผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า [2 นีไฟ 26:29] คนเหล่านั้นที่มีความผิดเรื่องการฉ้อฉลในอำนาจปุโรหิตโดยพื้นฐานแล้วเป็นผู้นำศาสนาที่ชั่วร้ายท่ามกลางชาวยิวซึ่งนำผู้คนให้หลงไป)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 23:16 ,24 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายถึงผู้นำศาสนาชาวยิวเหล่านี้อย่างไรระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายถึงผู้นำศาสนาชาวยิวเหล่านี้ว่าอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับผู้นำเหล่านี้โดยเรียกพวกเขาว่า “คนนำทางตาบอด”

การเพิ่มเติมกฎของโมเสสและปรัชญาผิดอื่นๆ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าผู้นำทางศาสนานำผู้คนให้หลงทางไปอย่างไร วาดรูปวงกลมบนกระดานและเขียนว่า กฎของโมเสส ตรงกลางวงกลม วาดวงกลมอีกวงหนึ่งรอบวงกลมวงแรกและเขียนว่า กฎวาจา

อธิบายว่าโดยขาดศาสดาพยากรณ์ ครูและผู้นำชาวยิวเพิ่มเติมข้อบังคับและการตีความกฎของพวกเขาเอง เป็นที่รู้จักอย่างหลากหลายว่าเป็นกฎวาจา ประเพณีวาจา หรือประเพณีของผู้นำ กฎเพิ่มเติมและการตีความเหล่านี้มีเจตนาจะป้องกันการละเมิดกฎของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อแสดงตัวอย่างของหนึ่งในกฎเหล่านี้ เชิญนักเรียนสองคนมาที่หน้าชั้นเรียน ให้เชือกที่ผูกปมไว้คนละเส้น ให้นักเรียนคนหนึ่งแก้ปมออกด้วยมือข้างเดียว และขอให้นักเรียนอีกคนแก้ปมโดยใช้มือทั้งสองข้าง หลังจากพวกเขาพยายามทำแล้ว ให้พวกเขากลับไปที่นั่ง

อธิบายว่าตามกฎวาจา เป็นเรื่องต้องห้ามที่จะแก้ปมด้วยมือทั้งสองข้างในวันสะบาโต การทำเช่นนั้นถือเป็นการทำงาน จึงเป็นการละเมิดวันสะบาโต อย่างไรก็ดี การแก้ปมเชือกด้วยมือเดียวสามารถทำได้

  • อะไรคืออันตรายจากการเพิ่มข้อบังคับที่มนุษย์คิดขึ้นเข้าไปในพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้เกี่ยวกับผู้นำทางศาสนายิวบางคนโดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“พวกเขานำเอาสิ่งธรรมดาและเรียบง่ายของศาสนาบริสุทธิ์และผสมการตีความมากมายของพวกเขาเอง พวกเขาตกแต่งสิ่งเรียบง่ายเหล่านั้นด้วยพิธีกรรมและการกระทำที่เพิ่มขึ้น พวกเขาเอาวิธีการนมัสการที่มีความสุขและเปี่ยมปีติไปแล้วเปลี่ยนเป็นระบบพิธีกรรมและการกระทำที่เข้มงวด ย่นย่อ และต่ำลง วิญญาณที่มีชีวิตแห่งกฎของพระเจ้ากลับเป็นตัวอักษรที่ตายแล้วในมือของพิธีกรรมชาวยิว” (The Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 1:238)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์แมคคองกีกล่าว ผู้นำทางศาสนาชาวยิวทำอะไรกับกฎของพระผู้เป็นเจ้าด้วยการตีความเพิ่มเติมของพวกเขา

ชี้ให้เห็นว่าชาวยิวในสมัยของพระเยซูคริสต์อยู่ในสภาพของการละทิ้งความเชื่อ ถึงแม้สิทธิอำนาจและศาสนพิธีของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจะดำเนินต่อมาท่ามกลางพวกเขา แต่ชาวยิวหลายคนได้หลงไปจากธรรมเนียมปฏิบัติที่แท้จริงของศาสนาดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยต่อโมเสส (ดู คพ. 84:25–28) ประเพณีของผู้นำได้รับความสำคัญเหนือศาสนาบริสุทธิ์และพระคำที่เขียนไว้ของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 12:14 ขอให้ขั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าฟาริสีปรารถนาจะทำอะไรกับพระเยซูเนื่องจากพระองค์ไม่สนพระทัยสิทธิอำนาจของพวกเขาและประเพณีบางอย่างที่ออกจากปากพวกเขา

  • ผู้นำทางศาสนาเหล่านี้วางแผนทำอะไรกับพระเยซู

อธิบายว่านอกเหนือจากประเพณีอันเป็นการละทิ้งความเชื่อของชาวยิว ปรัชญาเท็จอื่นๆ มีอิทธิพลต่อการที่ผู้คนปฏิเสธพระเยซูคริสต์หลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ ตัวอย่างเช่น การที่วัฒนธรรมกรีกแพร่ออกไปทำให้คนมากมายปฏิเสธความเป็นจริงของการฟื้นคืนชีวิตทางร่างกาย (ดู 1 โครินธ์ 15:12) ดังนั้น เมื่ออัครสาวกเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์หลังจากการตรึงการเขนพระองค์ หลายคนปฏิเสธประจักษ์พยานของพวกเขา

การปกครองของต่างชาติและความคาดหวังว่าพระเมสสิยาห์จะทรงปลดปล่อยอิสราเอล

เขียนคำต่อไปนี้บนกระดาน: บาบิโลน, เปอร์เซีย, มาซิโดเนีย (กรีซ), และ โรม

  • ในเรื่องที่เกี่ยวกับชาวยิว อาณาจักรโบราณเหล่านี้มีอะไรที่เหมือนกัน (พวกเขาชนะและปกครองชาวยิว)

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มและแจก เอกสาร ต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม

ยกเว้นช่วงหนึ่งที่ได้รับอิสรภาพ ในสมัยพันธสัญญาใหม่ชาวยิวดำเนินชีวิตอย่างคนที่อยู่ในอาณัติมานานกว่า 500 ปี การปฏิวัติที่นำโดยแม็คคาบี ครอบครัวผู้รักชาติชาวยิว นำไปสู่อิสรภาพประมาณ 160 ปีก่อนการประสูติของพระคริสต์ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่พระคริสต์ประสูติ โรมยึดครองอิสราเอล กษัตริย์เฮโรด (เป็นที่รู้จักในฐานะเฮโรดมหาราช) ผู้ที่แต่งงานเข้ามาในครอบครัวแม็คคาบีได้รับแต่งตั้งจากโรมให้ปกครองอิสราเอล ชาวยิวรังเกียจกฎของชาวโรมันและตั้งตารอคอยพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ ผู้ที่พวกเขาเชื่อว่าจะปลดปล่อยพวกเขาจากชาวโรมัน เพราะชาวยิวหลายคนคาดหวังพระเมสสิยาห์ผู้จะปลดปล่อยพวกเขาออกจากการปกครองของต่างชาติ พวกเขาจึงปฏิเสธพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา

ขอให้นักเรียนอ่านเอกสารแจกและสนทนาคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่ม (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้บนกระดาน)

  • ชาวยิวหลายคนคาดหวังอะไรจากพระเมสสิยาห์ที่จะเสด็จมา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดความคาดหวังผิดๆ จึงนำชาวยิวหลายคนปฏิเสธพระเยซูคริสต์ในฐานะพระเมสสิยาห์

อธิบายว่าขณะที่ชาวยิวบางคนปฏิเสธพระคริสต์ คนอื่นๆ ที่อ่อนน้อมถ่อมตนและมีความละเอียดอ่อนทางวิญญาณยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์และพระผู้ช่วยให้รอด

เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 2:25-33 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่คนชอบธรรมชื่อาสิเมโอนทำและกล่าวเมื่อโยเซฟกับมารีย์นำพระเยซูคริสต์ไปที่พระวิหารขณะยังเป็นทารก

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 30–32 เหตุใดจึงส่งพระเยซูมายังแผ่นดินโลก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้: พระเยซูคริสต์ได้รับการส่งมาเพื่อนำความรอดมาสู่คนทั้งปวง)

  • พระเยซูคริสต์ทรงทำอะไรเพื่อช่วยให้คนทั้งปวงรอด

ให้ดูภาพของสเทเฟนที่แสดงไว้เมื่อเริ่มบทเรียน กระตุ้นให้นักเรียนจำบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ท่านสนทนาเมื่อพวกเขาศึกษาพันธสัญญาใหม่ เมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น พวกเขาจะเข้าใจคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและอัครสาวกของพระองค์ได้ดีขึ้น (สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพันธสัญญาใหม่ ดู “ช่วงเวลาระหว่างพันธสัญญาเดิมและพันสัญญาใหม่” และ “สภาพแวดล้อมของพันธสัญญาใหม่” ใน พันธสัญญาใหม่ คู่มือนักเรียน ([คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 1–3) เอกสารนี้ประกอบด้วยคำอธิบายสั้นๆ ของกลุ่มต่างๆ เช่นชาวสะมาเรีย ฟาริสี สะดูสี ซานเฮดริน และพวกธรรมาจารย์)

ภาพรวมโดยสังเขปของพันธสัญญาใหม่

ภาพ
พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธซาธา

บอกนักเรียนว่าท่านจะให้พวกเขาดู ภาพ 10 วินาทีและจากนั้นจะให้พวกเขาเขียนบรรยายโดยละเอียดถึงสิ่งที่พวกเขาเห็น ให้นักเรียนดูภาพ พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธซาธา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ หน้า 42; ดู LDS.org) หลังจาก 10 วินาที เก็บภาพและให้นักเรียนเขียนคำบรรยายของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนสองสามคนอ่านคำบรรยายของเขาให้ชั้นเรียนฟัง

  • แม้ว่าทุกคนจะเห็นภาพเดียวกัน แต่ทำไมคำบรรยายของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน

  • เหตุใดการมีพยานมากกว่าหนึ่งปากในเหตุการณ์หนึ่งจึงเป็นประโยชน์

เขียนชื่อผู้เขียนพระกิตติคุณสี่เล่มบนกระดาน: มัทธิว มาระโก ลูกา และ ยอห์น อธิบายว่าสานุศิษย์เหล่านี้ของพระเยซูคริสต์ แต่ละคนบันทึกเหตุการณ์และคำสอนจากพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอด บันทึกของพวกเขาเรียกว่าพระกิตติคุณสี่เล่ม คำว่า พระกิตติคุณ แปลว่า “ข่าวดี” ชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธเปลี่ยนชื่อของพระกิตติคุณแต่ละเล่มเป็น ประจักษ์พยาน เช่นใน “ประจักษ์พยานของ เซนต์มัทธิว”

  • เหตุใดการมีพระกิตติคุณหรือประจักษ์พยานถึงพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซูคริสต์มากกว่าหนึ่งเล่มจึงมีประโยชน์

อธิบายว่าถึงแม้พระกิตติคุณทั้งสี่เล่มจะแตกต่างกันในรายละเอียดและมุมมอง แต่ทั้งสี่เล่มเล่าถึงเหตุการณ์ของพระชนม์ชีพและการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอดท่ามกลางชาวยิว พระกิตติคุณทั้งสี่เล่มเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของโลก (ดู คู่มือพระคัมภีร์ “พระกิตติคุณสี่เล่ม”)

ท่านอาจต้องการแจกสำเนาแผนภูมิฉบับย่อของ “พระชนม์ชีพมรรตัยของพระเยซูคริสต์โดยสังเขป” ในท้ายบทเรียนนี้ แผนภูมิฉบับเต็มอยู่ใน ภาคผนวก ของคู่มือนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้แผนภูมิเพื่อระบุเหตุการณ์หลักสองสามเหตุการณ์ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัย

  • ตามที่ระบุในแผนภูมิ การปฏิบัติศาสนกิจในความเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอดใช้เวลานานเท่าใด

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงอยู่ที่ไหนในช่วงการปฏิบัติศาสนกิจส่วนใหญ่ของพระองค์

ให้นักเรียนใช้แผนภูมิเพื่อเข้าใจบริบทของพระกิตติคุณสี่เล่มดีขึ้นขณะที่พวกเขาศึกษาพันธสัญญาใหม่

ขอให้นักเรียนเปิดไปที่สารบัญของพระคัมภีร์ไบเบิล อธิบายว่าขณะที่พระกิตติคุณสี่เล่มเป็นเรื่องราวของการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด แต่นับจากหนังสือกิจการของอัครทูตจนถึงวิวรณ์บันทึกการปฏิบัติศาสนกิจของอัครสาวกสมัยโบราณของพระคริสต์หลังจากการตรึงกางเขน การฟื้นคืนพระชนม์ และการเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์ อัครสาวกเหล่านี้เดินทางทั่วทั้งแผ่นดินอิสราเอลและจักรวรรดิโรมันเพื่อสั่งสอนพระกิตติคุณและจัดตั้งสาขาต่างๆ ของศาสนจักร โดยการศึกษาพฤติกรรมและงานเขียนของอัครสาวกเหล่านี้ เราสามารถเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอดและเรียนรู้วิธีรับพรจากการชดใช้ของพระองค์ เราเห็นได้เช่นกันว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคล้ายคลึงกับศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในสมัยโบราณมากเพียงใด

ท่านอาจต้องการเป็นพยานถึงความจริงที่ท่านค้นพบจากการศึกษาพันธสัญญาใหม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงที่จะเป็นพรแก่พวกเขาเมื่อพวกเขาศึกษาพันธสัญญาใหม่ปีนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ช่วงระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของพันธสัญญาใหม่ ดู เอส. เคนท์ บราวน์ และ ริชาร์ด นีเซล ฮอลซับเฟล, The Lost 500 Years: From Malachi to John the Baptist, Ensign, ธ.ค. 2014, 56–60; โรเบิร์ต แอล. มิลเล็ต, Looking beyond the Mark: Why Many Did Not Accept the Messiah, Ensign, ก.ค. 1987, 60–64; และริชาร์ด ดี. เดรเปอร์, The Reality of the Resurrection, Ensign, เม.ย. 1994, 32–40.

พระกิตติคุณสี่เล่ม

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าพระกิตติคุณเขียนให้ผู้อ่านที่ต่างกันแต่มีจุดประสงค์เดียวกันในการสอนเกี่ยวกับความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์:

“เป็นเรื่องจริงที่พระกิตติคุณสี่เล่มของพันธสัญญาใหม่นำเสนอมุมมองที่แตกต่างกันของพระบุคลิกภาพและคำสอนของพระเจ้า ดูเหมือนว่ามัทธิวมุ่งให้พระกิตติคุณของเขาไปสู่ชาวยิว เขานำเสนอพระคริสต์ในฐานะพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้และศาสนาคริสต์เป็นสัมฤทธิผลของศาสนายิว มาระโกดูเหมือนจะเขียนโดยมุ่งหมายให้ดึงดูดความสนใจของชาวโรมันและคนต่างชาติ พระกิตติคุณของลูกานำเสนอพระอาจารย์แก่ชาวกรีก แก่คนที่มีวัฒนธรรมและขัดเกลาแล้ว พระกิตติคุณของยอห์นเป็นเรื่องราวสำหรับวิสุทธิชน นี่คือเบื้องต้นของพระกิตติคุณสำหรับศาสนจักร สำหรับคนที่เข้าใจพระคัมภีร์และเครื่องหมายของพระคัมภีร์รวมทั้งคนที่กังวลเรื่องทางวิญญาณและนิรันดร เห็นได้ชัดว่า วิธีการที่แตกต่างกันไปเช่นนั้นเป็นข้อดีอย่างมากในการนำเสนอความจริงของความรอดแก่คนที่มาจากต่างวัฒนธรรม ภูมิหลัง และประสบการณ์ แต่ข้อเท็จจริงที่เรียบง่ายคือผู้เขียนพระกิตติคุณทั้งหมดเขียนโดยการดลใจ และทุกคนมีจุดประสงค์เดียวกันคือ 1 เพื่อเป็นพยานถึงการเป็นพระบุตรจากสวรรค์ของพระเจ้าของเรา; และ 2 เพื่อสอนความจริงของแผนแห่งความรอด” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 336)

หนังสือกิจการของอัครทูตจนถึงวิวรณ์

หนังสือกิจการของอัครทูตบันทึกกิจกรรมเผยแผ่ศาสนาหลักๆ บางกิจกรรมของอัครสาวก จากหนังสือโรมจนถึงยูดาเป็นสาส์นหรือจดหมายที่เขียนโดยเปาโลและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ เพื่อสอนและจรรโลงใจวิสุทธิชน สาส์นของเปาโลเรียบเรียง “ตามความยาวจากฉบับที่ยาวที่สุด (โรม) ถึงฉบับที่สั้นที่สุด (ฟีเลโมน) เป็นเช่นนั้นยกเว้นสาส์นถึงชาวฮีบรู ซึ่งวางไว้ท้ายสุดเนื่องจากบางคนสงสัยว่าเปาโลเขียนสาส์นนี้จริงหรือไม่” (คู่มือพระคัมภีร์ “สาส์นของเปาโล”) สาส์นของยากอบจนถึงยูดาเรียกกันว่าเป็นสาส์นทั่วไป “เนื่องจากไม่ได้มุ่งให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือเจาะจงที่สาขาใดของศาสนจักร” (Bible Dictionary, General Epistles) หนังสือวิวรณ์หรือที่เรียกกันว่าการเปิดเผย มีคำแนะนำของยอห์นผู้เป็นที่รักที่มีให้แก่สาขาทั้งเจ็ดของศาสนจักรในเอเชียเช่นเดียวกันกับการเปิดเผยแก่ยอห์น โดยเบื้องต้นประกอบไปด้วยประวัติศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะในยุคสุดท้าย

พระกิตติคุณสี่เล่มคืออะไร

พระกิตติคุณสี่เล่มคือหนังสือสี่เล่มแรกในพันธสัญญาใหม่ เขียนโดยมัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น ทั้งสี่เล่มประกอบด้วยประจักษ์พยานสี่เรื่องถึงพระชนม์ชีพมรรตัยของพระเยซูและเหตุุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ ในหลายๆ ด้าน หนังสือ 3 นีไฟ ในพระคัมภีร์มอรมอนคล้ายคลึงกับพระกิตติคุณสี่เล่มและบางครั้งเรียกว่าเป็น “พระกิตติคุณเล่มที่ห้า”

“หนังสือในพันธสัญญาใหม่ต้นฉบับเขียนเป็นภาษากรีก คำภาษากรีกสำหรับ พระกิตติคุณ แปลว่า ‘ข่าวดี’ ข่าวดีคือพระเยซูคริสต์ทรงทำการชดใช้ซึ่งจะไถ่มนุษยชาติทั้งปวงจากความตายและมอบรางวัลให้แต่ละบุคคลตามงานของเขา [หรือเธอ]” (คู่มือพระคัมภีร์, “พระกิตติคุณ,” scriptures.lds.org)

ฉันจะพบความสอดคล้องของเรื่องราวในพระกิตติคุณสี่เล่มจากที่ไหน

ความสอดคล้องของพระกิตติคุณสี่เล่มพร้อมด้วยตารางเปรียบเทียบคำสอนของพระเยซูคริสต์ดังที่บันทึกไว้ในมัทธิว มาระโก ลูกา ยอห์น และการเปิดเผยยุคสุดท้ายพบได้ในคู่มือพระคัมภีร์

ภาพ
เหตุการณ์ตามลำดับเวลาในพระชนม์ชีพมรรตัยของพระคริสต์

พิมพ์