คลังค้นคว้า
บทที่ 90: กิจการของอัครทูต 12


บทที่ 90

กิจการของอัครทูต 12

คำนำ

กษัตริย์เฮโรดสังหารอัครสาวกยากอบ จากนั้นจึงจับกุมและจำคุกเปโตร คืนก่อนที่เปโตรจะถูกประหารชีวิต ทูตสวรรค์องค์หนึ่งช่วยเขาหนีออกจากคุก กษัตริย์เฮโรดถูกทูตสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าลงโทษ และพระกิตติคุณรุดหน้าต่อไป

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 12:1–17

กษัตริย์เฮโรดสังหารยากอบและจับกุมเปโตร ผู้ที่หนีจากคุกได้อย่างน่าอัศจรรย์

ให้นักเรียนดู เข็มทิศ หรือวาดรูปเข็มทิศบนกระดาน เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอธิบายว่าเข็มทิศทำงานอย่างไรและมีไว้เพื่ออะไร

ภาพ
เข็มทิศ
  • เนื่องจากเข็มทิศชี้ไปทางทิศเหนืออยู่เสมอ การใช้เข็มทิศช่วยเราตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าเราควรจะไปทางไหน

วาดเครื่องหมาย X บนกระดานใกล้ๆ เข็มทิศ (แต่ไม่ใกล้เข็มที่ชี้ไปทางทิศเหนือ) และขอให้ชั้นเรียนจินตนาการว่า X นั้นเป็นแม่เหล็กมีด้าม

  • แม่เหล็กนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเข็มที่อยู่ในเข็มทิศอย่างไร (เข็มจะชี้ไปใกล้กับแม่เหล็กเนื่องจากว่ามันแทรกแซงแรงดึงดูดของแม่เหล็กทางทิศเหนือ)

  • แม่เหล็กนี้จะส่งผลต่อความสามารถของท่านอย่างไรในการตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าท่านควรจะไปทิศทางไหน

เมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 12 กระตุ้นให้นักเรียนมองหาอิทธิพลที่จะแทรกแซงความสามารถของเราในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ กิจการของอัครทูต 12 อธิบายว่าตั้งแต่มรณสักขีของสเทเฟน ชาวคริสต์ในกรุงเยรูซาเล็มและบริเวณโดยรอบประสบกับการข่มเหงมากขึ้น

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 12:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ากษัตริย์เฮโรด อากริปปา ที่หนึ่งมีส่วนทำให้เกิดการข่มเหงนี้อย่างไร (อธิบายว่าหนึ่งหมู่ทหารเท่ากับทหารสี่คน)

  • กษัตริย์เฮโรดสั่งฆ่าใครด้วยดาบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 ใครพึงพอใจกับมรณกรรมของยากอบ

อธิบายว่าวลี “พวกยิว” ใน ข้อ 3 หมายถึงผู้นำชาวยิวที่มีอิทธิพลในกรุงเยรูซาเล็มที่สนับสนุนการข่มเหงศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ กษัตริย์เฮโรดพยายามทำให้ผู้นำชาวยิวเหล่านี้พอใจ (ดู Bible Dictionary, Herod) ใกล้กับเครื่องหมาย X บนกระดานให้เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ หากเราพยายามทำให้คนอื่นพอใจแทนที่จะให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย …

  • กษัตริย์เฮโรดทำอะไรหลังจากเขาเห็นว่าการสังหารยากอบทำให้ผู้นำชาวยิวพอใจ (เขาวางแผนจะสังหารเปโตรต่อหน้าสาธารณชน)

ชี้ไปที่ภาพเข็มทิศบนกระดานและถามว่า

  • ความปรารถนาของกษัตริย์เฮโรดที่จะทำให้คนอื่นพอใจมากกว่าพระผู้เป็นเจ้าส่งผลต่อทิศทางในชีวิตของกษัตริย์เฮโรดอย่างไร

  • จากสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากตัวอย่างของกษัตริย์เฮโรด ท่านจะเติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว เติมข้อความบนกระดานให้สมบูรณ์เพื่อสื่อถึงความจริงต่อไปนี้ หากเราพยายามทำให้คนอื่นพอใจแทนที่จะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย เราจะถูกนำไปสู่บาปมากขึ้น

  • มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่าการพยายามทำให้ผู้อื่นพอใจแทนที่จะเป็นพระผู้เป็นเจ้าจะนำบางคนไปสู่บาปอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองวิธีที่พวกเขาอาจปล่อยให้ความปรารถนาที่จะทำให้ผู้อื่นพอใจทำพวกเขาออกห่างจากพระบิดาในสวรรค์ของพวกเขา

อธิบายว่านักเรียนจะได้รับเชิญให้ แสดงบทบาทตามเหตุการณ์ ใน กิจการของอัครทูต 12:5–17 เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนแสดงบทบาทของเปโตร ทหารสองคน ทูตสวรรค์ โรดา และสานุศิษย์หนึ่งหรือสองคนที่บ้านของมารีย์ มารดาของมาระโก ท่านหรือนักเรียนอีกคนสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้บรรยาย

  • ขอให้ผู้บรรยายอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 12:5–6 และเชื้อเชิญนักเรียนที่แสดงบทบาทตามที่บอกไว้แสดงตามข้อความที่อ่าน เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหา ให้หยุดหลังจากอ่านข้อพระคัมภีร์แต่ละชุดและแสดง จากนั้นถามคำถามที่เกี่ยวข้อง

  • สมาชิกศาสนจักรกำลังทำอะไรในตอนนี้

ขอให้ผู้บรรยายอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 12:7–10 ขณะนักเรียนที่เลือกไว้แสดงบทบาทตามข้อความที่อ่าน

  • สิ่งกีดขวางหรืออุปสรรคอะไรที่เปโตรผ่านออกไปได้ระหว่างการหนี

ขอให้ผู้บรรยายอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 12:11–15 ขณะนักเรียนที่เลือกไว้แสดงบทบาทตามข้อความที่อ่าน

  • เปโตรรู้สึกตัวว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อใด

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อเปโตรเคาะประตูบ้านของมารีย์

ขอให้ผู้บรรยายอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 12:16–17 เชื้อเชิญนักเรียนที่เลือกไว้แสดงบทบาทตามข้อความที่อ่าน หลังจากอ่านข้อเหล่านี้และแสดงแล้ว ให้นักเรียนกลับไปนั่งที่

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 เปโตรบอกว่าใครที่ช่วยให้เขาหนีออกจากคุก (ชี้ให้เห็นว่ายากอบที่พูดถึงใน ข้อ 17 เป็นน้องชายคนหนึ่งของพระเยซู [ดู มัทธิว 13:55])

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน กิจการของอัครทูต 12:5 มองหาว่าข้อนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปโตรอย่างไร

  • ท่านคิดว่าวลี “อธิษฐานอย่างกระตือรือร้น” (ข้อ 5) บอกอะไรเกี่ยวกับความจริงใจและความกระตือรือร้นในคำสวดอ้อนวอนของสมาชิกศาสนจักร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับผลของคำสวดอ้อนวอนของเราที่มีต่อตัวเราเองและคนอื่นๆ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ คำสวดอ้อนวอนที่จริงใจและกระตือรือร้นของเราเชื้อเชิญปาฏิหาริย์และพรเข้ามาสู่ชีวิตเราและชีวิตของผู้อื่น เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • การสวดอ้อนวอนที่จริงใจและกระตือรือร้นหมายความว่าอย่างไร

อธิบายว่านี่ไม่ได้หมายความว่าหากคำสวดอ้อนวอนของเราจริงใจและกระตือรือร้น เราจะได้รับสิ่งที่เราสวดอ้อนวอนขอโดยอัตโนมัติ ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการได้รับปาฏิหาริย์และพรของพระผู้เป็นเจ้าได้แก่พระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์เช่นเดียวกับสิทธิ์เสรีส่วนบุคคล

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ ขอให้นักเรียนฟังว่าคำสวดอ้อนวอนที่จริงใจและกระตือรือร้นส่งผลต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

“การสวดอ้อนวอนเป็นการกระทำซึ่งพระประสงค์ของพระบิดาและความประสงค์ของบุตรธิดามีความสอดคล้องต้องกัน วัตถุประสงค์ของการสวดอ้อนวอนไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่เพื่อให้ตัวเราและคนอื่นๆ มั่นใจในพรที่พระผู้เป็นเจ้าเต็มพระทัยมอบให้แต่นั่นมีเงื่อนไขว่าเราต้องทูลขอ พรเรียกร้องการทำงานหรือความพยายามบางส่วนของเราก่อนเราจะได้มา การสวดอ้อนวอนเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำงาน และเป็นวิธีที่กำหนดไว้เพื่อจะได้รับพรสูงสุดในพรทั้งปวง” (Bible Dictionary, Prayer)

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อความนี้ จุดประสงค์สำคัญของการสวดอ้อนวอนคืออะไร

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจดจำว่าจุดประสงค์ของการสวดอ้อนวอนไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา

  • คำสวดอ้อนวอนเคยอัญเชิญปาฏิหาริย์และพรของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่ชีวิตท่านและชีวิตคนที่ท่านสวดอ้อนวอนให้เมื่อใด

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน หลังจากความคิดเห็นของพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาวิธีที่พวกเขาอาจจะสามารถสวดอ้อนวอนได้อย่างจริงใจและกระตือรือร้นมากขึ้นเพื่ออัญเชิญพรและปาฏิหาริย์ที่พระผู้เป็นเจ้าเต็มพระทัยประทานแก่พวกเขาและคนที่พวกเขาสวดอ้อนวอนให้

กิจการของอัครทูต 12:18–25

กษัตริย์เฮโรดถูกพระผู้เป็นเจ้าลงโทษ และพระกิตติคุณรุดหน้าต่อไป

สรุป กิจการของอัครทูต 12:18–22 โดยอธิบายว่าในวันต่อมา กษัตริย์เฮโรดรู้ว่าเปโตรหนีไปจึงสั่งให้ประหารชีวิตทหารที่เขาคิดว่ารับผิดชอบต่อการปล่อยให้เปโตรหลบหนี ในภายหลัง กษัตริย์เฮโรดกล่าวคำปราศรัยต่อผู้คนที่ชื่นชมคำปราศรัยของเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 12:23–24 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์เฮโรด

  • เกิดอะไรขึ้นกับกษัตริย์เฮโรด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

  • เกิดอะไรขึ้นกับงานเผยแผ่ศาสนาของศาสนจักรแม้สมาชิกศาสนจักรจะเผชิญกับการข่มเหง

สรุปโดยเชื้อเชิญนักเรียนให้ทบทวนความจริงที่พวกเขาเรียนรู้และไตร่ตรองว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขาอย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 12:1–17 เปโตรและยากอบให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรก

กิจการของอัครทูต 12 แสดงให้เห็นว่าเปโตรและยากอบให้พระผู้เป็นเจ้ามาเป็นอันดับแรกในชีวิตพวกเขาไม่ว่าพวกเขาจะถูกลงโทษอย่างไร เหตุใดจึงสำคัญมากที่จะรักพระผู้เป็นเจ้าและให้พระองค์มาเป็นอันดับแรกในชีวิตเรา เอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์แห่งฝ่ายประธานสาวกเจ็ดสิบเล่าประสบการณ์ต่อไปนี้ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจความสำคัญของทิศทางที่เราจะหันหน้าไปในชีวิต

“‘คุณหันหน้าไปทางใด’ ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจด้วยคำถามน่าพิศวงนี้ขณะเดินทางด้วยกันเพื่อทำงานมอบหมายครั้งแรกในฐานะสาวกเจ็ดสิบคนใหม่ โดยที่ไม่มีคำอธิบายว่าคำถามนี้อยู่ในบริบทใด ข้าพเจ้าถึงกับจนปัญญา ‘สาวกเจ็ดสิบ’ ท่านกล่าวต่อ ‘ไม่ได้เป็นตัวแทนผู้คนต่อศาสดาพยากรณ์ แต่เป็นตัวแทนศาสดาพยากรณ์ต่อผู้คน อย่าลืมว่าคุณต้องหันหน้าไปทางไหน!’ นั่นเป็นบทเรียนสำคัญยิ่ง

“การพยายามทำให้ผู้อื่นพึงพอใจแทนที่จะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยเป็นการสลับ พระบัญญัติสำคัญข้อแรกกับข้อที่สอง (ดู มัทธิว 22:37–39) นั่นเป็นการลืมว่าเราหันหน้าไปทางใด กระนั้น เราทุกคนเคยทำผิดพลาดเพราะความกลัวมนุษย์ ในอิสยาห์พระเจ้าทรงเตือนเราว่า ‘อย่ากลัวการเยาะเย้ยของมนุษย์’ (อิสยาห์ 51:7; ดู 2 นีไฟ 8:7 ด้วย) ในความฝันของลีไฮความกลัวนี้เกิดขึ้นโดย การชี้นิ้วเยาะเย้ย จากอาคารใหญ่และกว้างทำให้หลายคนลืมไปว่าพวกเขาหันหน้าไปทางใดและผละออกจากต้นไม้ด้วย ‘ความละอาย’ (ดู 1 นีไฟ 8:25–28)” (“ท่านหันหน้าไปทางใด” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 9)

กิจการของอัครทูต 12:5 “อธิษฐานอย่างกระตือรือร้น”

ประธานโธมัส เอส. มอนสันแสดงความขอบคุณต่อคนที่สวดอ้อนวอนให้ท่านและผู้นำของศาสนจักรดังนี้

“ข้าพเจ้าขอบคุณสำหรับความเมตตาที่ท่านมีต่อข้าพเจ้าไม่ว่าข้าพเจ้าจะไปที่ใด ขอบคุณสำหรับคำสวดอ้อนวอนให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงคำสวดอ้อนวอนเหล่านั้นและซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่ง” (“เมื่อเรามารวมกันอีกครา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 5)

“ข้าพเจ้ารักท่าน ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนให้ท่าน อีกครั้งที่ข้าพเจ้าขอให้ท่านระลึกถึงข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ทุกคนในการสวดอ้อนวอนของท่าน เราเป็นหนึ่งเดียวกันกับท่านในการทำให้งานอัศจรรย์นี้รุดหน้าต่อไป ข้าพเจ้าเป็นพยานต่อท่านว่าเราอยู่ในงานนี้ด้วยกัน ชาย หญิง และเด็กทุกคนมีบทบาทในงานนี้ ขอพระผู้เป็นเจ้าประทานพละกำลัง ความสามารถ และความมุ่งมั่นแก่เราเพื่อทำส่วนของเราให้ดี” (“จนเราเจอกันอีก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 140–141)

ประธานฮาโรลด์ บี. ลีให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลังดังนี้

“ท่านต้องปรารถนาด้วยจิตวิญญาณทั้งหมดของท่าน! ท่านต้องมีความเอาจริงเอาจังทั้งหมดที่ท่านสามารถมีได้และความปรารถนาว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในโลกที่ท่านพยายามให้ได้มา!” (Teachings of Harold B. Lee, ed. ไคลด์ เจ. วิลเลียมส์ [1996], 125)

กิจการของอัครทูต 12:21–23 มรณกรรมของกษัตริย์เฮโรด อากริปปา ที่หนึ่ง

กษัตริย์เฮโรด อากริปปา ที่หนึ่งเป็นหลานชายของกษัตริย์เฮโรด อันทีพา ที่สังหารยอห์นผู้ถวายบัพติศมา และเป็น “หลานของเฮโรดมหาราช ท่านเป็นที่นิยมชมชอบของพวกฟาริสีเพราะท่านระมัดระวังในการถือปฏิบัติประเพณีชาวยิว เนื่องจากสาเหตุนี้—จึงเป็นที่นิยมชมชอบในบรรดาชาวยิว—ที่ท่านสั่งฆ่ายากอบ (ดู กิจการของอัครทูต 12:1–2) อากริปปาถึงแก่ความตายเมื่ออายุ 54 ปี ใน ค.ศ. 44 ปีเดียวกันกับที่ยากอบถูกสังหารเป็นมรณสักขี ลูกาเห็นการตายโดยฉับพลันของอากริปปาว่าเป็นการตอบแทนจากสวรรค์ ที่กระทำโดยทูตสวรรค์ของพระเจ้า” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 302; ดู Bible Dictionary, Herodด้วย)

พิมพ์