คลังค้นคว้า
บทที่ 91: กิจการของอัครทูต 13–14


บทที่ 91

กิจการของอัครทูต 13–14

คำนำ

เปาโล (เดิมชื่อเซาโล) เริ่มการเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งแรกของเขาโดยมีบารนาบัสเป็นคู่ พวกเขาสั่งสอนพระกิตติคุณและจัดตั้งสาขาของศาสนจักรท่ามกลางการข่มเหงที่ต่อเนื่อง เมื่อพวกยิวปฏิเสธไม่ยอมรับพระคำของพระผู้เป็นเจ้า เปาโลและบารนาบัสมุ่งสั่งสอนท่ามกลางคนต่างชาติ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 13:1–13

เปาโลและบารนาบัสเริ่มการเดินทางเผยแผ่ศาสนาและตำหนิผู้ทำนายเท็จ

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เตรียมป้ายอันหนึ่งเขียนว่า “ไม่มีการต่อต้าน” และอีกป้ายหนึ่งเขียนว่า “มีการต่อต้านเสมอ” ให้ติดไว้บนผนังแต่ละด้านของชั้นเรียน

ขอให้นักเรียนจินตนาการพื้นที่ระหว่างป้ายทั้งสองเป็นระยะที่บอกระดับการต่อต้านที่คนหนึ่งประสบเมื่อพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ เชื้อเชิญให้นักเรียนยืนขึ้นระหว่างป้ายทั้งสองที่พวกเขาคิดว่าแสดงถึงระดับการต่อต้านที่โมเสสประสบ ขอให้นักเรียนสองสามคนอธิบายว่าทำไมจึงเลือกจุดนี้ ทำกิจกรรมนี้อีกโดยขอให้นักเรียนยืนบนจุดที่บอกการต่อต้านของโจเซฟ สมิธ และจากนั้นนีไฟ ขอให้นักเรียนสองสามคนอธิบายจุดที่เขาเลือกแต่ละจุด เชื้อเชิญให้นักเรียนกลับไปนั่ง

เราต้องรับรู้ว่าสานุศิษย์ทุกคนของพระเยซูคริสต์จะเผชิญกับการต่อต้านในช่วงต่างๆ ของชีวิต ขอให้นักเรียนนึกถึงจุดที่พวกเขาจะยืนว่าเป็นจุดไหนของระดับการต่อต้านเมื่อพวกเขาพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ กระตุ้นให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะศึกษา กิจการของอัครทูต 13–14 ซึ่งจะช่วยนำทางพวกเขาเมื่อพวกเขาเผชิญกับการต่อต้านขณะพยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

สรุป กิจการของอัครทูต 13:1–6 โดยอธิบายว่ามีผู้เผยพระวจนะและอาจารย์บางคนมาชุมนุมกันที่เมืองอันทิโอกในซีเรีย พวกเขารับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าเซาโล (ภายหลังเป็นที่รู้จักในนามเปาโล) และบารนาบัสควรได้รับเรียกให้สั่งสอนพระกิตติคุณด้วยกัน หลังจากพวกเขาได้รับการวางมือมอบหน้าที่ เซาโลและบารนาบัสเดินทางจากเมืองอันทิโอกไปเกาะไซปรัสและสั่งสอนในธรรมศาลาที่เมืองซาลามิส จากที่นั่นพวกเขาเดินทางไปยังเมืองปาโฟสซึ่งอยู่อีกฟากฟนึ่งของเกาะ (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดแผนที่ดูว่าเมืองอันทิโอกและไซปรัสอยู่ที่ไหนในแผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผนที่ 13 “เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาของอัครสาวกเปาโล”)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 13:6–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเซาโลและบารนาบัสมาถึงเมืองปาโฟส

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7 ใครต้องการได้ยินพระกิตติคุณจากเซาโลและบารนาบัส (เสอร์จีอัส เปาลุสผู้สำเร็จราชการชาวโรมัน)

  • การต่อต้านใดที่ผู้สอนศาสนาเผชิญในการสอนพระกิตติคุณแก่เสอร์จีอัส เปาลุส

อธิบายว่าเริ่มตั้งแต่ กิจการของอัครทูต 13:9 เซาโลถูกเรียกว่าเปาโล เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 13:9–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลจัดการกับการต่อต้านจากเอลีมาสผู้ทำนายเท็จอย่างไร

  • เปาโลพูดอะไรเกี่ยวกับเอลีมาสใน ข้อ 10 (อธิบายว่าเปาโลใช้ถ้อยคำรุนแรงเพราะเอลีมาสกำลังพยายามกีดกันบุคคลอีกคนหนึ่งไม่ให้รับความรอด)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 เปาโลทำอะไรกับผู้ทำนายเท็จผ่านพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 การได้เห็นพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าส่งผลต่อผู้สำเร็จราชการอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเปรียบเทียบกับพลังอำนาจของมาร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ พลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้ายิ่งใหญ่กว่าพลังอำนาจของมารมาก ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนความจริงนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง กิจการของอัครทูต 13:9–12)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าความเข้าใจที่ว่าพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเหนือกว่าพลังอำนาจของมารอย่างมหาศาลจะช่วยเราเมื่อเราเผชิญกับการต่อต้านในชีวิตเราได้อย่างไร ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน

กิจการของอัครทูต 13:14–43

เปาโลเล่าถึงประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอลและเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์เสด็จมาเพื่อทำให้คำสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าเกิดสัมฤทธิผล

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความผิดที่พวกเขาเคยทำไว้และอยากย้อนเวลากลับไปลบทิ้ง อธิบายว่าบางครั้งการต่อต้านที่เราเผชิญเกิดขึ้นเพราะการเลือกที่เป็นบาปของเราเอง กระตุ้นให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 13:14–43 ที่จะช่วยพวกเขาเอาชนะการต่อต้านนี้

สรุป กิจการของอัครทูต 13:14–37 โดยอธิบายว่าเปาโลและบารนาบัสออกจากเกาะไซปรัสและแล่นเรือไปแคว้นปัมฟีเลีย (ปัจจุบันอยู่ในตุรกี) ซึ่งหลังจากนั้นยอห์น มาระโก คู่คนหนึ่งของพวกเขาตัดสินใจที่จะจากพวกเขากลับบ้าน เปาโลและบารนาบัสเดินทางต่อไปที่เมืองอันทิโอกในแคว้นฟิซิเดีย (อย่าสับสันกับเมืองอันทิโอกในซีเรีย ซึ่งพวกเขาเริ่มงานเผยแผ่จากเมืองนี้) ในวันสะบาโตที่นั่น เปาโลยืนอยู่ต่อหน้าคนที่ธรรมศาลาและเล่าเหตุการณ์จากประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล จากนั้นเปาโลเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของอิสราเอลที่สัญญาไว้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 13:26–34 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • เปาโลต้องการให้คนที่ธรรมศาลาเข้าใจอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 13:38–39 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพรอะไรที่เปาโลสอนว่าเราสามารถได้รับผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • เราสามารถได้รับพรอะไรเนื่องจากพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน เราสามารถได้รับการอภัยบาปของเราและพ้นโทษบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์)

อธิบายว่าคำว่า พ้นโทษบาป ดังที่ใช้ใน ข้อ 39 หมายถึง “ได้รับการระงับโทษ [หรือให้อภัย] จากการลงโทษบาปและประกาศว่าไม่มีความผิด” (Guide to the Scriptures, Justification, Justify,scriptures.lds.org) เมื่อบุคคลหนึ่งพ้นโทษบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ สัมพันธภาพของเขากับพระผู้เป็นเจ้ากลับมาดีอีกครั้ง

  • การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ทำให้เราพ้นโทษบาปของเราได้อย่างไร

เพื่อช่วยนักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“พระเยซูทรงทนทุกข์และสละพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้บาป พลังแห่งการชดใช้ของพระองค์จะลบผลของบาปในเรา เมื่อเรากลับใจพระคุณอันเป็นการชดใช้ของพระองค์จะทำให้เราถูกต้องและสะอาด (ดู 3 นีไฟ 27:16–20) ประหนึ่งว่าเราไม่เคยยอมจำนน ประหนึ่งว่าเราไม่เคยพ่ายแพ้ต่อการล่อลวง” (ดู“เพื่อเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 88)

  • เราต้องทำอะไรเพื่อจะได้รับการให้อภัยบาปของเราและพ้นโทษบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • มีใครบ้างจากพระคัมภีร์ที่ได้รับการอภัยบาปและพ้นโทษบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ตัวอย่างบางคนรวมถึง เปาโล แอลมาผู้บุตร และอีนัส)

เชื้อเชิญให้นักเรียนร้องสองข้อแรกจาก “ฉันเฝ้าพิศวง” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 89) เมื่อพวกเขาร้อง กระตุ้นให้พวกเขามองหาว่าผู้ประพันธ์เพลงสวดนี้แสดงความสำนึกคุณต่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและการให้อภัยอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาหรือในแผ่นกระดาษ

  • ท่านมีความรู้สึกอย่างไรต่อพระเยซูคริสต์เมื่อท่านคิดว่าการชดใช้ของพระองค์ทำให้เป็นไปได้ที่ท่านจะได้รับการอภัยบาปของท่าน

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียน กระตุ้นให้นักเรียนทำตามการกระตุ้นเตือนทุกครั้งที่พวกเขาอาจได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อช่วยให้พวกเขาได้รับการอภัยและพ้นโทษบาปผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

สรุป กิจการของอัครทูต 13:40–43 โดยอธิบายว่าหลังจากการเทศนาของเปาโล คนต่างชาติหลายคนขอให้เปาโลสอนอีกครั้งในวันสะบาโตถัดไป

กิจการของอัครทูต 13:44–52

เปาโลและบารนาบัสสั่งสอนอย่างกล้าหาญแม้มีการข่มเหงที่เพิ่มขึ้น

อธิบายว่าในวันสะบาโตต่อมา เกือบทั้งเมืองมาฟังเปาโลและบารนาบัสสอนพระคำของพระผู้เป็นเจ้า (ดู กิจการของอัครทูต 13:44)

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่และเชื้อเชิญให้พวกเขาอ่าน กิจการของอัครทูต 13:44–52 ด้วยกัน บอกนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่ให้มองหาเจตคติและพฤติกรรมของชาวยิวและนักเรียนอีกคนให้มองหาเจตคติและพฤติกรรมของคนต่างชาติเมื่อผู้คนมารวมตัวกันเพื่อฟังเปาโลและบารนาบัส ให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านงานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับ กิจการของอัครทูต 13:48 ซึ่งเปลี่ยนประโยคสุดท้ายเป็น “และคนทั้งหลายที่เชื่อก็ได้รับเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์” เมื่อนักเรียนอ่านจบ ขอให้แต่ละคู่เปรียบเทียบและเปรียบต่างพฤติกรรมและเจตคติของชาวยิวกับพฤติกรรมและเจตคติของคนต่างชาติ

  • พรอะไรมาสู่คนที่เต็มใจฟังเปาโลและคู่ของเขา

กิจการของอัครทูต 14

เปาโลและบารนาบัสทำการอัศจรรย์หลายอย่างเมื่อพวกเขาสั่งสอนพระกิตติคุณท่ามกลางการข่มเหงอย่างต่อเนื่อง

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เหตุใดพระเจ้าทรงให้คนดีประสบกับการทดลองที่ยาก

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 14 ที่จะช่วยพวกเขาเข้าใจวิธีหนึ่งที่จะตอบคำถามนี้

อธิบายว่า กิจการของอัครทูต 14:1–21 บรรยายถึงความยากลำบากบางอย่างที่เปาโลและบารนาบัสต้องทนเมื่อพวกเขาสั่งสอนต่อไป เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อต่อไปนี้ และขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความยากลำบากที่ผู้สอนศาสนาเผชิญ

  1. กิจการของอัครทูต 14:1–2 (พวกยิวที่ไม่เชื่อยั่วยุคนต่างชาติให้คิดร้ายต่อเปาโลและบารนาบัส)

  2. กิจการของอัครทูต 14:8–18 (หลังจากเปาโลรักษาคนง่อย ผู้คนในลิสตราคิดว่าเปาโลและบารนาบัสเป็นพระเจ้ากรีกและพยายามถวายเครื่องบูชาแก่พวกเขา)

  3. กิจการของอัครทูต 14:19–20 (เปาโลถูกขว้างด้วยหินและเป็นขึ้นมาใหม่)

  • เปาโลและบารนาบัสต้องทนกับความยากลำบากอะไรบ้าง

  • ท่านอาจมีความคิดอะไรบ้างถ้าท่านอยู่กับเปาโลและบารนาบัสระหว่างการทดลองนี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 14:22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนเกี่ยวกับความยากลำบาก

  • หลักธรรม อะไรที่เปาโลสอนในข้อนี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อผ่านความยากลำบากไปอย่างชื่อสัตย์ เราจะพร้อมเข้าสู่อาณาจักรซีเลสเชียล)

  • ท่านคิดว่าการอดทนต่อความยากลำบากอย่างชื่อสัตย์จะช่วยเตรียมเราสำหรับอาณาจักรซีเลสเชียลอย่างไร

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองถึงพรที่มาสู่พวกเขาหรือคนที่พวกเขารู้จักเมื่อพวกเขาผ่านความยากลำบากไปอย่างชื่อสัตย์ เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา เตือนนักเรียนว่าพวกเขาไม่ควรแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์หรือส่วนตัวเกินไป ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเองเพื่อช่วยแสดงตัวอย่างของหลักธรรมนี้และเป็นพยานถึงความเป็นจริงของหลักธรรมนี้

กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองความจริงที่พวกเขาระบุจาก กิจการของอัครทูต 13 และ 14 และเลือกความจริงหนึ่งข้อที่จะช่วยพวกเขาได้มากที่สุดระหว่างการทดลอง จัดเตรียมบัตรคำขนาดเล็กหรือกระดาษหนึ่งแผ่นให้นักเรียนแต่ละคน และเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนหลักธรรมที่พวกเขาเลือกบนบัตรนั้น กระตุ้นให้นักเรียนติดบัตรนี้ไว้ตรงที่ซึ่งพวกเขาเห็นได้บ่อยครั้ง (กระจก ตู้เก็บของที่โรงเรียนของพวกเขา เป็นต้น) เพื่อให้ความเข้มแข็งและกำลังใจเมื่อพวกเขาเผชิญกับการทดลอง

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 13:9 เซาโลเป็นที่รู้จักในชื่อเปาโล

“[อัครสาวกเปาโล] เป็นที่รู้จักในช่วงแรกของชีวิตในชื่อเซาโล เปาโล ชื่อภาษาละตินของเขามีผู้กล่าวถึงครั้งแรกในช่วงที่เขาเริ่มปฏิบัติศาสนกิจต่อคนต่างชาติ (กิจการของอัครทูต 13:9)” (Bible Dictionary, Paul)

กิจการของอัครทูต 13:51 “สะบัดผงคลีดินที่ติดเท้าออก”

เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทัลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำอธิบายนี้ไว้เกี่ยวกับการสะบัดผงคลีดินที่ติดเท้าว่า

“สำหรับพิธีสะบัดผงคลีออกจากเท้าของคนๆ หนึ่งเพื่อเป็นประจักษ์พยานกล่าวโทษอีกคนหนึ่งเป็นที่เข้าใจโดยชาวยิวว่าเป็นสัญลักษณ์ของการยุติความสัมพันธ์และทิ้งความรับผิดชอบทั้งหมดของผลลัพธ์ที่อาจจะตามมา การทำเช่นนี้จึงกลายเป็นศาสนพิธีของการกล่าวหาและเป็นประจักษ์พยานที่พระเจ้าทรงแนะนำสานุศิษย์ของพระองค์ดังที่กล่าวไว้ใน [มัทธิว 10:14] ในสมัยการประทานปัจจุบัน พระเจ้าประทานแนวทางแก่ผู้รับใช้ที่มีสิทธิอำนาจของพระองค์ให้ทำสิ่งคล้ายกันนั้นเพื่อเป็นพยานกล่าวหาผู้ที่ตั้งใจต่อต้านและประสงค์ร้ายต่อความจริงเมื่อมีสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 345; ดู คพ. 24:15; 75:18–22; 84:92–96ด้วย) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะที่รุนแรงของศาสนพิธีนี้ การสะบัดผงคลีดินออกจากเท้าคนๆ หนึ่งจึงไม่ควรปฏิบัติโดยเด็ดขาดยกเว้นภายใต้การนำของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง

กิจการของอัครทูต 14:22 “ทนความยากลำบากหลายอย่าง”

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้เกี่ยวกับความยากลำบาก

“มีความหมายและจุดประสงค์ในความท้าทายของเราบนโลกนี้ … เราทุกคนต้องผ่านประสบการณ์บางอย่างเพื่อเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดของเรามากขึ้น ในโรงเรียนแห่งความเป็นมรรตัย ความเจ็บปวดและความยากลำบากคือครู แต่บทเรียนมีไว้เพื่อขัดเกลาและเป็นพรแก่เรา ทำให้เราเข้มแข็ง ไม่ใช่ทำลายเรา” (“ศรัทธาในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนำสันติและความปีติยินดีมาให้,” เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 20)

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายเกี่ยวกับจุดประสงค์ของความทุกข์ยากในชีวิตมรรตัย ดังนี้

“ความท้าทายมีหลายชนิด บางชนิดให้ประสบการณ์ที่จำเป็นต่อเรา ผลร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตนี้ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกถึงการขาดศรัทธาหรือความบกพร่องในแผนโดยรวมของพระบิดาในสวรรค์ ไฟของคนถลุงแร่เป็นจริง คุณลักษณะของอุปนิสัยและความชอบธรรมที่หล่อหลอมผ่านเปลวไฟแห่งความทุกข์ยากทำให้เราดีพร้อมและบริสุทธิ์ตลอดจนเตรียมเราให้พร้อมเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า” (“บทเพลงที่ขับขานไม่ได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 136)

พิมพ์