คลังค้นคว้า
บทที่ 64: ยอห์น 5


บทที่ 64

ยอห์น 5

คำนำ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเข้าร่วมงานเลี้ยง (น่าจะเป็นปัสกา) ในเยรูซาเล็มและทรงรักษาคนง่อยที่สระน้ำเบธซาธา พระเยซูคริสต์ทรงสอนว่าพระองค์ทรงเป็นตัวแทนของพระบิดาบนสวรรค์และทรงอธิบายถึงสาเหตุที่คนต้องให้เกียรติพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงอธิบายถึงพยานคนอื่นๆ ซึ่งเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์เช่นกัน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 5:1–30

พระเยซูทรงรักษาผู้ป่วยคนหนึ่งในวันสะบาโตและทรงสอนเกี่ยวกับสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดา

ภาพ
ชามที่แตก

ให้ดู ภาพ เศษชามหรือจานที่แตก (หรือท่านอาจวาดรูปจานที่แตกบนกระดาน)

ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาเคยทำสิ่งสำคัญหรือมีค่าแตก อธิบายว่าในฐานะบุตรธิดาของพระบิดาบนสวรรค์ เราสำคัญและมีค่ายิ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเลือกของเราหรือความท้าทายที่เราเผชิญ บางครั้งเราอาจรู้สึกแตกสลายหรือรู้สึกเหมือนเรามีค่าเล็กน้อย

  • บางคนอาจรู้สึกแตกสลายทางวิญญาณ ร่างกาย และอารมณ์ในทางใดบ้าง (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะศึกษา มัทธิว 5:1–9 ซึ่งจะช่วยปลอบโยนเราและให้ความหวังกับเราเมื่อเรารู้สึกแตกสลาย

สรุป ยอห์น 5:1 โดยอธิบายว่าหลังจากพระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติศาสนกิจในแคว้นกาลิลี พระองค์เสด็จไปเยรูซาเล็มเพื่อถือปฏิบัติเทศกาลของชาวยิว ซึ่งน่าจะเป็นเทศกาลปัสกา ขณะประทับอยู่ในเยรูซาเล็ม พระเยซูคริสต์เสด็จไปที่สระน้ำใกล้พระวิหาร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 5:2–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครมาชุมนุมกันรอบสระน้ำ

  • คนประเภทใดที่มารวมตัวกันที่สระน้ำเบธซาธา (ชี้ให้เห็นว่าคำว่า คนป่วย คนตาบอด คนง่อย และ คนเป็นอัมพาต [ข้อ 3] บรรยายถึงผู้ป่วย คนอ่อนกำลัง หรือคนพิการบางอย่าง)

  • ผู้ทุกข์ยากเหล่านี้กำลังรอคอยอะไร (อธิบายว่าอาจมีบ่อน้ำพุที่บางเวลาจะไหลมาที่สระน้ำ ทำให้เกิดฟองบนผิวน้ำ ซึ่งอาจบรรเทาความเจ็บป่วยให้คนเหล่านี้ได้ [ดู Bible Dictionary, “Bethesda”])

เชื้อเชิญนักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสระน้ำเบธซาธาเป็นบ่อน้ำแร่ซึ่งน้ำในบ่อนี้มีคุณสมบัติในการรักษา แต่ความเชื่อที่ว่าเทพลงมากวนน้ำ เพื่อว่าคนแรกที่ลงไปในน้ำจะได้รับการรักษา ล้วนเป็นความเชื่อผิดๆ ปาฏิหาริย์แห่งการรักษาไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะนั้น” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:188)

  • เอ็ลเดอร์แมคคองกีสอนอะไรเกี่ยวกับความเชื่อที่ว่าเทพมากวนน้ำเพื่อรักษาคนแรกที่ลงไปในน้ำ

  • ท่านคิดว่าที่สระน้ำน่าจะมีสภาพเป็นอย่างไรโดยมีคนมากมายที่หวังว่าจะหายด้วยการเป็นคนแรกที่ได้ลงไปในน้ำ

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียง ยอห์น 5:5–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทอดพระเนตรเห็นใครนอนอยู่ข้างสระน้ำ

ภาพ
พระคริสต์ทรงรักษาผู้ป่วยที่เบธซาธา

แสดงภาพ พระคริสต์ทรงรักษาคนป่วยที่เบธซาธา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ ภาพที่ 42; ดู LDS.org ด้วย)

  • ข้อเหล่านี้บรรยายถึงชายที่พระผู้ช่วยให้รอดทอดพระเนตรเห็นว่าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนอ่าน ยอห์น 5:8–9 ในใจ โดยมองหาคำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานแก่ชายคนนั้น ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาทำเครื่องหมายวลี “เขาก็หายเป็นปกติ” (ข้อ 9)

เขียนคำว่า เบธซาธา ไว้บนกระดาน อธิบายว่า เบธซาธา สามารถแปลว่า “บ้านแห่งความกรุณา” (Bible Dictionary, “Bethesda”) เขียนนิยามนี้ข้าง เบธซาธา ที่เขียนไว้บนกระดาน อธิบายว่าความเมตตาคือความเห็นอกเห็นใจหรือความสงสาร การกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความเมตตาซึ่งเคยเกิดขึ้นคือการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

  • เหตุใด เบธซาธา จึงเป็นชื่อที่เหมาะสมสำหรับสถานที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาชายคนนี้

  • เราทุกคนอาจเป็นเหมือนชายคนนี้ที่อยู่ข้างสระน้ำเบธซาธาในทางใดบ้าง

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากการรักษาชายคนนี้ของพระผู้ช่วยให้รอด (ถึงแม้นักเรียนอาจจะพูดต่างกันไป แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นย้ำดังนี้ โดยผ่านเดชานุภาพและพระเมตตาของพระเยซูคริสต์ เราจะหายดี)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เมอร์ริล เจ. เบทแมน ผู้ซึ่งให้ความคิดเห็นของท่านขณะรับใช้เป็นอธิการควบคุม ขอให้ชั้นเรียนฟังเพื่อหาวิธีซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถทำให้เราหายดีได้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เมอร์ริล เจ. เบทแมน

“เช่นเดียวกับคนง่อยที่สระน้ำเบธซาธาต้องการคนที่แข็งแรงกว่าเขาเพื่อได้รับการรักษา (ดู ยอห์น 5:1–9) เราก็พึ่งพาปาฏิหาริย์แห่งการชดใช้ของพระคริสต์หากจิตวิญญาณของเราต้องการหายดีจากความโศกเศร้า ความเสียใจ และบาปเช่นกัน … ผ่านทางพระคริสต์ ใจที่ชอกช้ำกลับดีขึ้น สันติสุขมาแทนความกังวลและความโศกเศร้า” (“The Power to Heal from Within,” Ensign, May 1995, 13)

  • เราสามารถหายดีผ่านทางพระเมตตาของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ในทางใดได้บ้าง (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าเราอาจหายดีได้ในชีวิตนี้หรือไม่ก็ในชีวิตหน้า)

  • เราต้องทำอะไรจึงจะได้รับพระเมตตาและการรักษาผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองถึงเวลาที่พวกเขาเคยเห็นหรือรู้สึกว่าพลังอำนาจ พระเมตตา หรือความสงสารของพระเยซูคริสต์ช่วยเขาหรือคนอื่นที่รู้สึกแตกสลาย ไม่ว่าจะทางวิญญาณ ร่างกาย หรืออารมณ์ เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน ฉันรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพระเมตตาและทรงสงสารเพราะ …

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา

สรุป ยอห์น 5:10–16 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพบชายคนนี้ที่พระวิหารในภายหลังและทรงแนะนำเขาว่า “อย่าทำบาปอีก” (ยอห์น 5:14) เมื่อผู้นำชาวยิวรู้ว่าพระเยซูทรงรักษาชายคนนี้ในวันสะบาโต พวกเขาข่มเหงและพยายามสังหารพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 5:17–18 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้นำชาวยิวโกรธพระเยซู

อธิบายว่าดังที่บันทึกใน ข้อ 17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้นำชาวยิวว่าโดยการรักษาชายคนนั้น พระองค์ทรงทำงานของพระบิดาบนสวรรค์อยู่ จากนั้นพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 18 เหตุผลอีกประการที่ผู้นำชาวยิวโกรธพระเยซูคืออะไร (พวกเขาเชื่อว่าพระเยซูทรงหลบหลู่พระผู้เป็นเจ้าเนื่องจากพระองค์ตรัสว่าพระผู้เป็นเจ้าเป็นพระบิดาของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นการตีตนเสมอพระผู้เป็นเจ้า)

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดาบนสวรรค์ของเรา แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ เชื้อเชิญแต่ละคู่คนอ่านออกเสียง ยอห์น 5:19–22, 26–27, 30 ด้วยกัน เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาคำตอบของคำถามนี้

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ สรุปคำตอบของพวกเขาต่อคำถามนี้โดยเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นตัวแทนของพระบิดาบนสวรรค์และทรงพยายามเชื่อฟังพระประสงค์ของพระองค์ อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เราทำเช่นกัน)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่จะเข้าใจว่าในทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นตัวแทนอันสมบูรณ์แบบของพระบิดาในสวรรค์ของเรา

ยอห์น 5:31–47

พระเยซูทรงสอนถึงพยานมากมายที่เป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์

ให้นำถั่วเมล็ดเล็กๆ ที่ยังอยู่ในฝักมาที่ชั้นเรียน (ถั่วลันเตาฝักเล็กใช้ได้เช่นกัน) กำถั่วไว้ในมือของท่านเพื่อนักเรียนจะมองไม่เห็น อธิบายว่าท่านกำลังกำบางอย่างที่ตามนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน ขอให้นักเรียนยกมือถ้าพวกเขาเชื่อท่าน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งที่ไม่แน่ใจว่าจริงให้เลือกเพื่อนร่วมชั้นสองสามคนมาดูของสิ่งนั้น ให้นักเรียนดูสิ่งที่อยู่ในมือ และเชื้อเชิญให้พวกเขาบอกชั้นเรียนว่าท่านกำลังพูดความจริงอยู่หรือไม่

  • ความจริงที่มีผู้อ้างถึงจะฟังดูน่าเชื่อมากขึ้นอย่างไรหากมีพยานมากกว่าหนึ่งคน

ให้ชั้นเรียนดูถั่วในมือ และอธิบายว่าข้างในถั่วเป็นสิ่งที่ตามนุษย์ไม่เคยเห็นมาก่อน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 5:31 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสอะไรเกี่ยวกับพยานของพระองค์เองถึงสัมพันธภาพของพระองค์กับพระบิดาบนสวรรค์ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

ชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธ ชี้แจง ข้อ 31 และ 32 ว่า “ถ้าเราเป็นพยานให้แก่ตัวเราเอง พยานของเรานั้นก็จริง เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียว” (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 5:32–33) อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังสอนชาวยิวว่าพวกเขามีพยานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากของพระองค์

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้บนกระดาน ยอห์น 5:32–35; ยอห์น 5:36; ยอห์น 5:37–38; ยอห์น 5:39; ยอห์น 5:45–47 มอบหมายข้ออ้างอิงแต่ละข้อให้นักเรียนหนึ่งคนหรือมากกว่า ขอให้พวกเขาอ่านข้อเหล่านี้และมองหาพยานอื่นๆ ถึงความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ช่วยนักเรียนทำ รายการ ของพยานเหล่านี้โดยเชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนสิ่งที่พวกเขาพบไว้บนกระดานข้างข้ออ้างอิงที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา

อธิบายว่าแม้มีพยานมากมายเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แต่ผู้นำชาวยิวไม่เชื่อในความเป็นพระเจ้าของพระเยซู ชี้ให้เห็นใน ข้อ 39 ว่าพระเยซูตรัสถึงพระคัมภีร์เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เพราะท่านคิดว่าในนั้นมีชีวิตนิรันดร์”

  • พระเยซูทรงชี้ให้ชาวยิวเห็นความเชื่ออะไรที่ไม่ถูกต้อง (อธิบายว่าชาวยิวหลายคนในสมัยของพระเยซูเชื่อว่าเพียงการศึกษาพระคัมภีร์จะทำให้พวกเขาได้รับชีวิตนิรันดร์ พวกเขาพลาดที่จะเข้าใจว่าจุดประสงค์ของพระคัมภีร์คือชี้ทางให้พวกเขาไปหาพระเยซูคริสต์ พระองค์ตรัสว่า “เพราะท่านคิดว่าในนั้นมีชีวิตนิรันดร์ และพระคัมภีร์นั้นเองเป็นพยานให้กับเรา”)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 5:40 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ชาวยิวต้องทำเพื่อรับชีวิตนิรันดร์

  • ถึงแม้ชาวยิวศึกษาพระคัมภีร์ แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะทำอะไรซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีคุณสมบัติคู่ควรแก่การรับชีวิตนิรันดร์

  • ตามคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 39 และ 40 เราต้องทำอะไรเพื่อรับชีวิตนิรันดร์ (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้ โดยการมาหาพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราจะรับชีวิตนิรันดร์ได้ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เตือนนักเรียนว่าชีวิตนิรันดร์รวมถึงการเป็นเหมือนพระบิดาบนสวรรค์และการมีชีวิตตลอดกาลกับสมาชิกครอบครัวที่มีค่าควรของเราในที่ประทับของพระองค์

  • การมาหาพระเยซูคริสต์หมายความว่าอย่างไร (การมาหาพระคริสต์คือการใช้ศรัทธาในพระองค์ กลับใจจากบาปของเรา และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์)

  • เหตุใดการมาหาพระเยซูคริสต์จึงจำเป็นต่อการได้รับชีวิตนิรันดร์

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาวิธีที่พยานซึ่งเขียนไว้บนกระดานจะช่วยให้บางคนมาหาพระผู้ช่วยให้รอด

  • พยานเหล่านี้ของพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านมาหาพระองค์เมื่อใด

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อมาหาพระผู้ช่วยให้รอดอย่างสมบูรณ์มากขึ้นเพื่อว่าพวกเขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สอนใน ยอห์น 5

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 5:17–47 “พระบิดาของเรายังทรงทำงานอยู่เรื่อยๆ และเราก็ทำด้วย”

ตามที่กล่าวไว้โดยเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง พระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดต่อผู้นำชาวยิวดังที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 5:17–47 นั้น “เป็นคำเทศนาที่เข้าใจได้มากที่สุดในพระคัมภีร์ซึ่งเกี่ยวกับหัวข้อสำคัญเรื่องสัมพันธภาพระหว่างพระบิดานิรันดร์และพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 208)

ในถ้อยแถลงหลักคำสอนลงวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1916 ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า

“พระเยซูคริสต์ตรัสและปฏิบัติศาสนกิจในและผ่านพระนามของพระบิดา ตลอดจนในเรื่องฤทธานุภาพ สิทธิอำนาจ และความเป็นพระผู้เป็นเจ้า พระคำและการกระทำของพระองค์เป็นและยังคงเป็นพระคำและการกระทำของพระบิดา” (“The Father and the Son: A Doctrinal Exposition by the First Presidency and the Quorum of the Twelve Apostles,” Ensign, เม.ย. 2002, 17)

ยอห์น 5:29 การฟื้นคืนชีวิตของมนุษยชาติ

ขณะไตร่ตรอง ยอห์น 5:29 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและซิดนีย์ ริกดันได้รับนิมิตที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 76 นิมิตนี้ให้ความเข้าใจพวกท่านมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตและแผนแห่งความรอด (ดู คพ. 76:11–19)

ยอห์น 5:39 “ค้นดูในพระคัมภีร์ … พระคัมภีร์นั้นเองเป็นพยานให้เรา”

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ในท้ายที่สุดแล้ว จุดประสงค์หลักของพระคัมภีร์ทุกเล่มคือเติมจิตวิญญาณของเราด้วยศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและในพระบุตรของพระองค์ พระเยซูคริสต์—ศรัทธาว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่จริง ศรัทธาในแผนของพระบิดาสำหรับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของเรา ศรัทธาในการชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ซึ่งทำให้แผนแห่งความสุขดำเนินไปได้ ศรัทธาในการนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์มาใช้ดำเนินชีวิต และศรัทธาในการมารู้จัก ‘พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และรู้จักพระเยซูคริสต์ที่ [พระองค์ทรง] ใช้มา’ (ยอห์น 17:3)” (“พรจากพระคัมภีร์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 42)

พิมพ์