คลังค้นคว้า
บทนำกิจการของอัครทูต


บทนำกิจการของอัครทูต

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

กิจการของอัครทูตเป็นตัวเชื่อมระหว่างบันทึกของพระชนม์ชีพกับคำสอนของพระเยซูคริสต์ในกิตติคุณสี่เล่มและงานเขียนตลอดจนการทำงานของอัครสาวกของพระองค์ หนังสือ กิจการของอัครทูต แสดงให้เห็นวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์อย่างต่อเนื่องผ่านการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์กับคนเหล่านั้นที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิต พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยความจริงต่ออัครสาวก ผู้ที่จะนำและสอนศาสนจักรหลังจากนั้น อัครสาวกทำการอัศจรรย์ในพระนามของพระเยซูคริสต์เช่นกัน โดยผ่านการศึกษาหนังสือเล่มนี้ นักเรียนจะเรียนรู้ว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์เริ่มแพร่กระจายจากกรุงเยรูซาเล็มไป “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กิจการของอัครทูต 1:8) อย่างไร การศึกษาหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้นักเรียนมองเห็นปัญญาของการทำตามศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบันเช่นกัน โดยจะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขายืนเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์อย่างกล้าหาญ

ใครเขียนหนังสือนี้

ลูกาเขียนกิจการของอัครทูตเป็น “ส่วนที่สองของงานที่มีสองส่วน … ส่วนแรกเรียกว่าพระกิตติคุณในทัศนะของลูกา” (คู่มือพระคัมภีร์, “กิจการของอัครทูต,” scriptures.lds.org; ดู ลูกา 1:1–4; กิจการของอัครทูต 1:1ด้วย)

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

กิจการของอัครทูตเขียนหลังจากพระกิตติคุณของลูกา (ดู กิจการของอัครทูต 1:1) ซึ่งน่าจะเขียนในช่วงหลังของศตวรรษแรก ในคริสต์ศักราช เราไม่ทราบว่าหนังสือเล่มนี้เขียนที่ไหน

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

ลูกาเขียนหนังสือ กิจการของอัครทูตไปหาชายคนหนึ่งที่ชื่อเธโอฟิลัส (ดู กิจการของอัครทูต 1:1)

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

หนังสือกิจการของอัครทูตเล่าเรื่องการเติบโตและการเผยแพร่คริสต์ศาสนา โดยเริ่มในกรุงเยรูซาเล็ม จังหวัดที่เป็นเมืองหลวงของชาวยิวและสิ้นสุดที่กรุงโรม เมืองหลวงที่ยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ เหตุการณ์ที่บรรยายในกิจการของอัครทูตเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 30 ปี (ประมาณ ค.ศ. 30–62) และมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติศาสนกิจของเปโตร (ดู กิจการของอัครทูต 1–12) และเปาโลเป็นหลัก (ดู กิจการของอัครทูต 13–28) หากไม่มีหนังสือกิจการของอัครทูต ความรู้ของเราเกี่ยวกับประวัติของศาสนจักรในยุคแรกจะจำกัดอยู่ที่ข้อมูลเล็กน้อยซึ่งมีอยู่ในสาส์นฉบับต่างๆ ของพันธสัญญาใหม่ นอกจากนี้ กิจการของอัครทูตให้บริบททางประวัติศาสตร์ที่มีค่าสำหรับสาส์นฉบับต่างๆ ของเปาโล

สิ่งสำคัญต่อการเติบโตของศาสนจักรในสมัยเริ่มแรกได้แก่การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเปาโล (กิจการของอัครทูต 9) และงานเผยแผ่ที่ตามมาของเขา นิมิตที่เปโตรได้รับเกี่ยวกับการยอมรับคนต่างชาติที่ไม่ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเข้าสู่ศาสนายิวมาก่อนเข้ามาสู่ศาสนจักร (กิจการของอัครทูต 10:9–16, 34–35) และหลักคำสอนซึ่งสอนในการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็ม (กิจการของอัครทูต 15)

ดังที่บันทึกใน ลูกา 24:49 พระผู้ช่วยให้รอดทรงแนะนำอัครสาวกว่าพวกเขาจะเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขาก็ต่อเมื่อพวกเขา “สวมด้วยฤทธิ์เดชที่มาจากเบื้องบน” แล้วเท่านั้น กิจการของอัครทูตบันทึกการประสาทพลังอำนาจนี้โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์และบรรยายผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง โดยเริ่มกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของผู้คนหลายพันคนในวันเพ็นเทคอสต์ (ดู กิจการของอัครทูต 2) ตลอดทั้งหนังสือกิจการของอัครทูต ลูกาเน้นย้ำการทำงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์กับบุคคลและที่ประชุม วลี “สวมด้วยฤทธิ์เดชที่มาจากเบื้องบน” น่าจะมีความหมายด้วยว่า “ได้รับความรู้บางอย่าง พลังอำนาจ และพรพิเศษ โดยปรกติประทานให้เฉพาะในพระวิหารของพระเจ้าเท่านั้น” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–1973], 1:859)

สรุปย่อ

กิจการของอัครทูต 1–2 พระเยซูคริสต์ทรงปฏิบัติต่อสานุศิษย์ของพระองค์เป็นเวลา 40 วันหลังจากพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์และจากนั้นจึงเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ โดยการดลใจ อัครสาวกเรียกมัทธีอัสมาแทนตำแหน่งในโควรัมอัครสาวกสิบสองที่ว่างลง พระวิญญาณบริสุทธิ์เทลงมาในวันเพ็นเทคอสต์ เปโตรเป็นพยานอย่างกล้าหาญถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ และมีผู้คนประมาณสามพันคนที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส

กิจการของอัครทูต 3–8 เปโตรและยอห์นรักษาชายที่เป็นง่อยแต่กำเนิด เปโตรและยอห์นถูกจับกุมเนื่องจากสั่งสอนและรักษาในพระนามของพระเยซูคริสต์และได้รับการปลดปล่อยออกจากคุก อัครสาวกเรียกชายเจ็ดคนให้ช่วยพวกเขาปฏิบัติศาสนกิจ สเทเฟน หนึ่งในชายเหล่านี้เป็นพยานต่อหน้าสภายิว และสมาชิกสภาประหารชีวิตเขา ฟีลิปสั่งสอนทั่วแคว้นสะมาเรีย

กิจการของอัครทูต 9–12 เซาโลเปลี่ยนใจเลื่อมใสและเริ่มการปฏิบัติศาสนกิจของเขา โดยผ่านนิมิต เปโตรเรียนรู้ว่าควรสอนพระกิตติคุณแก่คนต่างชาติ เฮโรด อากริปปา ที่หนึ่งสั่งประหารชีวิตอัครสาวกยากอบ (น้องชายของยอห์น) และจับเปโตรขังคุก

กิจการของอัครทูต 13–15 เซาโลและบารนาบัสได้รับเรียกเป็นผู้สอนศาสนา พวกเขาเผชิญการต่อต้านจากชาวยิวและได้รับการยอมรับจากคนต่างชาติบางคน ผู้นำศาสนจักรประชุมกันในกรุงเยรูซาเล็มและตัดสินว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัต (หรือถือปฏิบัติกฎของโมเสสต่อไป) เมื่อพวกเขาเข้าร่วมศาสนจักร เปาโล (ชื่อของเซาโลในตอนนี้) ออกเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สองพร้อมกับสิลาส

กิจการของอัครทูต 16–20 เปาโลและสิลาสเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ศาสนจักรหลายแห่งที่จัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ บนเนินเขามาร์สในกรุงเอเธนส์ เปาโลสั่งสอนว่า “เราเป็นเชื้อสายของพระเจ้า” (กิจการของอัครทูต 17:29) เปาโลสิ้นสุดงานเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สองและออกไปทำงานเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สามทั่วเอเชียไมเนอร์ เปาโลตั้งใจกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม

กิจการของอัครทูต 21–28 ในกรุงเยรูซาเล็ม เปาโลถูกจับและยังคงเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ต่อไป พระเจ้าทรงปรากฏต่อเปาโลอีกครั้ง ชาวยิวหลายคนวางแผนสังหารเปาโล ในซีซารียา เขาเป็นพยานต่อหน้าเฟลิกซ์ เฟสทัส และกษัตริย์อากริปปา เรือที่เปาโลโดยสารอับปางระหว่างเดินทางไปกรุงโรม เปาโลสั่งสอนพระกิตติคุณขณะถูกกักบริเวณในบ้านที่กรุงโรม

พิมพ์