คลังค้นคว้า
บทนำสาส์นฉบับที่สองที่เปาโลเขียนถึงทิโมธี


บทนำสาส์นฉบับที่สองที่เปาโลเขียนถึงทิโมธี

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

สาส์นฉบับที่สองที่เปาโลเขียนถึงทิโมธีเน้นย้ำพลังอำนาจที่มาจากการมีประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ (ดู 2 ทิโมธี 1:7–8) สาส์นฉบับนี้มีการพยากรณ์ถึง “เวลาที่น่ากลัว” ซึ่งจะมีอยู่ในยุคของเปาโลและทิโมธีเช่นเดียวกันกับในยุคสุดท้าย (ดู 2 ทิโมธี 3:1–7) เพื่อช่วยทิโมธีกับความท้าทายที่เขาเผชิญอยู่ เปาโลกระตุ้นให้เขาวางใจในพระคัมภีร์และผู้นำศาสนจักร (ดู 2 ทิโมธี 3:14–17) และพึ่งพาหลักคำสอนที่แท้จริง (ดู 2 ทิโมธี 4:2) โดยการศึกษาหนังสือนี้ นักเรียนจะเรียนรู้หลักคำสอนและหลักธรรมที่จะช่วยพวกเขาดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์เมื่อพวกเขาประสบกับเวลาที่น่ากลัวในยุคสุดท้าย

ใครเขียนหนังสือนี้

เปาโลเขียน 2 ทิโมธี (ดู 2 ทิโมธี 1:1)

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

สาส์นฉบับที่สองที่เปาโลเขียนถึงทิโมธีน่าจะเขียนในช่วงระหว่าง ค.ศ. 64 และ 65 (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล,” scriptures.lds.org) เปาโลเขียนสาส์นฉบับนี้ระหว่างถูกกักขังในกรุงโรมเป็นครั้งที่สองไม่นานก่อนถูกสังหารเป็นมรณสักขี (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล”)

ระหว่างการคุมขังเปาโลถูกล่ามโซ่ (ดู 2 ทิโมธี 1:16; 2:9) เขาน่าจะอยู่ในห้องขังหรือคุกใต้ดินและเปลือยเปล่า (ดู 2 ทิโมธี 4:13, 21) และเพื่อนของเขาพยายามเสาะหาตัวเขาจนพบ (ดู 2 ทิโมธี 1:17) มีเพียงลูกาเท่านั้นที่มาเยี่ยมเขาเป็นประจำ (ดู 2 ทิโมธี 4:11) และเปาโลคาดว่าชีวิตของเขากำลังจะถึงจุดจบ (ดู 2 ทิโมธี 4:6–8)

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

ในจดหมายฉบับนี้ เปาโลให้กำลังใจทิโมธี ช่วยให้เขามีแรงใจที่จะดำเนินต่อไปหลังมรณกรรมของเปาโลซึ่งกำลังจะมาถึง เปาโลรู้ว่าเขามีเวลาเหลืออยู่น้อยนัก และเขาปรารถนาจะเห็นทิโมธี คนที่เปาโลเรียกว่า “บุตรที่รักของข้าพเจ้า” (2 ทิโมธี 1:2)

ในช่วงท้ายของสาส์นฉบับนี้ เปาโลขอให้ทิโมธีและมาระโกมาเยี่ยมและนำของสองสามอย่างที่เขาทิ้งไว้มาให้ (ดู 2 ทิโมธี 4:9–13) แม้ว่าจดหมายของเปาโลจะเขียนถึงทิโมธีโดยเฉพาะ แต่คำแนะนำในจดหมายสามารถประยุกต์ใช้กับคนที่อยู่ใน “วาระสุดท้าย” (2 ทิโมธี 3:1) เนื่องจากเปาโลสอนถึงความท้าทายและการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยุคของเราเช่นเดียวกันกับยุคของเขา

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

จดหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในบรรดาสาส์นของศาสนาจารย์ ร่วมกับ 1 ทิโมธี และทิตัส และ “ประกอบด้วยถ้อยคำสุดท้ายของอัครสาวกและแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและความวางใจอย่างน่าอัศจรรย์ขณะที่ท่านเผชิญความตาย” (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล”) เมื่อเรียงตามลำดับเหตุการณ์แล้ว 2 ทิโมธีดูเหมือนจะเป็นจดหมายฉบับสุดท้ายในพันธสัญญาใหม่ (ดู 2 ทิโมธี 4:6)

จดหมายฉบับนี้สะท้อนให้เห็นความคิดของเปาโลเกี่ยวกับพรและความยากลำบากในการรับใช้เป็น “ผู้ประกาศ เป็นอัครทูต และเป็นอาจารย์” (2 ทิโมธี 1:11) เปาโลประกาศว่า “ข้าพเจ้าได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ข้าพเจ้าได้วิ่งแข่งจนครบถ้วน ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว ตั้งแต่นี้ไปมงกุฎแห่งความชอบธรรมก็จะเป็นของข้าพเจ้า” (2 ทิโมธี 4:7–8) เพื่อระบุว่าเขาได้รับการยืนยันส่วนตัวว่าเขาจะได้รับชีวิตนิรันดร์ ในฐานะบุคคลหนึ่งที่ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อพระเยซูคริสต์มานานกว่า 30 ปี เปาโลอยู่ในฐานะที่ดีเยี่ยมในการแนะนำทิโมธีเกี่ยวกับการรับใช้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของผู้อื่น (ดู 2 ทิโมธี 2:15–17, 22–26; 4:1–2, 5)

สรุปย่อ

2 ทิโมธี 1 เปาโลพูดถึงของประทานและพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้รับผ่านการแต่งตั้งฐานะปุโรหิต เขาสอนว่า “ใจที่ขลาดกลัว” (2 ทิโมธี 1:7) ไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้าและเราไม่ควรอับอายประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ของเรา เปาโลเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเรียกให้เขาสั่งสอนพระกิตติคุณ (ดู 2 ทิโมธี 1:11)

2 ทิโมธี 2 เปาโลใช้จินตภาพของทหารที่ดี นักกีฬาที่ประสบชัยชนะ และชาวนาที่ขยันขันแข็งเพื่อแสดงให้เห็นความจำเป็นที่ต้องอดทนต่อความทุกข์ยากเพื่อรับรัศมีภาพนิรันดร์ เขาเปรียบเทียบผู้สอนที่แท้จริงและผู้สอนปลอม ภาชนะที่มีเกียรติและไม่มีเกียรติ เขาเตือนทิโมธีให้หลีกเลี่ยงการทะเลาะกันและให้สอนคนที่จำเป็นต้องกลับใจด้วยความอดทน

2 ทิโมธี 3–4 เปาโลบรรยายสภาพความชั่วร้ายในวาระสุดท้ายและกระตุ้นทิโมธีให้ใช้พระคัมภีร์ในบทบาทของเขาในฐานะผู้นำฐานะปุโรหิต เขาเขียนถึงมรณกรรมของเขาที่กำลังจะมาถึงและประกาศว่า “ข้าพเจ้าได้รักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทิโมธี 4:7) เปาโลเป็นพยานว่าพระเจ้าจะทรงนำเขาไปสู่ “อาณาจักรสวรรค์” (2 ทิโมธี 4:18)

พิมพ์