คลังค้นคว้า
บทที่ 134: ฟีเลโมน


บทที่ 134

ฟีเลโมน

คำนำ

เปาโลชื่นชมฟีเลโมนเพราะศรัทธาของเขาและความรักที่เขามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและเพื่อนสมาชิกศาสนจักร เปาโลแนะนำฟีเลโมนให้รับโอเนสิมัส ทาสที่หนีไปของเขากลับมาเป็นพี่น้องในพระกิตติคุณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ฟีเลโมน 1

เปาโลแนะนำฟีเลโมนให้รับโอเนสิมัส ทาสที่หนีไปของเขากลับมาเป็นพี่น้องในพระกิตติคุณ

ขอให้นักเรียนนึกภาพเยาวชนในวอร์ดหรือสาขาของพวกเขา ชี้ให้เห็นว่าในฐานะสมาชิกของศาสนจักรเรามีโอกาสปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ที่แตกต่างจากเรา

  • เยาวชนในวอร์ดหรือสาขาของท่านแตกต่างกันอย่างไร (เตือนให้นักเรียนพูดถึงกันและกันด้วยความเคารพ)

ชี้ให้เห็นว่าในฐานะสมาชิกของศาสนจักรเรามักจะเจอกับผู้คนใหม่ๆ ขอให้นักเรียนจินตนาการว่ามีคนใหม่มาเข้าร่วมกับวอร์ดหรือสาขาของพวกเขา

  • ความท้าทายทางสังคมใดที่บางคนอาจประสบเมื่อเข้าร่วมกับศาสนจักรหรือย้ายไปวอร์ดหรือสาขาใหม่ (หากมีนักเรียนคนใดเข้าร่วมกับศาสนจักรหรือย้ายเข้าไปในวอร์ดหรือสาขาใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื้อเชิญให้พวกเขาบรรยายความท้าทายทางสังคมที่พวกเขาประสบ)

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้

  • ท่านปฏิบัติกับสมาชิกศาสนจักรที่มีพฤติกรรมแตกต่าง มีความสนใจแตกต่าง หรืออยู่ในกลุ่มสังคมที่ต่างจากท่านอย่างไร

  • ท่านปฏิบัติกับสมาชิกใหม่ในวอร์ดหรือสาขาท่านอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะศึกษาสาส์นที่เปาโลเขียนถึงฟีเลโมนที่จะช่วยนำพวกเขาในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนสมาชิกศาสนจักร

อธิบายว่าเปาโลอยู่ในคุกเมื่อเขาเขียนถึงฟีเลโมน คนที่น่าจะเป็นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่ศาสนจักรชาวกรีก สรุป ฟีเลโมน 1:1–3 โดยอธิบายว่าเปาโลเริ่มต้นสาส์นของเขาโดยทักทายฟีเลโมนและคนอื่นๆ รวมถึงที่ประชุมซึ่งพบกันในบ้านของฟีเลโมน

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีเลโมน 1:4–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่เปาโลชื่นชมฟีเลโมน อธิบายว่าในบริบทนี้ คำว่า มีส่วนร่วม หมายถึงการเข้ามามีส่วนร่วมและผูกมิตร และวลี “จะเกิดผล” หมายถึงมีประสิทธิผล

  • เหตุใดเปาโลจึงชื่นชมฟีเลโมน (เนื่องจากศรัทธาของฟีเลโมนและความรักที่เขามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดและเพื่อนสมาชิกในศาสนจักร ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่าเมื่อเปาโลกล่าวว่า “จิตใจของพวกธรรมิกชนแช่มชื่นขึ้น” [ข้อ 7] เขาหมายความว่าฟีเลโมนทำให้จิตใจของพวกเขาเบิกบาน)

เชื้อเชิญนักเรียนอ่านออกเสียงข้อมูลต่อไปนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เปาโลพูดถึงในสาส์นฉบับนี้

ฟีเลโมนมีคนรับใช้ หรือทาส ชื่อว่าโอเนสิมัสที่หนีไปและอาจขโมยบางอย่างไปจากฟีเลโมน (ดู ฟีเลโมน 1:18) ระบบทาสไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายในวัฒนธรรมชาวคริสต์ยิวสมัยพันธสัญญาใหม่และได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายโรมัน การลงโทษทาสที่หลบหนีได้แก่การโบยอย่างหนัก ตีตราบนหน้าผาก หรือแม้แต่ถูกประหาร หลังจากหนีไป โอเนสิมัสได้พบกับอัครสาวกเปาโล

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีเลโมน 1:8–12 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลขอร้อง หรือวิงวอนให้ฟีเลโมนทำ หากจำเป็น ให้อธิบายว่าใน ข้อ 8 คำว่า สั่ง หมายถึงออกคำสั่ง ที่ควรทำ หมายถึงถูกต้องหรือเหมาะสม

  • เปาโลขอให้ฟีเลโมนทำอะไร

  • หากท่านอยู่ในสถานการณ์ของฟีเลโมน ท่านจะคิดหรือรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับคำร้องขอจากเปาโล

ชี้ไปที่วลี “ผู้ซึ่งได้มาเป็นบุตรระหว่างที่ข้าพเจ้าถูกคุมขังอยู่” (ข้อ 10) อธิบายว่าความหมายหนึ่งของคำกริยา ได้มาเป็นบุตร คือการให้ชีวิตแก่บางคน

  • ท่านคิดว่าเปาโลหมายความว่าอย่างไรในวลีนี้ (ขณะที่เปาโลอยู่ในที่คุมขัง เขาช่วยให้โอเนสิมัสตั้งต้นชีวิตใหม่เป็นผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์)

สรุป ฟีเลโมน 1:13–14 โดยอธิบายว่าเปาโลต้องการให้โอเนสิมัสอยู่กับเขาเพื่อว่าโอเนสิมัสจะช่วยเขา แต่เปาโลไม่ต้องการทำเช่นนั้นโดยปราศจากความเห็นชอบจากฟีเลโมน

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีเลโมน 1:15–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลกระตุ้นให้ฟีเลโมนมองความสัมพันธ์ของเขากับโอเนสิมัสผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 16 ฟีเลโมนจะมองโอเนสิมัสอย่างไร

  • เหตุใดการมองโอเนสิมัสว่าเป็น “พี่น้องที่รัก” เป็นเรื่องยากสำหรับฟีเลโมน (คำตอบที่เป็นไปได้อาจได้แก่พวกเขาอยู่ในวรรณะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่างกันและโอเนสิมัสอาจทำผิดต่อฟีเลโมนตามประเพณีในสมัยนั้น)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 16 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อกันเนื่องจากพระกิตติคุณ (ช่วยนักเรียนระบุความจริงทำนองนี้ เราเป็นพี่น้องกันในพระกิตติคุณ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • อะไรทำให้เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน

หากจำเป็น ให้อธิบายว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ (ดู ฮีบรู 12:9) จึงเป็นพี่น้องกันทั้งหมด นอกจากนี้ โดยผ่านศาสนพิธีบัพติศมาและการยืนยัน การใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างต่อเนื่อง การเชื่อฟัง และการกลับใจอย่างต่อเนื่อง เราเกิดใหม่ทางวิญญาณ เราเป็นบุตรและธิดาของพระเยซูคริสต์ในทางใด (ดู โมไซยาห์ 5:7) ดังนั้นจึงเป็นพี่น้องในครอบครัวพันธสัญญาของพระองค์ ไม่ว่าเราจะมีเพศใด อายุเท่าใด มีพื้นเพ หรือสถานะทางสังคมอย่างไร เราเท่าเทียมกันในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าความจริงที่พวกเขาเพิ่งระบุสามารถมีอิทธิพลต่อวิธีที่เราปฏิบัติต่อกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติต่อสมาชิกใหม่ของศาสนจักร

ภาพ
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“ข้าพเจ้าได้รับการหนุนใจเสมอโดยการอ่านจดหมายสั้นๆ ที่เปาโลเขียนถึงฟีเลโมน จดหมายฉบับนี้สอนเราถึงหลักธรรมและวิญญาณเกี่ยวกับความเป็นพี่น้องในพระกิตติคุณ …

“นับเป็นแรงบันดาลใจและปีติที่ได้เห็นวิญญาณเดียวกันนี้เกิดผลทั่วทั้งศาสนจักร ที่ได้เห็นวิสุทธิชนยอมรับและช่วยสนับสนุนและสวดอ้อนวอนให้คนที่เข้ามาสู่อาณาจักรของพระเจ้าของเราทุกวัน ขอให้เป็นมิตรกันต่อไป—และกับอีกหลายๆ คนที่จะเข้ามาสู่ศาสนจักร ต้อนรับพวกเขา รักและผูกมิตรกับพวกเขา

“เป็นเรื่องน่าเศร้า บางครั้งมีเหตุการณ์ที่บางคนในบรรดาพวกเราไม่ทำเช่นนั้น เรื่องราวที่บางคนปฏิเสธผู้ที่พระเจ้าทรงรับโดยการบัพติศมา หากพระเจ้า ‘ไม่ทรงละอายที่จะเรียกเขาเหล่านั้นว่าพี่น้อง’ (ฮีบรู 2:11) ดังนั้น ขอให้เรา … จับมือพี่น้องของเราและยกพวกเขาเข้ามาสู่วงล้อมของเราด้วยความห่วงใยและความรัก” (Always a Convert Church: Some Lessons to Learn and Apply This Year, Sept. 1975, 4)

  • ตามที่ประธานคิมบัลล์กล่าวไว้ พี่น้องในพระกิตติคุณควรปฏิบัติต่อกันอย่างไร

เตือนนักเรียนถึงคำถามที่พวกเขาได้รับการเชื้อเชิญให้ไตร่ตรองก่อนหน้านี้ในชั้นเรียนเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อสมาชิกศาสนจักรที่แตกต่างจากตนเองหรือคนที่มาใหม่ในวอร์ดหรือสาขาของเขา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่จะเข้าใจว่าเราเป็นพี่น้องกันในพระกิตติคุณ

  • ท่านเคยเห็นบางคนปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนเป็นพี่น้องในพระกิตติคุณเมื่อใด

เพื่อเตรียมให้นักเรียนระบุความจริงเพิ่มเติมที่มีอยู่ในสาส์นของเปาโลถึงฟีเลโมน ขอให้พวกเขานึกถึงเวลาที่มีบางคนทำให้พวกเขาไม่พอใจหรือทำผิดต่อพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีเลโมน 1:17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้ฟีเลโมนทำ

  • เปาโลแนะนำให้ฟีเลโมนทำอะไร

อธิบายว่าเปาโลกำลังขอให้ฟีเลโมนรับโอเนสิมัสในแบบเดียวกันกับที่ฟีเลโมนจะรับเปาโล ในการทำตามคำแนะนำนี้ ฟีเลโมนจะยกเลิกการลงโทษที่ร้ายแรงซึ่งโดยปกติแล้วทาสที่หนีไปจะได้รับ

  • ดังปรากฏอยู่ในคำแนะนำที่เปาโลให้แก่ฟีเลโมน ความรับผิดชอบอะไรที่สานุศิษย์ทุกคนของพระเยซูคริสต์มีต่อคนที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจหรือทำผิดต่อพวกเขา (ช่วยนักเรียนระบุความจริงต่อไปนี้ สานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ให้ความเมตตาและให้อภัยแก่ผู้อื่น เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดบางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้ความเมตตาและให้อภัยผู้อื่น

ชี้ให้เห็นว่าการให้ความเมตตาและให้อภัยแก่คนที่ทำผิดต่อเราไม่จำเป็นต้องหมายความว่ายอมให้พวกเขาหลีกเลี่ยงผลจากการกระทำของพวกเขา และไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ความไว้วางใจของเราในตัวพวกเขากลับคืนมาในทันที แต่หมายความว่าเราแสดงความเห็นใจต่อผู้อื่นและทิ้งความโกรธแค้น โมโห หรือเจ็บปวดที่เราอาจเก็บไว้ เมื่อเหมาะสม เราอาจยอมให้คนที่เคยทำผิดต่อเราได้รับความวางใจจากเราอีกครั้ง แม้ว่าการให้อภัยผู้อื่นอาจเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์เพื่อทูลขอความช่วยเหลือ และพระองค์จะทรงช่วยเรา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีเลโมน 1:18–21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลเสนอว่าจะทำแทนโอเนสิมัส

  • เปาโลเสนอว่าจะทำอะไรแทนโอเนสิมัส (ชดใช้ฟีเลโมนด้วยเงินที่ฟีเลโมนสูญเสียอันเป็นผลมาจากการกระทำของโอเนสิมัส)

  • ความพยายามของเปาโลเพื่อโอเนสิมัสเหมือนสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราอย่างไร (ดังที่เปาโลวิงวอนแทนโอเนสิมัส พระเยซูคริสต์ทรงวิงวอนแทนเราและทรงแก้ต่างให้เราต่อพระพักตร์พระบิดาบนสวรรค์ [ดู คพ. 45:3–5] พระเยซูคริสต์ทรงชดใช้หนี้ทางวิญญาณที่เราเป็นหนี้เพราะบาปของเรา)

  • การจดจำสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงทำเพื่อเราช่วยให้เรามีเมตตาและให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามหรือสี่คน (หรือทำกิจกรรมนี้ให้เสร็จสมบูรณ์เป็นชั้นเรียนหากท่านไม่มีนักเรียนพอที่จะแบ่งเป็นกลุ่ม) แจกสำเนาคำแนะนำเป็น เอกสารแจก ต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม

ภาพ
เอกสารแจก

ฟีเลโมน 1

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 134

สนทนาคำถามต่อไปนี้ด้วยกันในกลุ่มของท่าน ในคำตอบของท่าน ให้แน่ใจว่าจะไม่แบ่งปันเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป

  • เหมือนกับฟีเลโมน ท่านเคยจำเป็นต้องให้ความเมตตาและให้อภัยผู้อื่นเมื่อใด ท่านสามารถให้ความเมตตาและให้อภัยบุคคลนี้ได้อย่างไร ท่านได้รับพรจากการทำเช่นนั้นอย่างไร

  • เหมือนกับโอเนสิมัส ท่านเคยหวังว่าจะได้รับความเมตตาและการให้อภัยจากคนอื่นเมื่อใด ท่านแสวงหาความเมตตาและการให้อภัยจากบุคคลนี้อย่างไร ท่านได้รับพรจากการทำเช่นนั้นอย่างไร

  • ท่านเคยเป็นสื่อกลางระหว่างบางคนที่กำลังแสวงหาการให้อภัยและคนที่จำเป็นต้องให้อภัยและความเมตตาเหมือนเปาโลเมื่อใด ท่านสามารถช่วยให้ผู้ที่ทำผิดได้รับการให้อภัยและผู้ที่ถูกทำร้ายให้อภัยผู้ที่ทำผิดอย่างไร

หลังจากนักเรียนสนทนาคำถามเหล่านี้ในกลุ่มของพวกเขาแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มแบ่งปันกับชั้นเรียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของเขาในสถานการณ์เหล่านี้หรือประสบการณ์ของสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม (โดยการยินยอมของสมาชิกในกลุ่ม) ( ทางเลือก อีกวิธีหนึ่งคือจัดเตรียมเอกสารคำถามให้นักเรียนแต่ละคนหรือเขียนคำถามบนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามหนึ่งข้อในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนผู้ที่เต็มใจทำเช่นนั้นให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อหยิบยื่นความเมตตาและให้อภัยผู้อื่น กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้สิ่งที่พวกเขาเขียน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ฟีเลโมน 1 ระบบทาส

ในการเขียนถึงฟีเลโมนเพื่อให้รับโอเนสิมัส ทาสที่หนีไปกลับคืน เปาโลไม่ได้ให้ความเห็นโดยตรงเรื่องระบบทาส ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมที่พวกเขามีชีวิตอยู่ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าตรัสในการเปิดเผยสมัยใหม่ว่า “จึงไม่ถูกต้องที่มนุษย์คนใดจะอยู่ในความเป็นทาสแก่กัน” (คพ. 101:79)

คำร้องขอของเปาโลให้ฟีเลโมนรับโอเนสิมัส “ไม่ได้เป็นทาสอีกต่อไป” (ฟีเลโมน 1:16) อาจหมายความว่าเปาโลหวังว่าฟีเลโมนจะปล่อยโอเนสิมัสให้เป็นอิสระและจากนั้นส่งเขากลับไปเพื่อช่วยเปาโลปฏิบัติศาสนกิจ (ดู ข้อ 13–14)

ฟีเลโมน 1:7, 12, 20 “จิตใจของพวกธรรมิกชนแช่มชื่นขึ้นเนื่องจากท่าน”

คำในภาษากรีกที่แปลว่า จิตใจ หมายถึงส่วนภายในของคนๆ หนึ่ง คำนี้หมายถึงจุดศูนย์กลางของความรู้สึก ความรัก และความสงสารของคนๆ หนึ่ง บางครั้งใช้คำที่คล้ายกันว่า ใจ

ฟีเลโมน 1:11 “ไม่เป็นประโยชน์” และ “เป็นประโยชน์”

ชื่อของโอเนสิมัสแปลว่าใช้ได้หรือ “เป็นประโยชน์” (ข้อ 11) (ดู Arthur A. Rupprecht, “Philemon,” in The Expositor’s Bible Commentary, ed. Frank E. Gaebelein, 12 vols. [1976–1992], 11:461) โอเนสิมัสอาจหมายถึง “ไม่เป็นประโยชน์” (ข้อ 11) ต่อฟีเลโมนเนื่องจากโอเนสิมัสหลบหนีไปและไม่ได้ทำหน้าที่ของเขาหรือเพราะเขาอาจขโมยบางสิ่งจากฟีเลโมนเมื่อเขาหนีไป (ดู ข้อ 18) อย่างไรก็ตาม เปาโลบอกว่านับตั้งแต่นั้นโอเนสิมัสกลาย “เป็นประโยชน์” ต่อทั้งฟีเลโมนและเปาโล (ข้อ 11) ในกรณีของเปาโล โอเนสิมัสอาจเป็นประโยชน์เนื่องจากเขาจะช่วยเปาโลได้ขณะที่เปาโลอยู่ในที่คุมขัง (ดู ข้อ 13)

พิมพ์