คลังค้นคว้า
บทที่ 143: ยากอบ 4–5


บทที่ 143

ยากอบ 4–5

คำนำ

ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนต้านทานสิ่งชั่วร้าย ให้เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า และยืนหยัดอดทนต่อความทุกข์ขณะรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด เขาสอนว่าผู้ป่วยควร “เชิญบรรดาผู้ปกครองของคริสตจักรมา” (ยากอบ 5:14) ปฏิบัติพวกเขา ยากอบสอนถึงความสำคัญของการช่วยให้คนบาปกลับใจด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยากอบ 4

ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าและต่อต้านสิ่งชั่วร้าย

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่พวกเขารู้สึกใกล้ชิด

  • ท่านนึกถึงใคร เหตุใดท่านจึงรู้สึกใกล้ชิดกับคนนี้

  • ท่านใกล้ชิดกับคนนี้ได้อย่างไร

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าเพียงใด

  • ชีวิตของเราจะได้รับพรโดยการมีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

ขณะที่นักเรียนศึกษา ยากอบ 4 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงที่จะช่วยพวกเขาเสริมสร้างสัมพันธภาพกับพระผู้เป็นเจ้า

สรุป ยากอบ 4:1–3 โดยอธิบายว่ายากอบตำหนิวิสุทธิชนที่ยอมแพ้ต่อความปรารถนาทางโลก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 4:4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่ายากอบเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับมิตรภาพประเภทใด อธิบายว่า ศัตรู หมายถึงเป็นปฏิปักษ์หรือไม่เป็นมิตร

  • ยากอบเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับมิตรภาพประเภทใด

  • ท่านคิดว่าการ “เป็นมิตรกับโลก” หมายความว่าอย่างไร (หากจำเป็น อธิบายว่าคำแนะนำของยากอบใน ข้อ 4 ไม่ได้หมายความว่าเราควรหลีกเลี่ยงการเกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาสนจักร แต่เราควรหลีกเลี่ยงการยอมรับคำสอนผิดๆ และความปรารถนา มาตรฐาน ตลอดจนการปฏิบัติของโลกที่ไม่ชอบธรรม)

  • ตามที่ยากอบกล่าวไว้ เกิดอะไรขึ้นกับคนที่เป็นมิตรกับโลก

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยากอบ 4:6–8 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนทำ

  • ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไร

  • การยอมตนต่อพระผู้เป็นเจ้าสามารถช่วยเราต่อต้านความชั่วร้ายอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 8 เราต้องทำอะไรหากเราต้องการใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะเสด็จเข้าใกล้เรา)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจวิธีหนึ่งซึ่งเราจะเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า ชี้ให้เห็นคำแนะนำของเปาโล “จงชำระมือให้สะอาด” และ “จงชำระใจให้บริสุทธิ์” (ยากอบ 4:8) อธิบายว่าดังที่ใช้ในพระคัมภีร์ มือเป็นตัวแทนการกระทำของเราและใจสามารถแทนความปรารถนาของเรา

  • ท่านคิดว่าการมีมือที่สะอาดและใจที่บริสุทธิ์จะช่วยให้เราเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 4:9–12, 17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมที่ยากอบให้กับวิสุทธิชนเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า อธิบายว่าวลี “ให้เสียงหัวเราะของพวกท่านกลายเป็นความโศกเศร้า” (ข้อ 9) หมายถึงการมีความเสียใจต่อบาปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

  • ยากอบให้คำแนะนำอะไรเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้บางคนเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 17 ยากอบสอนว่าบาปคืออะไร (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นความดีที่ต้องทำ แต่เลือกที่จะไม่ทำ เราทำบาป)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการที่รู้ว่าสิ่งใดเป็นความดีที่เราควรทำแต่เลือกที่จะไม่ทำนั้นเป็นบาป

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ ซึ่งรับใช้ในฝ่ายประธานสูงสุด

ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์

“ข้าพเจ้าวิตกว่าบาปที่ใหญ่หลวงของเราจะเป็นบาปแห่งการละเลย นี่คือบางข้อที่เป็นข้อสำคัญแห่งธรรมบัญญัติที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัส เราไม่ควรละเลยโดยไม่ทำ [ดู มัทธิว 23:23] สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรคิดคำนึง ไม่ลืมทำ และรู้สึกผิดเมื่อละเลย

“สมัยข้าพเจ้ายังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ที่ฟาร์มในช่วงฤดูร้อน ข้าพเจ้าจำได้ว่าคุณยายของข้าพเจ้าแมรี ฟินลินสัน ทำกับข้าวแสนอร่อยบนเตาที่ใช้ฟืน เมื่อฟืนในลังเก็บฟืนข้างเตาไฟหมดลง คุณยายจะหิ้วถังออกไปเงียบๆ เพื่อขนฟืนที่กองอยู่ข้างนอกจนเต็มถัง และหิ้วถังซึ่งหนักอึ้งกลับเข้ามาในบ้าน ข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไรเลยเพราะใส่ใจอยู่กับการสนทนาในครัว ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่นั่นปล่อยให้คุณยายที่ข้าพเจ้ารักขนฟืนไปใส่ลังในครัว ข้าพเจ้ารู้สึกละอายและเสียใจต่อการละเลยสิ่งนี้ตลอดชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องขอให้เธอยกโทษให้” (“ข้อสำคัญแห่งธรรมบัญญัติ: ความยุติธรรม ความเมตตา และความเชื่อ,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 70)

  • อะไรคือการทำดีที่ประธานเฟาสท์ละเลยไม่ได้ทำสมัยท่านยังเด็ก ท่านรู้สึกอย่างไรอันเป็นผลจากการกระทำนั้น

  • อะไรเป็นตัวอย่างของบาปแห่งการละเลยที่จะกีดกั้นเราจากการเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า

  • อะไรสามารถกีดกั้นเราจากการทำดีที่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สอนเราให้ทำ

  • ท่านเคยเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้าโดยการทำดีที่ท่านได้รับการสอนให้ทำเมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น กระตุ้นให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนทุกครั้งที่ได้รับ

ยากอบ 5

ยากอบสอนวิสุทธิชนให้ทนต่อความทุกข์ด้วยความอดทนและแนะนำให้คนป่วยเรียกหาผู้นำ

สรุป ยากอบ 5:1–6 โดยอธิบายว่ายากอบกล่าวโทษคนมั่งมีที่ใช้ความมั่งคั่งของพวกเขาอย่างไร้ประโยชน์และข่มเหงคนชอบธรรม เขาเตือนว่าความโศกเศร้าและการพิพากษารอพวกเขาอยู่

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยากอบ 5:7–11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนทำเมื่อพวกเขาเผชิญกับความทุกข์ขณะรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7–8 ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรขณะที่พวกเขารอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 วิสุทธิชนจะมองไปที่ใครเพื่อเป็นแบบอย่างของคนที่ยืนหยัดอดทนต่อความทุกข์

  • มีแบบอย่างใดบ้างจากพระคัมภีร์เกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ผู้อดทนต่อความทุกข์

อธิบายว่า ยากอบ 5:13–16 บันทึกคำแนะนำของยากอบที่ให้แก่ผู้เจ็บป่วยและคนทุกข์ยาก เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสถานการณ์สมมติต่อไปนี้

เพื่อนคนหนึ่งพูดว่า “ฉันรู้สึกแย่มาก ฉันไม่สบายมามากกว่าสัปดาห์แล้ว ฉันไปหาหมอและกินยา แต่ฉันยังไม่รู้สึกดีขึ้นเลย ฉันไม่รู้จะทำอะไรได้อีก”

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับเพื่อนคนนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 5:13–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยากอบแนะนำให้ผู้เจ็บป่วยและคนทุกข์ยากทำ

  • ยากอบแนะนำให้ผู้เจ็บป่วยและคนทุกข์ยากทำอะไร

  • ยากอบแนะนำให้ผู้นำทำอะไรให้ผู้เจ็บป่วย (ให้ปฏิบัติต่อผู้เจ็บป่วยโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิตและให้เจิมพวกเขาด้วยน้ำมัน)

อธิบายว่าเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เมื่อเอ็ลเดอร์เจิมผู้ป่วยและผนึกการเจิม พวกเขาเปิดหน้าต่างสวรรค์ให้พระเจ้าทรงเทพรที่พระองค์ทรงประสงค์ให้ผู้ป่วย” (“รักษาผู้ป่วย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 60)

  • นอกเหนือจากอำนาจฐานะปุโรหิต ยากอบบอกว่าอะไรอื่นอีกที่จะช่วยและรักษาผู้ป่วย (“การอธิษฐานด้วยความเชื่อ” [ยากอบ 5:15])

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากยากอบเกี่ยวกับวิธีที่ผู้เจ็บป่วยสามารถได้รับการรักษา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ โดยคำสวดอ้อนวอนแห่งศรัทธาและอำนาจฐานะปุโรหิต ผู้เจ็บป่วยจะได้รับการรักษา เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ แจกคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์เป็นเอกสารแจก แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ และเชื้อเชิญแต่ละคู่ให้อ่านออกเสียงข้อความนี้ด้วยกัน ขอให้พวกเขาฟังสิ่งที่เอ็ลเดอร์โอ๊คส์สอนเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนแห่งศรัทธาและอำนาจแห่งการรักษาของฐานะปุโรหิต

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ขณะเราใช้อำนาจที่ปราศจากข้อสงสัยของฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า และขณะที่เราเทิดทูนคำสัญญาของพระองค์ว่าพระองค์จะทรงฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนแห่งศรัทธา เราต้องระลึกอยู่เสมอว่าศรัทธาและอำนาจการรักษาของฐานะปุโรหิตไม่เกิดผลในทางตรงกันข้ามกับพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของฐานะปุโรหิตนั้น …

“… กระทั่งผู้รับใช้ของพระเจ้า ผู้ใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ในสภาวการณ์ที่มีศรัทธาเพียงพอจะรักษาหายก็ไม่สามารถให้พรฐานะปุโรหิตซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นหายได้ ถ้าการรักษานั้นไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า

“ในฐานะลูกของพระผู้เป็นเจ้า การรู้ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์และความรู้สูงสุดของพระองค์ถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับความผาสุกนิรันดร์ของเราทำให้เราวางใจพระองค์ หลักธรรมพระกิตติคุณข้อแรกคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ และศรัทธาหมายถึงวางใจ … ข้าพเจ้ารู้สึกถึงความวางใจอย่างเดียวกันในถ้อยคำของบิดาหญิงสาวที่ดีอีกคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งขณะยังเป็นวัยรุ่น เขาประกาศว่า ‘ศรัทธาของครอบครัวเราอยู่ในพระเยซูคริสต์ และไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลที่ตามมา’ คำสอนเหล่านี้เป็นจริงสำหรับข้าพเจ้า เราทำทุกอย่างสุดความสามารถเพื่อรักษาคนที่เรารัก และจากนั้นเราวางใจพระเจ้าสำหรับผลที่ตามมา” (“รักษาคนป่วย,”61)

  • คำสอนของเอ็ลเดอร์โอ๊คส์ช่วยให้เราเข้าใจอำนาจแห่งการรักษาของฐานะปุโรหิต

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ต้องไม่ขึ้นอยู่กับผลของพรฐานะปุโรหิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์ที่พวกเขาหรือคนรู้จักได้รับพรผ่านคำสวดอ้อนวอนแห่งศรัทธาและอำนาจฐานะปุโรหิต ขอให้นักเรียนแบ่งปันว่าประสบการณ์เหล่านี้เสริมสร้างศรัทธาและประจักษ์พยานของพวกเขาอย่างไร (เตือนพวกเขาไม่ให้แบ่งปันเรื่องราวอะไรที่ส่วนตัวหรือศักดิ์สิทธิ์มากเกินไป)

ชี้ไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างการรักษาผู้ป่วยและการให้อภัยบาปใน ข้อ 15 รูปแบบของความอ่อนน้อมถ่อมตนและศรัทธาที่จำเป็นสำหรับเราเพื่อจะได้รับการรักษาทางกายเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนและศรัทธาแบบเดียวกันที่จำเป็นสำหรับเราเพื่อจะรับการให้อภัย (ดู Bruce R. McConkie, Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 297–98)

สรุป ยากอบ 5:17–20 โดยอธิบายว่ายากอบพูดถึงศาสดาพยากรณ์เอลียาห์ว่าเป็นแบบอย่างของคนที่ใช้พลังแห่งการสวดอ้อนวอนอย่างแรงกล้า เขาแนะนำวิสุทธิชนให้ช่วยคนบาปกลับใจด้วย

สรุปโดยเป็นพยานของท่านถึงความจริงที่สอนในบทนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยากอบ 4:8 “จงชำระมือให้สะอาด … จงชำระใจให้บริสุทธิ์”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเราจะมีมือที่สะอาดและใจที่บริสุทธิ์ได้อย่างไร

“มือสะอาดได้โดยผ่านขั้นตอนของการละทิ้งความเป็นมนุษย์ปุถุชนและโดยการเอาชนะบาปและอิทธิพลชั่วร้ายในชีวิตของเราผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด ใจบริสุทธิ์ได้เมื่อเรารับอำนาจแห่งการเสริมสร้างของพระองค์ในการทำความดีและเป็นคนที่ดีขึ้น” (ดู“มือสะอาดและใจบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, หน้า 103)

ยากอบ 5:15 “ถ้าเขาเคยทำบาป พระองค์ก็จะทรงให้อภัย”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความเกี่ยวข้องกันระหว่างการรักษาผู้เจ็บป่วยกับการอภัยบาปดังนี้

“คนที่อยู่ในตำแหน่งที่จะได้รับการรักษาโดยศรัทธา การอุทิศตน ความชอบธรรม และค่าควรส่วนตัวอยู่ในตำแหน่งที่จะได้รับการยินยอมจากพระวิญญาณอย่างชอบธรรมสำหรับวงจรชีวิตของเขา และบาปของเขาจะได้รับการให้อภัย ดังที่แสดงให้ประจักษ์ผ่านความจริงที่ว่าเรารับพระวิญญาณเป็นเพื่อน ซึ่งเขาจะมีไม่ได้หากเขาไม่มีค่าควร ” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 297–298)

ยากอบ 5:20 “ทำให้บาปมากมายได้รับการอภัย”

“ยากอบสอนว่าเมื่อคนบาปเปลี่ยนใจเลื่อมใสและได้รับศาสนพิธีแห่งความรอด บาปของเขาจะ ‘ได้รับการให้อภัย’—ปกปิดหรือยกโทษ—ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และเขาจะรอดจากความตายทางวิญญาณ” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 499)

ในทำนองเดียวกัน คนที่ช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้รับพรที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนดังนี้

“ผ่านงานเผยแผ่ศาสนาของการช่วยจิตวิญญาณผู้อื่นให้รอด บุคคลนั้นมาสู่จุดของการนำความรอดและการชำระให้บริสุทธิ์มาสู่ตัวเขาเอง …

“แรงบันดาลใจของงานเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าประเภทใด คือการรับใช้ทั้งหมดของศาสนจักร แน่นอนว่าคือความรักเพื่อนมนุษย์ แต่งานเช่นนั้นเป็นผลพลอยได้ของชีวิตเขาเองเสมอ ดังนั้นเมื่อเราเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น ชีวิตเราเองก็ย่อมได้รับการยกขึ้นเช่นกัน แทบจะไม่มีใครสามารถช่วยให้คนอีกคนหนึ่งขึ้นไปสู่ยอดเขาได้โดยที่เขาไม่ได้ปีนขึ้นไปอยู่บนนั้นด้วยตนเอง” (The Miracle of Forgiveness [1969], 205)