คลังค้นคว้า
บทที่ 70: ยอห์น 10


บทที่ 70

ยอห์น 10

คำนำ

พระเยซูทรงสอนว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีและพระองค์จะทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อแกะของพระองค์ พระองค์ทรงเป็นพยานด้วยว่าพระบิดาบนสวรรค์ได้ประทานพลังอำนาจเหนือความตายแก่พระองค์ มีบางคนกล่าวหาพระเยซูว่าทรงหมิ่นประมาทพระเจ้าเนื่องจากทรงประกาศว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 10:1–24

พระเยซูทรงสอนว่าพระองค์ทรงเป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดีและจะทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อผู้คนของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าชั้นเรียน ปิดตานักเรียนคนนั้นด้วยผ้า จากนั้นให้รวบรวมพระคัมภีร์มาหลายๆ เล่ม รวมทั้งพระคัมภีร์ของนักเรียนที่ถูกปิดตาด้วย ขอให้นักเรียนที่ถูกปิดตาสัมผัสพระคัมภีร์แต่ละเล่มและพยายามบอกว่าเล่มไหนเป็นของเขา หลังจากนักเรียนพยายามแล้ว ให้ถามว่า

  • เหตุใดท่านจึงสามารถ (หรือไม่สามารถ) บอกได้ว่าพระคัมภีร์เล่มไหนเป็นของท่าน

  • หากข้าพเจ้าขอให้ท่านลองสัมผัสใบหน้าเพื่อนร่วมชั้นของท่านแต่ละคน ท่านคิดว่าท่านจะระบุเพื่อนของท่านถูกกี่คน (ไม่ต้องขอให้นักเรียนทำจริงๆ )

เชื้อเชิญนักเรียนคนนั้นให้นำเอาผ้าปิดตาออกและกลับไปนั่งที่ อธิบายว่าครั้งหนึ่งมีผู้ถามคนเลี้ยงแกะในตะวันออกกลางคนหนึ่งว่าเขารู้จักแกะของเขาดีเพียงใด เขาตอบว่า “หากท่านจะเอาผ้ามาปิดตาข้าพเจ้า และนำเอาแกะตัวไหนก็ได้มาหาข้าพเจ้าแค่ให้ข้าพเจ้าเอามือจับหน้าของมัน ข้าพเจ้าสามารถบอกได้ทันทีว่าเป็นแกะของข้าพเจ้าหรือไม่” (จี. เอ็ม. แมกกี้, Bible Manners and Customs [n.d.], 35)

  • หากท่านเป็นคนเลี้ยงแกะ ท่านคิดว่าต้องทำอย่างไรจึงจะรู้จักแกะในฝูงของท่านดีเหมือนกับที่คนเลี้ยงแกะคนนี้รู้

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 10:14 ในใจ โดยมองหาว่าพระเยซูทรงเรียกพระองค์เองว่าอะไร ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี

  • ท่านคิดว่าเหตุใด “ผู้เลี้ยงที่ดี” จึงเป็นพระนามที่เหมาะสมสำหรับพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะพวกเขาศึกษา ยอห์น 10 ที่สอนเราว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดีของเราอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจ สภาพแวดล้อม ทางวัฒนธรรมของ ยอห์น 10:1–5 อธิบายว่าในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอด คนเลี้ยงแกะนำฝูงแกะของพวกเขาไปหาอาหาร น้ำ และที่พักในตอนกลางวัน ในตอนกลางคืน คนเลี้ยงแกะหลายๆ คนรวมเอาฝูงแกะแต่ละฝูงของพวกเขามาอยู่ในคอกแกะเดียวกัน คอกแกะเป็นถ้ำหรือรั้วที่ล้อมไปด้วยกำแพงหินที่มีหนามแหลมวางไว้ด้านบนเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามา

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้แต่ละคู่อ่านออกเสียง ยอห์น 10:1–5 พร้อมกัน โดยมองหาสิ่งที่ผู้เลี้ยงที่ดีทำ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พบ เขียนคำตอบของพวกเขาบนกระดานใต้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี (คำตอบอาจเป็นดังนี้ พระองค์เสด็จเข้าไปทางประตู ทรงเรียกชื่อแกะของพระองค์ และทรงนำหน้าแกะของพระองค์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 ผู้เลี้ยงแกะนำแกะของพวกเขาออกจากคอกแกะอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 เหตุใดแกะจึงตามคนเลี้ยงแกะของมันเท่านั้น

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกคนที่พยายามเข้ามาในคอกแกะโดยใช้ทางอื่นที่ไม่ใช่ประตู

อธิบายว่าพวกฟาริสีอยู่ในบรรดากลุ่มคนที่พระเยซูรับสั่งเช่นกัน (ดู ยอห์น 9:41)

  • พวกฟาริสีเป็นเหมือนขโมย โจร และคนแปลกหน้าในคอกแกะอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 10:6 ในใจ โดยมองหาว่าพวกฟาริสีตอบสนองอย่างไรต่อคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ

อธิบายว่าดังที่บันทึกไว้ใน ยอห์น 10:7–16 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนต่อไปเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพระองค์เองกับพวกฟาริสี เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ข้อ 7–10 จากนั้นอ่านงานแปลของโจเซฟ สมิธสำหรับข้อนี้ที่ว่า “ทุกคนที่มาก่อนเราและไม่ได้เป็นพยานถึงเรานั้นเป็นขโมยและโจร แต่ฝูงแกะไม่ได้ฟังพวกเขา” ขอให้นักเรียนดูตาม โดยมองหาคำสอนของพระเยซูในข้อเหล่านี้

  • มีความคิดเห็นอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับขโมยที่ให้ไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ ข้อ 8

  • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอย่างไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “เราเป็นประตู” (ข้อ 79)

อธิบายว่า “คนเลี้ยงแกะในอิสราเอลยืนตรงทางเข้าคอกแกะและตรวจสอบแกะแต่ละตัวที่เข้าไป รักษาตัวที่บาดเจ็บหากจำเป็น หลังจากรวมแกะไว้ในคอกแกะในตอนกลางคืนแล้ว คนเลี้ยงแกะจะเอนตัวลงนอนที่ทางเข้า กั้นทางไว้เพื่อไม่ให้สัตว์นักล่าหรือขโมยเข้าไปทำร้ายแกะ” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 231–232)

  • การกระทำของผู้เลี้ยงแกะเหล่านี้คล้ายกับสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำเพื่อเราอย่างไร

  • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดประทานชีวิต “อย่างครบสมบูรณ์” (ยอห์น 10:10) แก่คนที่ติดตามพระองค์อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 10:11–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าผู้เลี้ยงที่ดีทำอะไรอีก ชี้ให้เห็นว่าคนที่รับจ้างเป็นคนที่เจตนาหลักของเขาคือการทำงานเพียงเพื่อให้ได้รับค่าจ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนออกมาที่กระดานและเขียนสิ่งอื่นๆ ที่พวกเขาพบเกี่ยวกับผู้เลี้ยงที่ดีใต้ประโยค พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี (คำตอบอาจได้แก่ พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพเพื่อแกะของพระองค์ พระองค์ทรงรู้จักแกะของพระองค์ และแกะรู้จักพระองค์)

  • คนเลี้ยงแกะเต็มใจทำอะไรที่คนรับจ้างเลี้ยงไม่เต็มใจทำ

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ในฐานะผู้เลี้ยงที่ดี พระเยซูคริสต์ทรงรู้จักเราแต่ละคนและทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใต้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี)

เตือนนักเรียนถึงคนเลี้ยงแกะในตะวันออกกลางที่รู้จักแกะของเขาเป็นอย่างดี

  • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักท่านดีแค่ไหน

  • ความเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงรู้จักท่านและเต็มใจสละพระชนม์ชีพเพื่อท่านอาจส่งผลต่อวิธีที่ท่านดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างไร

อธิบายว่าหลังจากพระองค์ทรงสอนว่าพระองค์จะทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงระบุบางสิ่งที่พระองค์จะทรงทำอีก เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 10:16 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจะทรงทำอะไรเพื่อแกะของพระองค์ (หมายถึงผู้คนของพระองค์)

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าพระองค์จะทรงทำอะไรเพื่อแกะของพระองค์

  • พระคัมภีร์ข้อนี้ระบุอะไรเกี่ยวกับที่อยู่ของแกะของพระองค์

อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำลังสอนชาวยิวในเยรูซาเล็มว่าพระองค์จะทรงไปเยือนบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าในแผ่นดินอื่น สอนพระกิตติคุณของพระองค์แก่พวกเขา และนำพวกเขาเข้ามาในฝูงของพระองค์ (ศาสนจักรของพระองค์) อธิบายว่าพระคัมภีร์มอรมอนอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อนี้

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 3 นีไฟ 15:15–17, 21; 16:1–3 ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนข้ออ้างอิงนี้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง ยอห์น 10:16

  • ข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจ ยอห์น 10:16 มากขึ้นอย่างไร (“แกะอื่น” หมายถึงชาวนีไฟและเผ่าที่สูญหาย ไม่ใช่คนต่างชาติ)

ขอให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 10:17–18 ในใจ โดยมองหาหลักคำสอนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ ในฐานะพระบุตรพระผู้เป็นเจ้า พระเยซูคริสต์ทรงมีอำนาจที่จะสละพระชนม์ชีพของพระองค์และนำพระชนม์ชีพกลับคืนมาอีกครั้ง กระตุ้นให้นักเรียนทำเครื่องหมายถ้อยคำที่สอนหลักธรรมนี้ในข้อเหล่านี้)

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงมีความสามารถที่จะสิ้นพระชนม์และความสามารถที่จะฟื้นคืนมาอีกหลังการสิ้นพระชนม์ (จากมารีย์ มารดาของพระองค์ สตรีมรรตัย พระเยซูทรงสืบทอดความเป็นมรรตัย รวมถึงความสามารถที่จะสิ้นพระชนม์ จากเอโลฮิม พระบิดาของพระองค์ พระองค์ทรงสืบทอดความเป็นอมตะ พลังอำนาจที่จะทรงพระชนม์ชั่วนิรันดร์ ดังนั้น พระองค์ทรงสืบทอดความสามารถที่จะสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์อีกครั้ง ซึ่งจำเป็นสำหรับพระเยซูเพื่อทรงสามารถทำการชดใช้ [ดูบทเรียนใน มัทธิว 1–2])

สรุป ยอห์น 10:19–24 โดยอธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเรื่องเหล่านี้แล้ว ผู้คนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่าพระเยซูตือใคร พวกเขาเข้าไปหาพระเยซูที่พระวิหารและกดดันให้พระองค์ทรงประกาศพระอัตลักษณ์ที่แท้จริงของพระองค์ในฐานะพระคริสต์

ยอห์น 10:25–42

พระเยซูทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งออกมาหน้าชั้นเรียน นำผ้าปิดตานักเรียน จากนั้นแนะนำนักเรียนหลายๆ คนให้สลับกันพูดคำบางคำ (เช่น “คนเลี้ยงแกะ”) ขอให้นักเรียนที่ปิดตาฟังเสียงนักเรียนแต่ละคนที่กำลังพูดคำนั้นและบอกว่าเขาจำเสียงได้หรือไม่ว่าใครเป็นคนพูด

  • เหตุใดเสียงบางเสียงจึงจดจำง่ายกว่าเสียงอื่นๆ

ให้นักเรียนนำผ้าปิดตาออกและกลับไปนั่งที่ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 10:25–30 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดต่อคำขอของผู้คนที่ให้บอกพวกเขาว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์หรือไม่

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงบรรยายถึงแกะของพระองค์ไว้อย่างไร (แกะของพระผู้ช่วยให้รอดได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์และติดตามพระองค์)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 28 คนที่ได้ยินพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดและติดตามพระองค์จะได้รับอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกันไป แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นว่า ถ้าเราได้รู้จักพระสุรเสียงของผู้เลี้ยงที่ดีและติดตามพระองค์ พระองค์จะทรงนำเราไปสู่ชีวิตนิรันดร์ เขียนหลักธรรมนี้บนกระดานได้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง ยอห์น 10:27–28)

เตือนชั้นเรียนถึงนักเรียนที่ถูกปิดตาคนที่สองและความสามารถของเขาในการจดจำเสียงของเพื่อนร่วมชั้น

  • เราสามารถทำอะไรได้เพื่อจะรู้จักพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด (ดู คพ. 18:34–36 ด้วย)

  • ท่านทำอะไรเพื่อคุ้นเคยกับพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เราสามารถแสดงว่าเราติดตามพระผู้ช่วยให้รอดในทางใดได้บ้าง

ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะได้ยินพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้นและติดตามพระองค์ได้อย่างไร ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียน (1) เป้าหมายว่าจะตั้งใจฟังพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอดและวิธีเฉพาะที่พวกเขาจะทำเช่นนั้น หรือ(2) เป้าหมายว่าจะติดตามพระสุรเสียงของพระองค์ให้ดีขึ้นและพวกเขาวางแผนจะทำเช่นนั้นอย่างไร

สรุป ยอห์น 10:31–42 โดยอธิบายว่าหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นพยานว่าพระองค์และพระบิดาของพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ผู้นำชาวยิวพยายามจะขว้างพระองค์ด้วยก้อนหินเนื่องจากการพูดหมิ่นประมาทพระเจ้า อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงตอบข้อกล่าวหาของพวกเขาโดยตรัสถึง สดุดี 82:6 ซึ่งอ่านว่า “เราได้กล่าวว่า เจ้าทั้งหลายเป็นพระ เป็นบุตรองค์ผู้สูงสุด เจ้าทุกคนนั่นแหละ” จากนั้นพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถามชาวยิวถึงสาเหตุที่พวกเขากล่าวหาว่าพระองค์ทรงหมิ่นประมาทพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพระองค์ตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า โดยที่พระคัมภีร์บอกว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าและสามารถเป็นผู้เป็นเจ้าได้

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงและหลักธรรมที่สอนในบทเรียน ยอห์น 10 กระตุ้นให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงและหลักธรรมเหล่านั้น

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 10:30 “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายของคำประกาศที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระบิดาของพระองค์ดังนี้

“หลักแห่งความเชื่อข้อแรกและสำคัญที่สุดในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือ “เราเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, และในพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์, และในพระวิญญาณบริสุทธิ์” [หลักแห่งความเชื่อ 1:1] เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ประกอบเป็นพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์รวมกันและเป็นหนึ่งเดียวกันในจุดประสงค์ พระลักษณะ ประจักษ์พยาน และพันธกิจ เราเชื่อว่าทั้งสามพระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความรู้สึกเดียวกันของพระผู้เป็นเจ้าในพระเมตตาและความรัก ความเที่ยงธรรมและพระคุณ ความอดทน การให้อภัย และการไถ่ ข้าพเจ้าคิดว่าถูกต้องแล้วที่เราจะกล่าวว่าเราเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกแง่มุมที่สำคัญและเป็นนิรันดร์ในมโนภาพของเรา ยกเว้น การเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นสามพระบุคคลที่รวมกันเป็นหนึ่งแก่นสาร เป็นความเชื่อเรื่องตรีเอกานุภาพซึ่งไม่เคยมีสอนในพระคัมภีร์เพราะไม่ใช่เรื่องจริง” (ดู “พระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียวและพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ทรงใช้มา” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 49)

เอ็ลเดอร์บี. เอช. โรเบิร์ตส์แห่งฝ่ายประธานโควรัมสาวกเจ็ดสิบช่วยให้เราเข้าใจตรรกของพระผู้ช่วยให้รอดในการหักล้างพวกฟาริสีที่กล่าวหาว่าพระองค์ทรงหมิ่นประมาทพระเจ้า

“ขอให้เราสังเกตว่าในการสนทนาข้างต้นเมื่อพระเยซูทรงถูกกล่าวหาว่าทรงแต่งตั้งพระองค์เองเป็นพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ไม่ได้ปฏิเสธข้อหานั้น แต่ในทางกลับกัน ทรงทำให้พวกเขาสนใจข้อเท็จจริงที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าในกฎที่พระองค์ประทานแก่อิสราเอลได้ตรัสกับพวกเขาบางคนว่า—‘เจ้าทั้งหลายเป็นพระ’ (เจ้า) และมากกว่านั้น พระเยซูทรงโต้แย้งว่าหากคนที่พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทรงเอ่ยถึงได้รับเรียกว่าพระ (เจ้า) ในกฏของชาวยิว และพระคัมภีร์ซึ่งได้ประกาศความจริงนี้จะทำลายล้างไม่ได้ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้หรือคัดค้านไม่ได้ [ประกาศว่าไม่จริงหรือเป็นโมฆะ]—เหตุใดชาวยิวจึงจะบ่นว่าเมื่อพระองค์ซึ่งเป็นพระคริสต์เช่นกัน ผู้ที่ทรงได้รับการชำระให้บริสุทธิ์โดยพระคำของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาจะเรียกพระองค์เองว่าเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (New Witnesses for God, 3 vols. [1909–11], 1:465–66)

ยอห์น 10:27 “แกะของเราย่อมฟังเสียงของเรา เรารู้จักแกะเหล่านั้น และแกะนั้นก็ตามเรา”

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี สอนเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่เราสามารถได้ยินพระสุรเสียงของพระผู้ช่วยให้รอด

“หากเราจะดำเนินชีวิตอย่างมีค่าควร พระเจ้าจะทรงนำทางเรา—โดยการปรากฏพระองค์ หรือโดยพระสุรเสียงจริงๆ หรือโดยพระสุรเสียงที่เข้ามาสู่ความคิดของเรา หรือโดยการกระตุ้นเตือนในใจเราและในจิตวิญญาณของเรา และโอ้ เราควรซาบซึ้งเพียงใดหากพระเจ้าทรงส่งความฝันมาให้เราโดยทรงแสดงให้เห็นถึงความสวยงามของนิรันดรหรือการเตือนและการนำทางเพื่อปลอบโยนเราเป็นพิเศษ แน่นอนว่า หากเราดำเนินชีวิตเช่นนั้นพระเจ้าจะทรงนำทางเราเพื่อความรอดและเพื่อประโยชน์ของเรา” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮาโรลด์ บี. ลี [2000], 48)

เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่าเราจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไรดังนี้

“เราจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร โดยการใช้ศรัทธา โดยการเชื่อในพระองค์ โดยการเชื่อในพระบิดาบนสวรรค์ของเรา โดยการเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าตรัสกับมนุษย์บนแผ่นดินโลกทุกวันนี้

“เราติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยการกลับใจจากบาปของเรา—โดยการประสบกับความเสียใจเนื่องจากบาปและละทิ้งบาป

“เราติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยการเข้าสู่ผืนน้ำบัพติศมาและรับการปลดบาปของเรา โดยการรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์และยอมให้อิทธิพลนั้นดลใจ แนะนำ นำทาง และปลอบโยนเรา

“เราจะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดได้อย่างไร โดยการเชื่อฟังพระองค์ พระองค์และพระบิดาบนสวรรค์ของเราประทานพระบัญญัติให้เรา—ไม่ใช่เพื่อลงโทษหรือทรมานเราแต่เพื่อช่วยให้เรามาสู่ความบริบูรณ์แห่งปีติทั้งในชีวิตนี้และในนิรันดรที่จะมาถึง ชั่วกัลปาวสาน” (“Follow Me,” Ensign, May 2002, 16–17)

พิมพ์