บทที่ 55
ลูกา 17
คำนำ
พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับความจำเป็นในการให้อภัยผู้อื่น หลังจากนั้น เหล่าอัครสาวกทูลขอพระเยซูให้เพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขา เพื่อตอบคำทูลนั้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอุปมาเรื่องบ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย จากนั้น พระเยซูทรงรักษาคนโรคเรื้อนสิบคน แต่มีเพียงคนเดียวที่กลับมาขอบพระทัย พระผู้ช่วยให้รอดทรงเผชิญหน้ากับพวกฟาริสี พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการมาถึงของแผ่นดินของพระเจ้า
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ลูกา 17:1–10
เหล่าอัครสาวกทูลขอพระเยซูให้เพิ่มพูนศรัทธาของพวกเขา
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์ที่อาจต้องเรียกร้องพวกเขาให้ใช้ศรัทธา (เช่นการแสวงหาพรฐานะปุโรหิต การจ่ายส่วนสิบ หรือการเป็นผู้พูดหรือสอนบทเรียนที่โบสถ์) เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนรายงานสิ่งที่พวกเขานึกถึง หรือเขียนรายการคำตอบของพวกเขาบนกระดาน
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ในใจ
-
ท่านเคยต้องการมีศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ขึ้นหรือไม่ หากเคย ประสบการณ์ใดที่ทำให้ท่านรู้สึกเช่นนี้
เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 17 ที่จะช่วยให้พวกเขาเพิ่มพูนศรัทธา
สรุป ลูกา 17:1–2 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนว่าคนที่นำให้คนอื่นหลงผิดหรือชักจูงให้พวกเขาทำบาปจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ลูกา 17:3–4 ในใจมองหาพระบัญญัติที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานสานุศิษย์ของพระองค์ที่อาจเรียกร้องศรัทธา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 พระเยซูทรงบัญชาสานุศิษย์ของพระองค์ให้ทำอะไรหากมีคนทำผิดต่อพวกเขา
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 สานุศิษย์ต้องให้อภัยบ่อยเพียงใด (ท่านอาจอธิบายว่าพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการบอกว่าเราควรให้อภัยไม่ว่าเราจะถูกกระทำกี่ครั้งก็ตามจากคนที่กลับใจ)
-
เหตุใดจึงเป็นการยากที่จะให้อภัยคนที่ทำผิดต่อท่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 17:5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่อัครสาวกปรารถนาจากพระผู้ช่วยให้รอดหลังจากพระองค์ตรัสบอกสานุศิษย์ให้อภัยคนที่ทำให้พวกเขาขุ่นเคืองใจ
-
อัครสาวกปรารถนาอะไรจากพระผู้ช่วยให้รอด (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ให้ความเชื่อของพวกข้าพระองค์เพิ่มมากยิ่งขึ้น” ในพระคัมภีร์)
-
การแสวงหาศรัทธาที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นในพระเจ้าจะช่วยให้สานุศิษย์เชื่อฟังพระบัญญัติในการให้อภัยผู้อื่นได้อย่างไร
สรุป ลูกา 17:6 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ว่าศรัทธาที่มีขนาดเท่าเมล็ดมัสตาร์ดเมล็ดหนึ่งก็สามารถทำให้เกิดปาฏิหาริย์ เพื่อช่วยให้เหล่าอัครสาวกรู้ว่าจะเพิ่มศรัทธาของพวกเขาอย่างไร พระเยซูประทานอุปมาที่อธิบายความสัมพันธ์ของนายกับบ่าว
เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ศรัทธาของเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อเรา…
เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 17:7–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่นายคาดหวังจากบ่าวของเขา
-
นายคาดหวังอะไรจากบ่าวของเขา
อธิบายว่าในสมัยพระคัมภีร์ไบเบิลนายจะจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตทุกอย่างให้บ่าวของเขาขณะที่บ่าวปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ตามที่คาดหวังไว้ เนื่องจากเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นที่นายจะต้องขอบคุณบ่าวของเขาเป็นพิเศษหรือรู้สึกเป็นหนี้บ่าวที่ทำหน้าที่ของเขา
-
พระบิดาบนสวรรค์ของเราทรงเป็นเหมือนนายในอุปมานี้อย่างไร พระองค์ทรงคาดหวังอะไรจากเรา (ให้ทำ “สิ่งสารพัดที่บัญชาไว้” กับเรา [ข้อ 10])
เพิ่มข้อความบนกระดานเพื่อจะอ่านได้ว่า ศรัทธาของเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราพยายามทำสิ่งสารพัดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชา
เพื่อช่วยให้นักเรียนเห็นว่ามีอะไรอื่นอีกที่จะเพิ่มศรัทธาของพวกเขา ให้ถามว่า
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 บ่าวควรพูดอะไรหลังจากทำตามบัญชาจากนายของเขา
-
การเป็น “บ่าวที่ไม่มีบุญคุณต่อนาย” หมายความว่าอย่างไร (หมายความว่าไม่ว่าคนจะรักษาพระบัญญัติดีเพียงใด พวกเขาจะเป็นหนี้พระผู้เป็นเจ้าเสมอ)
-
เหตุใดเราจึงเป็นหนี้พระบิดาบนสวรรค์เสมอ แม้เมื่อเราเชื่อฟังและดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม (เนื่องจากพระบิดาบนสวรรค์ประทานพรแก่เราเสมอ เราไม่มีวันจ่ายคืนพระองค์หมด [ดู โมไซยาห์ 2:20–26])
เติมข้อความบนกระดานให้ครบถ้วนเพื่อจะสื่อถึงหลักธรรมต่อไปนี้ ศรัทธาของเราจะเพิ่มขึ้นเมื่อเราพยายามทำสิ่งสารพัดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงบัญชาและเมื่อเราจำไว้ว่าเราเป็นหนี้พระองค์เสมอ ท่านอาจต้องการกระตุ้นให้นักเรียนเขียนหลักธรรมนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา
-
การพยายามทำสิ่งสารพัดที่พระบิดาบนสวรรค์บัญชาเพิ่มศรัทธาของเราอย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนใตร่ตรองถึงเวลาที่พวกเขารักษาพระบัญญัติหรือทำหน้าที่ของพวกเขาอย่างเชื่อฟังและรู้สึกว่าศรัทธาเพิ่มขึ้น เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนความคิดของพวกเขาลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนให้กันและกันฟัง เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน
ลูกา 17:11–19
พระเยซูทรงรักษาคนโรคเรื้อนให้หายสะอาด
เขียนข้อความที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้บนกระดาน ในสมัยพระคัมภีร์ไบเบิล เป็นความท้าทายอย่างมากที่ต้องทนทุกข์จากโรคเรื้อนเพราะ …
ช่วยนักเรียนทบทวนสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับโรคเรื้อนโดยขอให้พวกเขาบอกชั้นเรียนว่าพวกเขาจะเติมข้อความให้ครบถ้วนว่าอย่างไร ตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจกล่าวว่าโรคเรื้อนจะนำไปสู่การเสียโฉมและความตาย คนโรคเรื้อนถูกแยกออกจากสังคมที่เหลือเพื่อปกป้องสุขอนามัยของผู้อื่น พวกเขาถูกกำหนดให้ร้องว่า “มลทิน!” เพื่อเตือนใครก็ตามที่เข้ามาใกล้พวกเขา (ดู Bible Dictionary, “Leper”)
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 17:11–12 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูทรงพบใครเมื่อพระองค์ทรงแวะที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งขณะเสด็จไปเยรูซาเล็ม เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
-
ถ้าท่านเป็นหนึ่งในคนโรคเรื้อนเหล่านั้น ท่านน่าจะมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านเห็นพระเยซู
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 17:13–14 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่คนโรคเรื้อนพูดกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระดำรัสตอบของพระองค์ที่ประทานแก่พวกเขา
-
คนโรคเรื้อนทูลขออะไรพระเยซู
-
พระเยซูรับสั่งให้พวกเขาทำอะไร
อธิบายว่าตามกฎของโมเสสกำหนดว่าคนโรคเรื้อนต้องไปแสดงตนกับปุโรหิตหลังจากพวกเขาหายเพื่อรับกลับเข้าสังคม (ดู เลวีนิติ 14)
-
เกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกคนโรคเรื้อนไป
-
เราเรียนรู้หลักธรรมใดจาก ข้อ 14 เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อรับพรจากพระเจ้า (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ เราได้รับพรจากพระเจ้าเมื่อเราทำสิ่งที่พระองค์รับสั่งให้เราทำ)
ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าจะเป็นเช่นไรที่เป็นคนหนึ่งในบรรดาคนโรคเรื้อนที่หายจากโรค
-
ท่านคิดว่าท่านจะทำอย่างไรเมื่อท่านรู้ตัวว่าท่านหายจากโรคเรื้อน
เชื้อเชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 17:15–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าคนโรคเรื้อนคนหนึ่งตอบสนองแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร
-
คนโรคเรื้อนชาวสะมาเรียทำอะไรที่บ่งบอกถึงความสำนึกคุณต่อพระผู้ช่วยให้รอด
-
เหตุใดลูกาจึงบอกว่าคนโรคเรื้อนที่สำนึกคุณเป็นชาวสะมาเรีย—ซึ่งเป็นคนที่ชาวยิวส่วนใหญ่มักดูถูก รายละเอียดนี้เพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องราวนี้อย่างไร
-
เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคนโรคเรื้อนที่กลับมาขอบพระคุณพระเจ้า (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงความสำนึกคุณสำหรับพรที่เราได้รับ)
-
เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงความสำนึกคุณของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าสำหรับพรที่เราได้รับ
-
บางครั้งเราเป็นเหมือนคนโรคเรื้อนอีกเก้าคนอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน
“พี่น้องทั้งหลาย เราจำได้หรือไม่ว่าต้องขอบพระทัยสำหรับพรที่เราได้รับ การขอบพระทัยอย่างจริงใจไม่เพียงช่วยให้เราตระหนักถึงพรของเราเท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูสวรรค์และช่วยให้เรารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าด้วย” (“ของประทานอันสูงส่งของความกตัญญู,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 111)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนโรคเรื้อนคนนี้เนื่องจากการกระทำของเขา (เขาหายเป็นปกติ)
-
การขอบพระทัยพระเจ้าสำหรับพรของเราจะช่วยให้เราหายดีในทางใดบ้าง
เชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกพรที่เจาะจงจากพระบิดาบนสวรรค์ที่พวกเขาสำนึกคุณลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญให้พวกเขาเขียนว่าพวกเขาจะดำเนินชีวิตในความสำนึกคุณสำหรับพรเหล่านี้ได้อย่างไร
ลูกา 17:20–37
พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการมาถึงของแผ่นดินพระเจ้า
สรุป ลูกา 17:20–37 โดยอธิบายว่าพระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ (หมายเหตุ: คำสอนที่คล้ายกันมีอยู่ในเนื้อหาบทเรียนสำหรับ มัทธิว 24 และ โจเซฟ สมิธ—มัทธิว)
ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่ระบุในบทนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนประยุกต์ใช้ความจริงเหล่านี้ในชีวิตของพวกเขา
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
กิจกรรมนี้สามารถใช้ช่วยให้นักเรียนท่องจำข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสี่หรือห้าคน แจกลูกเต๋าและดินสอให้แต่ละกลุ่ม (หากไม่มีลูกเต๋า ท่านอาจใส่กระดาษชิ้นเล็กๆ หกชิ้นที่เขียนเลข 1–6 ในซองหรือภาชนะอื่น) นักเรียนแต่ละคนต้องมีแผ่นกระดาษเปล่าคนละหนึ่งแผ่นด้วย ขอให้นักเรียนแต่ละกลุ่มนั่งใกล้กันรอบโต๊ะหรือนั่งเป็นวงกลม เชื้อเชิญให้พวกเขาเปิดพระคัมภีร์ไปที่ข้อความผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ท่านอยากให้พวกเขาท่องจำ อธิบายว่าเป้าหมายของกิจกรรมคือให้เป็นคนแรกในกลุ่มที่เขียนข้อพระคัมภีร์นี้ได้ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม นักเรียนต้องใช้ดินสอแท่งเดียวที่ให้แต่ละกลุ่ม คนที่จะใช้ดินสอได้ต้องโยนลูกเต๋าไปที่เลข 1 (หรือจับกระดาษหมายเลข 1 ขึ้นมา) เชื้อเชิญสมาชิกในกลุ่มที่จะผลัดกันโยนลูกเต๋า (หรือจับกระดาษแล้วใส่คืน) เมื่อนักเรียนโยนได้เลข 1 คนนั้นจะนำดินสอมาเริ่มเขียนคำจากข้อพระคัมภีร์ในกระดาษของเขา โดยพูดออกเสียงแต่ละคำ ในขณะที่คนอื่นๆ ในกลุ่มผลัดกันโยนลูกเต๋า เมื่อนักเรียนอีกคนในกลุ่มโยนได้เลข 1 คนนั้นนำดินสอไปจากคนที่เขียนก่อนหน้าและเริ่มเขียนข้อพระคัมภีร์ในกระดาษของเขาขณะที่พูดออกเสียงคำนั้น คนที่เขียนก่อนหน้ากลับมาผลัดกันโยนลูกเต๋ากับกลุ่ม เมื่อนักเรียนที่โยนได้ดินสอและเขียนบางส่วนของข้อแล้วพวกเขาต้องอ่านออกเสียงส่วนที่เขียนไว้ก่อนที่จะเขียนเพิ่มจากข้อนั้น (นี่จะทำให้เกิดการทำซ้ำๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนท่องจำข้อพระคัมภีร์ได้) กิจกรรมนี้จบลงเมื่อนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละกลุ่มเขียนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ครบถ้วน
ขอให้ชั้นเรียนท่องออกเสียงข้อนั้นพร้อมๆ กันหลังจากกิจกรรม