คลังค้นคว้า
บทที่ 73: ยอห์น 13


บทที่ 73

ยอนห์ 13

คำนำ

หลังจากเสวยพระกระยาหารปัสกา พระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์และทรงระบุว่ายูดาสจะเป็นคนทรยศพระองค์ แม้จะมีความวุ่นวายในสัปดาห์สุดท้ายของการปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย แต่พระเยซูทรงมุ่งเน้นคำสอนของพระองค์ไปที่การเชื่อฟัง การรับใช้ และความรัก—คุณลักษณะที่นิยามพระชนม์ชีพของพระองค์และควรจะนิยามชีวิตสานุศิษย์ของพระองค์ในทุกรุ่น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 13:1–17

พระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์

ก่อนชั้นเรียน ให้ลอก แผนภาพ ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

ภาพ
กราฟความสุข

อ่านออกเสียงคำถามต่อไปนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะตอบอย่างไร (อธิบายว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องตอบออกเสียง)

  • ท่านให้ตัวท่านเองอยู่ตรงจุดไหนในกราฟนี้

  • ท่านต้องการมีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่เวลานี้หรือไม่

  • ท่านคิดถึงบางคนที่ท่านอยากจะช่วยให้เขามีความสุขได้หรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะศึกษา ยอห์น 13 ซึ่งจะช่วยให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อให้มีความสุขมากขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทของ ยอห์น 13 เตือนพวกเขาว่าพระเยซูทรงฉลองเทศกาลปัสกากับอัครสาวกของพระองค์ สรุป ยอห์น 13:1–3 โดยอธิบายว่าเมื่อพระเยซูเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายร่วมกับอัครสาวกก่อนการตรึงกางเขน พระองค์ทรงทราบว่าอีกไม่นานพระองค์จะสิ้นพระชนม์และจะเสด็จกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 13:4–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูทรงทำอะไรหลังจากพระองค์และอัครสาวกของพระองค์รับประทานอาหารปัสกาเสร็จ อธิบายว่าวลี “ทรงถอดฉลองพระองค์ออกวางไว้” ใน ข้อ 4 หมายถึงว่าพระเยซูทรงถอดฉลองพระองค์ด้านนอก คล้ายกับคนที่ถอดเสื้อคลุมออกในสมัยของเรา

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับใช้สานุศิษย์ของพระองค์อย่างไร

อธิบายว่า “ในสมัยพันธสัญญาใหม่ ผู้คนใส่รองเท้าแตะแบบเปิดเดินไปมาบนถนนที่ส่วนใหญ่เป็นดินซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกจากสัตว์ และมีน้ำอาบเป็นบางครั้งเท่านั้น เท้าของพวกเขาจึงสกปรกมาก และการล้างเท้าของคนอื่นคงเป็นงานที่น่ารังเกียจ … ประเพณีการรับใช้นี้มักทำโดยผู้รับใช้ที่ต้อยต่ำที่สุด” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 242) ระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้ายนี้ “พระคริสต์ทรงลุกขึ้นอย่างเงียบๆ คาดพระองค์เองอย่างที่ทาสหรือคนรับใช้ทำ และคุกเข่าลงล้างเท้าอัครสาวก” (Jeffrey R. Holland, “He Loved Them unto the End,” Ensign, Nov. 1989, 25)

ภาพ
พระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวก

แสดงภาพ พระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวก (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 55; ดู LDS.org ด้วย)

  • หากท่านอยู่ที่นั่นเมื่อพระเยซูทรงล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์ ท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหากพระเยซูทรงเริ่มล้างเท้าของท่าน

  • การล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์แสดงถึงพระอุปนิสัยอะไรของพระเยซู

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 13:8 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปโตรพูดอะไรเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงเริ่มล้างเท้าของเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 13:9–10 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้ขั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำตอบของเปโตรต่อสิ่งที่พระเจ้าตรัสบอกเขา

  • เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเปโตรจากคำตอบของเขาต่อสิ่งที่พระเจ้าตรัสบอกเขา ดังที่บันทึกไว้ใน ข้อ 9 (เปโตรเคารพพระเจ้าและต้องการติดตามพระองค์โดยไม่มีข้อแม้)

อธิบายว่าโดยการล้างเท้าอัครสาวกของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงแสดงการรับใช้อันล้ำเลิศเท่านั้น แต่พระองค์ทรงทำให้กฏของโมเสสมีสัมฤทธิผลและทรงจัดตั้งศาสนพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:708–9) ศาสนพิธีนี้ได้รับการฟื้นฟูในสมัยการประทานของเราผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (ดู คพ. 88:74–75, 137–41)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 13:11 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเหตุใดพระเยซูจึงตรัสว่าอัครสาวก “สะอาดแล้วแต่ไม่ใช่ทุกคน”

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสถึงใครเมื่อพระองค์ตรัสว่าอัครสาวก “สะอาดแล้วแต่ไม่ใช่ทุกคน” (ยูดาส อิสคาริโอท ซึ่งอีกไม่นานจะทรยศพระองค์)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 13:12–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรอัครสาวกของพระองค์หลังจากพระองค์ทรงล้างเท้าพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13–16 แบบอย่างอะไรที่พระผู้ช่วยทรงทำและทรงเชื้อเชิญอัครสาวกของพระองค์ให้ทำตาม (แม้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็น “พระอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า” [ข้อ 13] และทรงเป็นพระผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาสิ่งทั้งปวง แต่พระองค์ก็ทรงรับใช้ผู้อื่น)

  • ตามคำสัญญาของพระผู้ช่วยให้รอดที่ประทานแก่อัครสาวกของพระองค์ดังที่บันทึกไว้ใน ข้อ 17 พรอะไรที่เราจะได้รับเมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระองค์โดยการรับใช้ผู้อื่น (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยรับใช้ผู้อื่น เราจะมีความสุขมากขึ้น)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าเราจะมีความสุขมากขึ้นเมื่อเรารับใช้ผู้อื่นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขามีความสุขมากขึ้นเพราะพวกเขาทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการรับใช้ผู้อื่น เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขากับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์ของท่านเอง

เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ในการสวดอ้อนวอนตอนเช้าวันใหม่ของแต่ละวัน ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ให้ทรงนำทางท่านให้รับรู้ถึงโอกาสในการรับใช้คนคนหนึ่งในบรรดาบุตรธิดาอันล้ำค่าของพระองค์ จากนั้นจงดำเนินชีวิตในวันนั้นด้วยใจที่เปี่ยมด้วยศรัทธาและความรักโดยมองหาโอกาสที่ท่านจะช่วยเหลือผู้อื่น หากท่านทำดังนี้ ความรู้สึกรับรู้ทางวิญญาณของท่านจะขยาย ท่านจะพบโอกาสที่จะรับใช้อย่างที่ท่านไม่เคยตระหนักถึงมาก่อนเลยว่าจะเป็นไปได้ ” (“จงทำงานอย่างทุ่มเท,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 31)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดกล่าว เราจะหาโอกาสรับใช้คนอื่นได้อย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดโดยการรับใช้ผู้อื่น ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเตรียมระหว่างสองสามชั้นเรียนครั้งต่อไปเพื่อรายงานประสบการณ์ของพวกเขาในการรับใช้ผู้อื่น

ยอห์น 13:18–30

พระเยซูทรงระบุคนที่ทรยศพระองค์

สรุป ยอห์น 13:18–30 โดยอธิบายว่าหลังจากพระเยซูทรงสอนอัครสาวกของพระองค์ว่าพวกเขาจะมีความสุขถ้าพวกเขารับใช้ผู้อื่น พระองค์ตรัสว่าหนึ่งในพวกเขาจะทรยศพระองค์ เมื่อยอห์นถามว่าใครจะทรยศพระองค์ พระเยซูทรงระบุว่าหนึ่งในอัครสาวกของพระองค์ (ยูดาส) จะทรยศพระองค์

ยอห์น 13:31–38

พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้รักกัน

ถามนักเรียนว่ามีใครเคยกล่าวหาพวกเขาว่าไม่ได้เป็นชาวคริสต์ หรือเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์เนื่องจากพวกเขาเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหรือไม่ หากมีนักเรียนคนใดยกมือ ให้ถามว่าพวกเขาตอบข้อกล่าวหาว่าพวกเขาไม่ได้เป็นชาวคริสต์ว่าอย่างไร หากไม่มีนักเรียนคนใดเคยมีประสบการณ์นี้ ให้ถามว่า

  • ท่านจะตอบอย่างไรถ้ามีบางคนบอกว่าท่านไม่ได้เป็นชาวคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 13:34–35 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจะช่วยให้คนอื่นรู้ว่าอัครสาวกเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 34 พระเยซูประทานพระบัญญัติอะไรแก่อัครสาวกของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 35 คนอื่นๆ จะรู้อะไรหากอัครสาวกรักกันดังที่พระเยซูทรงรักพวกเขา

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากคำสอนที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานแก่อัครสาวกของพระองค์ (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเรารักกันดังที่พระเยซูคริสต์ทรงรักเรา คนอื่นๆ จะรู้ว่าเราเป็นสานุศิษย์ของพระองค์)

  • ตามที่ท่านได้ศึกษาไปแล้วปีนี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงรักผู้คนในทางใดบ้าง

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมข้างต้น เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านเรื่องราวต่อไปนี้ ซึ่งเล่าโดยเอ็ลเดอร์พอล อี. โคล์ลิเคอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบ

ภาพ
เอ็ลเดอร์พอล อี. โคล์ลิเคอร์

“ผู้สอนศาสนาวัยหนุ่มสองคนเคาะประตูบ้านหลังหนึ่ง โดยหวังว่าจะพบคนรับข่าวสารของพวกเขา ประตูเปิด ชายร่างใหญ่ทักทายพวกเขาด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยเป็นมิตรว่า ‘ผมคิดว่าผมบอกพวกคุณแล้วนะว่าอย่าเคาะประตูบ้านผมอีก ผมเคยเตือนพวกคุณแล้วว่าถ้าพวกคุณกลับมา ประสบการณ์นั้นอาจไม่น่าพอใจ อย่ามายุ่งกับผม’ เขาปิดประตูอย่างรวดเร็ว

“ขณะเอ็ลเดอร์เดินจากมา ผู้สอนศาสนาที่มีประสบการณ์มากกว่าและอายุมากกว่าโอบไหล่ผู้สอนศาสนาที่อายุน้อยกว่าเพื่อปลอบโยนและให้กำลังใจ พวกเขาไม่รู้ว่าชายคนนั้นแอบมองทางหน้าต่างเพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสองคนเข้าใจข่าวสารที่เขาบอก เขาคาดหวังเต็มที่ว่าจะเห็นทั้งสองคนหัวเราะและไม่ใยดีกับการตอบสนองอย่างหยาบคายต่อการพยายามมาเยี่ยมของพวกเขา แต่เมื่อเขาเห็นการแสดงความอ่อนโยนระหว่างผู้สอนศาสนาทั้งสอง ใจเขาอ่อนลงทันที เขาเปิดประตูอีกครั้งและขอให้ผู้สอนศาสนากลับมาแบ่งปันข่าวสารกับเขา

“… หลักธรรมของการมีความรักต่อกันและพัฒนาความสามารถในการให้พระคริสต์เป็นศูนย์รวมของสิ่งที่เราคิด พูด และทำคือรากฐานการเป็นสานุศิษย์ของพระคริสต์และครูสอนพระกิตติคุณ” (“พระองค์ทรงรักเราจริงๆ ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 17)

  • ผู้สอนศาสนาที่บรรยายไว้ในเรื่องราวนี้ทำตามคำแนะนำของพระเจ้าให้รักกันและกันอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนร้องเพลง “จงรักกันและกัน” (เพลงสวด, บทที่ 155) ขอให้พวกเขานึกถึงคนบางคนที่พวกเขารู้จักผู้ที่จำได้ง่ายว่าเป็นสานุศิษย์คนหนึ่งของพระเยซูคริสต์เนื่องจากความรักที่เขาแสดงต่อผู้อื่น หลังจากร้องเพลงสวดแล้ว ให้เชื้อเชิญนักเรียนแบ่งปันชื่อของคนที่พวกเขานึกถึงและอธิบายวิธีที่คนเหล่านั้นแสดงความรักต่อผู้อื่น ท่านอาจเล่าถึงคนที่ท่านนึกถึงให้ชั้นเรียนฟังด้วย

กระตุ้นให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาว่าพวกเขาจะทำอะไรเพื่อรักคนอื่นได้มากขึ้นอย่างที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักพวกเขา

สรุป ยอห์น 13:36–38 โดยอธิบายว่าหลังจากเปโตรประกาศว่าเขาจะสละชีวิตของเขาเองเพื่อพระเยซูคริสต์ พระเยซูตรัสบอกเปโตรว่าเขาจะปฏิเสธพระเยซูสามครั้งก่อนไก่ขัน

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

นำนักเรียนในการค้นหาข้อพระคัมภีร์โดยการใช้คำไขเพื่อช่วยให้พวกเขาฝึกหาข้อความในพระคัมภีร์ของพวกเขาได้อย่างรวดเร็ว สำหรับคำไข ท่านสามารถใช้คำสำคัญ ข้อความบริบท หลักคำสอนและหลักธรรม ตลอดจนแนวคิดการประยุกต์ใช้จากบัตรผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ ท่านอาจจะสร้างคำไขของท่านเองด้วย กิจกรรมการค้นหาพระคัมภีร์ซึ่งนักเรียนจะแข่งกันหาว่าข้อความนั้นอยู่ที่ไหนจะช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์อย่างแข็งขัน เมื่อใช้กิจกรรมการค้นหาพระคัมภีร์ ให้ทำในวิธีที่จะไม่ทำร้ายความรู้สึกหรือทำให้พระวิญญาณไม่พอพระทัย ช่วยนักเรียนหลีกเลี่ยงการปฏิบัติกับพระคัมภีร์อย่างไม่คารวะหรือแข่งขันกันมากจนเกินควร ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนแข่งขันกับมาตรฐานมากกว่าแข่งขันกันเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนสามารถแข่งกับครู หรือพวกเขาสามารถแข่งเพื่อดูว่าเปอร์เซ็นต์ของนักเรียนในห้องบางเปอร์เซ็นต์จะสามารถหาข้อพระคัมภีร์ภายในเวลาที่กำหนดได้หรือไม่

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 13:1–17 พระผู้ช่วยให้รอดทรงล้างเท้าสานุศิษย์ของพระองค์

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงล้างเท้าให้สานุศิษย์แสดงให้เห็นถึงการอุทิศพระองค์อย่างไม่สิ้นสุดต่อสานุศิษย์ของพระองค์

“ระหว่าง [พระกระยาหารมื้อสุดท้ายนี้] “พระคริสต์ทรงลุกขึ้นอย่างเงียบๆ คาดผ้าฉลองพระองค์เองอย่างที่ทาสหรือคนรับใช้ทำ และคุกเข่าลงล้างเท้าอัครสาวก (ดู ยอห์น 13:3–17) ในแวดวงเล็กๆ ของผู้เชื่่อในอาณาจักรที่แทบจะยังไม่ได้ก่อตั้งนี้กำลังจะผ่านการทดลองที่โหดร้ายที่สุดของพวกเขา ดังนั้นพระองค์จึงทรงวางความทุกข์ระทมที่เพิ่มขึ้นของพระองค์เองไว้ก่อนเพื่อว่าพระองค์จะทรงรับใช้และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พวกเขามากขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ไม่มีใครล้างพระบาทของพระองค์ ในความอ่อนน้อมถ่อมตนอันเหนือกว่า พระองค์จะทรงสอนและชำระพวกเขาให้สะอาดต่อไป ตราบจนโมงสุดท้าย—และต่อจากนั้น—พระองค์จะทรงเป็นผู้รับใช้ที่ค้ำจุนของพวกเขา” (“He Loved Them unto the End,” Ensign, Nov. 1989, 25)

ยอห์น 13:4–12 การล้างเท้าเป็นศาสนพิธีพระกิตติคุณ

งานแปลของโจเซฟ สมิธได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมเรื่องการล้างเท้าของสานุศิษย์ดังนี้ ‘บัดนี้นี่เป็นธรรมเนียมของชาวยิวภายใต้กฎของพวกเขา; ด้วยเหตุนี้, พระเยซูจึงทรงกระทำสิ่งนี้เพื่อกฎจะมีสัมฤทธิผล’ (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 13:10 [ใน คู่มือพระคัมภีร์])

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ความสำคัญโดยสมบูรณ์ของเรื่องนี้ไม่ปรากฎชัดต่อผู้ที่อ่านเป็นครั้งคราว ซึ่งก็ไม่ควรเป็นอย่างนั้น เนื่องจากการล้างเท้าเป็นศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้ทำในวิสุทธิสถานสำหรับคนที่ทำให้ตนเองมีค่าควร อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าชาวยิวมีศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ปฏิบัติในพระวิหารของพวกเขาด้วย ความรู้ในเรื่องนั้นไม่ได้สงวนไว้ และสงวนไว้ไม่ได้ ในงานเขียนใดที่ตกมาถึงเรา” (The Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 4:38–39)

คำเตือน: ท่านไม่จำเป็นต้องพูดถึงรายละเอียดใดมากไปกว่าถ้อยคำของเอ็ลเดอร์แมคคองกีซึ่งพูดถึงศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของการล้างเท้าที่ทำในพระวิหาร “สำหรับคนที่ทำให้ตนเองมีค่าควร” ให้ระลึกถึงคำเตือนต่อไปนี้จากประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“บางครั้งมีคนถามคำถามหรือพยายามพูดถึงศาสนพิธีที่เขาไม่ได้มีความรู้และไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา ครูกำลังก่อความเสียหายต่อนักเรียนของเขาเมื่อเขากระตุ้นความสงสัยหรือกระตุ้นการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหรือประสบการณ์ของพวกเขา อันได้แก่—พรบางประการที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ โอกาสบางอย่างที่จำกัดและรับมอบจากผู้มีสิทธิอำนาจพิเศษเท่านั้นและภายใต้สภาวการณ์พิเศษ … จะเป็นเรื่องชาญฉลาดอย่างแน่นอนสำหรับครูของเราที่ให้ปล่อยหัวข้อเหล่านี้ไว้และไม่ต้องไปกังวลหรือทำให้นักเรียนกังวลเกี่ยวกับหัวข้อเหล่านี้” (“The Ordinances of the Gospel” [คำปราศัยต่อคณาจารย์สถาบันศาสนาและเซมินารี, 18 มิถุนายน 1962], 2–3)

ยอห์น 13:17 “เมื่อท่านรู้อย่างนี้แล้วและประพฤติตาม ท่านก็เป็นสุข”

ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่าความสุขมาจากการรับใช้ผู้อื่น

“เพื่อพบความสุขที่แท้จริง เราต้องแสวงหาโดยมุ่งไปนอกตัวเราเอง ไม่มีใครเรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่จนกว่าเขาได้ยอมวางอัตตาของตนเองเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ การรับใช้ผู้อื่นเป็นเหมือนกับหน้าที่—สัมฤทธิผลของการรับใช้นำมาซึ่งปีติที่แท้จริง” (“Guideposts for Life’s Journey” [การให้ข้อคิดทางวิญญาณมหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์, 13 พ.ย. 2007], 4, speeches.byu.edu)

ยอห์น 13:23 “สาวกที่พระองค์ทรงรักเอนกายอยู่ใกล้พระองค์”

“ในสมัยพันธสัญญาใหม่ คนที่รับประทานอาหารอย่างเป็นทางการมักเอนกายไปตามเก้าอี้ยาวที่วางรอบโต๊ะ เอนตัวไปบนแขนข้างซ้ายโดยให้ศรีษะหันไปที่โต๊ะและเท้าชี้ออกนอกโต๊ะ ดังนั้น แขกที่นั่งอยู่ทางขวามือของเจ้าบ้านจะเอนกายไปหาเจ้าบ้าน นี่น่าจะเป็นที่ซึ่งอัครสาวกยอห์นนั่ง ‘เอนกายอยู่ใกล้พระเยซู’ หรือเอนไปหาพระเยซูระหว่างรับประทานอาหาร (เปรียบเทียบ ลูกา 16:22) ตำแหน่งนี้ทำให้ยอห์น สานุศิษย์ ‘ที่พระเยซูทรงรัก’ ได้สนทนาเป็นการส่วนตัวกับพระผู้ช่วยให้รอดโดยที่คนอื่นไม่ได้ยินระหว่างรับประทานอาหาร เช่นเรื่องการทรยศของยูดาส (ดู ยอห์น 13:23–28)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 242)

ยอห์น 13:34–35 “ให้รักซึ่งกันและกัน”

เอ็ลเดอร์ โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเกี่ยวกับความสำคัญของความรักและการเป็นสานุศิษย์ ดังนี้

“ความรักเป็นจุดเริ่มต้น จุดกึ่งกลาง และจุดสิ้นสุดของวิถีแห่งการเป็นสานุศิษย์ … สุดท้ายแล้ว ความรักนำเราไปสู่รัศมีภาพและความยิ่งใหญ่ของชีวิตนิรันดร์ …

“เมื่อพระเยซูประทานพระบัญญัติใหม่แก่สานุศิษย์ของพระองค์ดังนี้ ‘เรารักพวกท่านมาแล้วอย่างไร ท่านก็จงรักกันและกัน’ [ยอห์น 13:34] สิ่งที่พระองค์ประทานแก่พวกเขาคือกุญแจสำคัญของความสุขในชีวิตนี้และความรุ่งโรจน์ในชีวิตหน้า

“ความรักสำคัญที่สุดในบรรดาพระบัญญัติทั้งหมด—สิ่งอื่นทั้งหมดมีพื้นฐานอยู่บนความรัก นี่คือจุดมุ่งหมายของเราในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์” (ดู “พระบัญญัติข้อใหญ่,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 34, 36)

หลังจากพูดถึง ยอห์น 13:34–35 เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“ความรักที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสไว้นั้นเป็นความรักเชิงปฏิบัติ ไม่ประจักษ์ผ่านวีรกรรมและการกระทำใหญ่โต แต่ผ่านการกระทำอันเรียบง่ายจากความเมตตาและการรับใช้” (“พบปีติผ่านการรับใช้ด้วยความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 59)

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า

“ความรักเป็นคุณสมบัติสำคัญของสานุศิษย์พระคริสต์” (“ความรักของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 26)

พิมพ์