คลังค้นคว้า
บทที่ 60: ยอห์น 1


บทที่ 60

ยอห์น 1

คำนำ

ยอห์นผู้เป็นที่รักบันทึกหลักคำสอนสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของพระเยซูคริสต์ในโลกก่อนเกิด ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากล่าวคำพยานถึงพระเยซูคริสต์เช่นกันและถวายบัพติศมาพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเชื้อเชิญคนอื่นให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 1:1–18; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–19

ยอห์นเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
พระเจ้าพระเยซูคริสต์

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ แสดง ภาพ ของพระเยซูคริสต์ไว้กระดาน ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขากำลังพูดคุยกับบางคนที่รู้จักพระเยซูคริสต์น้อยมาก เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่ให้ใช้เวลาหนึ่งนาทีเพื่อสอนนักเรียนอีกคนหนึ่งเกี่ยวกับพระเยซูเสมือนหนึ่งนักเรียนอีกคนรู้จักพระองค์น้อยมาก หลังจากกิจกรรมนี้แล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนที่ได้รับการสอนเกี่ยวกับพระคริสต์แบ่งปันกับชั้นเรียนถึงสิ่งที่คู่สอนพวกเขา

แนะนำหนังสือของยอห์นสั้นๆ โดยอธิบายว่าอัครสาวกยอห์นบันทึกสิ่งที่ท่านต้องการให้วิสุทธิชนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ยอห์นเป็นพยานเห็นเหตุการณ์มากมายที่ท่านเขียนถึง เนื้อหาส่วนใหญ่ในพระกิตติคุณของยอห์นมีในพระกิตติคุณของมัทธิว มาระโก และลูกา ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อช่วยให้ชาวยิวและคนต่างชาติเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์และพระผู้ช่วยให้รอดของมนุษยชาติ ในทางตรงกันข้าม ยอห์นกลับเขียนให้คนเหล่านั้นเป็นพิเศษ นั่นคือคนที่เชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์

ขณะที่นักเรียนศึกษา ยอห์น 1 เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาความจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดที่จะเสริมสร้างศรัทธาและประจักษ์พยานของพวกเขาในพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–2 (ในคู่มือพระคัมภีร์) เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม ขอให้พวกเขามองหาสิ่งที่ยอห์นสอนไว้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • เราเรียนรู้ความจริงอะไรบ้างเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในข้อเหล่านี้ (ความจริงอย่างหนึ่งซึ่งนักเรียนควรระบุคือ พระเยซูคริสต์ประทับอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในกาลเริ่มต้น เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใกล้ภาพของพระผู้ช่วยให้รอด)

  • พระเยซูคริสต์ประทับอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในปฐมกาลหมายความว่า อะไร (อธิบายว่าวลี “ในกาลเริ่มต้น” หมายถึงการดำรงอยู่ก่อนเกิด พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรองค์แรกของพระบิดาในวิญญาณ [ดู คพ. 93:21] พระองค์ทรงเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ายืนอยู่ท่ามกลางวิญญาณที่มารวมกัน “ก่อนมีโลกขึ้นมา” [อับราฮัม 3:22–24] พระบิดาทรงเลือกพระองค์แล้วนับจากกาลเริ่มต้น [ดู โมเสส 4:2])

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:3 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้ชั้นเรียนมองหาความจริงเพิ่มเติมที่ยอห์นสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • ยอห์นสอนอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนทำนองนี้ พระเยซูคริสต์ทรงรังสรรค์สิ่งทั้งปวง เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใกล้ภาพของพระผู้ช่วยให้รอด)

อธิบายว่าพระเยซูคริสต์ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกภายใต้การกำกับดูแลของพระบิดาและพระเยซูคริสต์ทรงสร้างโลกนับไม่ถ้วน (ดู โมเสส 1:33) อย่างไรก็ตาม พระบิดาบนสวรรค์ทรงเก็บ “เหตุการณ์การสร้างสองเหตุการณ์” ไว้กับพระองค์เองคือ การสร้างวิญญาณทั้งหมด (รวมถึงพระเยซูคริสต์) และการสร้างร่างกายของอาดัมกับเอวา (บรูซ อาร์. แมคคองกี, A New Witness for the Articles of Faith [1985], 63; ดู โมเสส 2:27ด้วย)

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:4–5 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่ายอห์นบรรยายถึงพระเยซูและพระกิตติคุณของพระองค์ว่าอย่างไร

  • ยอห์นบรรยายถึงพระเยซูและพระกิตติคุณของพระองค์ว่าอย่างไร

  • “ในพระองค์มีพระกิตติคุณ” หมายความว่าอย่างไร (พระเยซูคริสต์ทรงเป็นข่าวดี เป็นร่างของพระกิตติคุณ)

  • ท่านคิดว่า “และความสว่างฉายส่องในโลก, และโลกหาได้สำเหนียกความสว่างนั้นไม่” หมายความว่าอย่างไร (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:5)

อธิบายว่าอัครสาวกยอห์นสอนต่อไปเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:6–10 (ในคู่มือพระคัมภีร์) ขอให้นักเรียนมองหาสิ่งที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาประกาศไว้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ใน ข้อ 9–10 หลักคำสอนอะไรที่อัครสาวกยอห์นสอนเกี่ยวกับพระเยซู (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนทำนองนี้ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดานใกล้ภาพพระผู้ช่วยให้รอด)

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลกในด้านใดบ้าง (ดู คพ. 88:5–13)

สรุป งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:11–18 (ในคู่มือพระคัมภีร์) โดยอธิบายว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเป็นพยานว่าคนทั้งปวงที่เชื่อในพระเยซูคริสต์จะได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์

ชี้ให้เห็นว่าใน ข้อ 14 และ 16 ยอห์นเรียกพระเยซูคริสต์ว่า “พระคำ” อธิบายว่านี่เป็นชื่อของพระเยซูคริสต์ที่พบในหลายๆ ที่ในพระคัมภีร์ (ดู ยอห์น 1:1, 14; 1 ยอห์น 1:1; วิวรณ์ 19:13; คพ. 93:8–10; โมเสส 1:32)

ชี้ให้เห็นว่าเราใช้คำเพื่อสื่อสารและเพื่อแสดงความคิด ความรู้สึก และแนวคิดกับคนอื่น

  • “พระคำ” เป็นพระนามที่เหมาะสมกับพระเยซูคริสต์ในด้านใดบ้าง

อธิบายด้วยว่าปราศจากงานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:18 อาจเกิดการเข้าใจผิดเพราะบอกว่าไม่มีมนุษย์คนไหนเคยเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:19 (ในคู่มือพระคัมภีร์)

แบ่งนักเรียนเป็นคู่กับคู่เดิมที่เคยอยู่ในกิจกรรมในช่วงเริ่มต้นชั้นเรียน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่ใช้เวลาหนึ่งนาทีเพื่อสอนคู่ของเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์โดยใช้หลักคำสอนที่ชั้นเรียนระบุใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:1–19 (ในคู่มือพระคัมภีร์) หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • เหตุใดจึงสำคัญสำหรับบางคนที่จะรู้หลักคำสอนเหล่านี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ยอห์น 1:19–34; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:20–34

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมากล่าวคำพยานถึงพระเยซูคริสต์และถวายบัพติศมาพระองค์

สรุป งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:20–28 (ในคู่มือพระคัมภีร์) โดยอธิบายว่าชาวยิวส่งปุโรหิตไปหายอห์นผู้ถวายบัพติศมาเพื่อถามว่าเขาเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่ ยอห์นอธิบายว่าบทบาทของเขาคือเพื่อเป็นพยานถึงพระเมสสิยาห์ ผู้จะบัพติศมาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ วันต่อมา ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเห็นพระเยซูผู้ซึ่งเขาได้ให้บัพติศมาก่อนหน้านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งให้ยืนขึ้นและอ่านออกเสียงคำของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาใน งานแปลของโจเซฟ สมิธ, 1:29–33 (ในคู่มือพระคัมภีร์) เสมือนว่านักเรียนคนนั้นเป็นยอห์นผู้ถวายบัพติศมา เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาต้องการให้คนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ชี้ไปที่ภาพของพระเยซูคริสต์และความจริงที่เขียนบนกระดาน ถามว่า

  • มีความจริงหรือคำบรรยายอะไรอื่นอีกเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่เราจะเพิ่มเติมได้จาก งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:29–33 (เขียนรายการคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดยอห์นผู้ถวายบัพติศมาจึงเรียกพระเยซูว่า “พระเมษโปดกของพระเจ้า”

ยอห์น 1:35–51

พระเยซูทรงเชื้อเชิญผู้ติดตามพระองค์ให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระองค์

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเข้าร่วมการประชุมอดอาหารและแสดงประจักษ์พยานได้ยินเพื่อนหลายคนแสดงประจักษ์พยานว่าพวกเขารู้ว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา วัยรุ่นคนนี้สงสัยว่าเพื่อนๆ “รู้” สิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร

  • ท่านจะตอบคำถามนี้อย่างไร

ขณะที่ชั้นเรียนศึกษา ยอห์น 1:35–51 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับ (หรือเสริมสร้าง) พยานของเราเองเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:35–37 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาทำอะไรในวันต่อมาหลังจากที่เขาถวายบัพติศมาพระเยซู

  • ยอห์นทำอะไรเมื่อเขาเห็นพระเยซู

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:38–39 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูตรัสกับสานุศิษย์สองคน

  • พระเยซูทรงถามสานุศิษย์สองคนว่าอะไร

  • คำตอบของพวกเขาคืออะไร

  • พระเยซูทรงเชื้อเชิญให้สานุศิษย์สองคนทำอะไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:40–42 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่อันดรูว์เรียนรู้หลังจากเขายอมรับพระดำรัสเชิญจากพระผู้ช่วยให้รอดให้ “มาดูเถิด”

  • อันดรูว์เรียนรู้อะไรจากการยอมรับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ “มาดูเถิด” (ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่าเราเรียนรู้จากงานแปลของโจเซฟ สมิธ ยอห์น 1:42 ว่าจะมีผู้เรียกเปโตรว่า “เคฟาส ซึ่งแปลว่า ผู้หยั่งรู้ หรือศิลา” [ใน คู่มือพระคัมภีร์] ซึ่งระบุว่าเปโตรจะกลายเป็นผู้หยั่งรู้ในศาสนจักร)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:43–46 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญฟีลิปให้ทำอะไร ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

  • คำใดใน ข้อ 45 ที่ระบุว่าฟีลิปได้รับพยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์หลังจากที่เขายอมรับพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ติดตามพระองค์

  • จากนั้นฟีลิปให้คำเชื้อเชิญอะไรแก่นาธานาเอล

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 1:47–51 มอบหมายให้คนหนึ่งเป็นผู้บรรยาย คนหนึ่งอ่านพระคำของพระเยซู และคนหนึ่งอ่านคำพูดของนาธานาเอล เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อนาธานาเอลยอมรับคำเชื้อเชิญให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซู

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากนาธานาเอลยอมรับคำเชื้อเชิญให้เรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซู

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเรื่องราวเหล่านี้ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเรายอมรับคำเชื้อเชิญให้เรียนรู้และติดตามพระเยซูคริสต์ เราจะได้รับพยานของเราเองเกี่ยวกับพระองค์)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ดูเหมือนว่าแก่นแท้ของชีวิตบนโลกนี้และคำตอบสำหรับคำถามที่สำคัญที่สุด ถูกย่อลงเป็นข่าวสารสั้นๆ สองประการซึ่งพบได้ในการเริ่มต้นปฏิบัติภารกิจบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอด ประการแรกเป็นคำถามสำหรับเราแต่ละคนบนโลกนี้ ‘ท่านหาอะไร? ท่านต้องการอะไร?’ ประการที่สองเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตอบคำถามของเรา ไม่ว่าคำตอบนั้นจะเป็นอะไร ไม่ว่าเราจะเป็นใครและเราจะตอบว่าอย่างไร คำตอบของพระองค์เหมือนกัน เสมอ นั่นคือ ‘มาเถิด’ พระองค์ตรัสด้วยความรัก ‘จงตามเรามาเถิด’ ที่ใดก็ตามที่ท่านกำลังจะไป ประการแรกจงมาและดูสิ่งที่เราทำ ดูสถานที่และวิธีที่เราใช้เวลาของเรา แล้วจงเรียนรู้จากเรา เดินกับเรา คุยกับเรา จงเชื่อ จงฟังเราสวดอ้อนวอน แล้วท่านจะค้นพบคำตอบในคำสวดอ้อนวอนของท่านเอง พระผู้เป็นเจ้าจะทำให้จิตใจของท่านทั้งหลายได้พัก” (ดู “พระองค์ทรงโปรดให้คนอดอยากอิ่มด้วยสิ่งดี,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998,77)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองความพยายามของพวกเขาเองในการเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และติดตามพระองค์

  • ประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เพิ่มขึ้นขณะที่ท่านเรียนรู้และติดตามพระองค์ในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสองสามประโยคลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อยอมรับการเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า “มาดูเถิด” ให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อเรียนรู้และติดตามพระองค์

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับหลักธรรมที่ระบุในชั้นเรียนวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 1:9 “ความสว่างแท้ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเห็นความจริงได้นั้นกำลังเข้ามาในโลก”

งานเขียนของยอห์นเป็นที่เดียวที่มีคำสอนจากพันธสัญญาใหม่เกี่ยวกับความแสงสว่างของพระคริสต์ พจนานุกรมไบเบิลอธิบายว่า

“แสงสว่างของพระคริสต์เป็นดังที่คำนั้นบอกความหมายคือ เป็นการรู้แจ้ง ความรู้ และอิทธิพลหนุนใจ ที่สูงส่ง พากเพียรซึ่งมาสู่มนุษยชาติเนื่องจากพระเยซูคริสต์ ยกตัวอย่างเช่น พระคริสต์คือ ‘แสงสว่างที่แท้จริงซึ่งให้ความสว่างทุกคนที่มาในโลก’ (คพ. 93:2; ดู ยอห์น 1:9) แสงสว่างของพระคริสต์เติมเต็ม ‘ความกว้างใหญ่ไพศาลของที่ว่าง’ และเป็นวิธีที่พระคริสต์ทรงสามารถอยู่ ‘ในสิ่งทั้งปวง, ทรงผ่านทะลุสิ่งทั้งปวง, และทรงอยู่รายรอบสิ่งทั้งปวง’ แสงสว่างนั้น ‘ให้ชีวิตแก่สิ่งทั้งปวง’ และเป็น ‘กฎที่โดยกฎนั้นสิ่งทั้งปวงถูกปกครอง’ เป็น ‘ความสว่างเดียวกันที่ชุบชีวิตให้แก่’ ความเข้าใจของมนุษย์ด้วย (ดู คพ. 88:6–13, 41) ในวิธีนี้ แสงสว่างของพระคริสต์เกี่ยวข้องกับมโนธรรมของมนุษย์และบอกเขาถึงสิ่งที่ถูกต้องจากสิ่งที่ผิด (โมโรไน 7:12–19)

“ไม่ควรสับสนแสงสว่างของพระคริสต์กับพระอติรูปของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เนื่องจากแสงสว่างของพระคริสต์ไม่ได้เป็นพระอติรูปเลย อิทธิพลของแสงสว่างของพระคริสต์นั้นเป็นขั้นแรกของการเตรียมรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ของคนๆ หนึ่ง” (Bible Dictionary, “Light of Christ”)

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับแสงสว่างของพระคริสต์ดังนี้

“ความสว่างของพระคริสต์คือพลังอันศักดิ์สิทธิ์หรืออิทธิพลดังกล่าวซึ่งมาจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านพระเยซูคริสต์ ความสว่างนี้ให้แสงสว่างและชีวิตแก่สรรพสิ่งทั้งปวง กระตุ้นเตือนคนทุกคนทั่วโลกที่มีเหตุผลให้แยกแยะความจริงจากความผิดพลาด ถูกจากผิด ความสว่างนี้กระตุ้นมโนธรรมของท่าน” (“สันติสุขในจิตสำนึกและสันติสุขในใจ,”เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 18)

ยอห์น 1:14, 29 ตำแหน่งและพระนามของพระเยซูคริสต์เช่น “พระคำ” และ “พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า”

อัครสาวกยอห์นบอกว่าจุดประสงค์ของท่านในการเขียนหนังสือเล่มนี้คือเพื่อชักชวนให้คนอื่นเชื่อในพระเยซูคริสต์ ตลอดทั้งกิตติคุณของท่าน ยอห์นใช้หลายพระนามหรือตำแหน่งเพื่่อช่วยให้ผู้อ่านทั้งเข้าใจและระบุได้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ตัวอยางเช่น ใน ยอห์น 1 พระเยซูได้รับการเรียกขานว่า “พระคำ” และเป็น “พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า”

พระเยซูทรงเป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้าเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นคำพูดหรือตัวแทนของพระบิดาต่อโลก พระองค์ทรงประกาศพระคำของพระบิดา [ดู คพ. 93:8] พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์พร้อมถึงวิธีดำเนินชีวิตตามพระคำของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ประทานพระคำแห่งชีวิตนิรันดร์ และพระคำของพระองค์ประทานชีวิต

พระเยซูทรงเป็นพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าเฉกเช่นเลือดของแกะปัสกาที่ช่วยให้อิสราเอลรอดจากความตายและนำพวกเขาออกจากความเป็นทาสของชาวอียิปต์ พระนาม “พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า” บอกว่าพระเยซูจะทรงหลั่งพระโลหิตของพระองค์เพื่อช่วยผู้คนของพระองค์ให้รอดและนำพวกเขาออกจากบาป (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “พระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า”)

พระกิตติคุณของยอห์นบันทึกพระนามและพระสมัญญานามหลากหลายที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ พระสมัญญานามในบางกรณีกล่าวไว้เป็นนัยแต่พระสมัญญานามอื่นมีการระบุอย่างเปิดเผยด้วยคำว่า “เราเป็น …” มีบางตัวอย่างซึ่งรวมถึงการที่พระเยซูได้รับการระบุว่าเป็นผู้ประทานน้ำดำรงชีวิต (ดู ยอห์น 4:10–14) และพระเยซูตรัส “เราเป็นอาหารแห่งชีวิต” (ยอห์น 6:35); “เราเป็นความสว่างของโลก” (ยอห์น 8:12); “เราเป็นผู้เลี้ยงที่ดี” (ยอห์น 10:11); “เราเป็นชีวิตและการเป็นขึ้นจากตาย” (ยอห์น 11:25); “เราเป็นทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต” (ยอห์น 14:6); และ “เราเป็นเถาองุ่นแท้” (ยอห์น 15:1)

ยอห์น 1:19–28 ใครคือเอลีอัสและเอลียาห์

“ผู้นำชาวยิวถามยอห์นว่าท่านเป็น ‘เอลีอัส’ หรือไม่ (ชื่อภาษากรีกของ ‘เอลียาห์’ ในภาษาฮีบรู) ผู้ซึ่งได้รับการพยากรณ์ว่าวันหนึ่งจะกลับมา (ดู มาลาคี 4:5–6) ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ พระเจ้าทรงเปิดเผยเรื่องราวที่สมบูรณ์มากขึ้นถึงคำตอบของยอห์นที่ให้แก่ผู้นำชาวยิว ซึ่งบอกถึงความรู้ของยอห์นเกี่ยวกับพันธกิจของท่านเองในฐานะผู้ที่จะมาเตรียมมรรคาสำหรับพระเมสสิยาห์ จากคำถามของพวกเขา ยอห์น ‘สารภาพ, และไม่ได้ปฏิเสธ ว่าเขาเป็นเอลีอัส; แต่สารภาพ, โดยกล่าวว่า; เราไม่ใช่พระคริสต์’ (งานแปลของโจเซฟ สมิธ, ยอห์น 1:21 [ใน คู่มือพระคัมภีร์])

“ยอห์นเข้าใจ อย่างที่ปุโรหิตและชาวเลวีไม่เข้าใจ ว่ามีความหมายหลายอย่างต่อชื่อตำแหน่ง เอลีอัส ( คู่มือพระคัมภีร์, ‘เอลีอัส’; scriptures.lds.org) ยอห์นเป็นเอลีอัส คนหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าผู้มาก่อนพระเมสสิยาห์ แต่ท่านไม่ใช่เอลีอัส คนนั้น ผู้เป็นพระเยซูคริสต์ พระเมสสิยาห์ ยอห์นไม่ใช่ศาสดาพยากรณ์เอลียาห์ด้วย ผู้ที่ชื่อในภาษากรีกคือ เอลีอัส …

“เมื่อยอห์นปฏิเสธว่าท่านไม่ใช่เอลียาห์ ผู้นำชาวยิวถามท่านว่า ‘ท่านเป็นผู้เผยพระวจนะคนนั้นหรือ?’ (ยอห์น 1:21) คำถามของพวกเขาน่าจะหมายถึงคำพยากรณ์ของโมเสสใน เฉลยธรรมบัญญัติ 18:15 ที่บอกว่า ‘พระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านจะโปรดให้ผู้เผยพระวจนะเช่นเดียวกับข้าพเจ้านี้เกิดขึ้นในหมู่ของพวกท่านจากพี่น้องของหวกท่าน พวกท่านจงเชื่อฟังเขา’ อย่างไรก็ตาม โดยการถามยอห์นว่าท่านเป็น ‘ผู้เผยพระวจนะคนนั้น’ หรือไม่หลังจากที่ท่านปฏิเสธแล้วว่าท่านไม่ใช่พระคริสต์ ชาวยิวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เข้าใจธรรมชาติแห่งพระเมสสิยาห์ในการพยากรณ์ของโมเสส ชาวยิวหลายคนในสมัยของพระเยซูตั้งตารอคอยการมาของศาสดาพยากรณ์ผู้ซึ่งจะเป็นเหมือนโมเสสแต่ไม่ใช่พระเมสสิยาห์ ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดเมื่อหลายคนในเยรูซาเล็มประกาศในภายหลังว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็น ‘ผู้เผยพระวจนะ’ ขณะที่คนอื่นๆ ประกาศว่าพระองค์ทรงเป็น ‘พระคริสต์’ (ยอห์น 7:40–41; ดู 6:14 ด้วย)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 201–2)

พิมพ์