คลังค้นคว้า
บทที่ 68: ยอห์น 8:31–59


บทที่ 68

ยอห์น 8:31–59

คำนำ

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนที่พระวิหารต่อไปหลังจากเทศกาลอยู่เพิง พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการเป็นไทจากบาป เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์ที่ยิ่งใหญ่ ชาวยิวพยายามเอาหินขว้างพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 8:31–36

พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับการเป็นไทจากบาป

เพื่อช่วยให้นักเรียนจำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในบทเรียนที่ผ่านมา ให้ชูหินก้อนเล็กๆ ขึ้น เชื้อเชิญนักเรียนให้สรุปสั้นๆ ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบว่าอย่างไรเมื่อพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีนำเอาหญิงคนหนึ่งที่ถูกจับฐานล่วงประเวณีและพระองค์ทรงสอนอะไรหลังจากนั้น (ดู ยอห์น 8:1–30) (พระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้ทรงกล่าวโทษหญิงคนนั้นและบอกเธอว่า “อย่าทำบาปอีก” [ข้อ 11] หลังจากนั้นพระเยซูทรงสอนว่าพระองค์ทรงเป็น “ความสว่างของโลก” [ข้อ 12] เมื่อเราเชื่อในพระองค์และเชื่อฟังคำสอนของพระองค์ เราจะรู้จักพระบิดา)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 8:30 การกระทำและพระดำรัสของพระเยซูส่งผลต่อชาวยิวจำนวนมากอย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าชาวยิวหลายคนเชื่อในพระเยซู แต่ชาวยิวบางคนยังคงท้าทายพระองค์เมื่อพระองค์ทรงสอนผู้คนเกี่ยวกับการเป็นสานุศิษย์ ความจริง และการเป็นไทกับการเป็นทาส

วาด แผนภาพ ต่อไปนี้บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพ ช่องว่างไปสู่ความเป็นไท

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:31–32 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูตรัสว่าเราจำเป็นต้องทำเพื่อเป็นไท

เชื้อเชิญให้นักเรียนออกมาที่กระดานและเติมข้อความในช่องว่างตามสิ่งที่พระเยซูตรัสว่าเราจำเป็นต้องทำเพื่อเป็นไท แผนภาพ ที่ครบถ้วนควรคล้ายกับแผนภาพต่อไปนี้

ภาพ
แผนภาพที่ครบถ้วน ความเป็นไท
  • การ “ยึดมั่นในคำสอน [ของพระคริสต์]” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 31)

  • ท่านจะสรุปคำสอนของพระคริสต์ที่บันทึกใน ข้อ 31–32 เป็นประโยคบรรยายหลักธรรมหนึ่งว่าอย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าเป็นที่ชัดเจนว่า ถ้าเรายึดมั่นในคำสอนของพระเยซูคริสต์ เราจะเป็นสานุศิษย์ของพระองค์และรู้ความจริง ซึ่งจะทำให้เราเป็นไท ท่านอาจเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นด้วยว่า ยอห์น 8:36 เน้นว่าเราสามารถเป็นไทได้เนื่องจากพระเยซูคริสต์)

เชื้อเชิญนักเรียนอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่าเราจะเป็นไทจากอะไรหากเราดำเนินชีวิตตามพระคำของพระผู้ช่วยให้รอด

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“เป็นไทจากพลังอำนาจอันวิบัติของหลักคำสอนที่ผิดๆ เป็นไทจากความเป็นทาสของความอยากและความใคร่ เป็นไทจากตรวนแห่งบาป เป็นไทจากอิทธิผลที่ชั่วร้ายและเสื่อมทราม จากพลังอำนาจอันเหนี่ยวรั้งและจำกัด เป็นไทที่จะดำเนินต่อไปในอิสรภาพอันไม่กำจัดที่สัตภาวะผู้สูงส่งแล้วเท่านั้นจะได้รับในความบริบูรณ์” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:456–57)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:33 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ชาวยิวเชื่อว่าจะทำให้เขาเป็นไท

  • ชาวยิวเชื่อว่าอะไรจะทำให้พวกเขาเป็นไท (พวกเขาเชื่ออย่างผิดๆ ว่าเพียงการเป็นผู้สืบตระกูลของอับราฮัมและการเป็นทายาทของพันธสัญญาอับราฮัมจะทำให้พวกเขาได้รับสิทธิ์เป็นไททางวิญญาณ)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:34–36 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงระบุว่าผู้คนต้องเป็นไทจากสิ่งนั้น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 34 พระเยซูทรงระบุว่าผู้คนต้องเป็นไทจากอะไร

ชี้ให้เห็นว่าคำกริยาในภาษากรีกที่แปลว่า “ทำ” ใน ข้อ 34 แนะแนวคิดว่าเป็นการทำบาปต่อไปแทนที่จะเป็นการกลับใจ

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก ข้อ 34 (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราทำบาปและไม่กลับใจ เราจะกลายเป็นทาสของบาป)

  • การเป็น “ทาสของบาป” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าคำที่แปลว่า “ทาส” อาจแปลว่า “ข้ารับใช้” ด้วย)

เพื่อช่วยให้นักเรียนนึกภาพความสัมพันธ์ระหว่างหลักธรรมทั้งสองที่พวกเขาระบุ ให้วาด แผนภาพ ต่อไปนี้บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพ การเลือกและผล
  • เหตุใดบางคนในทุกวันนี้จึงสับสนระหว่างความจริงเหล่านี้โดยเชื่อว่าการทำตามพระผู้ช่วยให้รอดทำให้เราเป็นทาส ขณะที่การทำบาปทำให้เป็นไท

เพื่อช่วยให้ชั้นเรียนเข้าใจหลักธรรมสองข้อที่พวกเขาระบุมากขึ้น เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“การยอมตนต่อการล่อลวง [ของซาตาน] นำไปสู่ทางเลือกที่แคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีทางเลือกอีกต่อไปและไปสู่การเสพติดที่ทำให้เราไม่มีอำนาจที่จะต่อต้าน …

“… โลกนี้มองทุกสิ่งผ่านเลนส์ของคอริฮอร์ โดยมองว่าการเชื่อฟังกฎและศาสนพิธีของพระผู้เป็นเจ้าเป็น ‘ทาส’ (แอลมา 30:24, 27) …

“… มีใครสงสัยเรื่องนั้นหรือไม่ ผลจากการครอบครองความสว่างและความจริงทั้งมวล พระผู้เป็นเจ้าทรงครอบครองอิสรภาพสูงสุดที่จะเป็นและทำ

“เช่นเดียวกันนั้น เมื่อความเข้าใจในหลักธรรมและหลักคำสอนพระกิตติคุณของเราเพิ่มขึ้น สิทธิ์เสรีของเราก็ขยายมากขึ้น ประการแรก เรามีทางเลือกมากขึ้น สามารถประสบความสำเร็จได้มากขึ้นและได้รับพรที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเนื่องจากเรามีกฎมากขึ้นที่เราสามารถเชื่อฟัง … ประการที่สอง ด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเราสามารถทำการเลือกที่ชาญฉลาดมากขึ้นเนื่องจากเราเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นไม่ใช่แค่ทางเลือกเท่านั้นแต่ผลที่อาจเกิดขึ้นจากทางเลือกเหล่านั้นด้วย” (“Moral Agency,” Ensign, June 2009, 49, 50–51)

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ เชื้อเชิญให้แต่ละคู่ศึกษาหมวดที่มอบหมายให้ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร, 2011) ขอให้นักเรียนวาด แผนภูมิ ต่อไปนี้ในสมุดจดหรือในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการวาดไว้บนกระดาน) เชื้อเชิญให้แต่ละคู่อ่านหมวดที่มอบหมายให้พวกเขาด้วยกันจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน และเติมแผนภูมิ

มาตรฐานที่สนทนาใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน:

การดำเนินชีวิตตามมาตรฐานนี้จะนำมาซึ่งความเป็นไทในทางใดบ้าง

ความล้มเหลวในการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานนี้นำมาซึ่งความเป็นทาสในทางใดบ้าง

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนแต่ละคู่ให้สลับคู่และสอนสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรฐานที่พวกเขาศึกษา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้รายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับชั้นเรียน

  • ความเป็นไทเช่นใดที่สัญญาไว้ใน เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ที่ท่านเคยประสบเป็นการส่วนตัว

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนวิธีใดวิธีหนึ่งที่พวกเขาจะพยายามเป็นไทโดยการดำเนินชีวิตตามพระคำของพระผู้ช่วยให้รอด

ยอห์น 8:37–59

พระเยซูทรงเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้สั้นๆ

  • ท่านรู้จักใครที่คล้ายกับบิดาของเขาหรือเธอมาก

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 8:37–40, 44–45 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้นำชาวยิวที่ต่อต้านพระเจ้าแตกต่างจากศาสดาพยากรณ์อับราฮัมผู้ยิ่งใหญ่ในพันธสัญญาเดิม ผู้ที่พวกเขาอ้างว่าเป็นบิดาอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 39 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าพวกเขาจะทำอะไรหากพวกเขาเป็นลูกของอับบราฮัม

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 40 พวกเขาพยายามทำอะไรที่อับราฮัมจะไม่มีวันทำ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 44–45 ใครที่พระเยซูตรัสว่าเป็นบิดาของพวกเขา (มาร) พวกเขาติดตามมารในทางใดบ้าง

สรุป ยอห์น 8:46–50 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าคนที่เป็นของพระผู้เป็นเจ้ารับพระคำของพระองค์ ผู้นำชาวยิวพยายามสบประมาทพระเยซูโดยเรียกพระองค์ว่าชาวสะมาเรีย (เพราะชาวสะมาเรียโดยทั่วไปถูกชาวยิวรังเกียจ) และอ้างว่าพระองค์ทรงถูกมารสิง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:51–53 ให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำถามที่ผู้นำชาวยิวถามพระเยซู

  • พวกเขาถามอะไรพระเยซู (ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนให้ทำเครื่องหมายคำถาม “ท่านยิ่งใหญ่กว่าอับราฮัมบิดาของเราที่ตายไปแล้วหรือ?” ใน ข้อ 53)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:56–58 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพระดำรัสที่พระเยซูทรงตอบคำถามชาวยิว

  • อะไรคือพระดำรัสตอบของพระเยซูต่อคำถามที่ว่า “ท่านยิ่งใหญ่กว่าอับราฮัมบิดาของเราที่ตายไปแล้วหรือ?” (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลี “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็นอยู่แล้ว” ข้อ 58)

อธิบายว่าวลี “เราเป็นอยู่แล้ว” ในข้อ 58 หมายถึงพระเยโฮวาห์ (ดู อพยพ 3:14)

  • คำว่า “เราเป็น” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องอธิบายว่าพระเยโฮวาห์เป็นพระนามซึ่งชาวยิวรู้จักพระผู้เป็นเจ้าของอับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนความจริงต่อไปนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา พระเยซูคริสต์คือพระเยโฮวาห์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม)

  • ตามการศึกษา ข้อ 58 ของท่าน อะไรคือพระดำรัสตอบของพระเยซูต่อคำถามที่ว่าพระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่าอับราฮัมหรือ

ภาพ
ชายสามคนในเตาไฟที่ลุกโชน
ภาพ
ดาเนียลในถ้ำสิงโต

ให้ดูภาพสองสามภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ ([2009]; ดู LDS.orgด้วย) ที่แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ ดังที่บันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิม (เช่น ชายสามคนในเตาไฟที่ลุกโชน, ภาพที่ 25; หรือ ดาเนียลในถ้ำสิงโต, ภาพที่ 26)

  • หากท่านกำลังยืนอยู่ต่อหน้าพระเยซูและได้ยินพระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระองค์นั้นที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ซึ่งบันทึกไว้ในพันธสัญญาเดิม ท่านจะตอบพระองค์อย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:59 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้นำชาวยิวตอบสนองต่อการประกาศของพระเยซูว่าพระองค์ทรงเป็นพระเยโฮวาห์อย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าสำคัญสำหรับเราที่จะรู้ว่าพระเยซูคริสต์คือพระเยโฮวาห์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งพันธสัญญาเดิม

ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนให้แบ่งปันประจักษ์พยานของพวกเขาเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์กับชั้นเรียน ท่านอาจต้องการสรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเองด้วย

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

การทดสอบและข้อสอบจะให้โอกาสนักเรียนทดสอบความจำของพวกเขาเกี่ยวกับข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ คำไขอาจรวมถึงคำสำคัญหรือข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ ข้อความที่ยกมาจากพระคัมภีร์ หรือสถานการณ์ที่แสดงความจริงซึ่งสอนไว้ในข้อพระคัมภีร์ อาจมีการสอบปากเปล่า บนกระดาน หรือในกระดาษ หลังจากนักเรียนตอบคำถามหรือแบบทดสอบแล้ว ให้พิจารณาจับคู่นักเรียนที่มีปัญหากับข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ให้ทำงานกับนักเรียนที่มีคะแนนสูง นักเรียนที่มีคะแนนสูงสามารถติวให้นักเรียนที่มีคะแนนต่ำกว่าเพื่อช่วยศึกษาและพัฒนา (หากท่านทำเช่นนี้ ให้แน่ใจว่าท่านทำในลักษณะที่ไม่ทำให้นักเรียนที่ทำคะแนนได้น้อยรู้สึกอับอาย)

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 8:33 “เราสืบเชื้อสายมาจากอับราฮัม”

การที่ชาวยิวประกาศว่าพวกเขาเป็นเชื้อสายของอับราฮัมแสดงให้เห็นความเข้าใจผิดทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาอับราฮัมและหลักคำสอนเรื่องการแต่งตั้งล่วงหน้า คำอธิบายต่อไปนี้จากพจนานุกรมพระคัมภีร์ไบเบิลอธิบายคำสัญญาที่ทำกับพงศ์พันธุ์ของอับราฮัมและความรับผิดชอบของพงศ์พันธุ์ดังกล่าว

“ตอนแรกอับราฮัมได้รับพระกิตติคุณโดยการบัพติศมา (ซึ่งเป็นพันธสัญญาแห่งความรอด) จากนั้นเขาได้รับฐานะปุโรหิตที่สูงขึ้น และเขาได้เข้าสู่การแต่งงานซีเลสเชียล (ซึ่งเป็นพันธสัญญาแห่งความสูงส่ง) จึงได้รับการรับรองว่าเขาจะมีการเพิ่มพูนนิรันดร์ ท้ายที่สุด เขาได้รับสัญญาว่าลูกหลานมนุษย์ของเขาจะได้รับพรทุกประการของพันธสัญญาเหล่านี้ (คพ. 132:29–50; อับราฮัม 2:6–11) … ลูกหลานของอับราฮัมจะได้รับแผ่นดินแห่งหนึ่งเป็นมรดกนิรันดร์ (อพยพ 17; 22:15–18; กาลาเทีย 3; อับราฮัม 2) สัญญาเหล่านี้เรียกรวมกันว่า พันธสัญญาแห่งอับราฮัม …

“มีการต่อพันธสัญญาส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรอดส่วนตัวและการเพิ่มพูนนิรันดร์เกิดกับแต่ละบุคคลที่รับศาสนพิธีของการแต่งงานซีเลสเชียล (ดู คพ. 132:29–33) คนเหล่านั้นที่ไม่ได้เป็นเชื้อสายอิสราเอล หรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็นคนต่างชาติ ได้รับอุปการะสู่เชื้อสายแห่งอิสราเอล กลายเป็นทายาทของพันธสัญญาและพงศ์พันธุ์ของอับราฮัม ผ่านทางศาสนพิธีของพระกิตติคุณ (กาลาเทีย 3:26–29)

“การเป็นทายาทของพันธสัญญาแห่งอับราฮัมไม่ได้ทำให้คนๆ หนึ่งเป็น ‘คนที่เลือกแล้ว’ โดยอัตโนมัติแต่หมายความว่าบุคคลนั้นได้รับเลือกให้รับผิดชอบในการนำพระกิตติคุณออกไปสู่คนทั้งปวงในโลก พงศ์พันธุ์ของอับราฮัมต้องนำงานเผยแผ่ศาสนาไปสู่ทุกประชาชาติตั้งแต่สมัยของอับราฮัม (มัทธิว 3:9; อับราฮัม 2:9–11)” (Bible Dictionary, “Abraham, Covenant of”)

ยอห์น 8:58 ประโยค “ก่อนอับราฮัมเกิด เราเป็นอยู่แล้ว” หมายความว่าอย่างไร

เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายความหมายและความสำคัญของคำว่า “เราเป็นอยู่แล้ว”

“พระเยซูคือพระเยโฮวาห์ … (ดู อพยพ 6:3; สดุดี 83:18; อิสยาห์ 12:2; อิสยาห์ 26:4) การใช้พระนามอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นการยืนยันพระคัมภีร์สมัยใหม่ด้วย (ดู โมโรไน 10:34; คพ. 109:68; คพ. 110:3; คพ. 128:9) พระเยโฮวาห์มาจากคำในภาษาฮีบรูว่า hayah ซึ่งแปลว่า ‘ทรงเป็น’ หรือ ‘ทรงดำรงอยู่’ รูปแบบของคำว่า hayah ในอักษรภาษาฮีบรูของพันธสัญญาเดิมแปลว่า เราเป็น (ดู อพยพ 3:14)

“เป็นที่น่าสังเกตว่าพระเยโฮวาห์ทรงใช้ เราเป็น เป็นพระนามของพระองค์เอง (ดู คพ. 29:1; คพ. 38:1; คพ. 39:1) อ่านคำพูดจากพันธสัญญาเดิมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ โมเสสเพิ่งรับการแต่งตั้งจากสวรรค์ที่เขาไม่ได้แสวงหา เป็นการแต่งตั้งให้นำลูกหลานของอิสราเอลออกจากความเป็นทาส ฉากนี้เกิดขึ้นที่ยอดเขาซีนาย

“‘โมเสสจึงทูลพระเจ้าว่า ข้าพระองค์เป็นใครที่จะไปเข้าเฝ้าฟาโรห์และนำชนชาติอิสราเอลออกจากอียิปต์’

“ไม่สงสัยเลยว่าโมเสสรู้สึกว่าไร้ความสามารถที่จะทำการเรียกของเขา เหมือนกับที่ท่านและข้าพเจ้าอาจเป็นเช่นนั้นเมื่อได้รับงานมอบหมายที่ท้าทาย

“‘โมเสสทูลพระเจ้า [อีกครั้ง] ว่า เมื่อข้าพระองค์ไปหาชนชาติอิสราเอล และบอกพวกเขาว่า พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของท่านทั้งหลาย ทรงใช้ให้ข้าพเจ้ามาหาพวกท่าน และพวกเขาจะถามข้าพระองค์ว่า พระองค์ทรงพระนามว่าอะไร ข้าพระองค์จะตอบเขาว่าอย่างไร

“‘พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่า เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น แล้วพระองค์ตรัสว่า ไปบอกชนชาติอิสราเอลดังนี้ว่า พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า เราเป็น ทรงใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย

“‘พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสอีกว่า เจ้าจงกล่าวแก่ชนชาติอิสราเอลดังนี้ว่า พระยาห์เวห์ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของพวกท่าน คือพระเจ้าของอับราฮัม พระเจ้าของอิสอัค และพระเจ้าของยาโคบ ทรงใช้ให้ข้าพเจ้ามาหาพวกท่าน นี่เป็นนามของเราตลอดไป’ (อพยพ 3:11, 13–15)

“พระเยโฮวาห์ทรงเปิดเผยแก่โมเสสถึงพระนามนี้ที่พระองค์ทรงเลือกด้วยพระจริยวัตรอันสุภาพอ่อนน้อมเพื่อเป็นการแสดงพระอัตลักษณ์ก่อนมรรตัยของพระองค์เองคือ ‘เราเป็น’” (“Jesus the Christ: Our Master and More,” Ensign, Apr. 2000, 6–7)

พิมพ์