คลังค้นคว้า
บทที่ 130: 1 ทิโมธี


บทที่ 130

1 ทิโมธี

คำนำ

เปาโลเขียนถึงทิโมธี ผู้นำฐานะปุโรหิตในเมืองเอเฟซัส และแนะนำให้เขาแน่ใจว่าสอนหลักคำสอนที่แท้จริง เขากำหนดคุณสมบัติของอธิการกับมัคนายกและแนะนำทิโมธีให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนดูแลคนจนและหญิงม่าย เขาจบสาส์นของเขาโดยสอนว่า “การรักเงินทอง เป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด” (1 ทิโมธี 6:10)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 ทิโมธี 1–3

เปาโลแนะนำทิโมธีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเขาในการดูแลศาสนจักร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานโธมัส เอส. มอนสัน

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ข้าพเจ้านึกถึงประสบการณ์ที่ข้าพเจ้ามีหลายปีมาแล้วเมื่อข้าพเจ้ารับใช้เป็นอธิการ ระหว่างพิธีเปิดการประชุมฐานะปุโรหิตในเช้าวันอาทิตย์วันหนึ่ง เรากำลังเตรียมแต่งตั้งชายหนุ่มคนหนึ่งสู่ตำแหน่งปุโรหิต คนที่มาเยี่ยมวอร์ดของเราในวันนั้นเป็นสมาชิกสภาสูงที่รับใช้เป็นเจ้าหน้าที่พระวิหารด้วย ขณะที่ข้าพเจ้าเตรียมให้เด็กหนุ่มคนนี้นั่งหันหน้าไปหาที่ประชุมเพื่อว่าเราจะดำเนินการแต่งตั้ง สมาชิกสภาสูงท่านนั้นหยุดข้าพเจ้าไว้และบอกว่า ‘อธิการครับ ผมมักจะให้คนที่ได้รับแต่งตั้งหันหน้าไปทางพระวิหารนะครับ’ เขาเปลี่ยนตำแหน่งเก้าอี้เพื่อว่าเด็กหนุ่มคนนั้นจะหันหน้าไปทางพระวิหาร ข้าพเจ้ารู้ทันทีว่านั่นเป็นการปฏิบัติที่ไม่ได้รับมอบอำนาจ” (Opening Remarks [worldwide leadership training meeting, Nov. 2010], lds.org/broadcasts)

ประธานมอนสันอธิบายว่าในฐานะอธิการเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้ควบคุมงานของพระเจ้าในวอร์ดของเขาไม่ใช่สภาสูง

  • มีอันตรายใดที่อาจเกิดขึ้นหากอธิการหรือประธานสาขายอมให้มีการปฏิบัติที่ไม่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้น

อธิบายว่าอัครสาวกเปาโลเขียนจดหมายถึงทิโมธี ผู้นำฐานะปุโรหิตหนุ่มในเมืองเอเฟซัส ในสาขาของศาสนจักรที่เขาควบคุม ทิโมธีเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายกันกับที่ประธานมอนสันเผชิญ

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 ทิโมธี 1:3–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลมอบความรับผิดชอบอะไรให้ทิโมธี อธิบายว่าคำว่า เรื่องเทพนิยาย (ข้อ 4) หมายถึงคำสอนผิดๆ การฟัง “ลำดับวงศ์ตระกูลที่ไม่รู้จบสิ้น” (ข้อ 4) หมายถึงประเพณีผิดๆ ที่ว่าความรอดมาสู่คนที่เป็นพงศ์พันธุ์ที่เลือกสรรไว้ของอับราฮัม ผู้ที่บ่อยครั้งเป็นที่รู้จักเพราะมีลำดับการสืบเชื้อสายที่ยาวนานหรือไม่รู้จบสิ้น และ “การพูดที่ไร้สาระ” (ข้อ 6) หมายถึงการสนทนาที่ไม่มีประเด็นสำคัญ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3–4 เปาโลให้ความรับผิดชอบอะไรแก่ทิโมธี

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6–7 เหตุใดจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทิโมธีที่จะทำความรับผิดชอบนั้นให้เกิดสัมฤทธิผล

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่ทิโมธีเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้นำฐานะปุโรหิต (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงทำนองนี้ ผู้นำฐานะปุโรหิตมีความรับผิดชอบที่จะทำให้แน่ใจว่ามีการสอนหลักคำสอนที่แท้จริงและการปฏิบัติที่ถูกต้อง เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เตือนให้นักเรียนนึกถึงสถานการณ์ที่ประธานมอนสันเจอเมื่อเป็นอธิการ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องเล่าที่เหลือของท่าน ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าประธานมอนสันตอบสนองต่อสมาชิกสภาสูงอย่างไร

ภาพ
ประธานโธมัส เอส. มอนสัน

“ข้าพเจ้ามองเห็นความเป็นไปได้ว่าการปฏิบัตินี้จะแพร่หลายออกไป แม้จะอายุน้อยกว่าสมาชิกสภาสูงท่านนั้น แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าต้องทำอย่างไร ข้าพเจ้าหันเก้าอี้กลับมาเพื่อว่าจะหันไปหาที่ประชุมอีกครั้งและบอกกับเขาว่า ‘ในวอร์ดของเรา เราหันไปหาที่ประชุมครับ’” (Opening Remarks,lds.org/broadcasts)

  • เราได้รับพรอย่างไรจากผู้นำฐานะปุโรหิตที่ทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการสอนหลักคำสอนที่แท้จริงและการปฏิบัติที่ถูกต้องในศาสนจักร

สรุป 1 ทิโมธี 1:8–11 โดยอธิบายว่าเปาโลเตือนให้ระวังคนที่ปรารถนาจะเป็นครูสอนธรรมบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแต่ไม่ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรมบัญญัติ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 ทิโมธี 1:12–16 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่เปาโลแสดงความขอบพระทัยพระเยซูคริสต์

  • เหตุใดเปาโลจึงแสดงความขอบพระทัยพระเยซูคริสต์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15–16 เปาโลเป็น “แบบอย่าง” สำหรับคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์อย่างไร

สรุป 1 ทิโมธี 1:17–1 ทิโมธี 3 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำให้ทิโมธียืดมั่นในศรัทธาของเขา เปาโลสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นสื่อกลางของเรา และเขาแนะนำสมาชิกศาสนจักรเกี่ยวกับวิธีประพฤติปฏิบัติ เขาตั้งคุณสมบัติของอธิการและมัคนายกด้วย

1 ทิโมธี 4–5

เปาโลบรรยายลักษณะนิสัยของผู้ปฏิบัติศาสนกิจที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์

นำเอาคลิปหนีบกระดาษ เศษเชือก เทป และแม่เหล็กมาที่ชั้นเรียน มัดปลายเชือกด้านหนึ่งเข้ากับคลิปหนีบกระดาษ แล้วติดเทปไว้ที่อีกปลายข้างหนึ่งของเชือกกับโต๊ะ ให้ถือแม่เหล็กไว้ใกล้ๆ คลิปหนีบกระดาษโดยไม่ให้แม่เหล็กสัมผัสกับคลิปหนีบกระดาษ แรงแม่เหล็กจะทำให้คลิปหนีบกระดาษเคลื่อนที่ไปหาแม่เหล็ก เคลื่อนแม่เหล็กไปรอบๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของคลิปหนีบกระดาษอย่างไร

  • หากคลิปหนีบกระดาษหมายถึงคนๆ หนึ่ง แม่เหล็กน่าจะหมายถึงสิ่งใด

ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะพวกเขาศึกษา 1 ทิโมธี 4 ที่สอนเราว่าเราสามารถเป็นอิทธิพลที่ดีในชีวิตผู้อื่นได้อย่างไร

สรุป 1 ทิโมธี 4:1–11 โดยอธิบายว่าเปาโลพยากรณ์ว่า “ต่อไปภายหน้า” (ข้อ 1) สมาชิกศาสนจักรบางคนจะออกไปจากศรัทธาและทำตามคำสอนและการปฏิบัติผิดๆ เช่น “ห้ามการแต่งงาน” (ข้อ 3) เปาโลแนะนำให้ทิโมธีบำรุงเลี้ยงวิสุทธิชนด้วยหลักคำสอนที่แท้จริง

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 1 ทิโมธี 4:12 ในใจ โดยมองหาว่าเปาโลแนะนำให้ทิโมธีเป็นอย่างไร อธิบายว่าคำว่า การประพฤติ ในข้อนี้หมายถึงการกระทำหรือพฤติกรรม ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านคิดว่าการ “เป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ” หมายความว่าอย่างไร (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายวลีนี้ในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • เปาโลแนะนำทิโมธีให้เป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อในทางใดบ้าง (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 ทิโมธี 4:13–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำเพิ่มเติมของเปาโลที่จะช่วยให้ทิโมธีเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ

  • คำแนะนำเพิ่มเติมใดจากเปาโลที่จะช่วยให้ทิโมธีเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15 เหตุใดเปาโลจึงบอกให้ทิโมธีพิจารณาหลักคำสอนที่เปาโลสอนและอุทิศตนในการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนนั้นอย่างเต็มที่ (เพื่อว่าคนอื่นจะเห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นประโยชน์แก่ทิโมธีอย่างไร)

  • ตามคำสอนของเปาโลใน ข้อ 16 จะเกิดผลอะไรเมื่อเราพยายามเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมทำนองนี้บนกระดาน ถ้าเราเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ เราจะช่วยนำความรอดมาสู่ตนเองและผู้อื่น )

  • การเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้ที่เชื่อและติดตามพระเยซูคริสต์จะช่วยนำความรอดไปสู่ผู้อื่นได้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนรายการบนกระดานและพิจารณาวิธีที่ทิโมธี “เป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ” (1 ทิโมธี 4:12) ขอให้ชั้นเรียนบอกวิธีที่บางคนจะเป็นแบบอย่างในแต่ละด้านต่อไปนี้

  • เมื่อใด ที่ท่านเคยเห็นคนบางคนประพฤติตนเป็นแบบอย่างของบรรดาผู้เชื่อในวิธีใดวิธีหนึ่งที่เปาโลกล่าวถึง (ท่านอาจต้องการแบ่งปันประสบการณ์จากชีวิตของท่านเองเช่นกัน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ถึงเป้าหมายหนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาจะเป็นแบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์และแบบอย่างเช่นนั้นจะช่วยนำความรอดมาสู่ตนเองและผู้อื่น

สรุป 1 ทิโมธี 5 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำทิโมธีเกี่ยวกับวิธีที่วิสุทธิชนจะดูแลคนขัดสนและหญิงม่าย

1 ทิโมธี 6

เปาโลแนะนำให้ทิโมธีช่วยผู้อื่นแสวงหาความร่ำรวยนิรันดร์

ให้ชั้นเรียนดูเงิน

  • ท่านคิดว่าเงินจะนำไปสู่ความชั่วร้ายที่มากขึ้นหรือความดีที่มากขึ้น เพราะเหตุใด

อธิบายว่า 1 ทิโมธี 6 บันทึกว่าเปาโลแนะนำทิโมธีเกี่ยวกับเงิน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 ทิโมธี 6:6–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสอนและเตือนเกี่ยวกับความร่ำรวย

  • คำสอนและคำเตือนอะไรจากเปาโลที่น่าสนใจสำหรับท่าน เพราะเหตุใด

  • ท่านคิดว่าวลี “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด” หมายความว่าอย่างไร (1 ทิโมธี 6:10)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 9–10 การรักเงินนำไปสู่อะไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน: การรักเงินนำไปสู่ความไม่ชอบธรรมและการละทิ้งความเชื่อ)

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าการรักเงินนำไปสู่ความไม่ชอบธรรมและการละทิ้งความเชื่อ

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเป็นการ “รัก” เงินไม่ใช่เงินเองที่นำไปสู่สิ่งไม่ชอบธรรม เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ไม่มีสิ่งใดที่ชั่วร้ายเกี่ยวกับเงินโดยตรง ชาวสะมาเรียใช้เงินเหรียญเดียวกันนั้นเพื่อรับใช้เพื่อนพี่น้องของเขา เงินอย่างเดียวกันที่ยูดาสใช้เพื่อทรยศพระอาจารย์ แต่ “การ รักเงินทอง เป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด” (1 ทิโมธี 6:10; เน้นตัวเอน) ความแตกต่างที่สำคัญคือระดับของความเข้มแข็งทางวิญญาณที่เราใช้ในการมอง ประเมินค่า และจัดการสิ่งต่างๆ ของโลกนี้” (Spirituality, Nov. 1985, 63)

เขียนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์และคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน หรือทำเป็นเอกสารแจกให้นักเรียน

1 ทิโมธี 6:11–12, 17–19

เปาโลให้คำแนะนำอะไรแก่ทิโมธีและคนมั่งคั่งร่ำรวย

คำแนะนำนี้สามารถช่วยให้เรามีเจตคติที่ดีต่อการแสวงหาความร่ำรวยและการใช้ความมั่งคั่งอย่างไร

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญนักเรียนอ่านข้ออ้างอิงและสนทนาคำถามกับคู่ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชิญหลายๆ คู่แบ่งปันสิ่งที่สนทนา

  • หากวิสุทธิชนวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและร่ำรวยในงานดี เปาโลกล่าวว่าพวกเขาจะยึดมั่นในอะไรตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมใดจากคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อได้รับชีวิตนิรันดร์ (ถึงแม้นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเราวางใจในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์และร่ำรวยในงานดี เราจะยึดมั่นในชีวิตนิรันดร์)

  • หากการวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและการทำตามความชอบธรรมเป็นความสำคัญสูงสุดของเรา สิ่งนั้นจะส่งผลต่อวิธีที่เรามอง แสวงหา และใช้ความร่ำรวยอย่างไร

สรุปโดยเป็นพยานว่าการได้รับชีวิตนิรันดร์ทำให้บางคนร่ำรวยอย่างแท้จริง กระตุ้นให้นักเรียนทำตามความชอบธรรมโดยให้เป็นความสำคัญสูงสุดของพวกเขาเพื่อว่าพวกเขาจะได้รับความร่ำรวยที่แท้จริงแห่งชีวิตนิรันดร์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 ทิโมธี 1:1–7 “กำชับบางคนไม่ให้สอนผิดแปลกไป”

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนความสำคัญของการสอนหลักคำสอนที่ถูกต้องในศาสนจักรดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าได้พูดมาก่อนแล้วเกี่ยวกับความสำคัญของการรักษาหลักคำสอนของศาสนจักรให้บริสุทธิ์ และดูแลให้สอนในทุกการประชุมของเรา … ความผิดปกติเล็กน้อยในการสอนหลักคำสอนจะนำไปสู่ความผิดอันยิ่งใหญ่และชั่วร้าย” (Teachings of Gordon B. Hinckley [1997], 620)

1 ทิโมธี 1:4 “ลำดับวงศ์ตระกูลที่ไม่รู้จบสิ้น”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ลำดับวงศ์ตระกูล” ที่กล่าวถึงใน 1 ทิโมธี 1:4 และ ทิตัส 3:9 หมายถึง “ประเพณีชาวยิวผิดๆ ที่ว่าความรอดมีไว้สำหรับเชื้อสายที่ได้รับการเลือกสรรไว้เช่นนั้นเป็นที่รู้จักว่าเป็นการท่องลำดับวงศ์ตระกูล ในสมัยการประทานนี้ พระเจ้าทรงบัญชาว่าการสืบลำดับเชื้อสายเป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่จำเป็นในการทำให้ความรอดมีให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้รับพระกิตติคุณในชีวิตนี้” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:127)

1 ทิโมธี 2:9–10 แต่งกายสุภาพ

“เปาโลกระตุ้นให้ผู้หญิง ‘แต่งกายให้สุภาพด้วยความเหมาะสม และพอเหมาะพอควร’ (1 ทิโมธี 2:9) ซึ่งหมายถึงด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและความคารวะ เขาสอนด้วยว่าผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าและเครื่องประดับราคาแพงและเสริมสวยมากเกินไป คำสอนที่คล้ายคลึงกันมีอยู่ใน 1 นีไฟ 13:7–8; 4 นีไฟ 1:24; มอรมอน 8:36–39; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:40 เปาโลระบุว่าผู้หญิงควรแต่งกายอย่างผู้ที่ ‘ประกาศตนว่านมัสการพระเจ้า’ หลักธรรมการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สุภาพประยุกต์ใช้กับทั้งสมาชิกชายและหญิงของศาสนจักรในปัจจุบัน

“‘การแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอกของท่านแสดงให้เห็นได้ว่า … ท่านเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์และท่านรักพระองค์

“‘ศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้าแนะนำบุตรธิดาของพระองค์เสมอให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อย เมื่อท่านแต่งกายดีและสวมเสื้อผ้าสุภาพเรียบร้อย ท่านย่อมเชื้อเชิญความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณและสามารถเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่นได้’ (เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน [หนังสือ, 2011], 6)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 458)

พิมพ์