บทที่ 123
เอเฟซัส 5–6
คำนำ
เปาโลสอนวิสุทธิชนถึงวิธีต้านทานอิทธิพลชั่วร้าย เขาสอนวิสุทธิชนถึงวิธีเสริมสร้างสัมพันธภาพด้วย เปาโลจบจดหมายของเขาโดยการแนะนำผู้ติดตามของพระผู้เป็นเจ้าให้ “สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า” (เอเฟซัส 6:11) เพื่อต้านทานการหลอกลวงของซาตาน
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
เอเฟซัส 5:1–20
เปาโลสอนวิสุทธิชนให้ต้านทานอิทธิพลชั่วร้าย
หากเป็นไปได้ ให้นักเรียนดูสิ่งที่จะรู้ว่าเพิ่งทำขึ้นใหม่หรือซื้อใหม่ และถามว่า
-
โดยปกติ เราปฏิบัติกับสิ่งของใหม่อย่างไร
เตือนนักเรียนว่า เอเฟซัส 4 มีคำแนะนำของเปาโลกับสมาชิกใหม่ของศาสนจักรให้ “ทิ้ง” ตัว “เก่า[,] … ซึ่งพินาศ” (ข้อ 22) และ “สวมสภาพใหม่” (ข้อ 24) หรือเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์
-
ชีวิตของบางคนที่ตั้งใจติดตามพระเยซูคริสต์ถูกมองว่าเป็นชีวิตใหม่ได้อย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะศึกษา เอเฟซัส 5–6 ซึ่งจะช่วยพวกเขา “สวมสภาพใหม่” เป็นผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 5:1–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้ทำและไม่ให้ทำในฐานะผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์
-
เปาโลแนะนำผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ให้ทำอะไร เปาโลแนะนำพวกเขาไม่ให้ทำอะไร
-
เราสามารถระบุความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจระบุความจริงที่หลากหลาย แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นว่า ผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ไม่กระทำความชั่วร้ายของโลก)
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 คนที่กระทำความชั่วร้ายของโลกจะถูกริบอะไร
-
การกระทำความชั่วร้ายของโลกส่งผลต่อชีวิตใหม่ในพระคริสต์ของบางคนอย่างไร แบบอย่างของคนนี้มีผลต่อผู้อื่นอย่างไร
สรุป เอเฟซัส 5:8–20 โดยอธิบายว่าเปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชน “ดำเนินชีวิตอย่างคนของความสว่าง” (ข้อ 8) ให้มีปัญญาและมุ่งหมายที่จะรู้พระประสงค์ของพระเจ้าโดยการ “เต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณ” (ข้อ 18)
เอเฟซัส 5:21–6:9
เปาโลแนะนำชาวเอเฟซัสเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขา
ขอให้นักเรียนนึกถึงการปฏิสัมพันธ์ของพวกเขากับสมาชิกครอบครัวในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาว่าปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นเป็นไปในทางบวกหรือลบ (ยกตัวอย่างเช่น ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้เป็นไปด้วยความรักหรือความขัดแย้ง ด้วยความเมตตาหรือทำให้เจ็บปวด หนุนใจหรือลดคุณค่า)
-
เหตุใดบางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวจะเป็นไปในทางบวก
เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา เอเฟซัส 5:21–6:9 ที่จะช่วยให้พวกเขาเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 5:21 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนทำ
-
เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนทำอะไร (อธิบายว่า “จงยอมเชื่อฟังกันและกัน” หมายถึงเราควรให้ผู้อื่นมาก่อนตนเองและ “ความยำเกรงพระคริสต์” หมายถึงความรักและความเคารพที่เรามีต่อพระผู้เป็นเจ้า)
-
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของคุณลักษณะแห่งการยอมตนในทางใดบ้าง
-
การให้คนอื่นมาก่อนตัวเราเองช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 5:22–29 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้สามีและภรรยาทำในความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน
-
เปาโลแนะนำให้ภรรยาสร้างความสัมพันธ์กับสามีของพวกเธอตามรูปแบบความสัมพันธ์ใด (อธิบายว่าเปาโลสอนภรรยาให้ “ยอมเชื่อฟัง” สามีของเธอ [ข้อ 22] สิ่งนี้หมายความว่าเป็นการค้ำจุน สนับสนุน และเชื่อฟังสามีของเธอดังที่เธอทำกับพระเจ้า บทบาทที่แต่งตั้งจากสวรรค์ของสามีคือเพื่อควบคุมหรือดูแลครอบครัว ดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงดูแลและนำศาสนจักรของพระองค์)
-
เปาโลแนะนำให้สามีทำอะไรในความสัมพันธ์ของพวกเขากับภรรยา
-
สามีที่รักภรรยาของเขาดังเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักศาสนจักรของพระองค์จะปฏิบัติกับเธออย่างไร (เขาจะ “[ให้] เขาเอง (พระองค์เอง)” แก่เธอ [ข้อ 25] หรือให้เธอมาก่อนเขาและ “ทะนุถนอม” เธอ [ข้อ 29])
-
เราสามารถระบุความจริงใดจากคำสอนของเปาโลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในครอบครัวหากเราใช้ความสัมพันธ์ของพระผู้ช่วยให้รอดกับศาสนจักรเป็นเครื่องนำทางเรา (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราใช้ความสัมพันธ์ของพระผู้ช่วยให้รอดกับศาสนจักรเป็นเครื่องนำทาง เราจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวเรา)
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 5:30–33 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าสามีและภรรยาเป็นอะไรเมื่อพวกเขาแต่งงานกัน
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 31สามีและภรรยาเป็นอะไรเมื่อพวกเขาแต่งงานกัน (พวกเขาเป็น “เนื้อเดียวกัน” หรือเป็นหนึ่งเดียวกันทางร่างกาย อารมณ์ และวิญญาณ)
-
การทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดในปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันช่วยให้คู่แต่งงาน (และครอบครัว) เพิ่มพูนความรักและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความสัมพันธ์ของพวกเขาอย่างไร
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 6:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าการใช้แบบอย่างของพระเยซูคริสต์เป็นเครื่องนำทางประยุกต์ใช้ได้กับความสัมพันธ์ของลูกกับพ่อแม่อย่างไร เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ
-
ลูกจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์โดยการเชื่อฟังพ่อแม่ของเขาอย่างไร
-
เปาโลแนะนำให้บิดาทำอะไรในเรื่องการเลี้ยงดูลูกๆ ของพวกเขา
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวของพวกเขาจะได้รับการเสริมสร้างอย่างไรหากพวกเขาใช้ความสัมพันธ์ของพวกเขากับพระผู้ช่วยให้รอดเป็นเครื่องนำทาง เชื้อเชิญให้พวกเขาเลือกความสัมพันธ์หนึ่งที่พวกเขาอยากพัฒนาและเขียนวิธีที่พวกเขาจะพัฒนาความสัมพันธ์นี้โดยทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด กระตุ้นให้พวกเขาทำตามที่เขียนไว้
สรุป เอเฟซัส 6:5–9 โดยอธิบายว่าเปาโลสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทาสกับนาย ในสมัยพันธสัญญาใหม่ การใช้ทาสเป็นเรื่องปกติทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน แม้ท่ามกลางสมาชิกศาสนจักรบางคน คำแนะนำของเปาโลไม่ได้บอกว่าเขาเห็นด้วยกับการใช้แรงงานทาส
เอเฟซัส 6:10–24
เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชน “สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า”
เขียนคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันบน กระดาน (ข้อความนี้มีอยู่ใน “The Power of the Word,” Ensign, May 1986, 79.) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวนี้
-
ซาตานกำลังทำสงครามต่อสู้กับเยาวชนของศาสนจักรในทางใดบ้าง
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 6:10–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลพูดว่าวิสุทธิชนในสมัยของเขากำลังทำสงครามกับอะไร อธิบายว่า อุบาย หมายถึงเล่ห์เหลี่ยมหรือกลยุทธ์ที่ใช้หลอกลวงหรือเป็นกับดัก
-
เปาโลพูดว่าวิสุทธิชนในสมัยของเขากำลังทำสงครามกับอะไร
-
รายการที่เปาโลบอกใน ข้อ 12 เหมือนกับสิ่งที่เรากำลังต่อสู้ในสมัยของเราอย่างไร
-
เปาโลบอกวิสุทธิชนในสมัยของเขาให้สวมอะไรเพื่อว่าพวกเขาจะต้านทานความชั่วร้ายเหล่านี้ได้ (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน ถ้าเราสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า เราจะต้านทานสิ่งชั่วร้ายได้)
จัดเตรียม เอกสารแจก ที่ใช้ประกอบกันให้นักเรียน แบ่งชั้นเรียนออกเป็นห้ากลุ่ม และมอบหมายยุทธภัณฑ์หนึ่งชิ้นที่กล่าวถึงใน เอเฟซัส 6:14–17ให้แต่ละกลุ่ม (ไม่ต้องมอบหมาย “เอาความจริงคาดเอว” [ข้อ 14] ถ้าชั้นเรียนท่านเล็ก ท่านอาจต้องมอบหมายยุทธภัณฑ์มากกว่าหนึ่งชิ้นให้บางกลุ่ม)
เขียนคำถามต่อไปนี้บน กระดาน
-
ยุทธภัณฑ์ชิ้นนี้ใช้ทำอะไร
-
เปาโลเรียกยุทธภัณฑ์ชิ้นนี้ว่าอะไร
-
อวัยวะส่วนที่ได้รับการปกป้องจากยุทธภัณฑ์นี้เป็นตัวแทนทางวิญญาณของอะไร
-
การสวมยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณชิ้นนี้ช่วยท่านต้านทานสิ่งชั่วร้ายได้อย่างไร
เพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นถึงวิธีกรอกเอกสารแจกให้ครบถ้วน ให้เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เอเฟซัส 6:14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำตอบของคำถามบนกระดานดังที่ประยุกต์ใช้กับการ “เอาความจริงคาดเอว” และเขียนคำตอบบนเอกสารแจกของพวกเขา
อธิบายว่ายุทธภัณฑ์ที่ “คาด” เอวเป็นเข็มขัดที่มัดรอบส่วนกลางของร่างกาย นักเรียนอาจบอกคำตอบทำนองนี้ (1) สิ่งนี้ปกปิดเอว (อวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์) (2) ความจริง (3) สิ่งนี้แสดงถึงความบริสุทธิ์ทางเพศหรือความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม (4) การรู้ความเป็นจริงของแผนแห่งความรอดจะกระตุ้นให้เรายังคงบริสุทธิ์ทางศีลธรรม
เชื้อเชิญให้นักเรียนทำตามรูปแบบนี้เมื่อพวกเขาอ่าน เอเฟซัส 6:14–18 กับกลุ่มของพวกเขาและเติมส่วนของเอกสารแจกที่สอดคล้องกับยุทธภัณฑ์ชิ้นที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา (อธิบายว่าการ “มาสวมเป็นรองเท้า” [ข้อ 15] หมายถึงการสวมรองเท้าหรือการปกป้องเท้าแบบอื่น)
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญตัวแทนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มให้รายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้กับชั้นเรียน เมื่อแต่ละกลุ่มรายงาน เชื้อเชิญให้นักเรียนบันทึกการค้นพบของกลุ่มในเอกสารแจกของพวกเขา
-
เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องปกป้องตัวเราเองด้วยยุทธภัณฑ์ ทั้งชุด ของพระเจ้า
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนฟังดูวิธีที่เราจะสวมและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ยุทธภัณฑ์ของพระเจ้า
“ข้าพเจ้าชอบนึกถึงยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณนี้ในแบบที่ไม่ใช่ชิ้นเหล็กแข็งที่ถูกหลอมให้พอดีตัวแต่เป็นเสื้อเกราะที่ทำด้วยโซ่เหล็กร้อยกัน เสื้อเกราะนี้ประกอบด้วยเหล็กชิ้นเล็กๆ หลายชิ้นร้อยเข้าด้วยกันเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าโดยยังป้องกันได้ ข้าพเจ้าพูดอย่างนั้นเนื่องจากประสบการณ์ของข้าพเจ้าว่าไม่มีสิ่งที่ยิ่งใหญ่หรือใหญ่โตเพียงชิ้นเดียวที่เราจะทำเพื่อติดอาวุธทางวิญญาณให้ตนเองได้ พลังทางวิญญาณที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการกระทำเล็กน้อยหลายสิ่งหลายอย่างที่ถักทอเข้าด้วยกันเป็นผืนผ้าแห่งปราการทางวิญญาณที่จะปกป้องและคุ้มกันเราจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง” (“Be Strong in the Lord,” July 2004, 8)
-
ท่านทำอะไรเพื่อสวมและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ยุทธภัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวัน สิ่งนี้ช่วยให้ท่านต้านทานความชั่วร้าย การล่อลวง หรือความหลอกลวงได้อย่างไร
เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของพวกเขา
ยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณชิ้นใดของท่านที่ท่านคิดว่าแข็งแรง
ยุทธภัณฑ์ชิ้นใดของท่านที่อ่อนแอที่สุด
ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ชิ้นส่วนเหล่านี้ของยุทธภัณฑ์ทางวิญญาณในชีวิตท่าน
สรุป เอเฟซัส 6:19–24 โดยอธิบายว่าเปาโลจบจดหมายของเขาโดยขอให้วิสุทธิชนสวดอ้อนวอนให้เขา “พูด” (ข้อ 19) และสามารถสั่งสอนพระกิตติคุณด้วยความกล้าหาญขณะอยู่ในคุก
แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่นักเรียนระบุใน เอเฟซัส 5–6 กระตุ้นให้นักเรียนทำตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาอาจได้รับระหว่างบทเรียนในวันนี้
บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง
เอเฟซัส 5:25–28; 6:4 “เหมือนพระคริสต์ทรงรักคริสตจักร”
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันชี้ไปที่แบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อท่านแนะนำสามีถึงวิธีนำครอบครัวของพวกเขาดังนี้
“เราไม่พบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงนำศาสนจักรด้วยมือที่เกรี้ยวกราดหรือไร้เมตตา เราไม่พบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติต่อศาสนจักรของพระองค์ด้วยความไม่เคารพหรือเพิกเฉย เราไม่พบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้กำลังหรือบีบคั้นให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ ไม่มีที่ใดที่เราพบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำสิ่งใดนอกจากสิ่งซึ่งจรรโลงใจ หนุนใจ ปลอบใจ และยกศาสนจักรให้สูงส่ง” (“To the Fathers in Israel,” Ensign, Nov. 1987, 50)
ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์สอนเกี่ยวกับอิทธิพลที่สามีจะมีได้เมื่อเขารักครอบครัวของเขาเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดทรงรักศาสนจักรของพระองค์ดังนี้
“พระคริสต์ทรงรักศาสนจักรและผู้คนของศาสนจักรมากถึงขนาดทรงสมัครพระทัยอดทนต่อการข่มเหงเพื่อพวกเขา ทรงทนรับการดูถูกเหยียดหยามเพื่อพวกเขา ทรงทนความเจ็บปวดและการกระทำทารุณกรรมทางกายเพื่อพวกเขาอย่างสงบ และสุดท้ายทรงสละพระชนม์ชีพอันล้ำค่าเพื่อพวกเขา
“เมื่อสามีพร้อมปฏิบัติต่อครัวเรือนของตนในลักษณะนั้น ไม่เพียงภรรยาเท่านั้นที่จะตอบรับการนำของเขา แต่ทุกคนในครอบครัวเช่นกัน” (“Home, the Place to Save Society,” Ensign, Jan. 1975, 5)
เอเฟซัส 6:1 “จงเชื่อฟังบิดามารดาของท่านในองค์พระผู้เป็นเจ้า”
“เปาโลกล่าวว่า ‘บุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของท่าน ในองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่านี่เป็นเรื่องถูกต้อง’ (เอเฟซัส 6:1; เน้นตัวเอน) แล้วหลังจากนั้นในทันที เขาเพิ่มเติมว่า ‘จงให้เกียรติบิดามารดาของเจ้า’ (ข้อ 2) อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ เขาไม่ได้เพิ่มข้อความบอกคุณสมบัติ โดยบรรยายว่านี่เป็นเพียง ‘บัญญัติข้อแรกที่มีพระสัญญากำกับ’ (เอเฟซัส 6:2) การเชื่อฟังบิดามารดาของคนคนหนึ่งในองค์พระผู้เป็นเจ้าหมายถึงเชื่อฟังบิดามารดาในความชอบธรรม (ดู McConkie, Doctrinal New Testament Commentary, 2:521) เมื่อใดก็ตามที่ลูกคนหนึ่งดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมเขานำเกียรติมาสู่บิดามารดาของเขา ไม่ว่าบิดามารดานั้นจะเป็นคนชอบธรรมหรือเป็นคนชั่วร้าย ในทางตรงข้ามก็จริงเช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่ลูกคนหนึ่งดำเนินชีวิตอย่างชั่วร้ายเขานำเอาความอัปยศมาสู่บิดามารดาของเขา ไม่ว่าบิดามารดาจะเป็นคนชอบธรรมหรือไม่ ดังนั้น การให้เกียรติบิดามารดาไม่ได้หมายถึงการเชื่อฟังพวกเขาเสมอไป มีเพียงบางกรณีที่เกิดขึ้นโดยที่บิดามารดาอาจขอหรือกระตุ้นให้ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่ชอบธรรม คนนั้นนำเอาความเสื่อมเสียมาสู่บิดามารดาของเขาหากเขาเชื่อฟังบิดามารดา” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาเดิม: ปฐมกาล–2 ซามูเอล [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003], 131)
เอเฟซัส 6:11 “สวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า”
ประธานฮาโรลด์ บี. ลีอธิบายถึงความสำคัญของการสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้
“เรามีอวัยวะสี่ส่วนที่อัครสาวกเปาโลบอกว่า [มี] ค่าที่สุดต่ออำนาจของความมืด เอว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ทางเพศ หัวใจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความประพฤติของเรา เท้าของเรา เป้าหมายหรือจุดประสงค์ของเราในชีวิตและสิ่งสุดท้ายคือศีรษะของเรา ความคิดของเรา” (Feet Shod with the Preparation of the Gospel of Peace, Brigham Young University Speeches of the Year [Nov. 9, 1954], 2)
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนสิ่งที่เราต้องทำก่อนที่เราจะสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้าดังนี้
“การ ทิ้ง ความเป็นมนุษย์ปุถุชนทำให้เราสามารถ สวม ยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้า ซึ่งก่อนหน้านี้เรายังสวมได้ไม่พอดีนัก (ดู เอเฟซัส 6:11, 13)” (ดู“ไถด้วยความหวังใจ,” เลียโฮนา, ก.ค. 2001, 86)
ประธานเอ็น. เอ็ลดอน แทนเนอร์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนสิ่งที่เราต้องทำเพื่อสวมยุทธภัณฑ์ทั้งชุดของพระเจ้าดังนี้
“จงสำรวจยุทธภัณฑ์ของท่าน มีจุดไหนที่ไม่ได้คุ้มกันหรือปกป้องหรือไม่ ดูเดี๋ยวนี้เพื่อเพิ่มเติมส่วนใดก็ตามที่ขาดหายไป …
“โดยผ่านหลักธรรมอันยิ่งใหญ่ของการกลับใจท่านสามารถเปลี่ยนชีวิตท่านและเริ่มสวมใส่ยุทธภัณฑ์ของพระเจ้า ผ่านการศึกษา การสวดอ้อนวอน และการมุ่งมั่นรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (“Put on the Whole Armor of God,” Ensign, May 1979, 46)