คลังค้นคว้า
บทที่ 147: 2 เปโตร 2–3


บทที่ 147

2 เปโตร 2–3

คำนำ

เปโตรเตือนเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์เทียมและผู้สอนเท็จที่นำให้ผู้คนหลงทาง เขาพยากรณ์ว่าในวันเวลาสุดท้าย คนชั่วร้ายจะเยาะเย้ยคนชอบธรรมที่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมา เปโตรกระตุ้นให้วิสุทธิชนเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างขยันหมั่นเพียร

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

2 เปโตร 2

เปโตรเตือนเกี่ยวกับการถูกผู้สอนเท็จหลอก

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน เหตุใดผู้คนจึงเลือกทำบาปทั้งที่พวกเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นไม่ถูกต้อง

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองคำถามนี้ แล้วขอให้นักเรียนสองสามคนรายงานคำตอบของพวกเขา

อธิบายว่าใน 2 เปโตร 2 เราอ่านว่าอัครสาวกเปโตรเตือนวิสุทธิชนเกี่ยวกับคนที่หมายจะหลอกลวงพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา 2 เปโตร 2 ที่จะช่วยให้พวกเขารู้และหลีกเลี่ยงการหลอกลวงที่นำไปสู่บาป

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 2:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำเตือนของเปโตรว่าใครที่พยายามหลอกลวงวิสุทธิชน

  • เปโตรเตือนวิสุทธิชนให้ระวังใคร

  • ศาสดาพยากรณ์เทียมและผู้สอนเท็จเหล่านี้สอนอะไร (อธิบายว่า “ลัทธินอกรีตอันจะให้ถึงความพินาศ” [ข้อ 1] หมายถึงคำสอนเท็จและนำมาซึ่งความพินาศ)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากเปโตรเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้สอนเท็จพยายามทำกับเรา (ช่วยนักเรียนระบุความจริงทำนองนี้ ผู้สอนเท็จพยายามหลอกลวงเรา เขียนความจริงดังกล่าวไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่ผู้สอนเท็จสอนในปัจจุบันเพื่อหลอกลวงเรา

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอมคือคนที่ประกาศว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเป็นคนหลอกลวงที่กลับกลอก พวกเขาค้านว่านิมิตแรกไม่ใช่ประสบการณ์จริง พวกเขาประกาศว่าพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์เล่มอื่นไม่ใช่บันทึกพระคัมภีร์สมัยโบราณ พวกเขาพยายามนิยามพระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ขึ้นมาใหม่ และพวกเขาปฏิเสธว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ประทานและยังคงประทานการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งและสนับสนุน …

“ศาสดาพยากรณ์ปลอมและผู้สอนปลอมคือคนที่พยายามเปลี่ยนหลักคำสอนพื้นฐานในพระคัมภีร์ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานซึ่งคุ้มครองความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน ธรรมชาติอันสูงส่งของครอบครัว และหลักคำสอนที่จำเป็นของศีลธรรมส่วนบุคคล พวกเขาสนับสนุนนิยามใหม่ของศีลธรรมเพื่อแก้ต่างให้การผิดประเวณี การล่วงประเวณี และความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ” (“ระวังศาสดาปลอมและผู้สอนปลอม,” เลียโฮนา, ม.ค. 2000, 77)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาถึงเวลาที่พวกเขาอาจเคยพบกับคำสอนหรือข่าวสารจากผู้สอนเท็จ

  • เหตุใดจึงเป็นประโยชน์ที่จะรู้ว่าข่าวสารและคำสอนมาจากผู้สอนเท็จ

สรุป 2 เปโตร 2:4–17 โดยอธิบายว่าเปโตรให้ตัวอย่างหลายประการเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำตามผู้สอนเท็จในอดีต เปโตรยกตัวอย่างของผู้ที่ไม่รับอิทธิพลจากผู้สอนเท็จด้วย จากนั้นเปโตรบรรยายถึงพฤติกรรมที่ชั่วร้ายของผู้สอนเท็จ

ภาพ
ตะขอเบ็ด หนอน

สาธิต คันเบ็ดตกปลาและเหยื่อ หรือแสดงภาพหรือวาด ภาพ ของวัตถุเหล่านี้บนกระดาน (หากอีกวิธีหนึ่งในการจับปลาเป็นสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคยมากกว่า ใช้อุปกรณ์จริงหรือรูปภาพที่แสดงวิธีการนั้น)

อธิบายว่าวิธีจับปลาวิธีหนึ่งคือการใช้เหยื่อล่อปลามาติดกับดักหรือกินเบ็ด เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าเทคนิคของคนหาปลาเป็นเหมือนวิธีการของผู้สอนเท็จอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เปโตร 2:18–19 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าผู้สอนเท็จล่อลวงให้วิสุทธิชนทำตามคำสอนของพวกเขาอย่างไร

  • ผู้สอนเท็จล่อและหลอกลวงสมาชิกศาสนจักรอย่างไร (ชี้ให้เห็นว่าผู้สอนเท็จบางคนอาจจริงใจแต่ตัวเขาก็ถูกหลอก)

  • คำสอนของศาสดาพยากรณ์เทียมและผู้สอนเท็จเป็นเหมือนเหยื่อหรือแมลงปลอมที่ใช้ล่อปลาอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 ผู้สอนเท็จเหล่านี้สัญญาอะไร (“เสรีภาพ” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พวกเขาสอนว่าบาป แทนที่จะเป็นการเชื่อฟังพระบัญญัติ นำไปสู่เสรีภาพที่ยิ่งใหญ่กว่า)

เพิ่มเติมความจริงบนกระดานเพื่อจะอ่านได้ว่า ผู้สอนเท็จพยายามหลอกลวงให้เราเชื่อว่าบาปนำไปสู่เสรีภาพที่ยิ่งใหญ่กว่า

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ข้อ 19 ในใจอีกครั้ง โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่ถูกคำสอนเท็จครอบงำและทำบาป

  • เกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่ถูกคำสอนเท็จครอบงำและทำบาป (พวกเขาเป็นทาสของสิ่งนั้น)

  • คำสอนเท็จอะไรที่ดูเหมือนจะส่งเสริมเสรีภาพแต่แท้จริงแล้วนำไปสู่ความเป็นทาส

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 เปโตร 2:20–22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรสอนเกี่ยวกับผู้ที่หันกลับไปหาบาปหลังจากหลีกหนีจากบาปมาแล้ว

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคนที่ “หลีกหนีจากมลทินทั้งหลายของโลกแล้วโดย … พระเยซูคริสต์” (ข้อ 20) อาจถูกล่อลวงให้กลับไปสู่ชีวิตที่เต็มไปด้วยบาปของพวกเขา

  • ท่านจะให้คำแนะนำอะไรเพื่อช่วยให้คนบางคนยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์แทนที่จะกลับไปสู่บาปเดิม

2 เปโตร 3

เปโตรเป็นพยานถึงการเสด็จมาครั้งที่สอง

อธิบายว่าเปโตรทิ้งท้ายสาส์นของเขาโดยเตือนวิสุทธิชนถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์และสอนพวกเขาว่าต้องเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างไร สรุป 2 เปโตร 3:1–9 โดยอธิบายว่าเปโตรสอนว่าในยุคสุดท้ายบางคนจะเยาะเย้ยและล้อเลียนคนที่เชื่อในการเสด็จมาครั้งที่สอง

ขอให้นักเรียนสองสามคนอธิบายเหตุผลที่พวกเขาเชื่อในการเสด็จมาครั้งที่สอง แม้หลายคนไม่เชื่อ

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 3:10–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปโตรสอนเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง อธิบายว่า การดำเนินชีวิต ใน ข้อ 11 หมายถึงการประพฤติ และ “เร่งวัน” ใน ข้อ 12 หมายความว่าการรอบางอย่างด้วยความกระตือรือร้น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 10 เปโตรสอนอะไรเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11–14 เปโตรให้คำแนะนำอะไรแก่วิสุทธิชนเพื่อเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง (ดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์และยำเกรงพระเจ้า เฝ้ารอและเร่งวันของพระเจ้าให้มาถึง เมื่อเร่งสิ่งเหล่านี้อยู่ ก็จงให้พระองค์ทรงพบพวกท่าน “ปราศจากมลทินและข้อตำหนิ” [ข้อ 14])

อธิบายว่าวลี “ปราศจากมลทินและข้อตำหนิ” (ข้อ 14) หมายถึงสะอาดจากบาป คนที่สะอาดจากบาปได้คืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าแล้วและพบว่าคืนดีกับพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์เสด็จมา

  • ท่านจะสรุปหลักธรรมที่เปโตรสอนเกี่ยวกับวิธีที่เราจะเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร (ช่วยนักเรียนระบุหลักธรรมทำนองนี้ เราสามารถเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดโดยดำเนินชีวิตที่ยำเกรงพระเจ้าและเฝ้ารอการเสด็จมาของพระองค์ อธิบายว่า “เฝ้ารอ” สามารถหมายความว่าเรารออย่างกระตือรือร้นเพื่อรับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอด)

  • เราจะทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อสามารถดำเนินชีวิตที่ยำเกรงพระเจ้าขณะที่เราเฝ้ารอการเสด็จมาครั้งที่สอง

สรุป 2 เปโตร 3:15–18 โดยอธิบายว่าเปโตรเตือนเกี่ยวกับการตกไปสู่ความชั่วร้าย เขาเชื้อเชิญให้วิสุทธิชน “เจริญขึ้นในพระคุณและในความรู้ของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 18)

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สอนใน 2 เปโตร 2–3 เชื้อเชิญให้นักเรียนพยายามรู้จักและหลีกเลี่ยงคำสอนเท็จ ให้นักเรียนเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างขยันหมั่นเพียร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

2 เปโตร 3:12 “วันของพระเจ้าให้มาถึง”

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเป็นพยานถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสต์

“[ในการเสด็จมาครั้งที่สอง] ประสบการณ์ซึ่งดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ [จะเกิดขึ้น] คือ ‘เนื้อหนังทั้งปวง’ พระเจ้าตรัส ‘จะเห็นเราพร้อมกัน’ [คพ. 101:23] เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างไร เราไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าจะเกิดขึ้น—ตามที่พยากรณ์ไว้ เราจะคุกเข่าด้วยความคารวะ ‘และพระเจ้าจะทรงเอ่ยสุรเสียงของพระองค์ และทั่วสุดแดนแผ่นดินโลกจะได้ยิน’ [คพ. 45:49] ‘และจะเป็น … ดังเสียงของผืนน้ำมากมาย, และดังเสียงของฟ้าร้องกึกก้อง’ [คพ. 133:22] ‘และพระเจ้า,…พระผู้ช่วยให้รอด, จะทรงยืนท่ามกลางผู้คนของพระองค์’ [คพ. 133:25] …

“ในวันนั้น คนสงสัยจะนิ่งเงียบ ‘ทุกหูจะได้ยิน … , และทุกเข่าจะย่อลง, และทุกลิ้นจะสารภาพ’ [คพ. 88:104] ว่าพระเยซูคือพระคริสต์ พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของโลก” (“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 122)

พิมพ์