คลังค้นคว้า
บทนำพระกิตติคุณตามถ้อยคำของท่านยอห์น


บทนำพระกิตติคุณตามถ้อยคำของท่านยอห์น

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

ระหว่างช่วงเวลาที่การข่มเหงชาวคริสต์ทวีความรุนแรง การละทิ้งความเชื่อมีมากขึ้น และการโต้เถียงเกี่ยวกับพระลักษณะของพระเยซูคริสต์ อัครสาวกยอห์นได้บันทึกประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด การศึกษาพระกิตติคุณของยอห์นจะช่วยให้นักเรียนมาทำความรู้จักพระบิดาบนสวรรค์ผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ เรื่องราวของยอห์นสอนว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเยซูคริสต์จะได้รับพรที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงชีวิตนิรันดร์

ใครเขียนหนังสือนี้

อัครสาวกยอห์นเขียนหนังสือนี้ ตลอดทั้งเล่มท่านเรียกตนเองว่าเป็น “สาวกที่พระเยซูทรงรัก” (ดู ยอห์น 13:23; 19:26; 20:2; 21:7, 20)

ยอห์นและยากอบพี่ชายของท่านเป็นชาวประมง (ดู มัทธิว 4:21) ก่อนเป็นสานุศิษย์และอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ เป็นที่แน่ชัดว่ายอห์นเป็นผู้ติดตามของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา (ดู ยอห์น 1:35–40; คู่มือพระคัมภีร์, “ยอห์น, บุตรเศเบดี,” scriptures.lds.org)

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าอัครสาวกยอห์นเขียนหนังสือนี้เมื่อใด งานเขียนนี้คาดว่าน่าจะเขียนขึ้นในช่วงเวลานับจาก คริสต์ศักราช 60 ถึง คริสต์ศักราช 100 นักเขียนชาวคริสต์ในยุคต้นศตวรรษที่สอง ซึ่งเป็นสมัย คริสต์ศักราช เสนอว่ายอห์นเขียนหนังสือนี้ที่เอเฟซัสในคาบสมุทรเอเชีย (ตุรกีสมัยใหม่)

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

แม้ว่างานเขียนของยอห์นจะมีไว้สำหรับทุกคน แต่ข่าวสารของท่านมีผู้อ่านที่เจาะจงมากขึ้นด้วย เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนว่า “พระกิตติคุณของยอห์นเป็นเรื่องราวสำหรับวิสุทธิชน เป็นพระกิตติคุณที่สำคัญที่สุดสำหรับศาสนจักร” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:65) ยอห์นบอกว่าจุดประสงค์ของท่านในการเขียนหนังสือเล่มนี้คือเพื่อจูงใจให้ผู้อื่น “เชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้า และเมื่อมีความเชื่อแล้วท่านก็จะมีชีวิตโดยพระนามของพระองค์” (ยอห์น 20:31) “ฉากต่างๆ จากพระชนม์ชีพของพระเยซูที่ [ยอห์น] บรรยายได้รับการเลือกสรรและจัดวางอย่างใส่ใจโดยมีจุดประสงค์นี้เป็นหลัก” (ใน Bible Dictionary, “John, Gospel of”)

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

ประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อหาในพระกิตติคุณของยอห์นไม่มีในเรื่องราวพระกิตติคุณอื่นๆ นี่อาจเป็นเพราะผู้อ่านตามเจตนาของยอห์นคือ—สมาชิกของศาสนจักรผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์อยู่แล้ว—ซึ่งตัดสินแตกต่างจากผู้อ่านของมัทธิว มาระโก และลูกา ในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้งเจ็ดเรื่องที่ยอห์นรายงาน ห้าเรื่องไม่ได้บันทึกไว้ในพระกิตติคุณอื่น ในขณะที่มัทธิว มาระโก และลูกาได้นำเสนอข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซูในแคว้นกาลิลี แต่ยอห์นกลับบันทึกเหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในแคว้นยูเดีย พระกิตติคุณของยอห์นเต็มไปด้วยหลักคำสอน โดยมีหัวข้อหลักบางประการเป็นเรื่องความเป็นพระเจ้าของพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า การชดใช้ของพระคริสต์ ชีวิตนิรันดร์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ความจำเป็นที่ต้องเกิดใหม่อีกครั้ง ความสำคัญของการรักผู้อื่น และความสำคัญของการเชื่อในพระผู้ช่วยให้รอด

ยอห์นเน้นความเป็นพระเจ้าของพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ยอห์นบันทึกพระดำรัสที่พระเยซูตรัสถึงพระบิดาของพระองค์มากกว่า 100 ครั้ง และมากกว่า 20 ครั้งเฉพาะใน ยอห์น 14 หนึ่งในผลงานหลักของยอห์นคือการผนวกเอาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ตรัสกับสานุศิษย์ของพระองค์หลายชั่วโมงก่อนการจับกุมพระองค์ รวมถึงคำสวดอ้อนวอนเพื่อผู้อื่นครั้งสำคัญซึ่งทรงทำในคืนที่พระองค์ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี เรื่องราวของยอห์นส่วนนี้ (ยอห์น 13–17) มีมากกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ในหนังสือยอห์น ทำให้เราเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงคาดหวังจากสานุศิษย์ของพระองค์

สรุปเหตุการณ์

ยอห์น 1 ยอห์นเป็นพยานถึงความเป็นพระเจ้าก่อนมรรตัยและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์ในการประทานความรอดแก่มนุษย์ทั้งปวง ยอห์นบันทึกการบัพติศมาของพระเยซูและการเรียกของสานุศิษย์บางคนของพระองค์

ยอห์น 2–4 พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่น พระองค์ทรงสอนนิโคเดมัสเกี่ยวกับการเกิดใหม่ทางวิญญาณและเป็นพยานกับหญิงที่บ่อน้ำว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์ พระองค์ทรงรักษาบุตรชายของข้าราชการคนหนึ่ง

ยอห์น 5–7 พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนง่อยที่สระน้ำเบธซาธา พระองค์ทรงประกาศเดชานุภาพและสิทธิอำนาจแห่งสวรรค์ของพระองค์ พระองค์ทรงเลี้ยงคนห้าพันคนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับคำปราศัยเรื่องอาหารแห่งชีวิต ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ และทรงประกาศที่เทศกาลอยู่เพิงว่าเฉพาะคนที่รับพระองค์จะรับชีวิตนิรันดร์ได้

ยอห์น 8–10 ผ่านประสบการณ์ของหญิงที่ถูกจับฐานผิดประเวณี พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับความเห็นใจและการกลับใจ พระองค์ทรงประกาศด้วยพระองค์เองว่าทรงเป็นพระเมสสิยาห์ เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงรักษาชายที่ตาบอดแต่กำเนิดและรับสั่งถึงพระองค์เองว่าทรงเป็นผู้เลี้ยงที่ดี ผู้ที่รักและสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อแกะของพระองค์

ยอห์น 11–13 พระเยซูคริสต์ทรงทำให้ลาซารัสเป็นขึ้นจากตาย ทรงแสดงอำนาจของพระองค์เหนือความตาย พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้พิชิต ระหว่างพระกระยาหารมื้อสุดท้าย พระเยซูทรงล้างเท้าสานุศิษย์ของพระองค์และทรงสอนให้พวกเขารักซึ่งกันและกัน

ยอห์น 14–16 พระเยซูทรงสั่งสอนสานุศิษย์ของพระองค์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรักกับการเชื่อฟัง พระองค์ทรงสัญญาว่าจะส่งพระผู้ปลอบโยน (พระวิญญาณบริสุทธิ์) และปฏิบัติกับสานุศิษย์ของพระองค์อย่างเป็นส่วนตัว พระองค์ทรงประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นเถาองุ่นแท้และพระองค์ทรงชนะโลกแล้ว

ยอห์น 17–19 พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนเพื่อผู้อื่นในนามสานุศิษย์ของพระองค์และคนที่จะเชื่อการสั่งสอนของพวกเขา พระองค์ทรงถูกทรยศ ถูกจับกุม ดำเนินคดี และถูกตัดสินโทษ หลังจากทนทุกข์บนกางเขน พระองค์สิ้นพระชนม์และถูกฝัง

ยอห์น 20–21 พระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ทรงปรากฏต่อมารีย์ มักดาลาที่อุโมงค์ฝังศพและจากนั้นทรงปรากฏต่อสานุศิษย์ของพระองค์ในเยรูซาเล็ม พระองค์ทรงปรากฏต่อสานุศิษย์เจ็ดคนที่ทะเลกาลิลีและรับสั่งให้เปโตรนำอัครสาวกในการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น

พิมพ์