คลังค้นคว้า
บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน: มัทธิว 6:1–13:23 (หน่วย 3)


บทเรียนภาคการศึกษาที่บ้าน

มัทธิว 6:1–13:23 (หน่วย 3)

เนื้อหาเพื่อการเตรียมสำหรับครูภาคการศึกษาที่บ้าน

สรุปบทเรียนประจำวันภาคการศึกษาที่บ้าน

ใจความสรุปเหตุการณ์ หลักคำสอน และหลักธรรมต่อไปนี้ที่นักเรียนเรียนรู้ขณะศึกษา มัทธิว 6:1–13:23 (หน่วย 3) ไม่เจตนาจะให้สอนเป็นส่วนหนึ่งในบทเรียนของท่าน บทเรียนที่ท่านสอนมุ่งเน้นเฉพาะหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้เพียงไม่กี่ข้อ ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ขณะพิจารณาความต้องการของนักเรียน

วัน 1 (มัทธิว 6–7)

ขณะนักเรียนศึกษาคำเทศนาบนภูเขาต่อไป พวกเขาเรียนรู้สิ่งต่อไปนี้ หากเราทำสิ่งที่เป็นการอุทิศตนเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยแทนที่จะพยายามเป็นจุดสนใจของผู้อื่น พระบิดาบนสวรรค์จะประทานพรแก่เราอย่างเปิดเผย เราจะรับใช้ทั้งพระผู้เป็นเจ้าและเงินทองไม่ได้ เมื่อเราขอ หา และเคาะในการค้นหาความจริง พระบิดาบนสวรรค์จะทรงตอบและประทานพรด้วยการเปิดเผยส่วนตัว เราสามารถแยกแยะศาสดาพยากรณ์ปลอมโดยผลของพวกเขา

วัน 2 (มัทธิว 8–10)

ในบทเรียนนี้ นักเรียนเรียนรู้ว่าพระเยซูทรงรักษาเราให้หายจากความทุพพลภาพและความเจ็บป่วยของเราได้ พระองค์ทรงเรียกอัครสาวกและประสาทสิทธิอำนาจของพระองค์ไว้กับพวกเขา นักเรียนค้นพบด้วยว่าเมื่อเรากำลังรับใช้พระเจ้า พระองค์จะทรงดลใจเราด้วยสิ่งที่จะพูดเมื่อจำเป็น และหากเราสูญเสียชีวิตเรา (อุทิศเวลาของเรา) เพื่อเห็นแก่พระเยซูคริสต์ เราจะค้นพบจุดประสงค์ในชีวิต

วัน 3 (มัทธิว 11–12)

นักเรียนเรียนรู้ว่าเมื่อเราพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และเมื่อเราเป็นพยานถึงพระองค์ ประจักษ์พยานของเราเองเกี่ยวกับพระองค์จะเข้มแข็งขึ้น และถ้าเรามาหาพระเยซูคริสต์ พระองค์จะทรงทำให้ภาระของเราเบาลงและให้เราหยุดพัก นอกจากนั้น นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับการทุ่มเทอย่างเต็มที่ให้พระผู้เป็นเจ้าและการแทนอิทธิพลชั่วร้ายในชีวิตของพวกเขาด้วยอิทธิพลดี

วัน 4 (มัทธิว 13:1–23)

เมื่อนักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับอุปมาเรื่องผู้หว่าน พวกเขาเรียนรู้ว่าความกังวลของโลกจะทำให้เราเขว ทำให้เราเลิกจดจ่ออยู่กับพระเจ้า และยับยั้งศรัทธาตลอดจนประจักษ์พยานของเราเกี่ยวกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้นและเพื่อเปลี่ยนใจเลื่อมใสมาสู่พระผู้ช่วยให้รอด เราต้องรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและพยายามทำให้ประจักษ์พยานของเราลึกซึ้งยิ่งขึ้น

บทนำ

ตามที่บันทึกใน มัทธิว 7 พระเยซูคริสต์ทรงสอนคำเทศนาบนภูเขาต่อโดยการสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้ตัดสินอย่างชอบธรรม พระองค์ทรงสอนเกี่ยวกับการรับการเปิดเผยส่วนตัวและการทำตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ด้วย

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หมายเหตุ: ระหว่างบทเรียนภาคการศึกษาที่บ้านสำหรับหน่วย 1 และบทเรียนวัน 3 ของสัปดาห์นี้ นักเรียนศึกษาผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ใน มัทธิว 11:28–30 ท่านอาจใช้เวลาสักครู่เพื่อทบทวนข้อพระคัมภีร์กับนักเรียน

มัทธิว 7:1–5

ในส่วนหนึ่งของคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการตัดสินอย่างชอบธรรม

ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน เราควรตัดสินหรือไม่ควรตัดสินผู้อื่น เมื่อเริ่มชั้นเรียน เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามนี้

ให้นักเรียนดูภาพ คำเทศนาบนภูเขา (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 39; ดู LDS.org ด้วย) อธิบายว่าเมื่อพระเยซูทรงสอนคำเทศนาบนภูเขาต่อไป พระองค์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการตัดสิน

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 7:1 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับการตัดสิน ชี้ให้เห็นว่า ข้อ 1 มักเป็นที่เข้าใจผิดว่าเราไม่ควรตัดสินเลย ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงงานแปลของโจเซฟ สมิธ มัทธิว 7:1–2, “บัดนี้ นี่คือพระวจนะซึ่งพระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ให้พวกเขาพึงกล่าวแก่ผู้คน อย่าตัดสินอย่างไม่ชอบธรรม, เพื่อเจ้าจะไม่ถูกตัดสิน; แต่จงตัดสินด้วยการตัดสินที่ชอบธรรม”

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรเกี่ยวกับการตัดสิน

  • ท่านคิดว่าการตัดสินอย่างชอบธรรมหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 7:2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราจากวิธีที่เราตัดสินคนอื่น ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ (ท่านอาจต้องการอธิบายว่าวลี “จะตวงผู้อื่นด้วยทะนานอันใด” หมายถึงวิธีที่ท่านวัดหรือตัดสิน)

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับเราถ้าเราตัดสินคนอื่นอย่างชอบธรรม (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ช่วยให้พวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราตัดสินคนอื่นอย่างชอบธรรม พระผู้เป็นเจ้าจะทรงหยิบยื่นความเมตตาและความยุติธรรมเดียวกันนั้นให้เรา)

หากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แจกสำเนาข้อความ จาก แนวแน่ต่อศรัทธา ให้นักเรียนแต่ละคน เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาชนิดของการตัดสินที่เราควรทำและไม่ควรทำและเราจะตัดสินอย่างชอบธรรมได้อย่างไร

“บางครั้งผู้คนรู้สึกว่าไม่ถูกต้องที่จะตัดสินผู้อื่นไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ถึงแม้จะเป็นความจริงที่ว่าท่านไม่ควรลงความเห็นหรือตัดสินผู้อื่นอย่างไม่ชอบธรรม แต่ท่านจะต้องตัดสินแนวความคิด สถานการณ์ และผู้คนตลอดชีวิตของท่าน …

“การตัดสินเป็นการใช้สิทธิ์เสรีครั้งสำคัญและต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านตัดสินเรื่องผู้อื่น การตัดสินของท่านทุกครั้งต้องได้รับแนวทางจากมาตรฐานที่ชอบธรรม พึงระลึกว่า เฉพาะพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรู้จักใจของแต่ละคนเท่านั้นที่จะทรงตัดสินขั้นสุดท้ายได้ (ดู วิวรณ์ 20:12; 3 นีไฟ 27:14; คพ. 137:9) …

“… อย่าตัดสินตัวเขาแต่จงตัดสินสถานการณ์ของผู้คนเท่าที่ท่านจะทำได้ หากเป็นไปได้ จงระงับการตัดสินจนกว่าท่านจะรู้ข้อเท็จจริงมากพอ ขอให้ความรู้สึกของท่านไวเสมอต่อพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ผู้จะทรงนำทางการตัดสินใจของท่าน” (แน่วแน่ต่อศรัทธา: ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ [2004], 23–25)

  • การตัดสินชนิดใดที่เราควรทำ

  • เราจะตัดสินอย่างชอบธรรมได้อย่างไร

  • มีตัวอย่างใดบ้างของเวลาที่บุคคลคนหนึ่งอาจจำเป็นต้องตัดสินอย่างชอบธรรม

นำซีกไม้ชิ้นเล็กๆ และท่อนไม้ชิ้นใหญ่มาให้นักเรียนดู อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เกี่ยวกับการตัดสิน พระองค์ตรัสว่าซีกไม้เป็นเหมือน ผง ไม้ชิ้นใหญ่เป็น ไม้ทั้งท่อน เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 7:3 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนไว้เกี่ยวกับการติดสินผู้อื่น

  • ผงและไม้ทั้งท่อนหมายถึงอะไรในการเปรียบเทียบของพระผู้ช่วยให้รอด (สิ่งเหล่านี้หมายถึงความผิด ความอ่อนแอ หรือบาปน้อยใหญ่)

  • ท่านจะพูดใหม่เกี่ยวกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 3 ว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนสองคนออกมาที่หน้าชั้นเรียน บอกนักเรียนคนหนึ่งให้ถือท่อนไม้ไว้ที่ตาของเขา ถามนักเรียนคนที่สอง

  • ท่านอยากให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนของท่านที่มีท่อนไม้นำเศษไม้ออกจากตาของท่านหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงไม่

ถามนักเรียนที่มีท่อนไม้ว่า

  • ท่านต้องทำอะไรเพื่อให้เห็นชัดพอที่จะนำเศษไม้ออกจากตาของเพื่อนร่วมชั้นเรียนของท่าน

เชิญนักเรียนทั้งสองกลับไปนั่ง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 7:4–5 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราควรกังวลเกี่ยวกับความผิดของใคร

  • ความกังวลและการแก้ไขของเราควรมุ่งไปที่ความผิดของคนอื่นหรือความผิดของเราเอง เพราะเหตุใด

  • เราจะเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้ที่จะช่วยเราหลีกเลี่ยงการตัดสินคนอื่นอย่างไม่ชอบธรรม (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรามุ่งขจัดบาปและความอ่อนแอของเราเอง เราจะมีแนวโน้มในการตัดสินคนอื่นอย่างไม่ชอบธรรมน้อยลง เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • หลักธรรมนี้จะช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเราเห็นข้อบกพร่องของคนอื่น

ท่านสามารถแจกเศษไม้ให้นักเรียนคนละชิ้นเพื่อเตือนเขาเกี่ยวกับหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงบาปหรือความอ่อนแอที่พวกเขาสามารถขจัดออกจากชีวิตพวกเขาเองได้ กระตุ้นให้พวกเขาทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยพวกเขาขจัดข้อบกพร่องของตนเองแทนที่จะตัดสินคนอื่นอย่างไม่ชอบธรรม

มัทธิว 7:24–27

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาความรอดแก่คนที่ทำตามพระประสงค์ของพระบิดา

นำก้อนหินและถาดใส่ทรายมาให้นักเรียนดู ถามนักเรียนว่าพวกเขาอยากสร้างบ้านของพวกเขาบนหินหรือบนทราย เชื้อเชิญให้พวกเขาอธิบายว่าเพราะเหตุใด

ขอให้นักศึกษาหนึ่งคนอ่านออกเสียง มัทธิว 7:24–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูคริสต์ตรัสว่าการสร้างบ้านของตนไว้บนศิลาเป็นเหมือนอะไรและการสร้างบ้านของตนไว้บนทรายเป็นเหมือนอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 24 การกระทำใดที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจะทำให้คนเป็นเหมือนผู้มีปัญญาที่สร้างบ้านบนศิลา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 26 การกระทำใดที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าจะทำให้คนเป็นเหมือนคนโง่เขลาที่สร้างบ้านบนทราย

  • ท่านคิดว่าฝนตก น้ำไหลเชี่ยว และลมพัดในคำเปรียบเทียบนี้หมายถึงอะไร (ดู ข้อ 27; ดู ฮีลามัน 5:12ด้วย)

  • หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าที่เราเรียนรู้ได้จากคำเปรียบเทียบเหล่านี้ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราฟังและปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้า พระองค์จะทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราอดทนต่อการทดลองของเรา) ถ้าเราฟังคำสอนของพระเจ้าแต่ไม่ทำตามคำสอนเหล่านั้น เราจะไม่ได้รับการสนับสนุนที่เราต้องการเมื่อการทดลองเกิดขึ้น)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นเหมือนผู้มีปัญญาโดยตัดสินใจทำตามหลักธรรมที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนเขียนวิธีที่พวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นจากบทเรียนนี้หรือจากการศึกษาส่วนที่เหลือของคำเทศนาบนภูเขาของพระผู้ช่วยให้รอด

หน่วยต่อไป (มัทธิว 13:24–17:27)

บอกนักเรียนว่าระหว่างสัปดาห์หน้าพวกเขาจะอ่านเกี่ยวกับแผนชั่วที่นำไปสู่ความตายของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา พวกเขาจะเรียนรู้คำตอบของคำถามต่อไปนี้เช่นกัน เหตุใดเฮโรดจึงให้คนตัดศีรษะยอห์น เหตุใดเปโตรจึงจมน้ำหลังจากเดินบนน้ำได้สำเร็จ ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าจะรู้สึกอย่างไรที่มีเพื่อนสนิทหรือสมาชิกครอบครัวสิ้นชีวิต ขณะที่พวกเขาศึกษาหน่วยต่อไป เชื้อเชิญให้พวกเขามองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองต่อการสิ้นชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รักอย่างไรและเกิดอะไรขึ้นบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพ

พิมพ์