คลังค้นคว้า
บทที่ 127: 1 เธสะโลนิกา 1–2


บทที่ 127

1 เธสะโลนิกา 1–2

คำนำ

เปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาหลังจากทราบว่าพวกเขาซื่อสัตย์ต่อพระกิตติคุณท่ามกลางการข่มเหง เปาโลชื่นชมพวกเขาในความซื่อสัตย์และความเต็มใจในการสอนพระกิตติคุณ เปาโลบรรยายถึงสาเหตุที่เขาสั่งสอนวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกา

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 เธสะโลนิกา 1

เปาโลชื่นชมวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาที่พวกเขามีความซื่อสัตย์แม้ในยามทุกข์ยาก

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันประสบการณ์ด้านดีที่พวกเขามีระหว่างพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น

  • มีความท้าทายใดบ้างที่เราอาจประสบเมื่อเราพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงขณะศึกษา 1 เธสะโลนิกา 1–2 ที่จะช่วยพวกเขาขณะพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญให้นักเรียนระบุที่ตั้งของเมืองเธสะโลนิกาในแผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผนที่ 13 “เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาของอัครสาวกเปาโล” ซึ่งอยู่ในคู่มือพระคัมภีร์ ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงคำบรรยายต่อไปนี้ของวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกา

วิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกาเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกสุดที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่ศาสนจักร เปาโล สิลาส และทิโมธีสั่งสอนที่นั่นเป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางเผยแผ่ศาสนาของเปาโลแต่ถูกผู้นำชาวยิวบางคนขับออกจากเมือง (ดู กิจการของอัครทูต 17:5–15) วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาถูกข่มเหงต่อไปแม้หลังจากที่เปาโลและคู่ผู้สอนศาสนาของเขาออกจากเมืองไปแล้ว ต่อมาเปาโลเขียนสาส์นไปถึงวิสุทธิชนเพื่อหนุนใจพวกเขาขณะเผชิญการข่มเหง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 1:2–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่เปาโลชื่นชมยินดีกับวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกา

  • เหตุใดเปาโลจึงชื่นชมยินดีกับวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 1:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลสั่งสอนพระกิตติคุณแก่ชาวเธสะโลนิการะหว่างการเยือนครั้งก่อนของเขาอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 5 เปาโลสั่งสอนพระกิตติคุณแก่ชาวเธสะโลนิกาอย่างไร (ด้วยถ้อยคำและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า)

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนฟังว่าถ้อยคำและอำนาจของพระกิตติคุณหมายถึงอะไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“พระกิตติคุณที่แท้จริงประกอบด้วยสองสิ่ง นั่นคือ พระคำ และอำนาจ ใครก็สามารถมีพระคำได้ มีหนังสือที่เขียนพระคำไว้อยู่ทุกที่ แต่อำนาจต้องมาจากพระผู้เป็นเจ้า พระกิตติคุณได้รับการแบ่งปันและต้องได้รับการแบ่งปันออกไปตามดำริและพระประสงค์ของพระองค์ให้แก่คนที่ทำตามกฎซึ่งให้สิทธิแก่พวกเขาในการรับพระกิตติคุณ

“ถ้อยคำของพระกิตติคุณเป็นเรื่องราวที่พูดหรือเขียนถึงสิ่งที่มนุษย์ต้องทำเพื่อได้รับความรอด …

“แต่ความรอดที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อได้รับและใช้อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น และอำนาจนี้เป็นอำนาจของฐานะปุโรหิตและอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:42–43)

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์แมคคองกี ถ้อยคำของพระกิตติคุณหมายความว่าอย่างไร อำนาจของพระกิตติคุณหมายถึงอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6 ชาวเธสะโลนิกาทำอะไรหลังจากที่พวกเขาได้รับการสอนพระกิตติคุณด้วยพระคำและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า (พวกเขากลายเป็นผู้ติดตามของพระเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์)

  • ท่านจะสรุปคำสอนของเปาโลใน ข้อ 5–6 เป็นหลักธรรมข้อหนึ่งว่าอย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยพระคำและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เราจะช่วยให้ผู้อื่นกลายเป็นผู้ติดตามของพระเจ้าและผู้รับใช้ของพระองค์)

  • เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมสอนพระกิตติคุณด้วยพระคำและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 1:7–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาทำอะไรอีกหลังจากที่พวกเขารับพระกิตติคุณ

  • วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาทำอะไรอีกหลังจากที่พวกเขารับพระกิตติคุณ แบบอย่างของพวกเขาส่งผลต่อผู้เชื่อคนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้างพวกเขาอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณผ่านแบบอย่างของเรา)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“วิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการสั่งสอนพระกิตติคุณคือผ่านแบบอย่าง ถ้าเราดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเชื่อของเรา ผู้คนจะสังเกตเห็น หากสีพระพักตร์ของพระเยซูคริสต์ส่องสว่างในชีวิตของเรา [ดู แอลมา 5:14] หากเราเปี่ยมปีติและมีสันติสุขกับโลก ผู้คนจะต้องการรู้ว่าเพราะเหตุใด หนึ่งในโอวาทยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยประกาศไว้ในงานสอนศาสนา เป็นความคิดเรียบง่ายซึ่งมาจากนักบุญฟรานซิสแห่งอัสสิซี ‘จงสั่งสอนพระกิตติคุณตลอดเวลาและถ้าจำเป็นจงใช้ถ้อยคำ’ [William Fay and Linda Evans Shepherd, Share Jesus without Fear (1999), 22]” (“การรอคอยบนถนนสู่ดามัสกัส,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 96)

  • การเป็นแบบอย่างจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการแบ่งปันพระกิตติคุณแทนที่จะพูดเกี่ยวกับพระกิตติคุณเท่านั้นอย่างไร

  • แบบอย่างของคนบางคนเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ

1 เธสะโลนิกา 2

เปาโลบรรยายว่าเขาและคู่ผู้สอนศาสนาของเขาปฏิบัติศาสนกิจกับชาวเธสะโลนิกาอย่างไร

อธิบายว่าหลังจากเปาโลชื่นชมวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาในแบบอย่างอันชอบธรรมของพวกเขา เขาเตือนวิสุทธิชนเหล่านั้นถึงความรักที่เขามีต่อชาวเธสะโลนิกาและแบบอย่างที่เขาทำไว้ขณะสั่งสอนพระกิตติคุณแก่พวกเขาก่อนหน้านี้

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงและคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

1 เธสะโลนิกา 2:1–13

  • วลีหรือถ้อยคำใดที่บรรยายถึงแบบอย่างที่ชอบธรรมซึ่งเปาโลและคู่ผู้สอนศาสนาของทำไว้สำหรับชาวเธสะโลนิกา

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 เธสะโลนิกา 2:1–13 ขณะชั้นเรียนดูตาม หรือแทนที่จะเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียง ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาค้นคว้าข้อเหล่านี้ในกลุ่มเล็กๆ เป็นคู่ หรือทำคนเดียว ขอให้นักเรียนมองหาคำหรือวลีที่บรรยายแบบอย่างที่ชอบธรรมซึ่งเปาโลและคู่ผู้สอนศาสนาของเขาทำไว้สำหรับชาวเธสะโลนิกา ท่านอาจต้องการแนะนำให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนมาที่กระดานเพื่อเขียนถ้อยคำหนึ่งหรือสองคำหรือวลีที่พวกเขาพบ ขอให้พวกเขาอธิบายว่าคำหรือวลีเหล่านั้นจะนำทางความพยายามของเราในการเป็นแบบอย่างที่ชอบธรรมแก่ผู้อื่นอย่างไร

สรุป 1 เธสะโลนิกา 2:14–18 โดยอธิบายว่าเปาโลบอกว่าวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกากำลังถูกข่มเหงเนื่องจากยอมรับพระกิตติคุณ เขาบอกวิสุทธิชนว่าเขาได้พยายามไปเยี่ยมพวกเขาอีกครั้งแต่ถูก “ขัดขวาง” จากปฏิปักษ์ (ข้อ 18)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 2:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบรรยายว่าเป็น “ความหวัง ความชื่นชมยินดี หรือ … สิ่งภูมิใจ” ของเขา (ข้อ 19)

  • เปาโลบรรยายว่าอะไรเป็น “ความหวัง ความชื่นชมยินดี หรือ … สิ่งภูมิใจ” ของเขา

  • ความหวัง ความชื่นชมยินดี หรือสิ่งภูมิใจของเปาโลอาจสะท้อนถึงความหวัง ความชื่นชมยินดี และความปลื้มปีติที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีต่อเราอย่างไร

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่ระบุในบทนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะแบ่งปันพระกิตติคุณทั้งโดยการพูดเกี่ยวกับพระกิตติคุณและการเป็นแบบอย่างที่ชอบธรรมอย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาทำตามการกระตุ้นเตือนที่ได้รับ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 เธสะโลนิกา 1:1, 3 “พระเจ้าพระบิดา และพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า”

เปาโลมักจะเริ่มต้นสาส์นของเขาด้วยการประกาศถึงทั้งพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเจ้าพระเยซูคริสต์ โดยยืนยันถึงหลักคำสอนที่ว่าพระบิดาและพระบุตรทรงเป็นพระสัตภาวะที่แยกกัน

1 เธสะโลนิกา 1:4 “พระเจ้าได้ทรงเลือกสรรท่าน”

คำว่า เลือกสรร ใน 1 เธสะโลนิกา 1:4 หมายถึงการได้รับเลือกจากพระเจ้าโดยมีพื้นฐานจากค่าควรในชีวิตก่อนเกิดเพื่อนับอยู่ในบรรดาผู้คนแห่งพันธสัญญาของพระองค์ ผู้ที่ทรงเลือกไว้ “ได้รับพรพิเศษและหน้าที่เพื่อว่าพวกเขาจะเป็นพรแก่ประชาชาติของโลก” (Guide to the Scriptures, Election,scriptures.lds.org)

1 เธสะโลนิกา 1:6–9 “ท่านจึงเป็นแบบอย่างแก่คนที่เชื่อแล้ว”

เอ็ลเดอร์ โจเซฟ บี. เวิร์ธลินแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายถึงสาเหตุที่เปาโลชื่นชมยินดีในวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกา ดังนี้

“เปาโลชื่นชมยินดีในความจริงที่ว่าสิ่งที่เขาได้บอกชาวเธสะโลนิกาไม่ได้เป็นถ้อยคำที่ไร้ความหมายสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาฟังด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่สอนพวกเขาทำให้เกิดความปรารถนาอันทรงพลังสำหรับความชอบธรรมในชีวิต … เปาโลพึงพอใจที่พวกเขารับข่าวสารพระกิตติคุณด้วยความยินดีและความสุข แม้จะมีความยากลำบากมากมาย ในท้ายที่สุดเขาบอกว่าสิ่งใดเป็นความสำเร็จสูงสุดของพวกเขา—ว่าพวกเขาเป็นแบบอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เพื่อนบ้านและจากพวกเขาพระคำของพระเจ้าจะได้รับการแบ่งปันไปสู่ผู้อื่นทุกหนแห่ง ไกลเกินอาณาเขตของพวกเขา เปาโลสรรเสริญพวกเขาเมื่อเปาโลบอกว่าไม่ว่าเขาจะเดินทางไปที่ใด เขาพบผู้คนที่บอกเขาเกี่ยวกับงานดีที่โดดเด่นและศรัทธาของพวกเขาในพระผู้เป็นเจ้า” (There Am I in the Midst of Them, May 1976, 56–57)

พิมพ์