คลังค้นคว้า
บทที่ 128: 1 เธสะโลนิกา 3–5


บทที่ 128

1 เธสะโลนิกา 3–5

คำนำ

อัครสาวกเปาโลปรารถนาจะเสริมสร้างศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรชาวเธสะโลนิกา เปาโลสอนพวกเขาเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิตของคนตายในการเสด็จมาครั้งที่สองพระเยซูคริสต์และสอนพวกเขาถึงวิธีเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

1 เธสะโลนิกา 3–4:12

เปาโลปรารถนาจะเสริมสร้างศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรชาวเธสะโลนิกา

แจก สำเนา ของ ข้อสอบ ถูกผิดต่อไปนี้เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ให้นักเรียน และขอให้พวกเขาเลือกตอบ ถูก หรือ ผิด ที่อยู่ข้างคำถามแต่ละข้อ

ภาพ
เอกสารแจก

1 เธสะโลนิกา 3–5

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 128

  • ถ ผ 1. วิสุทธิชนที่ชื่อสัตย์ผู้สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองจะไม่ฟื้นคืนชีวิตจนกระทั่งมิลเลเนียมสิ้นสุดลง

  • ถ ผ 2. วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ผู้มีชีวิตอยู่ในการเสด็จมาครั้งที่สองจะได้รับการนำขึ้นไปเฝ้าพระคริสต์เมื่อพระองค์เสด็จกลับมา

  • ถ ผ 3. การเสด็จมาครั้งที่สองจะทำให้ทุกคนประหลาดใจเหมือนขโมยที่มาในเวลากลางคืน

อธิบายว่าท่านจะไม่เฉลยคำตอบของข้อสอบในตอนนี้แต่นักเรียนจะค้นพบคำตอบที่ถูกต้องระหว่างบทเรียนในวันนี้ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ขณะพวกเขาอ่าน 1 เธสะโลนิกา 3–5

เตือนนักเรียนว่าหลังจากสั่งสอนพระกิตติคุณเป็นเวลาสั้นๆ ในเมืองเธสะโลนิกา เปาโล สิลาส และทิโมธีถูกผู้นำชาวยิวบังคับให้ออกไปจากเมือง (ดู กิจการของอัครทูต 17:5–15) หลังจากนั้น เปาโลส่งทิโมธีกลับไปเมืองเธสะโลนิกาเพื่อดูผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่และเสริมสร้างศรัทธาของพวกเขา ใน 1 เธสะโลนิกา 3:1–7 เราเรียนรู้ว่าทิโมธีรายงานต่อเปาโลว่าวิสุทธิชนยังคงชื่อสัตย์แม้ประสบกับการข่มเหง ทิโมธีน่าจะรายงานด้วยว่าวิสุทธิชนมีคำถามหลายข้อเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ เปาโลเขียนสาส์นไปถึงวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาเพื่อตอบคำถามของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 3:9–10 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกว่าเขาสวดอ้อนวอนขอระหว่างที่เขาไม่อยู่กับวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกา

  • เปาโลบอกว่าเปาโลสวดอ้อนวอนขออะไรระหว่างที่เขาไม่อยู่

  • วลี “เพิ่มพูนความเชื่อของท่านในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้บริบูรณ์” ใน ข้อ 10 หมายความว่าอย่างไร (เปาโลปรารถนาที่จะเสริมสร้างศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรในเมืองเธสะโลนิกา)

อธิบายว่าวิธีหนึ่งที่เปาโลมุ่งเสริมสร้างศรัทธาของสมาชิกศาสนจักรชาวเธสะโลนิกาคือการช่วยให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 3:11–13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลหวังว่าพระเจ้าจะทรงทำเพื่อเตรียมวิสุทธิชนให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

  • เปาโลหวังว่าพระเจ้าจะทรงทำอะไรเพื่อเตรียมวิสุทธิชนให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 4:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกาให้ทำเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • เปาโลแนะนำวิสุทธิชนในเมืองเธสะโลนิกาให้ทำอะไรเพื่อเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง

มอบหมายพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ให้นักเรียนแต่ละคน (ขึ้นอยู่กับขนาดของชั้นเรียน อาจมีนักเรียนเกินกว่าหนึ่งคนที่ได้ข้ออ้างอิงซ้ำกัน): 1 เธสะโลนิกา 4:2–5; 4:6–8; 4:9–12 เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์อ้างอิงและตอบคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่ม (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้บนกระดาน)

  • เปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้ทำอะไรเพื่อให้พระเจ้าพอพระทัย

  • ท่านคิดว่าการดำเนินชีวิตตามคำสอนนั้นจะช่วยพวกเขาเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควร เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายคนรายงานคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

1 เธสะโลนิกา 4:13–18

เปาโลสอนเกี่ยวกับฟื้นคืนชีวิตของคนตายในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

ให้ดูภาพ การเสด็จมาครั้งที่สอง (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 66; ดู LDS.orgด้วย)

ภาพ
การเสด็จมาครั้งที่สอง

อธิบายว่าวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง พวกเขากังวลว่าสมาชิกศาสนจักรในเมืองเธสะโลนิกาที่สิ้นชีวิตแล้วจะไม่ได้ประสบกับพรของการเสด็จมาครั้งที่สอง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 4:13–14, 16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง อธิบายว่าเปาโลใช้คำว่า ล่วงหลับ และ หลับ เพื่อหมายถึงคนตาย

  • เปาโลสอนความจริงอะไรเกี่ยวกับวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สอง (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ วิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองจะฟื้นคืนชีวิตเมื่อพระคริสต์เสด็จมาอีกครั้ง)

  • วลี “พระเจ้าจะทรงนำบรรดาคนที่ล่วงหลับไปแล้วนั้นมากับพระองค์” ใน ข้อ 14 หมายความว่าอย่างไร (วิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่ฟื้นคืนชีวิตในการเสด็จมาครั้งที่สองจะได้รับการนำขึ้นไปเฝ้าพระเยซูคริสต์และจะลงมากับพระองค์ในรัศมีภาพ [ดู คพ. 88:97–98])

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 4:15, 17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลสอนอะไรเกี่ยวกับวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่จะมีชีวิตเมื่อพระคริสต์เสด็จมาอีกครั้ง อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อ 15 เปลี่ยนตอนจบให้อ่านว่า “คนเหล่านั้นผู้ที่มีชีวิตอยู่ ณ การเสด็จมาของพระเจ้า, จะไม่ล้ำหน้าพวกเขาผู้ที่พักอยู่จนการเสด็จมาของพระเจ้า, ผู้ที่หลับใหล.” อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธข้อ 17 เปลี่ยนข้อนั้นให้อ่านว่า “หลังจากนั้นพระเจ้าจะทรงรับพวกเขาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ขึ้นไปในเมฆพร้อมกับคนเหล่านั้นที่อยู่ และจะได้พบองค์พระผู้เป็นเจ้าในฟ้าอากาศ อย่างนั้นแหละ เราก็จะอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์” ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่างานแปลของโจเซฟ สมิธเปลี่ยน พวกเรา ในข้อนี้เป็น พวกเขา เพื่อให้เห็นว่าการเสด็จมาครั้งที่สองจะไม่เกิดขึ้นในสมัยของเปาโล

  • เปาโลสอนความจริงอะไรเกี่ยวกับวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่มีชีวิตอยู่ในการเสด็จมาครั้งที่สอง (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ วิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ที่มีชีวิตอยู่ในการเสด็จมาครั้งที่สองจะถูกพาขึ้นไปเฝ้าพระเยซูคริสต์เมื่อพระองค์เสด็จกลับมา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 1 เธสะโลนิกา 4:18 ในใจโดยมองหาว่าเปาโลหวังว่าวิสุทธิชนจะทำอะไรหลังจากได้ยินความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ท่านพบกับการปลอบโยนอะไรจากหลักคำสอนเหล่านี้เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

1 เธสะโลนิกา 5

เปาโลสอนสมาชิกศาสนจักรชาวเธสะโลนิกาถึงวิธีเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 5:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาการเปรียบเทียบสองเรื่องที่เปาโลใช้เพื่อบรรยายถึงเวลาของการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • อะไรคือการเปรียบเทียบสองเรื่องที่เปาโลใช้เพื่อบรรยายถึงเวลาของการเสด็จมาครั้งที่สอง (“ขโมยในเวลากลางคืน” [ข้อ 2] และ “หญิงมีครรภ์” เจ็บคลอด [ข้อ 3])

อธิบายว่าขโมยในเวลากลางคืนโดยปกติจะมา “โดยไม่คาดคิดและไม่มีคำเตือน” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:54)

  • คำเปรียบเทียบของเปาโลกับขโมยในเวลากลางคืนสอนอะไรเราเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • คำเปรียบเทียบของเปาโลกับหญิงมีครรภ์จะคลอดสอนอะไรเราเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

หลังจากนักเรียนตอบคำถามก่อนหน้านี้แล้ว ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้เกี่ยวกับการเปรียบเทียบกับหญิงมีครรภ์จะคลอดว่า “เธอไม่รู้ว่าชั่วโมงหรือนาทีใดที่ลูกจะคลอด แต่เธอรู้เวลาโดยประมาณ” (Doctrinal New Testament Commentary, 3:54) ตามคำเปรียบเทียบนี้ เราอาจเข้าใจได้ด้วยว่าการทดลองที่มาก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองเป็นเหมือนความเจ็บปวดจากการคลอดอย่างไร แต่เช่นกับการคลอดทารกนั้นเป็นเรื่องยอดเยี่ยม การเสด็จมาครั้งที่สองจะเป็นเรื่องยอดเยี่ยมสำหรับคนชอบธรรมด้วย

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 5:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่วิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์จะไม่ประหลาดใจกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • เหตุใดวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์จะไม่ประหลาดใจกับการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • การเป็น “ลูกของความสว่าง” หมายความว่าอย่างไร (วลี “ลูกของความสว่าง” ใน ข้อ 5 หมายถึงสมาชิกศาสนจักรผู้ซื่อสัตย์ที่ “เลิกบรรดากิจการแห่งความมืด” [โรม 13:12] มีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อน ดังนั้นจะพร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง [ดู คพ. 106:4–5])

  • “เฝ้าระวังและมีสติ” หมายความว่าอย่างไร (1 เธสะโลนิกา 5:6)

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาเกี่ยวกับวิธีเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองว่าอย่างไร (โดยใช้คำพูดของนักเรียน ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราซื่อสัตย์และเฝ้าดูเครื่องหมายก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ เราจะพร้อมเมื่อพระองค์เสด็จมาอีกครั้ง)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้โดยประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ และขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเราจะเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างไรดังนี้

ภาพ
ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ

“แผ่นดินโลกเต็มไปด้วยภัยพิบัติ ปัญหา ใจมนุษย์จะท้อแท้ เรามองเห็นหมายสำคัญเมื่อเราเห็นต้นมะเดื่อผลิใบ และรู้ว่าเวลาเข้าใกล้มาแล้ว สิ่งนี้จำเป็นสำหรับข้าพเจ้า จำเป็นสำหรับท่านและมนุษย์ทั้งปวงบนพื้นแผ่นดินโลกที่จะ ตั้งใจฟังพระคำของพระคริสต์ อัครสาวกของพระองค์และเฝ้าดู เพราะเราไม่รู้ว่าวันหรือโมงไหน” (Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 3:52–53)

  • ตามที่ประธานสมิธกล่าวไว้ เราเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนข้อความ ถูก–ผิด และคำตอบที่เขาเขียนเมื่อเริ่มชั้นเรียน

  • ตามความจริงต่างๆ ที่ท่านเรียนรู้ในบทเรียนนี้ ท่านจะเปลี่ยนคำตอบข้อใดหรือไม่ (เฉลย: [1] ผิด, [2] ถูก, [3] ผิด)

สรุป 1 เธสะโลนิกา 5:7–22 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำวิสุทธิชนเพิ่มเติมว่าจะเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:12–22 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำเพื่อเตรียมตัวและเตรียมผู้อื่นให้พร้อมพบกับพระผู้ช่วยให้รอดในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ กระตุ้นให้นักเรียนเลือกคำแนะนำที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา เชื้อเชิญให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา (ท่านอาจต้องการเขียนคำถามเหล่านี้บนกระดาน)

  • คำแนะนำใดจาก 1 เธสะโลนิกา 5:12–22 น่าสนใจสำหรับท่าน

  • การดำเนินชีวิตตามคำแนะนำนี้จะช่วยท่านและคนอื่นให้เตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองได้อย่างไร

  • ท่านจะกระตุ้นให้บางคนใช้คำแนะนำนี้ในชีวิตประจำวันอย่างไร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันรายงานคำตอบของพวกเขากับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่ง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 1 เธสะโลนิกา 5:23–24 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำเพื่อวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์เมื่อพวกเขาเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง

  • พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำอะไรเพื่อวิสุทธิชนผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์เมื่อพวกเขาเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่สอนในบทเรียนนี้ และเชื้อเชิญให้นักเรียนเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สองอย่างซื่อสัตย์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

1 เธสะโลนิกา 4:17 “ขึ้นไปในเมฆพร้อมกับคนเหล่านั้น”

“งานแปลของโจเซฟ สมิธของ 1 เธสะโลนิกา 4:17 อ่านว่า ‘หลังจากนั้นพระเจ้าจะทรงรับ พวกเขาซึ่ง ยังมีชีวิตอยู่ ขึ้นไป ในเมฆ พร้อมกับคนเหล่านั้นที่อยู่ และจะได้พบองค์พระผู้เป็นเจ้าในฟ้าอากาศ อย่างนั้นแหละ เราก็อยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นนิตย์ ชาวคริสต์หลายคนใช้คำว่า ขึ้นไป (จากคำละตินที่แปลว่า ‘รับขึ้นไป’) เมื่อพูดถึงเวลาที่คนชอบธรรมจะได้รับการนำขึ้นไปพบกับพระผู้ช่วยให้รอดในการเสด็จมาของพระองค์” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 450)

1 เธสะโลนิกา 5:19 “อย่าขัดขวางพระวิญญาณ”

“ในตอนท้ายของ 1 เธสะโลนิกา เปาโลให้คำแนะนำเพื่อปฏิบัติหลายข้อเกี่ยวกับวิธีเตรียมรับการเสด็จมาของพระเจ้า (ดู 1 เธสะโลนิกา 5:6–23) ส่วนหนึ่งในคำแนะนำของเปาโล เขาขอให้วิสุทธิชน ‘อย่าขัดขวางพระวิญญาณ’ (1 เธสะโลนิกา 5:19) การขัดขวางพระวิญญาณคือการทำลายหรือระงับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง (ดู เอเฟซัส 4:30–31ด้วย) เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ [แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง] ชี้ให้เห็นว่าเพื่อให้มีความป็นเพื่อนกับพระวิญญาณโดยสมบูรณ์ เราต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะขับพระวิญญาณออกจากเรา ดังนี้

“‘หากบางสิ่งที่เราคิด เห็น ได้ยิน หรือทำ นำเราออกห่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราควรหยุดคิด หยุดมอง หยุดฟัง หรือหยุดทำสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าสิ่งที่ให้ความบันเทิงทำให้เราเหินห่างจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าความบันเทิงประเภทนั้นไม่เหมาะกับเรา เพราะพระวิญญาณทนไม่ได้กับเรื่องต่ำช้า หยาบคาย หรือไม่สุภาพ จึงเห็นได้ชัดว่าเรื่องเช่นนั้นไม่เหมาะกับเรา เพราะเราเหินห่างจากพระวิญญาณของพระเจ้าเมื่อเราเข้าร่วมกิจกรรมที่เรารู้ว่าควรหลีกเลี่ยงเรื่องเช่นนั้นจึงไม่เหมาะกับเรา

“‘… เมื่อเราจุ่มลงในพระวิญญาณของพระเจ้า เราควรพยายามรู้ให้แจ้งชัดถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นและอิทธิพลหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เราถอนตัวจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’ (‘เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา,’ เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 35-36)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 451)

1 เธสะโลนิกา 5:20–21 “จงพิสูจน์ทุกสิ่ง สิ่งดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น”

ในฐานะสมาชิกศาสนจักร เราได้รับคำแนะนำให้ตรวจสอบและพิสูจน์ (หรือทดสอบ) สิ่งที่เราอ่าน ฟัง หรือได้รับการสอน ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่าเราจะทดสอบความจริงของสิ่งที่เราอ่าน ได้ยิน และได้รับการสอนโดยเปรียบเทียบกับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าในงานมาตรฐาน (ดู Doctrines of Salvation, comp. Bruce R. McConkie, 3 vols. [1954–56], 3:203) หากสิ่งที่เราอ่าน ได้ยิน หรือได้รับการสอนไม่สอดคล้องกับพระคำของพระผู้เป็นเจ้าที่อยู่ในพระคัมภีร์หรือคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตของพระองค์ “ตราบที่สอดคล้องกับ … งานมาตรฐาน” เรามีความรับผิดชอบที่จะปฏิเสธว่าไม่เป็นจริง (โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Doctrines of Salvation, 3:203) หากเป็นจริง เรามีความรับผิดชอบที่จะดำเนินชีวิตตามคำสอนเหล่านั้น

1 เธสะโลนิกา 5:22 “จงเว้นเสียจากสิ่งชั่วทุกอย่าง”

“เปาโลสอนวิสุทธิชนให้เว้นจาก ‘สิ่ง’ ชั่วทุกอย่าง หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือจากสิ่งชั่วร้ายทุก ‘ชนิด’ เจ้าหน้าที่ศาสนจักรใช้ 1 เธสะโลนิกา 5:22 เพื่อสอนว่าเราควรหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่ดูราวกับว่าเรากำลังทำสิ่งชั่วร้ายด้วย ตัวอย่างเช่นประธาน เจมส์ อี. เฟาสท์ [แห่งฝ่ายประธานสูงสุด] สอนว่า ‘ข้าพเจ้าเตือนท่านหนักแน่นว่าถ้ามีคำถามเกิดขึ้นในความคิดหรือใจท่านเองว่าความประพฤติของท่านถูกหรือผิด จงอย่าประพฤติสิ่งนั้น ศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้ามีหน้าที่สอนพระคำของพระเจ้า แต่ไม่ใช่คอยบอกไปทุกจุดทุกอนุภาคของความประพฤติมนุษย์ ถ้าเรามีสติหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้าย การกระทำที่อาจส่งผลร้ายให้ผู้อื่น เราจะกระทำด้วยตนเอง หาใช่ผู้ถูกกระทำไม่’ (‘คอมาร,’ เลียโฮนา, พ.ค. 2003, 63) เปาโลให้คำแนะนำที่คล้ายกันใน 1 โครินธ์ 8:9–13” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 451)

พิมพ์