บทเรียนการศึกษาที่บ้าน
ลูกา 10:38–17:37 (หน่วย 11)
บทนำ
พระผู้ช่วยให้รอดตรัสตอบการบ่นว่าของพวกฟาริสีเกี่ยวกับการที่พระองค์คบหาสมาคมกับพวกคนเก็บภาษีและคนบาปโดยประทานอุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ลูกา 15
พระเยซูประทานอุปมาเรื่องแกะหาย เงินเหรียญหาย และบุตรหายไป
เริ่มชั้นเรียนโดยถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยทำของที่มีค่าต่อพวกเขาหายหรือไม่
-
พวกเขาเต็มใจทำอะไรเพื่อหาสิ่งนี้ให้เจอ เพราะเหตุใด
-
ท่านคิดว่าการที่คนคนหนึ่งจะ “หลง” ไปทางวิญญาณหมายถึงอะไร (ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่านี่อาจหมายถึงคนที่ยังไม่ได้รับพระกิตติคุณที่ฟื้นฟูแล้วของพระเยซูคริสต์หรือไม่ได้กำลังดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระกิตติคุณ)
เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงคนรู้จักที่อาจหลงไปทางวิญญาณ ขอให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับบุคคลคนนี้
อธิบายว่า ลูกา 15 ประกอบด้วยคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับคนที่หลงไปทางวิญญาณ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงใน ลูกา 15 ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับคนที่หลงไปทางวิญญาณและความรับผิดชอบที่เรามีต่อพวกเขา
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 15:1–2 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์บ่น
-
เหตุใดพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์จึงบ่น
-
การบ่นนี้เผยอะไรเกี่ยวกับพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์
อธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบโดยประทานอุปมาสามเรื่อง เรื่องแกะหาย เรื่องเงินเหรียญหาย และเรื่องบุตรหายไป ขอให้พวกเขามุ่งสนใจว่าเหตุใดในแต่ละอุปมาจึงมีของหายและพบได้อย่างไร
อธิบายว่าในอุปมาเรื่องแกะหายและเงินเหรียญหาย พระผู้ช่วยให้รอดทรงบรรยายว่าคนเลี้ยงและหญิงที่ทำเงินเหรียญหายหาด้วยความพากเพียรเช่นไรจนกระทั่งพวกเขาพบของที่หายไป
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 15:4–6, 8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าคนเลี้ยงแกะและหญิงคนนั้นรู้สึกอย่างไรเมื่อพวกเขาพบแกะและเงินเหรียญ
-
แกะกับเงินเหรียญหายในวิธีที่แตกต่างกันอย่างไร (แกะหายเนื่องจากมันทำตามวีถีชีวิตปกติของมันไม่ได้เป็นความผิดของเจ้าของ แต่เงินเหรียญหายเป็นความละเลยหรือไม่ใส่ใจของเจ้าของ [ดู เดวิด โอ. แมคเคย์, ใน Conference Report, Apr. 1945, 120, 121–22])
-
คำใดที่ใช้บรรยายว่าคนเลี้ยงแกะและหญิงคนนั้นรู้สึกอย่างไร
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ลูกา 15:7, 10 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบเทียบกับความชื่นชมยินดีของคนเลี้ยงแกะกับหญิงคนนั้น (ความชื่นชมยินดีในสวรรค์เรื่องคนบาปคนเดียวที่กลับใจใหม่)
อธิบายว่าอุปมาเรื่องที่สามใน ลูกา 15 เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุตรที่หายไป (หมายถึงบุตรที่ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่ยั้งคิด) พี่ชายของเขา และบิดาของเขา
พิจารณาแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ ละสามคน แจกสำเนาเอกสารแจกต่อไปนี้ให้แต่ละกลุ่ม เชื้อเชิญพวกเขาอ่านออกเสียง ลูกา 15:11–32 ในกลุ่มของพวกเขา มอบหมายให้นักเรียนคนหนึ่งพิจารณาอุปมาจากมุมมองของบุตรหายไป นักเรียนคนที่สองพิจารณาจากมุมมองของบิดา และนักเรียนคนที่สามพิจารณาจากมุมมองของพี่ชาย
หลังจากนักเรียนอ่านเสร็จแล้ว ขอให้พวกเขาสนทนาคำถามที่อยู่ใน เอกสารแจก เป็นกลุ่ม
-
เหตุใดบุตรสุรุ่ยสุร่ายจึงหายไป (ตรงข้ามกับแกะและเงินเหรียญ บุตรหายไปเนื่องจากความกบฎของเขาเอง)
-
โดยที่เข้าใจว่าบิดาในอุปมานี้หมายถึงพระบิดาบนสวรรค์ เราสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบสนองต่อคนที่กลับมาหาพระองค์โดยการกลับใจ (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หากเรากลับมาหาพระบิดาบนสวรรค์โดยการกลับใจและแสวงหาการให้อภัยจากพระองค์ พระองค์จะทรงชื่นชมยินดีและต้อนรับเรากลับมาด้วยพระพาหุที่เปิดรับ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)
-
หลักธรรมนี้จะช่วยคนที่รู้สึกหลงไปทางวิญญาณอย่างไร
(เตือนนักเรียนให้นึกถึงพี่ชายในอุปมานี้)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพี่ชายจึงโกรธ
เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังข้อคิดเห็นว่าเหตุใดพี่ชายจึงโกรธ
“ความที่รู้สึกน้อยใจและบางทีอาจจะเป็นมากกว่าความสงสารตัวเอง ทำให้บุตรที่มีความรับผิดชอบคนนี้—ผู้มีความรับผิดชอบ มากเป็นพิเศษ —ลืมไปชั่วขณะว่าเขาไม่เคยต้องพบกับความสกปรกหรือสิ้นหวัง ความกลัวหรือเกลียดตัวเอง เขาลืมไปชั่วขณะว่าวัวทุกตัวในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นของเขาอยู่แล้ว เสื้อผ้าทุกชุดในตู้และแหวนทุกวงในลิ้นชักก็เป็นของเขาด้วย เขาลืมไปชั่วขณะว่าความซื่อสัตย์ของเขามีผลตอบแทนให้เสมอ …
“… เขาผู้มีทุกสิ่ง และผู้ที่ได้มาด้วยการทำงานหนัก ขาดเพียงสิ่งเดียวที่อาจทำให้เขาเกือบเป็นคนสมบูรณ์แบบของพระเจ้า “เขายังไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีเมตตา ไม่มีสายตากว้างไกลและความใจกว้าง เขาไม่เห็นว่า คนที่กลับมาไม่ใช่คู่แข่ง แต่เป็นน้องชายของเขาเอง …
“แน่นอนว่าน้องชายคนนี้เคยเป็นเชลยมาก่อน—เชลยของบาป ความโง่เขลา และเล้าหมู แต่พี่ชายมีชีวิตอยู่ในที่คุมขังเช่นกัน เขาไม่สามารถปลดปล่อยตนเองจากการเป็นเชลย เขาวนเวียนอยู่กับความอิจฉาตาร้อน เขารู้สึกว่าตนไม่ได้อยู่ในสายตาของบิดา และน้องฉกฉวยสิทธิ์ของเขาไป ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย” (“บุตรหายไปอีกคนหนึ่ง,” เลียโฮนา, ก.ค. 2002, 72)
-
ตามที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กล่าว พี่ชายโกรธเพราะอะไร พี่ชายหลงหายในทางใดเช่นกัน
-
เราต้องจดจำอะไรเมื่อเราเห็นพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาและประทานพรคนที่กลับใจและกลับมาหาพระองค์
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากอุปมานี้เกี่ยวกับการเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์ของเรามากขึ้น (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เราสามารถเป็นเหมือนพระบิดาในสวรรค์ของเรามากขึ้นโดยการตอบสนองด้วยความสงสารและปีติยินดีเมื่อคนอื่นกลับใจ)
เตือนนักเรียนถึงคนที่นักเรียนนึกถึงตอนต้นชั้นเรียนที่อาจหลงไปทางวิญญาณ กระตุ้นให้พวกเขาพิจารณาร่วมกับการสวดอ้อนวอนว่าพวกเขาจะช่วยบุคคลคนนั้นให้กลับใจและเข้าใกล้พระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นได้อย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาพิจารณาด้วยว่าพวกเขาเองอาจหลงหายไปหรือจำเป็นต้องกลับใจและกลับมาหาพระผู้ช่วยให้รอดในทางใดบ้าง
หน่วยต่อไป (ลูกา 18–ยอห์น 1)
เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองถึงเวลาที่มีคนบางคนทำร้ายพวกเขาและสิ่งนั้นทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร อธิบายว่าขณะที่พวกเขาศึกษาหน่วยต่อไป พวกเขาจะเรียนรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเลือกที่จะตอบสนองคนที่ทำร้ายพระองค์อย่างไร ขอให้พวกเขาสังเกตรายละเอียดเพิ่มเติมในการเล่าเรื่องของลูกาเกี่ยวกับการทนทุกข์ของพระเยซูคริสต์ในเกทเสมนีและสิ่งที่พระเยซูเสวยหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์