คลังค้นคว้า
บทนำสาส์นฉบับแรกที่เปาโลเขียนไปถึงทิโมธี


บทนำสาส์นฉบับแรกที่เปาโลเขียนไปถึงทิโมธี

เหตุใดจึงศึกษาหนังสือนี้

ใน 1 ทิโมธีเราอ่านว่าเปาโลแนะนำทิโมธี ผู้นำศาสนจักรในเมืองเอเฟซัส เพื่อให้แน่ใจว่ามีการสอนหลักคำสอนที่ถูกต้องและไม่ปล่อยให้คำสอนผิดๆ ซึ่งเป็นที่นิยมดึงความสนใจไปจากการสอนพระกิตติคุณ เขาสอนทิโมธีเกี่ยวกับตำแหน่งของอธิการและมัคนายกและสนทนาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่รับใช้ในตำแหน่งเหล่านี้ เปาโลเล่าเรื่องความสำนึกคุณอันลึกซึ้งสำหรับพระเมตตาที่เขาได้รับจากพระเยซูคริสต์เมื่อเขาเปลี่ยนใจเลื่อมใสด้วย การศึกษา 1 ทิโมธีจะช่วยให้นักเรียนเพิ่มการตระหนักในความสำคัญของการสอนหลักคำสอนที่ถูกต้องในศาสนจักร นักเรียนจะมีความสำนึกคุณมากขึ้นเช่นกันสำหรับพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดตลอดจนบทบาทสำคัญของอธิการและผู้นำคนอื่นๆ ของศาสนจักร

ใครเขียนหนังสือนี้

เปาโลเขียน 1 ทิโมธี (ดู 1 ทิโมธี 1:1)

ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่อใดและที่ไหน

สาส์นฉบับแรกของเปาโลถึงทิโมธีน่าจะเขียนระหว่าง ค.ศ. 64 และ 65 เป็นไปได้ว่าระหว่างเปาโลอยู่ในมาซิโดเนีย (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล,” scriptures.lds.org; 1 ทิโมธี 1:3) ก่อนที่เปาโลจะเขียนสาส์นฉบับนี้ เปาโลได้รับการปลดปล่อยจากการกักขังเป็นเวลาสองปี (กักบริเวณในบ้าน) ที่กรุงโรมและน่าจะเดินทางไปทั่ว เพื่อเยือนเขตที่เขาเคยจัดตั้งสาขาของศาสนจักร (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล”)

หนังสือนี้เขียนถึงใครและเพราะเหตุใด

เปาโลเขียนสาส์นฉบับนี้ถึงทิโมธี ที่เคยรับใช้กับเปาโลระหว่างการเดินทางเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สองของเขา (ดู กิจการของอัครทูต 16:3) หลังจากพันธกิจของพวกเขา ทิโมธียังคงเป็นผู้สอนศาสนาที่ซื่อสัตย์และผู้นำศาสนจักรต่อไป (ดู กิจการของอัครทูต 19:22; ฟีลิปปี 2:19) เขาเป็นเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่เปาโลไว้วางใจที่สุด (ดู 1 โครินธ์ 4:17) เปาโลเรียกทิโมธีว่าเป็น “บุตรที่แท้จริงในความเชื่อ” ของเขา(1 ทิโมธี 1:2) บิดาของทิโมธีเป็นคนต่างชาติชาวกรีก แต่เขามีมารดาเป็นชาวยิวที่ชอบธรรมและยายที่สอนเขาและช่วยเขาเรียนรู้พระคัมภีร์ (ดู กิจการของอัครทูต 16:1; 2 ทิโมธี 1:5; 3:15)

ในเวลาที่เขาเขียนสาส์นฉบับนี้ ทิโมธีกำลังรับใช้เป็นผู้นำศาสนจักรในเมืองเอเฟซัส (ดู 1 ทิโมธี 1:3) เปาโลบอกเป็นนัยว่าสมาชิกบางคนสงสัยในความสามารถของการเป็นผู้นำของทิโมธีเพราะเขาอายุยังน้อย (ดู 1 ทิโมธี 4:12) เปาโลตั้งใจไปเยี่ยมทิโมธีด้วยตนเอง แต่เขาไม่แน่ใจว่าเขาจะทำได้หรือไม่ (ดู 1 ทิโมธี 3:14; 4:13) เปาโลเขียนสาส์นไปถึงทิโมธีเพื่อช่วยให้ผู้นำศาสนจักรที่ยังหนุ่มเข้าใจหน้าที่ของเขามากขึ้น

ลักษณะเด่นของหนังสือนี้มีอะไรบ้าง

จดหมายของเปาโลที่รู้จักกันในชื่อ 1 ทิโมธี 2 ทิโมธี มักจะเรียกกันว่าสาส์นจากศาสนาจารย์เพราะมีคำแนะนำของเปาโลถึงศาสนาจารย์หรือผู้นำของศาสนจักร (ดู คู่มือพระคัมภีร์, “สาส์นของเปาโล”) ศาสนาจารย์ มาจากคำในภาษาละตินที่หมายถึง “เมษบาล”

เปาโลให้แนวทางเพื่อช่วยให้ทิโมธีระบุบุคคลที่มีค่าควรในการรับใช้เป็นอธิการหรือมัคนายก (ดู 1 ทิโมธี 3) แนวทางของเปาโลช่วยเน้นความรับผิดชอบของผู้นำศาสนจักรเพื่อจัดหาให้ความต้องการทางโลกและทางวิญญาณของสมาชิก (ดู 1 ทิโมธี 5) เปาโลแก้ไขแนวคิดผิดๆ ทั่วไปในเรื่องการค้นหาตน—ความเชื่อที่ว่าความเข้มแข็งทางวิญญาณที่ดีขึ้นจะได้มาโดยผ่านการยับยั้งตนอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น เปาโลเตือนว่าสมาชิกศาสนจักรบางคนจะละทิ้งความเชื่อและส่งเสริมความเชื่อเรื่องควรห้ามแต่งงาน (ดู 1 ทิโมธี 4:1–3) เพื่อตอบโต้สิ่งนี้และอิทธิพลนอกรีตอื่นๆ เปาโลแนะนำทิโมธีให้สอนหลักคำสอนที่ถูกต้อง (ดู 1 ทิโมธี 1:3–4, 10; 4:1–6, 13, 16)

สรุปย่อ

1 ทิโมธี 1 เปาโลเตือนเกี่ยวกับคำสอนผิดๆ เขาสรรเสริญพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเผื่อแผ่พระเมตตาอันล้ำเลิศมาช่วยเขาให้รอด เปาโลเรียกตนเองว่าเป็น “ตัวเอ้” (1 ทิโมธี 1:15) หรือแย่ที่สุดของคนบาป โดยพาดพิงถึงการต่อต้านชาวคริสต์ก่อนการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา เปาโลให้ความมั่นใจแก่ผู้อื่นว่าพระเมตตาของพระคริสต์จะช่วยพวกเขาเช่นกัน

1 ทิโมธี 2–3 เปาโลสอนเกี่ยวกับความจำเป็นสำหรับการสวดอ้อนวอนและการนมัสการที่ถูกต้อง เขาสอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นค่าไถ่สำหรับคนทั้งปวงและพระองค์คือพระผู้เป็นสื่อกลางของเรากับพระบิดา เขาแนะนำชายหญิงถึงวิธีประพฤติปฏิบัติตนระหว่างการนมัสการ เขาเขียนคุณสมบัติของอธิการและมัคนายก เขาอธิบายว่าความล้ำลึกของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าคือพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระเยซูคริสต์ พระชนม์ชีพอันดีพร้อมของพระองค์บนแผ่นดินโลกและการเสด็จขึ้นสู่รัศมีภาพของพระองค์

1 ทิโมธี 4 เปาโลเตือนว่าบางคนจะถูกหลอกลวงโดยคำสอนผิดๆ เรื่องการแต่งงานและการปฏิบัติเรื่องการรับประทานอาหาร เขาพูดเกี่ยวกับความสำคัญของการแต่งงานและการรับการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความขอบพระทัย เปาโลสอนทิโมธีถึงวิธีจัดการกับคำสอนผิดๆ ในสมัยของเขาและที่จะมาถึงในไม่ช้า

1 ทิโมธี 5–6 เปาโลให้แนวทางแก่ทิโมธีเพื่อช่วยเขาปฏิบัติศาสนกิจในการสนองความต้องการของผู้สูงวัย คนหนุ่มสาว หญิงม่าย คนชรา และทาส เปาโลอธิบายให้ทิโมธีเข้าใจลักษณะของผู้สอนปลอม เขาเตือนว่า “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด” (1 ทิโมธี 6:10) และแนะนำทิโมธีเกี่ยวกับวิธีที่วิสุทธิชนจะได้รับชีวิตนิรันดร์

พิมพ์