คลังค้นคว้า
บทที่ 48: ลูกา 7:18–50


บทที่ 48

ลูกา 7:18–50

คำนำ

พระเยซูทรงสรรเสริญยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและเป็นพยานว่ายอห์นได้เตรียมทางเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ ขณะที่พระเยซูกำลังเสวยกับซีโมนชาวฟาริสี หญิงที่กลับใจแสดงศรัทธาและความรักของเธอในพระผู้ช่วยให้รอด

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ลูกา 7:18–35

พระเยซูทรงสรรเสริญยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและเป็นพยานถึงพันธกิจของยอห์น

เชื้อเชิญให้นักเรียนทำงานเป็นคู่และแจกกระดาษให้คู่ละหนึ่งแผ่น ขอให้แต่ละคู่เขียนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมาจากความทรงจำของพวกเขาให้ได้มากที่สุดในหนึ่งนาที หลังจากหนึ่งนาที ขอให้นับข้อเท็จจริงในกระดาษของพวกเขา

  • มีข้อเท็จจริงกี่ประการเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมาที่ท่านสามารถเขียนลงไปได้

เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกชั้นเรียนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงบางอย่างที่พวกเขาเขียน

หากเป็นไปได้ ให้นำต้นอ้อและผ้าเนื้อนุ่มหนึ่งผืนมาแสดง อธิบายว่าพระเยซูทรงใช้สิ่งเหล่านี้สอนคนเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของยอห์น เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:24–26 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงสอนเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมาขณะที่ตรัสถึงต้นอ้อและผ้าเนื้อดี

  • ยอห์นแตกต่างจากต้นอ้อหรือใบหญ้าอย่างไร (แตกต่างจากต้นอ้อ ซึ่งไหวไปมาเมื่อถูกลมพัด ยอห์นผู้ถวายบัพติศมานั้นมั่นคงและไม่หวั่นไหวในประจักษ์พยานของเขาและในการทำพันธกิจของเขา)

ภาพ
ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอน

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสั่งสอน

แสดง ภาพ ประกอบของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาและถามว่า

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาแตกต่างจากคนที่ “แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเนื้อดี” และอยู่อย่างฟุ่มเฟือย “ในพระราชวัง” (ลูกา 7:25) อย่างไร (ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาอาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารและสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากขนอูฐ ซึ่งหยาบมาก แทนที่จะแสวงหาความสะดวกสบายทางโลก ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาพยายามทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น)

  • พระเยซูตรัสอะไรเกี่ยวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมาใน ข้อ 26

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทบาทเฉพาะของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา อธิบายว่าพระเยซูตรัสถึงคำพยากรณ์ที่เขียนไว้หลายร้อยปีมาแล้วซึ่งพูดถึง “ทูต” ผู้จะ “เตรียมหนทางไว้ข้างหน้า [พระเมสสิยาห์]” (มาลาคี 3:1) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:27–28 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสาเหตุที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาแตกต่างจากบรรดาผู้เผยพระวจนะคนอื่นๆ

  • บทบาทที่แตกต่างและสำคัญอะไรที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาได้รับแต่งตั้งล่วงหน้ามาให้ทำ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุความจริงต่อไปนี้ ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเป็นศาสดาพยากรณ์ที่ได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าเพื่อเตรียมทางและบัพติศมาพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า)

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเตรียมทางสำหรับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์อย่างไร

อธิบายว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับ ลูกา 7:28

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“พระเยซูทรงถูกมองว่าเป็นผู้มีสิทธิ์น้อยที่สุดในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า และ [ดูเหมือน] จะมีสิทธิ์น้อยที่สุดที่จะได้รับความเชื่อถือในฐานะศาสดาพยากรณ์ ราวกลับว่าพระองค์ตรัส—‘ผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้าก็ใหญ่กว่ายอห์นเสียอีก—นั่นก็คือตัวเราเอง” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 87)

สรุป ลูกา 7:29–35 โดยอธิบายว่าหลายคนเชื่อคำสอนของพระเยซู แต่พวกฟาริสีและพวกผู้เชี่ยวชาญบัญญัติที่อยู่ที่นั่นปฏิเสธคำสอนของพระองค์ พระเยซูทรงอธิบายว่าพวกเขาปฏิเสธความจริงไม่ว่าจะเป็นพระองค์สอนหรือยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอน

ลูกา 7:36–50

ขณะที่พระเยซูทรงเสวยกับซีโมนชาวฟาริสี หญิงคนหนึ่งอาบพระบาทของพระองค์ด้วยน้ำตาของเธอ

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน ฉันจะได้รับอภัยบาปหรือไม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาถึงเวลาที่พวกเขาอาจเคยสงสัยว่าพวกเขาจะได้รับอภัยบาปหรือไม่ เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงที่จะตอบคำถามนี้ขณะที่พวกเขาศึกษา ลูกา 7ต่อไป

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจบริบทและเนื้อหาของ ลูกา 7:36–50 เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียงข้อสรุปและคำอธิบายต่อไปนี้

ฟาริสีคนหนึ่งชื่อซีโมนทูลเชิญพระเยซูเสด็จไปเสวยที่บ้านของเขา ในงานเลี้ยงแบบนี้ แขกมักนั่งอยู่บนเบาะรอบๆ โต๊ะเตี้ยๆ และยืดขาออกไปห่างจากโต๊ะ ประเพณีสังคมในตอนนั้นอนุญาตให้คนจนเก็บอาหารที่เหลือจากงานเลี้ยงได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่คนไม่ได้รับเชิญจะเข้ามาที่บ้านในระหว่างงานเลี้ยง (ดู เจมส์ อี. ทัลเมจ, Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 261)

  • ลูกาบรรยายหญิงที่อยู่ใน ลูกา 7:37 ว่าอย่างไร

  • หญิงคนนี้แสดงความรักของเธอต่อพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร (ท่านอาจต้องการอธิบายว่า “ผอบน้ำมันหอม” คือขวดที่ใส่น้ำมันหอมราคาแพง)

  • ซีโมนคิดอย่างไรเมื่อเขาห็นสิ่งที่หญิงนั้นกำลังทำ

เพื่อทบทวนอุปมาที่พระเยซูทรงสอน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 7:40–43 เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือให้ดูตาม โดยมองหาว่าพระเยซูคริสต์ทรงสอนอะไรซีโมน

ลอก แผนภูมิ ต่อไปนี้ไว้บนกระดาน

เจ้าหนี้ =

ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 50 เดนาริอัน =

ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 500 เดนาริอัน =

อธิบายว่าเจ้าหนี้เป็นคนที่ให้ยืมเงิน คนที่ยืมเงินคือลูกหนี้ ลูกหนี้ยินยอมจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้หรือเข้าคุก ขอให้นักเรียนคนหนึ่งสรุปอุปมาโดยใช้คำของตนเอง

  • เจ้าหนี้หมายถึงใคร (เขียน พระเยซูคริสต์ บนกระดานต่อจากคำว่า “เจ้าหนี้”)

  • ลูกหนี้คนใดหมายถึงหญิงคนนี้ และคนใดหมายถึงซีโมนชาวฟาริสี เพราะเหตุใด (เขียน ชีโมนชาวฟาริสี ใต้ “ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 50 เดนาริอัน” และ ผู้หญิง ใด้ “ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 500 เดนาริอัน”)

อธิบายว่าในสมัยของพระเยซูคริสต์ เป็นธรรมเนียมสำหรับเจ้าภาพที่จะยกย่องแขกผู้มีเกียรติของเขาโดยปฏิบัติสิ่งที่แสดงความกรุณาเช่นทักทายด้วยการจูบ หาน้ำมาให้พวกเขาล้างเท้า และเจิมน้ำมันที่ศีรษะพวกเขา (ดู เจมส์ อี. ทัลเมจ, Jesus the Christ, 261)

เปิดวีดิทัศน์ต่อในนาทีที่ 7:25 และหยุดหลังจากพระเยซูตรัสว่า “จงไปเป็นสุขเถิด” (ลูกา 7:50) (นาทีที่ 8:52) หรือ เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ลูกา 7:44–47 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าซีโมนปฏิบัติกับพระเยซูอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่หญิงคนนี้ปฏิบัติกับพระองค์และเขาแต่ละคนจะรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 44–47 มีความแตกต่างอะไรระหว่างวิธีที่ซีโมนปฏิบัติกับพระเยซูและวิธีที่หญิงคนนี้ปฏิบัติต่อพระองค์ พวกเขาแต่ละคนจะรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระเยซู (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้ในแผนภูมิบนกระดาน)

เมื่อนักเรียนจบการรายงานสิ่งที่พวกเขาพบ แผนภูมิ ควรมีคำตอบทำนองนี้

เจ้าหนี้ = พระเยซูคริสต์

ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 50 เดนาริอัน ซีโมนชาวฟาริสี

ไม่ได้ถวายน้ำให้พระเยซูล้างพระบาท

ไม่ได้จูบพระองค์

ไม่ได้เจิมพระองค์ด้วยน้ำมัน

รักพระองค์เล็กน้อย

ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 500 เดนาริอันผู้หญิง

อาบพระบาทของพระองค์ด้วยน้ำตาของเธอและเช็ดออกด้วยผมของเธอ

จูบพระบาทของพระองค์

เจิมพระบาทของพระองค์ด้วยน้ำมัน

รักพระองค์มาก

  • หญิงคนนี้ได้รับพรอะไรจากพระผู้ช่วยให้รอด

ชี้ให้เห็นว่าโดยการเปรียบเทียบอย่างเป็นนัยว่าซีโมนเป็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้ 50 เดนาริอัน พระผู้ช่วยให้รอดกำลังบอกว่าซีโมนก็จำเป็นต้องได้รับอภัยบาปของเขาเช่นกัน

เชื้อเชิญนักเรียนอ่าน ลูกา 7:47–50 ในใจ ขอให้พวกเขามองหาว่าอะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ได้รับอภัยบาป

  • เราสามารถเรียนรู้ หลักธรรม อะไรบ้างจากเรื่องราวนี้ (ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดานโดยใช้คำพูดของนักเรียน เมื่อเราใช้ศรัทธาของเราโดยการแสดงความรักและการอุทิศตนต่อพระเจ้า เราจะได้รับการอภัยบาปจากพระองค์ เมื่อเราได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้า เราจะเปี่ยมด้วยความปรารถนาที่จะรักและรับใช้พระองค์มากขึ้น)

  • เหตุใดเราจึงปรารถนาที่จะรักและรับใช้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นเมื่อเราได้รับการอภัยบาปจากพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนสามคนโดยให้แต่ละคนอ่านหนึ่งย่อหน้าจากคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“ระดับความมีค่าควรและความชอบธรรมส่วนบุคคลมีอยู่หลายระดับ แต่การกลับใจยังเป็นพรให้เราทุกคน เราต้องรู้สึกถึงพระพาหุแห่งพระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดผ่านการอภัยบาปของเรา

“เมื่อหลายปีก่อน มีคนขอให้ข้าพเจ้าไปพบกับชายคนหนึ่งซึ่งก่อนหน้านั้นเขาดำเนินชีวิตอย่างวุ่นวายเป็นช่วงเวลาหนึ่ง ผลการเลือกที่ไม่ถูกต้องของเขาทำให้เขาสูญเสียสมาชิกภาพในศาสนจักร เขากลับมาโบสถ์นานแล้วและรักษาพระบัญญัติอย่างซื่อสัตย์ แต่การกระทำครั้งก่อนยังคงหลอกหลอนเขา ข้าพเจ้าสัมผัสถึงความอับอายและความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เขาละเมิดพันธสัญญาในตอนนั้น หลังการสัมภาษณ์ ข้าพเจ้าวางมือบนศีรษะเขาและให้พรฐานะปุโรหิต ก่อนจะเอ่ยถ้อยคำ ข้าพเจ้ารู้สึกอย่างแรงกล้าถึงความรักและการให้อภัยที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีให้เขา หลังจากให้พร เราสวมกอดกันและชายผู้นี้ร้องไห้อย่างเปิดเผย

“ข้าพเจ้าพิศวงกับอ้อมพระพาหุแห่งพระเมตตาและความรักสำหรับคนกลับใจ ไม่ว่าบาปที่ได้ละทิ้งนั้นจะเกิดจากความเห็นแก่ตัวมากเพียงไรก็ตาม ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถและทรงกระตือรือร้นที่จะอภัยบาปของเรา ยกเว้นบาปของคนไม่กี่คนผู้เลือกความหายนะหลังจากรู้ถึงความสมบูรณ์ ไม่มีบาปใดที่จะไม่ได้รับการให้อภัย ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมที่เราทุกคนสามารถหันหลังให้บาปและมาสู่พระคริสต์ การให้อภัยจากสวรรค์มีผลอันน่าชื่นใจที่สุดอย่างหนึ่งของพระกิตติคุณโดยกำจัดความรู้สึกผิดและความเจ็บปวดออกไปจากใจแล้วนำปีติและสันติสุขจากมโนธรรมเข้ามาแทนที่” (“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 49–50)

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาได้รับการอภัยบาปจากพระเจ้า ขอให้พวกเขาไตร่ตรองว่าพวกเขาคิดอะไรและรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

ชี้ให้ดูคำถามบนกระดาน ขอให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขาจะตอบคำถามอย่างไรหากมีคนถามพวกเขาว่า “ฉันจะได้รับอภัยบาปหรือไม่”

สรุปบทเรียนโดยเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงมีพลังอำนาจที่จะอภัยบาปเราหากเราใช้ศรัทธาในพระองค์และกลับใจจากบาปของเรา

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

เพื่อช่วยให้นักเรียนทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ห้าข้อที่พวกเขาศึกษาไปแล้วในหลักสูตรนี้ ท่านอาจต้องการให้เขาทำข้อสอบสั้นๆ ให้คำสำคัญจากที่คั่นหนังสือเซมินารี และขอให้นักเรียนเขียนข้ออ้างอิงพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง ดูภาคผนวกของคู่มือเล่มนี้สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ลูกา 7:18–20 ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสงสัยว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์หรือไม่

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองตอบคำถามนี้อย่างชัดเจนดังนี้

“ข้ออ้างใดๆ ที่ว่าผู้ถวายบัพติศมาไม่แน่ใจหรือสงสัยในใจของเขาเอง เกี่ยวกับพระอัตลักษณ์และพระพันธกิจของพระอาจารย์นั้นขาดหลักฐานอย่างสิ้นเชิง ในความเป็นจริง เอลีอัสผู้ที่ถูกจองจำและมาเตรียมทางก่อนพระเจ้าของเราใช้วิธีนี้เพื่อจูงใจให้ศิษย์ของเขาละทิ้งเขาและมาติดตามพระเยซู

“ยอห์นรู้ว่าพระเยซูเป็นใคร; ผู้ถวายบัพติศมาไม่ได้หวั่นไหวดังต้นอ้อในสายลม … การที่เขาส่งศิษย์ของเขาไปหาพระเยซูเป็นเพราะประจักษ์พยานอันยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายของยอห์นว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากผู้ถวายบัพติศมารู้ว่าสานุศิษย์ของเขาเมื่อเห็นพระอาจารย์และได้ยินคำสอนของพระองค์ด้วยตนเอง จะติดตามแสงสว่างที่เจิดจ้ากว่าอย่างแน่นอน” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:261–62)

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเข้าใจความจริงสำคัญประการหนึ่งที่ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดบอกไว้

“เราแต่ละคนต้องได้รับพยานของตนเองเกี่ยวกับพระเยซูว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์ เราจะรับจากคนอื่นไม่ได้” (“ประจักษ์พยานในพระคริสต์,” เลียโฮนา, มี.ค. 2005, 3)

ลูกา 7:20–22 เหตุใดพระเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์

ประธานบริคัม ยังก์บรรยายบทบาทที่ปาฏิหาริย์มีต่องานของพระเจ้า

“ปาฏิหาริย์ … มีไว้เพื่อปลอบใจวิสุทธิชน และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยืนยันศรัทธาของคนที่รัก กลัว และรับใช้พระผู้เป็นเจ้า” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 341)

ลูกา 7:24–28 “ในบรรดาคนที่บังเกิดจากผู้หญิงมานั้น ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมา”

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอธิบายสาเหตุที่พระเยซูทรงคิดว่ายอห์นเป็นศาสดาพยากรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

“ประการแรก ท่านได้รับมอบหมายพันธกิจจากเบื้องบนให้เตรียมมรรคาเบื้องหน้าพระเจ้า ในบรรดาคนที่อยู่ก่อนหน้าท่านหรือหลังจากท่าน มีใครบ้างไหมที่ได้รับความไว้วางใจเช่นนั้น ไม่มีเลย

“ประการที่สอง ท่านได้รับมอบหมายพันธกิจที่สำคัญคือให้บัพติศมาบุตรมนุษย์ด้วยมือของท่านเอง มีใครบ้างไหมที่ได้รับเกียรติให้ทำเช่นนั้น มีใครบ้างไหมที่ได้รับเอกสิทธิ์และเกียรติยศยิ่งใหญ่เช่นนั้น มีใครบ้างไหมที่พาพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าลงไปในผืนน้ำบัพติศมาและได้รับเอกสิทธิ์ให้เห็นพระวิญญาณบริสุทธิ์ เสด็จมาในรูปของนกพิราบหรือใน สัญลักษณ์ ของนกพิราบเพื่อเป็นพยานถึงการปฏิบัตินี้ …

“ประการที่สาม เวลานั้นยอห์นคือผู้ปฏิบัติโดยชอบเพียงผู้เดียวในงานต่างๆ ของอาณาจักรที่มีอยู่ขณะนั้นบนแผ่นดินโลกและถือกุญแจแห่งพลังอำนาจ ชาวยิวต้องเชื่อฟังคำแนะนำของท่านหาไม่แล้วจะถูกลงโทษตามกฎของเขา พระคริสต์ทรงทำให้ความชอบธรรมทั้งมวลบังเกิดสัมฤทธิผลในการเชื่อฟังกฎซึ่งพระองค์ประทานให้โมเสสบนภูเขา ด้วยเหตุนี้จึงทรงทำให้กฎสมบูรณ์และสมเกียรติแทนที่จะทรงทำลายกฎ บุตรชายของเศคาริยาห์ได้กุญแจ อาณาจักร พลังอำนาจ และเกียรติยศมาจากชาวยิวตามการเจิมศักดิ์สิทธิ์และประกาศิตของสวรรค์ เหตุผลสามประการข้างต้นทำให้ท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดจากสตรี” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 81–82)

ลูกา 7:37–50 เรารู้อะไรเกี่ยวกับหญิงคนนี้

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนว่าหญิงที่พูดถึงใน ลูกา 2:37–50 มาหาพระผู้ช่วยให้รอดโดยที่กลับใจจากบาปแล้วและปรารถนาจะแสดงความรักของเธอ โดยกล่าวถึงความรักที่เธอแสดงออก ท่านกล่าวว่า “ทั้งหมดนี้เป็นงานและการนมัสการของหญิงผู้อุทิศตนและซื่อสัตย์ที่เคยเป็นคนบาปแต่ได้รับการชำระให้สะอาดแล้วในเวลานี้ ผู้ที่เป็นอิสระจากภาระหนักอึ้งจากการทำผิดหลายครั้ง ผู้ที่เดินออกมามีชีวิตใหม่เพราะพระองค์ผู้ที่เธอจูบและผู้ที่เธอถวายความคารวะและความรักอันเยี่ยมยอดที่จิตวิญญาณทั้งมวลของเธอมีอำนาจครอบครอง” (The Mortal Messiah, 4 vols. [1979–81], 2:200)

ลูกา 7:47–50 “บาปของเธอได้รับการยกโทษแล้ว”

เอ็ลเดอร์เชย์น เอ็ม. โบเว็น แห่งโควรัมสาวกเจ็ดสิบถามและตอบคำถามว่าบางคนที่ปรารถนาการอภัยบาปนั้นอยู่เหนือความสามารถที่จะได้รับผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์หรือไม่ ดังนี้

“เป็นไปได้หรือที่จะคืนสภาพเดิมให้ชีวิตซึ่งเต็มไปด้วยขยะเพราะขาดความยับยั้งชั่งใจจนไม่อาจให้อภัยบุคคลนั้นได้ หรือคนนั้นจะเป็นอย่างไรถ้าเขาพยายามเต็มที่แล้วแต่กลับไปทำบาปหลายครั้งจนรู้สึกว่าไม่มีทางทำลายรูปแบบที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุดได้ หรือบุคคลนั้นจะเป็นเช่นไรถ้าเขาเปลี่ยนชีวิตแต่ไม่สามารถให้อภัยตนเองได้ …

“การชดใช้ของพระเยซูคริสต์มีผลต่อเราทุกคน การชดใช้ของพระองค์ไม่มีขอบเขต ใช้ได้กับทุกคน แม้กับตัวท่าน สามารถทำให้สะอาด คืนสภาพเดิม และบริสุทธิ์แม้กับตัวท่าน นั่นคือความหมายของไม่มีขอบเขต—ครบถ้วน สมบูรณ์ ทั้งหมดตลอดกาล” (“การชดใช้สามารถทำให้ชีวิตเราสะอาด คืนสภาพ และบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 42)

พิมพ์