คลังค้นคว้า
บทที่ 82: กิจการของอัครทูต 1:9–26


บทที่ 82

กิจการของอัครทูต 1:9–26

คำนำ

หลังจากพระเยซูคริสต์ทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เป็นเวลา 40 วัน พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อัครสาวกและคนอื่นๆ อธิษฐานและสวดอ้อนวอนร่วมกัน ผ่านการดลใจ มัทธีอัสได้รับเรียกให้มาแทนในตำแหน่งโควรัมอัครสาวกสิบสองที่ว่างลงจากการทรยศของยูดาส อิสคาริโอท

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 1:9–12

พระผู้ช่วยให้รอดเสด็จขึ้นสู่สวรรค์

เขียนคำถามต่อไปนี้บนกระดาน ถูกหรือผิด

อ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้เกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ เชื้อเชิญให้นักเรียนบอกว่าข้อความนั้นถูกหรือผิด (หมายเหตุ: ในประเด็นนี้ของบทเรียน นักเรียนไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบของแต่ละคำถามหรือให้เวลามากในการสนทนาคำตอบของพวกเขา)

  1. พระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมายังแผ่นดินโลกในยุคสุดท้าย

  2. ในการการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ พระเยซูคริสต์จะทรงปรากฏต่อคนที่ชอบธรรมเท่านั้น

  3. เนื่องจากพระเยซูคริสต์ทรงปิดบังพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จมาอีกครั้ง คนส่วนใหญ่จะไม่ตระหนักว่าการเสด็จมาครั้งที่สองเกิดขึ้นแล้ว

ท่านอาจต้องการทบทวนคำตอบของแต่ละข้อความสั้นๆ ดังนี้ (1) ถูก (ดู โมเสส 7:60); (2) ผิด (ดู โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:26; คพ. 101:23); (3) ผิด (ดู คพ. 49:22–23)

อธิบายว่าระหว่าง การปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัย พระเยซูคริสต์ทรงพยากรณ์ว่าในยุคสุดท้ายบางคนจะเผยแพร่คำสอนที่ผิดเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ (ดู โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:22–25)

  • เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำสอนใดเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ถูกหรือผิด (หากเราฟังพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดและคำของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ เราจะหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงได้ [ดู โจเซฟ สมิธ—มัทธิว 1:37])

เมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 1 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์

เตือนนักเรียนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เป็นเวลา 40 วันหลังจากการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู กิจการของอัครทูต 1:3) แสดงภาพ การเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซู (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 62; ดู LDS.orgด้วย)

ภาพ
การเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซู

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 1:9–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอัครสาวกของพระองค์เสร็จแล้ว

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอัครสาวกของพระองค์เสร็จแล้ว

  • หากท่านได้เห็นพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ ท่านคิดว่าท่านจะมีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร

อธิบายว่าในอิสราเอลสมัยโบราณบางครั้งเมฆถือเป็นตัวแทนที่มองเห็นได้ของพระสิริและรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า (ดู อพยพ 40:34) เมฆที่กล่าวถึงใน กิจการของอัครทูต 1:9 เป็นเมฆแห่งรัศมีภาพ (ดู Bible Dictionary, Cloud) และชายสองคนที่กล่าวถึงใน ข้อ 10 คือเทพ

  • เทพบอกอะไรแก่อัครสาวก

  • ท่านคิดว่าการที่พระเยซูจะเสด็จมาอีกครั้ง “ในลักษณะเดียวกับ” (กิจการของอัครทูต 1:11) ที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์หมายความว่าอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน ในการเสด็จมาครั้งที่สอง พระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ในรัศมีภาพ)

ชี้ให้เห็นว่าการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระผู้ช่วยให้รอดเกิดขึ้นที่ภูเขามะกอกเทศ (ดู ข้อ 12) อธิบายว่าเมื่อพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จมาอีก หนึ่งในการปรากฏพระองค์จะเกิดขึ้นเมื่อพระองค์จะเสด็จลงมาและจะทรงยืนอยู่บนภูเขามะกอกเทศ (ดู เศคาริยาห์ 14:4; คพ. 45:47–53; คพ. 133:19–20) สิ่งนี้จะเป็นเหตุการณ์ก่อนการปรากฏพระองค์อย่างยิ่งใหญ่ต่อโลก (ดู อิสยาห์ 40:5)

  • การรู้เกี่ยวกับลักษณะที่พระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จกลับมาช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงขณะที่เรารอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์อย่างไร

กิจการของอัครทูต 1:13–26

มัทธีอัสได้รับเลือกให้มาแทนตำแหน่งในโควรัมอัครสาวกสิบสองที่ว่างลง

อธิบายว่าหลังจากอัครสาวกกลับไปกรุงเยรูซาเล็ม พวกท่านรวมตัวกันกับชายและหญิงที่ซื่อสัตย์บางคนรวมถึงมารีย์ มารดาของพระเยซู เพื่อสวดอ้อนวอนและนมัสการ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 1:13 ในใจและนับจำนวนอัครสาวกที่ระบุไว้ ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • เหตุใดจึงมีอัครสาวกเพียง 11 คนในเวลานั้น (ยูดาส อิสคาริโอททรยศพระเยซูคริสต์และจากนั้นได้ปลิดชีพตนเอง [ดู มัทธิว 27:3–5])

สรุป กิจการของอัครทูต 1:15-20 โดยอธิบายว่าเปโตรยืนอยู่ต่อหน้าสานุศิษย์ 120 คนและเล่าเรื่องการตายของยูดาส อิสคาริโอท เนื่องจากยูดาสเคยเป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสอง สานุศิษย์จึงมารวมตัวกันเพื่อเลือกอัครสาวกคนใหม่

เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายวิธีต่างๆ ที่ผู้นำต่อไปนี้บางคนได้รับเลือก ได้แก่ กัปตันทีม ผู้นำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กษัตริย์หรือราชินี และประธานบริษัท

  • ตำแหน่งผู้นำเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

แสดงภาพหนึ่งหรือ หลายๆ ภาพ ของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในปัจจุบัน เป็นพยานว่าบุรุษแต่ละท่านเหล่านี้เป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ ขอให้นักเรียนพิจารณาว่าอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ได้รับเลือกอย่างไรและอะไรที่ทำให้บางคนมีคุณสมบัติที่จะรับใช้เป็นอัครสาวก

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญให้พวกเขาอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 1:21–26 กับคู่ของพวกเขาและมองหาว่าอัครสาวกคนใหม่ได้รับเลือกอย่างไรหลังจากยูดาส อิสคาริโอทสิ้นชีวิต

  • “เขาทั้งหลายจึงจับฉลากกัน” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 26)

ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่าในสมัยโบราณ การจับฉลากเป็นวิธีที่ซื่อสัตย์ในการตัดสินใจที่แสดงความวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงนำผล (ดู กิจการของอัครทูต 1:26; ดู สุภาษิต 16:33 ด้วย) “หากพวกเขาจับฉลาก นั่นเป็นกรณีที่พระเจ้าทรงเลือกผล อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นว่า ‘พวกเขาได้ออกเสียงแล้ว’ มากกว่า ซึ่งเป็น ‘การออกเสียงสนับสนุน’ เพื่อสนับสนุนเขาผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกให้รับใช้ในการเป็นอัครสาวกศักดิ์สิทธิ์” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 2:32)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 21–22 เปโตรบอกว่าอัครสาวกคนใหม่ต้องมีคุณสมบัติอะไร (เขาต้องเป็นผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ผู้ที่เป็นพยานถึงการปฏิบัติศาสนกิจและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ด้วย)

  • อะไรที่ท่านคิดว่าน่าสนใจเกี่ยวกับคำสวดอ้อนวอนของอัครสาวกดังที่บันทึกใน ข้อ 24–25

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 24 เกี่ยวกับวิธีที่อัครสาวกของพระเยซูคริสต์ได้รับการเรียก (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นว่า อัครสาวกของพระเยซูคริสต์ได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการเปิดเผย เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนไว้ในพระคัมภีร์ของพวกเขาข้าง ข้อ 24)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่อัครสาวกได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการเปิดเผยแทนวิธีเลือกที่คล้ายกันในการเลือกผู้นำคนอื่นๆ ในโลก

เพื่อแสดงให้เห็นว่าอัครสาวกในปัจจุบันได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านการเปิดเผยอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องเล่าต่อไปนี้จากชีวิตของประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์

ภาพ
ประธานฮีเบอร์ เจ. แกรนท์

“ประธาน [ฮีเบอร์ เจ.] แกรนท์ได้รับการเปิดเผยในฐานะประธานศาสนจักรเพื่อนำทั้งศาสนจักร การเปิดเผยครั้งหนึ่งเกิดขึ้นหลังจากท่านได้รับการวางมือมอบหน้าที่เป็นประธานศาสนจักร เมื่อท่านแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในการแต่งตั้งสมาชิกใหม่คนหนึ่งของโควรัมอัครสาวกสิบสอง เมื่อท่านไตร่ตรองถึงความรับผิดชอบนี้ หลายครั้งที่ความคิดของท่านหวนไปนึกถึงริชาร์ด ดับเบิลยู. ยังก์เพื่อนที่ยาวนานของท่าน วิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งและเป็นผู้นำที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ประธานแกรนท์สนทนาความเป็นไปได้นี้กับที่ปรึกษาของท่าน ผู้ที่สนับสนุนการตัดสินใจของท่าน เมื่อท่านรู้สึกมั่นใจกับแนวทางการปฏิบัตินี้ในที่สุด ท่านเขียนชื่อเพื่อนของท่านลงในกระดาษและนำกระดาษใบนั้นไปที่การประชุมที่พระวิหารประจำสัปดาห์กับฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านกำลังจะเสนอชื่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของท่านอนุมัติ ท่านไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แทนที่ท่านจะเสนอชื่อของริชาร์ด ดับเบิลยู. ยังก์ ท่านกลับเสนอชื่อเมลวิน เจ. บัลลาร์ด บุรุษที่ท่านแทบไม่รู้จัก ประธานแกรนท์เล่าต่อมาถึงผลของประสบการณ์นี้ที่มีต่อท่านว่า

“‘ข้าพเจ้ารู้สึกถึงการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์ซึ่งทรงนำข้าพเจ้าในสิ่งที่ข้าพเจ้าทำ นับจากวันที่ข้าพเจ้าได้เลือกคนแปลกหน้าให้เป็นหนึ่งในอัครสาวก แทนที่จะเป็นเพื่อนยาวนานและเป็นที่รักที่สุดที่มีชีวิตอยู่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รู้ดังที่ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ว่าข้าพเจ้าได้รับแสงสว่างและการดลใจและการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้าในการกำกับดูแลงานของพระองค์บนโลกนี้’” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮีเบอร์ เจ. แกรนท์ [2002], 181–82)

  • ความจริงที่สอนใน กิจการของอัครทูต 1:24 แสดงในเรื่องราวที่บรรยายการเรียกอัครสาวกในปัจจุบันอย่างไร

  • การเรียกอัครสาวกแสดงให้เห็นว่าพระผู้ช่วยให้รอดยังทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ต่อไปอย่างไร (ท่านอาจต้องการเตือนนักเรียนถึงความจริงที่สอนใน กิจการของอัครทูต 1:2—ว่าพระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์โดยการเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ต่ออัครสาวกผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์)

พูดถึงภาพหนึ่งหรือหลายๆ ภาพของอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ที่ท่านแสดงก่อนหน้านี้ ท่านอาจต้องการใช้เวลาสักครู่เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้จักหรือทบทวนชื่อของพวกท่าน

เขียนคำถามต่อไปนี้บน กระดาน

ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านรู้ว่าอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

เหตุใดจึงสำคัญสำหรับท่านที่จะมีประจักษ์พยานว่าอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนคำตอบของหนึ่งในคำถามเหล่านั้นลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่นักเรียนระบุใน กิจการของอัครทูต 1:9–26

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
การทบทวนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์

เพื่อช่วยนักเรียนทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ 10 ข้อแรก ให้เขียนข้ออ้างอิงต่อไปนี้และคำสำคัญที่เกี่ยวข้องบนกระดาน (หากท่านต้องการ ท่านอาจแจกสำเนาของ แผนภูมินี้):

มัทธิว 5:14–16

จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง

ลูกา 24:36–39

ร่างกายที่ฟื้นคืนชีวิตมีเนื้อหนังและกระดูก

มัทธิว 11:28–30

จงมาหาเรา

ยอห์น 3:5

เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ

มัทธิว 16:15–19

กุญแจแห่งอาณาจักร

ยอห์น 14:6

ทางนั้น ความจริง และชีวิต

มัทธิว 22:36–39

จงรักพระเจ้า จงรักเพื่อนบ้านของเจ้า

ยอห์น 14:15

ถ้าพวกท่านรักเรา ท่านก็จะประพฤติตามบัญญัติของเรา

มัทธิว 28:19–20

จงสอนและให้บัพติศมาชนทุกชาติ

ยอห์น 17:3

การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าและพระเยซูคริสต์คือชีวิตนิรันดร์

แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ๆ ขอให้นักเรียนทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่เขียนบนกระดานกับคู่ของพวกเขา ท่านอาจแนะนำให้คู่คนหนึ่งอ่านออกเสียงคำสำคัญจากข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์และอีกคนบอกข้อพระคัมภีร์อ้างอิงที่เกี่ยวข้อง เชื้อเชิญให้นักเรียนเปลี่ยนบทบาทกันจนกระทั่งพวกเขาได้ทบทวนทั้ง 10 ข้อ

หากเวลาเอื้ออำนวย ท่านอาจทำแบบทดสอบนักเรียน แจกกระดาษที่มีคำสำคัญสำหรับผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์แต่ละข้อที่ตามด้วยเส้นใต้ช่องว่าง เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนข้ออ้างอิงที่เกี่ยวข้องไว้บนเส้นใต้ช่องว่าง หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ทบทวนแบบทดสอบ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 1:18 การตายของยูดาส

งานแปลของโจเซฟ สมิธช่วยให้ความกระจ่างถึงความไม่สอดคล้องกันระหว่าง มัทธิว 27:3–5 ซึ่งบันทึกว่ายูดาสผูกคอตายและ กิจการของอัครทูต 1:18 ซึ่งบันทึกว่ายูดาสคะมำตกและ “แตกกลางลำตัวไส้พุ่งทะลักออกมาหมด” งานแปลของโจเซฟ สมิธ ใน มัทธิว 27:6 อ่านได้ดังนี้ “และเขาโยนเหรียญเงินนั้นไว้ในวิหาร, และจากไป, และออกไป, และแขวนคอตนเองกับต้นไม้ และเขาทิ้งตัวลงมาทันที, และไส้พุงของเขาทะลักออกมา, และเขาสิ้นใจ”

กิจการของอัครทูต 1:21–22 “เป็นพยานร่วมกับเราเกี่ยวกับการคืนพระชนม์ของพระองค์”

ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธสอนว่าพยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเป็นพระเจ้าของพระผู้ช่วยให้รอดมาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

“พวกเขา [อัครสาวกสิบสอง] เป็นพยานพิเศษของพระเยซูคริสต์ เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะรู้ความจริงและมีพยานอยู่ด้วยตลอดเวลา นี่เป็นหน้าที่อันแน่ชัดที่พวกเขาได้รับที่จะรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ไถ่ของโลกอย่างแน่แท้ …

“มีคำถามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ‘จำเป็นด้วยหรือที่สมาชิกสภาอัครสาวกสิบสองต้องเห็นพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อเป็นอัครสาวก’ เป็นสิทธิพิเศษของพวกเขาที่จะเห็นพระองค์หากโอกาสอำนวย แต่พระเจ้าทรงสอนว่ามีพยานที่แข็งแกร่งกว่าการเห็นพระอติรูป แม้มากกว่าการเห็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าในนิมิต ความประทับใจในจิตวิญญาณที่มาจากพระวิญญาณบริสุทธิ์สำคัญกว่านิมิตมากยิ่งนัก” (“The First Presidency and the Council of the Twelve,Improvement Era, พ.ย. 1966, 979)

กิจการของอัครทูต 1:24–26 อัครสาวกได้รับการเรียกในสมัยของเราอย่างไร

หลังจากการเรียกและการสนับสนุนเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์เป็นอัครสาวก ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อธิบายว่าอัครสาวกได้รับการเรียกอย่างไรในปัจจุบัน

“ภายใต้แผนของพระเจ้า ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกเจ้าหน้าที่ได้รับการควบคุมโดยคำถามที่เหนือกว่าว่า ‘พระเจ้าจะทรงเลือกใคร’ มีการพิจารณาไคร่ครวญอย่างเงียบๆ และครุ่นคิดหนัก มีการสวดอ้อนวอนมากเพื่อรับการยืนยันจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ว่าการเลือกนั้นถูกต้อง

“… เพื่อเติม [ตำแหน่งที่ว่างลงในโควรัมอัครสาวกสิบสอง] สมาชิกแต่ละคนของฝ่ายประธานสูงสุดกับโควรัมอัครสาวกสิบสองมีสิทธิ์เสนอ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าในทุกกรณี มีการสวดอ้อนวอนด้วยความเสื่อมใสและอย่างจริงจัง จากนั้นมีการเลือกโดยฝ่ายประธานสูงสุด หลังจากการสวดอ้อนวอนด้วยความเลื่อมใสและอย่างจริงจังอีกครั้ง การเลือกนั้นได้รับการสนับสนุนโดยสภาอัครสาวกสิบสอง วันนี้ สมาชิกภาพของศาสนจักรในการประชุมร่วมกันได้สนับสนุนการเลือกนั้น

“ข้าพเจ้าให้ประจักษ์พยานของข้าพเจ้าแก่ท่านทั้งหลาย … การดลใจในการเรียกบราเดอร์เฮลส์มาสู่ตำแหน่งอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์นี้มาจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ โดยวิญญาณแห่งการพยากรณ์และการเปิดเผย บราเดอร์เฮลส์ไม่ได้เสนอชื่อของท่านเอง ชื่อของท่านเสนอโดยพระวิญญาณ” (God Is at the Helm, May 1994, 53–54)

กิจการของอัครทูต 1:24–26 อัครสาวกที่ได้รับการเรียกในสมัยของเรา

ถึงแม้สมาชิกภาพของศาสนจักรโดยทั่วไปไม่ได้เลือกอัครสาวกคนใหม่หรือแม้แต่ผู้นำฐานะปุโรหิตในท้องที่ของศาสนจักร แต่เรามีโอกาสสนับสนุนคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียก ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนว่าการสนับสนุนผู้อื่นหมายถึงอะไร ดังนี้ “ขั้นตอนในการสนับสนุนเป็นมากกว่าการยกมือตามพิธีศาสนา การสนับสนุนเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะค้ำจุน สนับสนุน และช่วยเหลือคนที่ได้รับเลือก” (This Work Is Concerned with People, May 1995, 51)

พิมพ์