บทที่ 125
ฟีลิปปี 4
คำนำ
เปาโลกระตุ้นให้วิสุทธิชนในฟีลิปปีสวดอ้อนวอนและแสวงหาสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรม เขาประกาศความมั่นใจของเขาในพลังความเข้มแข็งของพระเยซูคริสต์ เปาโลจบจดหมายของท่านด้วยการแสดงความขอบคุณวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีอีกครั้งสำหรับการสนับสนุนที่มีต่อเขาในยามยากลำบาก
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
ฟีลิปปี 4:1–14
เปาโลบอกวิสุทธิชนในฟีลิปปีให้สวดอ้อนวอนและแสวงหาสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรม
ก่อนเริ่มชั้นเรียน ให้เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาษแต่ละแผ่น และแจกกระดาษให้นักเรียนคนละแผ่น
“ฉันกังวลเรื่องสอบผ่านในการสอบที่จะมาถึง”
“ฉันกังวลเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวที่ป่วย”
“ฉันกังวลเกี่ยวกับการยืนหยัดในความเชื่อของฉัน”
“ฉันกังวลว่าฉันจะเป็นผู้สอนศาสนาที่ประสบความสำเร็จได้หรือไม่”
เริ่มบทเรียนโดยเขียนคำว่า กังวล บนกระดาน ชี้ให้เห็นว่าตลอดชีวิตของเรา เราจะประสบกับความท้าทายหรือสภาพการณ์ที่อาจนำเราไปสู่ความกังวล เชื้อเชิญให้นักเรียนที่มีกระดาษยืนขึ้นและอ่านข้อความทีละคน ขอให้ชั้นเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขามีความกังวลที่คล้ายกัน
-
มีความกังวลอื่นใดอีกที่เราอาจประสบเนื่องจากความท้าทายหรือสภาวการณ์ที่ยาก
ขอให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเกี่ยวกับความท้าทายหนึ่งอย่างที่พวกเขาหรือบางคนที่พวกเขารู้จักกังวล เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมขณะที่พวกเขาศึกษา ฟีลิปปี 4 ที่จะช่วยพวกเขาเมื่อพวกเขากังวล
เตือนนักเรียนว่าในจดหมายของเปาโลถึงสมาชิกศาสนจักรในเมืองฟีลิปปี เขาแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรซื่อสัตย์ (ดู ฟีลิปปี 2:12) และสอนพวกเขาเกี่ยวกับรางวัลนิรันดร์ที่มีให้แก่คนที่เสียสละเพื่อพระเยซูคริสต์และซื่อสัตย์ต่อพระองค์ สรุป ฟีลิปปี 4:1–5 โดยอธิบายว่าเปาโลแนะนำวิสุทธิชนให้ยืนหยัดในความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ชื่นชมยินดีในพระเจ้า และให้ความอ่อนสุภาพของพวกเขาทั้งหลายประจักษ์แก่ทุกคน
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความแรกของ ฟีลิปปี 4:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำของเปาโลที่ให้แก่วิสุทธิชน อธิบายว่าข้อความ “อย่ากระวนกระวายในสิ่งใดๆ เลย” หมายความว่าอย่ากังวลเกี่ยวกับอะไรมากเกินไป
เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ ถ้า…
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงส่วนที่เหลือของ ฟีลิปปี 4:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนทำแทนที่จะกังวล ท่านอาจอธิบายว่า การวิงวอน เป็นการร้องขอด้วยความอ่อนน้อมและตั้งใจจริง
-
ท่านจะสรุปคำแนะนำของเปาโลใน ข้อ 6 ว่าอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนบนกระดานเป็นข้อความ “ถ้า” ทำนองนี้ ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัย …)
เติมคำว่า แล้ว เข้าไปในข้อความบนกระดาน เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 4:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่เปาโลสัญญาไว้สำหรับการสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัย อธิบายว่าคำว่า คุ้มครอง ในข้อนี้หมายถึงปกป้อง
-
ท่านจะสรุปพรที่เปาโลสัญญาไว้ว่าอย่างไร (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดานหลังจากคำว่า แล้ว นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ ในฐานะสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์ของพระเยซูคริสต์ ถ้าเราสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัย แล้วพระผู้เป็นเจ้าจะประทานพรเราด้วยสันติสุขของพระองค์)
-
เมื่อเรากังวล การแสดงความขอบพระทัยในคำสวดอ้อนวอนของเราจะช่วยนำสันติสุขมาสู่เราได้อย่างไร
-
สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองจิตใจและความคิดของเราจากอะไร
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังดูว่ามีวิธีอื่นใดที่สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าจะช่วยเราได้
“เพราะทรงเคารพในสิทธิ์เสรีของท่าน พระบิดาในสวรรค์จะไม่ทรงบังคับให้ท่านสวดอ้อนวอน แต่เมื่อท่านใช้สิทธิ์เสรีนั้นโดยมีพระองค์อยู่ในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน ใจท่านจะเริ่มเพิ่มพูนด้วยสันติสุขที่เต็มไปด้วยความเบิกบานใจ สันติสุขดังกล่าวจะรวมแสงนิรันดร์ส่องบนความยากลำบากของท่าน ซึ่งจะช่วยให้ท่านรับมือกับเรื่องท้าทาย เหล่านั้นได้จากมุมมองนิรันดร์” (“ทำให้การใช้ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 93)
-
ตามที่เอ็ลเดอร์สก็อตต์กล่าว สันติสุขของพระผู้เป็นเจ้าสามารถช่วยเรารับมือกับความท้าทายที่เราประสบได้อย่างไร
-
ท่านเคยสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัยในเวลาที่กังวลและได้รับพรด้วยสันสิสุขของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อใด
ขอให้นักเรียนไปดูความกังวลที่พวกเขาเขียนก่อนหน้านี้ในบทเรียน กระตุ้นให้พวกเขาสวดอ้อนวอนด้วยการวิงวอนและน้อมขอบพระทัยแทนที่จะกังวล หากนักเรียนเขียนเกี่ยวกับความกังวลของคนอื่น กระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันหลักธรรมนี้กับคนนั้น
เพื่อเตรียมให้นักเรียนระบุหลักธรรมอีกข้อหนึ่งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนชาวฟีลิปปี ให้แบ่งนักเรียนออกเป็นสามส่วน มอบหมายให้หนึ่งในสามของชั้นเรียนนึกถึงอาหารโปรดของพวกเขา อีกหนึ่งในสามนึกถึงภาพหรือเรื่องราวที่ตลก และที่เหลือให้นึกถึงภาพหรือประสบการณ์ในพระวิหาร เชื้อเชิญให้นักเรียนจดจ่ออยู่กับความคิดนี้ 30 วินาที
-
การจดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ส่งผลอะไรกับท่าน หากมี
ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เรานึกถึงจะมีอิทธิพลต่อความปรารถนาและพฤติกรรมของเรา เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 4:8–9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนชาวฟีลิปปีนึกถึงและทำ ท่านอาจอธิบายว่า “ใคร่ครวญ” หมายถึงให้คิดอย่างถี่ถ้วน ต่อเนื่อง
เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาทำเครื่องหมายทุกสิ่งที่เปาโลแนะนำให้วิสุทธิชนจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น
-
นอกจากนึกถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว เปาโลแนะนำให้สมาชิกศาสนจักรทำอะไร
-
พรอะไรที่เปาโลสัญญากับวิสุทธิชนหากพวกเขาทำตามคำสอนและแบบอย่างของเขา
-
เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากสิ่งที่เปาโลสอนวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ใน ฟีลิปปี 4:8–9 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์จดจ่ออยู่กับสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรมและถ้าพวกเขาทำตามอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ พระผู้เป็นเจ้าแห่งสันติสุขจะทรงอยู่กับพวกเขา)
-
การจดจ่ออยู่กับสิ่งใดก็ตามที่ชอบธรรมมีอิทธิพลต่อความปรารถนาและพฤติกรรมของเราได้อย่างไร
ขอให้ชั้นเรียนเปิดไปที่หลักแห่งความเชื่อในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงหลักแห่งความเชื่อข้อที่สิบสาม ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความคล้ายคลึงกับ ฟีลิปปี 4:8
-
ท่านสังเกตเห็นความคล้ายคลึงอะไรบ้างระหว่างสองข้อนี้
ชี้ให้เห็นว่าเมื่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธอ้าง “คำแนะนำของเปาโล” นี้จาก ฟีลิปปี 4:8 ในหลักแห่งความเชื่อข้อที่สิบสาม ท่านเปลี่ยน “ไตร่ตรองดูสิ่งเหล่านี้” ให้กระตือรือร้นมากขึ้น เป็น “แสวงหาสิ่งเหล่านี้”
-
ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่เราจะแสวงหาสิ่งที่ซื่อสัตย์ แน่วแน่ บริสุทธิ์ (หรือไร้มลทิน) เป็นคุณธรรม งดงาม และควรค่าแก่การสรรเสริญ
-
การแสวงหาสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราจดจ่อกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละสามถึงสี่คน แจกสำเนาของ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร, 2011) และเอกสารแจกต่อไปนี้ ให้แต่ละกลุ่มทำงานมอบหมายสองหัวข้อจาก เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: “การออกเดท” “การแต่งกายและรูปลักษณ์ภายนอก” “การศึกษา” “ความบันเทิงและสื่อ” “เพื่อน” “ภาษา” และ “ดนตรีและการเต้นรำ” (ปรับขนาดของกลุ่มและจำนวนหัวข้อขึ้นอยู่กับขนาดของชั้นเรียน) บอกให้นักเรียนทำตามคำแนะนำใน เอกสารแจก
หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งจากแต่ละกลุ่มให้รายงานต่อชั้นเรียนถึงสิ่งที่กลุ่มของเขาสนทนาเกี่ยวกับแต่ละหัวข้อ
-
ขณะที่ท่านจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบธรรม พระผู้เป็นเจ้าแห่งสันติสุขแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงอยู่กับท่านอย่างไร
กระตุ้นให้นักเรียนเขียนในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์หรือสมุดจดในชั้นเรียนถึงวิธีหนึ่งที่พวกเขาสามารถพัฒนาความพยายามของพวกเขาที่จะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบธรรมและทำตามอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า
สรุป ฟีลิปปี 4:10 โดยอธิบายว่าเปาโลขอบคุณวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีสำหรับการสนับสนุนและความห่วงใยที่มีต่อเขาระหว่างที่เขาเผชิญกับการทดลอง
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ฟีลิปปี 4:11–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลบอกวิสุทธิชนว่าเขาได้เรียนรู้
-
เปาโลเรียนรู้ที่จะทำอะไรในทุกสภาวการณ์
เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียงฟีลิปปี 4:13–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครเป็นแหล่งที่มาของกำลังของเขา
-
เปาโลบอกว่าใครคือแหล่งที่มาของกำลังของเขา
อธิบายว่าถ้อยคำของเปาโลใน ข้อ 13 เกี่ยวข้องกับความสามารถของเขา ในกำลังที่ได้รับจากพระเยซูคริสต์ ให้ทำทุกสิ่งที่ชอบพระทัยหรือกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้า รวมถึงการยอมรับได้ในทุกสภาวการณ์
-
เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 13 (โดยใช้คำพูดของพวกเขาเอง นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ เราสามารถทำทุกสิ่งผ่านพระเยซูคริสต์ ผู้ประทานกำลังแก่เรา [ดู แอลมา 26:12] ด้วย)
-
เราสามารถทำอะไรได้เพื่อเข้าถึงกำลังที่พระเยซูคริสต์ประทาน
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านออกเสียงคำพูดต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด ขอให้ชั้นเรียนฟังว่ากำลังนี้ทำให้เราทำอะไรได้
“พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเทพรแห่งอำนาจและพลังทำให้เราสามารถบรรลุผลสำเร็จในสิ่งต่างๆ ที่ไกลเกินเอื้อมหากเราไม่ได้รับพรเช่นนั้น ด้วยพระคุณอันน่าพิศวงของพระผู้เป็นเจ้า บุตรธิดาของพระองค์สามารถเอาชนะคลื่นใต้น้ำและทรายดูดของผู้ลวงโลก อยู่เหนือบาปและ ‘ดีพร้อมในพระคริสต์’ [โมโรไน 10:32]” (“ของประทานแห่งพระคุณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 108)
-
เราอาจประสบกับกำลังและพระคุณนี้ในทางใดบ้าง (คำตอบที่เป็นไปได้รวมถึงความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ความแน่วแน่ ความกล้าหาญ ความอดทน ความอุตสาหะ กำลังและพลังอำนาจทางกาย จิตใจ หรือวิญญาณ)
-
พระเยซูคริสต์เคยประทานพลังให้ท่านทำสิ่งที่ดีเมื่อใด (ท่านอาจแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวเช่นกัน)
ฟีลิปปี 4:15–23
เปาโลจบสาส์นที่เขาเขียนถึงชาวฟีลิปปีด้วยการแสดงความขอบคุณ
สรุป ฟีลิปปี 4:15–23 โดยอธิบายว่าเปาโลขอบคุณวิสุทธิชนชาวฟีลิปปีอีกครั้งที่สนับสนุนเขาในยามยากลำบาก ของประทานของวิสุทธิชนเป็นของถวายที่ชอบพระทัยต่อพระผู้เป็นเจ้า และเปาโลสัญญาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบสนองความต้องการของพวกเขาเช่นกัน
สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สนทนาในบทนี้
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ฟีลิปปี 4:13
ช่วยนักเรียนท่องจำ ฟีลิปปี 4:13 โดยการเขียนข้อนี้บนกระดานและพูดออกเสียงพร้อมกัน ลบหนึ่งคำและพูดพร้อมกันอีกครั้ง ทำซ้ำจนลบออกทุกคำ