คลังค้นคว้า
บทที่ 62: ยอห์น 3


บทที่ 62

ยอห์น 3

คำนำ

คืนหนึ่งชาวฟาริสีชื่อนิโคเดมัสมาหาพระเยซูและพูดคุยกับพระองค์ พระเยซูทรงสอนนิโคเดมัสว่ามนุษย์ทุกคนต้องเกิดใหม่เพื่อเข้าแผ่นดินของพระเจ้า ต่อมา ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาอธิบายต่อสานุศิษย์ของเขาว่าบทบาทของเขาคือเพื่อเตรียมมรรคาสำหรับพระเยซูคริสต์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 3:1–21

พระเยซูทรงสอนความจริงทางวิญญาณแก่นิโคเดมัส

เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าวันหนึ่งขณะที่พวกเขากำลังสนทนาเรื่องศาสนากับเพื่อนบางคน เพื่อนคนหนึ่งพูดว่า “ตราบใดที่ฉันเป็นคนดี ฉันก็ไปสวรรค์ได้” เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะตอบเพื่อนคนนี้อย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนหาใน ยอห์น 3 ว่าเราต้องทำอะไรเพื่อจะเข้าแผ่นดินของพระเจ้า

อธิบายว่าในตอนเริ่มต้นการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์เสด็จไปเยรูซาเล็มเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลปัสกา คนมากมายในเยรูซาเล็มเชื่อในพระเยซูหลังจากพวกเขาเห็นปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงทำ (ดู ยอห์น 2:23–25)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 3:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นขณะพระผู้ช่วยให้รอดประทับอยู่ในเยรูซาเล็ม

  • ใครมาหาพระเยซู

อธิบายว่าในฐานะ “ขุนนางของพวกยิว” (ยอห์น 3:1) นิโคเดมัส เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสภายิว สภายิวเป็นสภาปกครองที่ประกอบไปด้วยชาวฟาริสีและสะดูสี กำกับดูแลกิจจานุกิจหลายด้านเกี่ยวกับพลเมืองและศาสนาของชาวยิว

นิโคเดมัสและพระเยซู

นิโคเดมัสมาหาพระเยซู

  • ท่านคิดว่าเหตุใดนิโคเดมัสจึงมาหาพระเยซูในตอนกลางคืน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 นิโคเดมัสรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซู

อธิบายว่าการยอมรับของนิโคเดมัสว่าพระเยซูเป็น “ครูที่มาจากพระเจ้า” (ข้อ 2) แสดงให้เห็นว่านิโคเดมัสต้องการเรียนรู้จากพระเยซู เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่ง อ่าน ออกเสียง ยอห์น 3:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรนิโคเดมัส

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3 พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอะไรนิโคเดมัส

  • นิโคเดมัสคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงหมายความว่าอะไรกับวลี “เกิดใหม่” (ข้อ 3)

อธิบายว่าการเกิดใหม่หมายถึง “การให้พระวิญญาณของพระเจ้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันล้ำลึกในใจคนคนหนึ่งทั้งนี้เพื่อให้เขา [หรือเธอ] ไม่มีความปรารถนาจะทำความชั่วอีกต่อไป แต่ปรารถนาจะแสวงหาสิ่งที่เป็นของพระผู้เป็นเจ้า” (คู่มือพระคัมภีร์, “เกิดใหม่, เกิดใหม่จากพระผู้เป็นเจ้า,” scriptures.lds.org; ดู โมไซยาห์ 5:2; แอลมา 5:14–15; โมเสส 6:59 ด้วย)

  • ตามที่กล่าวใน ข้อ 5 อะไรคือสองสิ่งที่พระเยซูทรงสอนนิโคเดมัสว่าจำเป็นต่อการเข้าในแผ่นดินพระเจ้า ท่านคิดว่าการ “เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ” หมายความว่าอย่างไร

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนเกี่ยวกับสิ่งจำเป็นสำหรับการเกิดใหม่ทางวิญญาณและการเข้าอาณาจักรซีเลสเชียลว่าอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบ เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดานโดยใช้คำพูดของนักเรียน การบัพติศมาและการรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์จำเป็นสำหรับการเกิดใหม่ทางวิญญาณและการรับความสูงส่งในอาณาจักรซีเลสเชียล)

เตือนนักเรียนให้นึกถึงสถานการณ์สมมติกับเพื่อน แบ่งนักเรียนออกเป็นคู่ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งในแต่ละคู่ให้เป็นเพื่อนผู้ที่คิดว่าสิ่งจำเป็นทั้งหมดต่อการเข้าแผ่นดินของพระเจ้าคือการเป็นคนดี เชื้อเชิญนักเรียนอีกคนในแต่ละคู่ให้ฝึกชี้แจงการเข้าใจผิดนั้นโดยใช้ ยอห์น 3:5

สรุป ยอห์น 3:6–12 โดยอธิบายว่านิโคเดมัสถามพระเยซูว่าคนจะเกิดใหม่ได้อย่างไร พระเยซูตรัสตอบโดยถามนิโคเดมัสว่าเขาเป็นผู้นำทางศาสนาและอาจารย์ของคนอิสราเอลได้อย่างไร โดยไม่รู้ว่าการเกิดใหม่ทางวิญญาณนั้นจำเป็นและอะไรที่ทำให้การเกิดใหม่เป็นไปได้

ใน ยอห์น 3:13–21 เราอ่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายกับนิโคเดมัสถึงวิธีที่คนๆ หนึ่งจะเกิดใหม่ เชื้อเชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 3:13–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาว่าพระเยซูทรงตอบคำถามของนิโคเดมัสอย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดตรัสอะไรเกี่ยวกับพระองค์เองใน ยอห์น 3:13 (พระองค์ทรงเป็นพยานถึงพระองค์เองในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้เสด็จมาจากสวรรค์)

โมเสสกับงูทองสัมฤทธิ์

แสดงภาพ โมเสสกับงูทองสัมฤทธิ์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 16; ดู LDS.org ด้วย) ขอให้นักเรียนอธิบายเรื่องราวจากพระคัมภีร์ตามรูปภาพนั้น หากจำเป็น อธิบายว่าในสมัยของโมเสสพระเจ้าทรงส่งงูพิษมาเนื่องจากชาวอิสราเอลทำผิดบาปต่อพระผู้เป็นเจ้า ชาวอิสราเอลได้รับพิษเมื่องูกัดพวกเขา พระเจ้าทรงสั่งให้โมเสสชูงูทองสัมฤทธิ์ขึ้นบนเสาและทรงสัญญาว่าชาวอิสราเอลคนใดมองไปยังงูที่อยู่บนเสานั้นจะหาย (ดู กันดารวิถี 21:4–9)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 3:14 พระเยซูตรัสว่างูสัมฤทธิ์นั้นหมายถึงสิ่งใด

การตรึงกางเขน

แสดงภาพ การตรึงกางเขน (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 57; ดู LDS.org ด้วย)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15 พรใดมาถึงคนที่มองไปที่พระผู้ช่วยให้รอด

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นย้ำความจริงต่อไปนี้ มนุษยชาติทั้งปวงสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 3:16–17 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาหลักธรรมที่เราสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์

  • พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาเพื่อสิ่งใด

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนใดจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ (นักเรียนอาจใช้คำต่างกันไปเพื่อระบุหลักคำสอนต่อไปนี้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักบุตรธิดาของพระองค์มากจนพระองค์ทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์มาทนทุกข์ทรมานเพื่อบาปของพวกเขา เพิ่มหลักคำสอนนี้เข้าไปในรายการที่เขียนไว้แล้วบนกระดาน)

  • การที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระองค์มายังแผ่นดินโลกแสดงถึงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราแต่ละคนอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนพิจารณาว่าการรู้ถึงความรักของพระบิดาบนสวรรค์ที่มีต่อพวกเขาทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ไม่มีสิ่งใดแสดงถึงความบริบูรณ์และอำนาจอันไม่มีที่สิ้นสุดของความรักของพระผู้เป็นเจ้าได้ชัดเจนไปกว่าคำประกาศของอัครสาวกยอห์น [ใน ยอห์น 3:16] … ลองคิดดูว่านี่ทำให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงโทมนัสเพียงใดที่ต้องส่งพระบุตรมาทนทุกข์ทรมานเกินกว่าจะเข้าใจได้เพื่อบาปของเรา นั่นคือหลักฐานแสดงความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราได้ชัดเจนที่สุด!” (“ความรักและกฎ” เลียโฮนา พ.ย. 2009, 31–32)

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับการที่ได้รู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงรักท่านมากจนทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์มาทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของท่าน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ยอห์น 3:16–17 เราจะรอดผ่านทางการชดใช้ได้อย่างไร (หลังจากที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน หากเราเชื่อในพระเยซูคริสต์ ซึ่งรวมถึงการกลับใจจากบาปของเราและการเชื่อฟังพระคำของพระองค์ เราจะมีชีวิตนิรันดร์ผ่านการชดใช้ของพระองค์)

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวนความจริงต่างๆ ที่พระเยซูทรงสอนนิโคเดมัสซึ่งเขียนไว้บนกระดาน

  • ความจริงเหล่านี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร

  • เราสามารถแสดงความเชื่อของเราในพระเยซูคริสต์ในทางใดบ้าง

เป็นพยานว่าเมื่อเราแสดงความเชื่อของเราในพระเยซูคริสต์โดยการกลับใจและติดตามพระองค์ เราจะรอดและได้รับชีวิตนิรันดร์ผ่านการชดใช้

เขียนวลีต่อไปนี้บนกระดาน ฉันจะแสดงความเชื่อของฉันในพระเยซูคริสต์โดย … ขอให้นักเรียนเติมวลีนี้ให้ครบถ้วนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาโดยเขียนสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อแสดงความเชื่อของพวกเขาในพระเยซูคริสต์

ยอห์น 3:22–36

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาสอนว่าพระเยซูคือพระคริสต์

นำภาชนะใสใส่น้ำจนเต็มมาที่ชั้นเรียน นำสีผสมอาหารหยดลงไปในน้ำหนึ่งหรือสองหยด

  • สีผสมอาหารอาจเปรียบได้กับอิทธิพลของเราที่มีต่อผู้อื่นอย่างไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ ขอให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับอิทธิพลที่เรามีต่อชีวิตของผู้อื่น

ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์

“ทุกๆ คนที่อยู่บนโลกนี้จะมีอิทธิพล ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว (คำสอนของประธานศาสนาจักร: เดวิด โอ. แมคเคย์ [2003], 227)

“ผลกระทบของคำพูดหรือการกระทำของเรานั้นใหญ่หลวงมากในโลกนี้ ทุกขณะของชีวิตท่านกำลังเปลี่ยนองศาของชีวิตของทั้งโลก” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: เดวิด โอ. แมคเคย์, 227)

ขอให้นักเรียนมองหาหลักธรรมใน ยอห์น 3:22–36 ซึ่งสอนวิธีที่เราจะเป็นอิทธิพลดีต่อผู้อื่นได้

สรุป ยอห์น 3:22–26 โดยอธิบายว่าสานุศิษย์บางคนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมากังวลเนื่องจากผู้คนกำลังติดตามพระเยซูแทนที่จะติดตามยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 3:27–30 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของเขาอันเกี่ยวเนื่องกับพระเยซูคริสต์

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาต้องการให้สานุศิษย์ของเขาเข้าใจอะไรเกี่ยวกับบทบาทของเขา (เขาถูกส่งมาก่อนพระเยซูคริสต์เพื่อเตรียมผู้คนให้พระองค์)

  • ยอห์นผู้ถวายบัพติศมาใช้คำเปรียบเทียบอะไร (ข้อ 29)

อธิบายว่าเจ้าบ่าวหมายถึงพระเยซู เจ้าสาวหมายถึงคนที่มาหาพระคริสต์ และเพื่อนเจ้าบ่าวหมายถึงยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

  • ท่านคิดว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาหมายความว่าอะไรเมื่อเขากล่าวว่า “พระองค์ต้องยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ข้าพเจ้าต้องด้อยลง” (ยอห์น 3:30) สิ่งนี้แสดงอุปนิสัยอะไรของยอห์นผู้ถวายบัพติศมา

  • พระเยซูคริสต์จะทรงทำอะไรให้แก่ผู้คนซึ่งยอห์นผู้ถวายบัพติศมาไม่สามารถทำได้

  • เราเรียนรู้อะไรจากแบบอย่างของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเกี่ยวกับสิ่งที่เราทำได้เพื่อเป็นอิทธิพลดีให้แก่ผู้อื่น (นักเรียนอาจให้คำตอบหลากหลาย แต่ให้แน่ใจว่าต้องเข้าใจว่า เราสามารถเป็นอิทธิพลดีให้แก่ผู้อื่นโดยการนำพวกเขาไปหาพระเยซูคริสต์)

  • เหตุใดจึงสำคัญมากที่จะใช้อิทธิพลของเราเพื่อนำผู้อื่นไปหาพระเยซูคริสต์

  • ท่านเคยเห็นบางคนนำผู้อื่นไปหาพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อใด

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาวิธีที่พวกเขาสามารถนำผู้อื่นไปหาพระผู้ช่วยให้รอด กระตุ้นให้พวกเขาแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยความพยายามของพวกเขาในการทำเช่นนั้น

สรุป ยอห์น 3:31–36 โดยอธิบายว่ายอห์นผู้ถวายบัพติศมาประกาศว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระเยซูมา ทุกคนที่เชื่อในพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร์

ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ยอห์น 3:5

เพื่อช่วยนักเรียนสรุป ยอห์น 3:5 เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนตัวอักษรแรกของแต่ละคำในข้อพระคัมภีร์ที่อยู่ในสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา กระตุ้นให้นักเรียนฝึกพูดออกเสียงข้อพระคัมภีร์โดยใช้อักษรตัวแรกและอ้างถึงข้อความพระคัมภีร์เท่าที่จำเป็น เมื่อนักเรียนสามารถพูดข้อพระคัมภีร์ได้ทั้งข้อโดยใช้อักษรตัวแรกแล้ว เชื้อเชิญให้พวกเขาฝึกท่องข้อพระคัมภีร์จากความจำ ท่านอาจเชื้อเชิญให้พวกเขาท่องข้อพระคัมภีร์นี้ในช่วงเริ่มต้นหรือช่วงท้ายชั้นเรียนหลายๆ วัน

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 3:3 การเกิดใหม่

เช่นเดียวกับนิโคเดมัส บางคนอาจสงสัยว่าจะเกิดใหม่ได้อย่างไร ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “นอกเหนือจากศาสนพิธีทางกายซึ่งได้แก่บัพติศมาและการวางมือ บุคคลต้องเกิดใหม่ทางวิญญาณอีกครั้งเพื่อได้รับความสูงส่งและชีวิตนิรันดร์” (“Born of God,” Ensign, July 1989, 2–4) ดังนั้น การเกิดใหม่เรียกร้องมากกว่าแค่รับบัพติศมาและยืนยัน เพื่อที่จะเกิดใหม่ บุคคลต้องดำเนินชีวิตในแบบที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเปลี่ยนใจนั้นได้

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“เราเริ่มกระบวนการบังเกิดใหม่ผ่านการใช้ศรัทธาในพระคริสต์ กลับใจจากบาปของเรา และรับบัพติศมาโดยการจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัวเพื่อการปลดบาปโดยผู้ที่มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิต …

“การจุ่มจนมิดและแช่ไว้ในพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการบังเกิดใหม่” (“ท่านทั้งหลายต้องบังเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 26–27)

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการเกิดใหม่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา

“ท่านอาจถามว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงอันล้ำลึกจึงไม่เกิดกับฉันเร็วกว่านี้ … สำหรับเราส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละน้อยและใช้เวลา การเกิดใหม่อีกครั้ง ไม่เหมือนการเกิดทางกาย เป็นกระบวนการมากกว่าเหตุการณ์ และการได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการนั้นคือจุดประสงค์สำคัญของความเป็นมรรตัย

“ในเวลาเดียวกัน ขอให้เราอย่าหาข้อแก้ตัวต่อการกระทำที่เราไม่ตั้งใจ ขอเราอย่าพอใจที่จะเก็บความประสงค์บางอย่างที่จะทำความชั่วร้าย ขอให้เรารับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรทุกสัปดาห์และให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงถอนรากถอนโคนซากที่หลงเหลือของความไม่บริสุทธิ์ภายในตัวเราต่อไป ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าขณะที่ท่านดำเนินต่อไปในเส้นทางของการเกิดใหม่ทางวิญญาณ พระคุณแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์จะขจัดบาปของท่านรวมทั้งสิ่งแปดเปื้อนอันเกิดจากบาปเหล่านั้นในตัวท่าน การล่อลวงจะไม่น่าสนใจ และโดยผ่านพระคริสต์ท่านจะบริสุทธิ์ ดังพระองค์และพระบิดาของเราทรงบริสุทธิ์” (“การเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 95)

ยอห์น 3:5 เราต้องการศาสนพิธีเพื่อรับความรอด

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดใน ยอห์น 3:5 ยืนยันว่าศาสนพิธีจำเป็นต่อการเข้าแผ่นดินของพระเจ้า ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ สอนว่า “การเกิดใหม่มาโดยพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าผ่านศาสนพิธี” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 103)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวเช่นกันว่า “ความประพฤติดีโดยปราศจากศาสนพิธีของพระกิตติคุณจะไม่ไถ่หรือทำให้มนุษยชาติได้รับความสูงส่ง พันธสัญญาและศาสนพิธีเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้” (“The Only True Church,” Ensign, Nov. 1985, 82)

ยอห์น 3:7–8 เหตุใดพระเยซูจึงทรงเปรียบเทียบการ “เกิดใหม่” กับลม

เพื่อแก้ไขความสับสนของนิโคเดมัสเกี่ยวกับการเกิดใหม่ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปรียบเทียบการเกิดใหม่ทางวิญญาณกับลม (คำว่าวิญญาณในภาษากรีกคือ pneuma ซึ่งอาจแปลได้ด้วยว่าเป็นลมหายใจหรือลม) เช่นเดียวกันกับลมที่ยากจะมองเห็น เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นกระบวนการเกิดใหม่ เราสามารถมองเห็นผลของลมแต่เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าลมจะเริ่มพัดเมื่อใด หยุดเมื่อใดและมาจากไหน เราสามารถได้ข้อสรุปคล้ายกันเกี่ยวกับกระบวนการของการเกิดใหม่ เป็นเรื่องยากที่จะเห็นได้จริงๆ ว่าการเกิดใหม่เริ่มขึ้นเมื่อใดหรือจบลงเมื่อใด แต่ผลของการเกิดใหม่เห็นได้ชัดเจนเมื่อการกระทำและความปรารถนาเปลี่ยนไป

ยอห์น 3:16 “พระเจ้าทรงรักโลกดังนี้”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองประกาศเกี่ยวกับข้อนี้ว่า

“นี่อาจจะเป็นพระคัมภีร์ข้อเดียวที่มีชื่อเสียงและเปี่ยมด้วยพลังมากที่สุดเท่าที่เคยเอ่ยถึง ข้อนี้สรุปแผนแห่งความรอดทั้งหมด โดยเชื่อมโยงพระบิดา พระบุตร การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ความเชื่อในพระองค์ซึ่งจะทำให้เกิดงานชอบธรรม และความสูงส่งนิรันดร์ในท้ายที่สุดสำหรับผู้ซื่อสัตย์ไว้ด้วยกัน

“…เช่นเดียวกัน พระเจ้าของเรา ‘รักโลกจนเขาสละชีวิตตนเอง, เพื่อคนมากเท่าที่จะเชื่อจะได้มาเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า’ (คพ. 34:3)” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:144)