คลังค้นคว้า
บทที่ 140: ยากอบ 1


บทที่ 140

ยากอบ 1

คำนำ

ยากอบเขียนสาส์นถึงเชื้อสายของอิสราเอลที่กระจัดกระจาย โดยกระตุ้นให้พวกเขาอดทนต่อความทุกข์ยากและให้แสวงหาปัญญาจากพระบิดาบนสวรรค์ ยากอบสอนให้พวกเขาต้านทานการล่อลวงด้วย ให้เป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะ รับใช้ผู้อื่น และยังคงสะอาดทางวิญญาณ

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยากอบ 1:1–11

ยากอบกระตุ้นให้อิสราเอลที่กระจัดกระจายไปอดทนต่อความทุกข์ของพวกเขาและแสวงหาปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนชั้นเรียน ให้เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน ฉันหวังว่าฉันจะฉลาดกว่านี้! เมื่อชั้นเรียนเริ่ม ขอให้นักเรียนพิจารณาข้อความที่เขียนไว้บนกระดาน เชื้อเชิญให้พวกเขาใช้สมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาเขียนเกี่ยวกับหัวข้อหรือสถานการณ์ที่พวกเขาแสวงหาปัญญาในเรื่องนั้น ท่านอาจแนะนำให้พวกเขารวมหัวข้อพระกิตติคุณและใส่คำถามเกี่ยวกับชีวิตในยามคับขันไว้ในรายการของพวกเขา ขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันหัวข้อหรือคำถามที่พวกเขาเขียนไว้ (เตือนพวกเขาไม่ให้แบ่งปันเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป)

ภาพ
โจเซฟ สมิธแสวงหาปัญญาในพระคัมภีร์ไบเบิล

แสดงภาพ โจเซฟ สมิธแสวงหาปัญญาในพระคัมภีร์ไบเบิล (หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], ภาพที่ 89; ดู LDS.org ด้วย)

  • โจเซฟ สมิธมีคำถามเร่งด่วนอะไรสมัยที่เขาเป็นเด็กหนุ่ม (หากนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ ให้พวกเขาดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:9–10)

อธิบายว่าโจเซฟกำลังอ่านสาส์นของยากอบเมื่อเขาพบวิธีหาคำตอบให้แก่คำถามของเขา ยากอบเป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์และเป็นอธิการในกรุงเยรูซาเล็ม ประเพณีชาวคริสต์เชื่อว่ายากอบเป็นบุตรชายของมารีย์และโจเซฟด้วยและดังนั้นจึงเป็นน้องชายต่างบิดาของพระเยซู

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 1:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยากอบสอนเชื้อสายแห่งอิสราเอลเกี่ยวกับปัญหาและความทุกข์ของพวกเขา อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อ 2 เปลี่ยนวลี “การทดลองใจต่างๆ” เป็น “ความทุกข์มากมาย”

  • ยากอบสอนอะไรแก่เชื้อสายแห่งอิสราเอลเกี่ยวกับปัญหาและความทุกข์ของพวกเขา

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องมีความอดทนระหว่างมีปัญหาและความทุกข์

เชื้อเชิญให้นักเรียน อ่าน ออกเสียงยากอบ 1:5–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่โจเซฟ สมิธค้นพบที่ช่วยเขาพบคำตอบให้แก่คำถามของเขา

  • ยากอบแนะนำให้ผู้อ่านของเขาทำอะไรเพื่อให้พบคำตอบสำหรับคำถามของพวกเขา

  • พระผู้เป็นเจ้าประทานด้วย “พระทัยกว้างขวาง” และ “ไม่ทรงตำหนิ” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 5) (พระทัยกว้างขวาง หมายถึงอย่างเสรีและเผื่อแผ่ ตำหนิ หมายถึงติเตียนและว่ากล่าว)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งมาที่กระดานและเขียนหลักธรรมที่เราเรียนรู้จาก ยากอบ 1:5–6 นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ พระผู้เป็นเจ้าประทานปัญญาแก่คนที่ทูลถามพระองค์ด้วยศรัทธา

  • “ขอด้วยความเชื่อและไม่สงสัย” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 6)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอธิบายว่า ยากอบ 1:5–6 ส่งผลต่อเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธอย่างไรเมื่อเขาแสวงหาคำตอบ (ดู โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:12) ขอให้นักเรียนอีกคนสรุปผลจากคำสวดอ้อนวอนที่ซื่อสัตย์ของโจเซฟ สมิธในป่าใกล้บ้านของเขา

  • เมื่อใดที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านด้วยพระทัยกว้างขวางหลังจากท่านสวดอ้อนวอนพระองค์ด้วยศรัทธา

เป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าเต็มพระทัยประทานปัญญาแก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์ด้วยศรัทธา เชื้อเชิญให้นักเรียนทำตามแบบอย่างของโจเซฟ สมิธโดยประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตของพวกเขาเพื่อพวกเขาจะได้รับปัญญาที่ต้องการจากพระบิดาบนสวรรค์

สรุป ยากอบ 1:7–11 โดยอธิบายว่ายากอบเตือนไม่ให้เป็นคนสองจิตสองใจ หรือหวั่นไหวในความซื่อสัตย์และคำมั่นสัญญาที่มีต่อพระเจ้า ยากอบเขียนด้วยว่าคนมีทรัพย์สินมากควรเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนเนื่องจากความร่ำรวยทางโลกเป็นสิ่งชั่วคราวเท่านั้นและอีกไม่นานจะสูญสิ้นไป

หมายเหตุ: ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสองคนสอนพระคัมภีร์สองช่วงต่อไปนี้ อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้งานมอบหมายโดยให้นักเรียนเป็นครูหนึ่งวันหรือสองวันก่อนบทเรียนนี้เพื่อให้พวกเขาเตรียมตัว ท่านอาจเชิญนักเรียนที่จะเป็นครูแต่ละคนให้สอนทั้งชั้นเรียน หรือ ท่านอาจแบ่งชั้นเรียนออกเป็นสองส่วน ให้นักเรียนที่จะเป็นครูแต่ละคนสอนช่วงพระคัมภีร์ของเขากับครึ่งหนึ่งของชั้นเรียนและให้นักเรียนที่เป็นครูทั้งสองคนผลัดกันสอนอีกครึ่งหนึ่งของชั้นเรียน

นักเรียนที่เป็นครู 1—ยากอบ 1:12–21

ยากอบสอนเกี่ยวกับการล่อลวง

ถามนักเรียนว่า

  • เยาวชนในปัจจุบันเผชิญการล่อลวงอะไร (ท่านอาจต้องการเขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

  • เหตุใดบางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่จะต้านทานการล่อลวง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 1:12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาพรที่สัญญาไว้แก่คนที่รักพระเจ้าและต่อต้านการล่อลวง อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธของข้อนี้ เปลี่ยน “สู้ทนต่อการทดลองใจ” เป็น “ต่อต้านการล่อลวง”

  • พรอะไรจะมาหาคนที่รักพระเจ้าและต่อต้านการล่อลวง (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้ไว้บนกระดาน เราแสดงความรักของเราต่อพระเจ้าโดยต้านทานการล่อลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดของการได้รับมงกุฎแห่งชีวิตนิรันดร์)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 1:13–16 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าการล่อลวงมาจากไหนและไม่ได้มาจากที่ไหน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 ใคร ไม่ใช่ ที่มาของการล่อลวง

อธิบายว่าคำว่า ตัณหา ใน ข้อ 14 ความปรารถนาที่ไม่บริสุทธิ์ซึ่งเราอาจมีเนื่องจากธรรมชาติที่ตกไปของเรา ซาตานล่อลวงให้เรายอมแพ้ความปรารถนาที่ไม่บริสุทธิ์

ขอให้นักเรียนพิจารณาการล่อลวงที่พวกเขากำลังมีปัญหา

  • เราจะได้รับพลังทางวิญญาณเพื่อต้านทานการล่อลวงได้อย่างไร

  • การต้านทานการล่อลวงเป็นการแสดงความรักที่เรามีต่อพระเจ้าในทางใดบ้าง

เป็นพยานถึงความเป็นจริงของหลักธรรมที่นักเรียนระบุใน ยากอบ 1:12 เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาจะทำเพื่อต่อต้านการล่อลวงที่พวกเขามีปัญหา

สรุป ยากอบ 1:17–21 โดยอธิบายว่ายากอบสอนว่าของประทานที่ดีทั้งหมดมาจากพระผู้เป็นเจ้าและวิสุทธิชนควรทิ้ง “ความโสมมทุกอย่าง” และรับพระคำของพระเจ้า “ด้วยใจที่สุภาพอ่อนโยน” (ข้อ 21)

นักเรียนที่เป็นครู 2—ยากอบ 1:22–25

ยากอบเชื้อเชิญให้ผู้อ่านของเขาเป็นผู้ฟังและผู้ประพฤติตามพระวจนะ

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องเล่าต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก

“เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าพบกับชายวัยรุ่นคนหนึ่ง เป้าหมายของเขาคือไปรับใช้งานเผยแผ่ เรียนต่อ แต่งงานในพระวิหาร มีครอบครัวที่ซื่อสัตย์และมีความสุข … ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขาต้องการรับใช้งานเผยแผ่อย่างจริงจังและหลีกเลี่ยงการล่วงละเมิดร้ายแรงที่จะยับยั้งงานเผยแผ่ของเขา แต่ความประพฤติในแต่ละวันไม่ได้เตรียมเขาเพื่อรับความท้าทายทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และทางวิญญาณที่เขาจะเผชิญ เขาไม่ได้เรียนรู้ที่จะทำางานหนัก เขาไม่จริงจังกับเรื่องเรียนหรือเซมินารี เขามาโบสถ์แต่ไม่อ่านพระคัมภีร์มอรมอน เขาเล่นวิดีโอเกมและใช้สื่อสังคมครั้งละนานๆ ดูเหมือนเขาจะคิดว่าการไปอยู่ที่คณะเผยแผ่ของเขานั้นเพียงพอแล้ว” (“เลือกอย่างฉลาด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 47)

  • หากท่านเป็นเอ็ลเดอร์คุก ท่านจะมีความกังวลอะไรกับการขาดการเตรียมตัวสำหรับงานเผยแผ่ของชายหนุ่มคนนี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 1:22 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยากอบสอนเพื่อจะช่วยชายหนุ่มที่พูดถึงในเรื่องเล่าของเอ็ลเดอร์คุก

  • ยากอบสอนสิ่งใดเพื่อจะช่วยชายหนุ่มคนนี้

อธิบายว่า ดังที่บันทึกใน ยากอบ 1:23–24 ยากอบเปรียบเทียบบางคนที่เป็นผู้ฟังแต่ไม่ใช่ผู้ประพฤติกับคนที่เห็นหน้าตนเองในกระจกเงาแต่แล้วก็ลืมว่าตนเองเป็นอย่างไรเมื่อจากไป

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 1:25 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เลือกกระทำตามความจริงที่พวกเขาฟัง

  • เกิดอะไรขึ้นกับคนที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ฟังแต่เป็นผู้ประพฤติด้วย (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน เมื่อเราฟังและทำตามพระคำของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะประทานพรเราในการกระทำของเรา)

เชื้อเชิญให้นักเรียนประเมินตนเองในฐานะผู้ฟังและผู้ประพฤติตามพระคำของพระผู้เป็นเจ้าโดยไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ ท่านอาจต้องการอ่านออกเสียงคำถามต่อไปนี้หรือเขียนไว้บนกระดาน

  1. ฉันเชื่อความจริงที่ฉันกำลังเรียนรู้ในพระคัมภีร์ ที่บ้าน ที่โบสถ์ และในชั้นเรียนเซมินารีเต็มที่เพียงใด

  2. ฉันตั้งเป้าหมายทางวิญญาณเพื่อทำตามความจริงที่ฉันกำลังเรียนรู้บ่อยเพียงใด ฉันทำเป้าหมายสำเร็จบ่อยเพียงใด ฉันลืมเป้าหมายเหล่านั้นบ่อยเพียงใด

  3. ฉันจะทำอะไรได้ดีขึ้นเพื่อเป็นผู้ประพฤติตามพระวจนะและไม่ใช่เป็นเพียงผู้ฟังเท่านั้น

เป็นพยานถึงพรที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำตามสิ่งที่เราเรียนรู้

ยากอบ 1:26–27

ยากอบแนะนำให้วิสุทธิชนดูแลผู้อื่น

หลังจากนักเรียนสองคนสอนช่วงพระคัมภีร์ของพวกเขาแล้ว ขอให้นักเรียนคนอื่นหลายๆ คนสรุปสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยากอบ 1:26–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำแนะนำของยากอบว่าเราจะดำเนินชีวิตตามศาสนาของเราอย่างไร

  • ตามที่ยากอบกล่าวไว้ เราจะดำเนินชีวิตตามศาสนาของเราหรือแสดงการอุทิศตนของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าในทางใดได้บ้าง

อธิบายว่ายากอบใช้แนวคิดเรื่อง “การช่วยเหลือเด็กกำพร้าและหญิงม่าย” ที่ขัดสนเป็นแบบอย่างของการดูแลผู้อื่น การ “รักษา [ตัว] ให้พ้นจากราคีของโลก” (ข้อ 27) หมายถึงการยังคงสะอาดทางวิญญาณ แม้ในโลกที่ความชั่วร้ายจะเด่นชัด

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจาก ข้อ 27 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ เราแสดงให้เห็นถึงธรรมะที่บริสุทธิ์เมื่อเราดูแลผู้อื่นและรักษาตัวเราเองให้หมดจดทางวิญญาณ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • การดูแลผู้อื่นและการรักษาตัวเราเองให้หมดจดทางวิญญาณเป็นการแสดงออกถึงการอุทิศตนของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

  • ท่านรู้จักใครที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการแสดงให้เห็นถึง “ธรรมะที่บริสุทธิ์” ในชีวิตประจำวันของเขา บุคคลคนนี้ทำอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่าน

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนในแผ่นกระดาษเกี่ยวกับการกระทำหนึ่งหรือสองอย่างที่พวกเขาจะทำระหว่างสัปดาห์หน้าเพื่อดูแลบางคนที่เดือดร้อนหรือการรักษาตัว “ให้พ้นจากราคีของโลก” เชื้อเชิญให้นักเรียนเป็นผู้ประพฤติตามพระคำของพระผู้เป็นเจ้าโดยประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้ในชีวิตของพวกเขา

ภาพ
ไอคอนผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์—ยากอบ 1:5–6

อธิบายว่าการท่องจำ ยากอบ 1:5–6 จะช่วยนักเรียนไปตลอดชีวิตขณะที่พวกเขามีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณ ขณะที่พวกเขาแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อตัดสินใจ และขณะที่พวกเขาสอนพระกิตติคุณให้ผู้อื่น

ใช้กิจกรรมการท่องจำในภาคผนวก หรือทำกิจกรรมของท่านเองเพื่อช่วยนักเรียนท่องจำข้อนี้ อย่าลืมที่จะทบทวนข้อผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ที่ท่องจำไว้แล้วบ่อยๆ กับนักเรียนเพื่อช่วยให้พวกเขายังจดจำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ไปแล้ว ท่านอาจวางแผนบางช่วงในบทเรียนครั้งต่อๆ ไปเพื่อทบทวนพระคัมภีร์นี้และเชื้อเชิญให้นักเรียนท่องจำ

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยากอบ 1:5 “ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบรรยายถึงความสำคัญเป็นพิเศษของ ยากอบ 1:5 สำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย

“พระคัมภีร์ข้อเดียวนี้มีผลยิ่งใหญ่และกว้างไกลต่อมนุษยชาติมากกว่าประโยคใดที่เคยบันทึกไว้โดยศาสดาพยากรณ์คนใดในทุกยุคทุกสมัย อาจพูดได้ว่าการกระทำสูงส่งที่สุดในการปฏิบัติศาสนกิจของยากอบไม่ใช่มรณสักขีเพราะเป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซู แต่เป็นการบรรยายของเขาด้วยถ้อยคำเรียบง่ายเหล่านี้ดังที่ได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งนำไปสู่การเปิดของฟ้าสวรรค์ในสมัยปัจจุบัน

“และอาจเสริมได้ว่าผู้สนใจความจริงที่ได้รับการเปิดเผยทุกคน บางช่วงในการค้นหาของเขาอยู่ในจุดที่โจเซฟ สมิธเคยอยู่ เขาต้องหันไปหาพระผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์และได้รับสติปัญญาจากพระผู้เป็นเจ้าโดยการเปิดเผยหากเขาจะมีที่ในทางคับแคบและแคบนั้นซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 3:246–47)

เอ็ลเดอร์ เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเน้นความสำคัญของการทูลถามพระผู้เป็นเจ้าในสมัยของเราดังนี้

“ปัจจุบันเราอาศัยอยู่ในโลกซึ่งมนุษย์ไม่ทูลถามพระผู้เป็นเจ้า—ดูเหมือนว่าพวกเขาต้องการถามกูเกิ้ล แม้เมื่อมีคำถามเกี่ยวกับศรัทธา มีหลายคนที่วางใจอินเทอร์เน็ตให้บอกคำตอบที่ถูกต้อง เที่ยงธรรม และสมดุลต่อคำถามของพวกเขามากกว่าที่พวกเขาจะวางใจแหล่งที่มาสูงสุดของความจริง นั่นคือพระบิดาบนสวรรค์ของเรา …

“… ปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยคนที่เฝ้ารอจะหลอกลวงคนที่ไม่รู้และขาดประสบการณ์

“ในการค้นหาความจริงพระกิตติคุณ เราไม่เพียงจำเป็นต้องหาแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้นแต่เราต้องให้เวลาพระเจ้าเท่าเทียมกันในการแสวงหาของเราด้วย เราจำเป็นต้องศึกษาพระคัมภีร์และถ้อยคำของผู้รับใช้พระเจ้า เราต้องดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า—เราต้องทำตามพระประสงค์ของพระองค์ [ดู ยอห์น 7:16–17] และเราไม่สามารถพูดเกินจริงถึงความสำคัญของการนำเอาความกังวลทางวิญญาณของเราไปหาพระผู้เป็นเจ้าและวางใจการดลใจและการนำทางของพระองค์” (“Women of Dedication, Faith, Determination, and Action” [คำปราศัยที่ Brigham Young University Women’s Conference, May 1, 2015], ce.byu.edu/cw/womensconference)

ยากอบ 1:6 “ขอด้วยความเชื่อ”

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าการขอด้วยความเชื่อหมายความว่าอย่างไร

“แบบอย่างของการทูลขอด้วยศรัทธาคือโจเซฟ สมิธและนิมิตแรก ขณะเด็กหนุ่มโจเซฟเพียรพยายามรู้ความจริงเกี่ยวกับศาสนา ท่านอ่าน [ยากอบ 1:5–6] …

“โปรดสังเกตข้อกำหนดของการทูลขอด้วยศรัทธา ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายถึงความจำเป็นของการไม่เพียงพูดออกมาเท่านั้นแต่ทำด้วย ข้อผูกมัดสองอย่างของการอ้อนวอนและการกระทำ ข้อกำหนดของการสื่อสารและปฏิบัติ” (“ทูลขอด้วยศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2008, 114)

ยากอบ 1:14; 4:7–8 การต่อต้านการล่อลวง

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“เมื่อท่านตั้งใจยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อท่านได้ตั้งมาตรฐานส่วนตัวไว้แล้วและทำพันธสัญญาที่จะรักษามาตรฐานเหล่านั้น เมื่อการล่อลวงเกิดขึ้นและท่านทำตามมาตรฐานของท่าน ท่านจะได้รับการเสริมกำลังและได้รับความเข้มแข็งเกินความสามารถของท่านเองหากจำเป็น ความยากลำบากจะเกิดขึ้นเมื่อท่านเข้าสู่การต่อสู้ของการล่อลวงโดยปราศจากแผนที่ตั้งไว้” (Do What Is Right, June 1997, 53)

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า

“หากท่านสามารถควบคุมความคิดของท่าน ท่านจะเอาชนะนิสัยต่างๆ หรือแม้แต่ลดนิสัยส่วนตัว หากท่านสามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้ท่านจะมีชีวิตที่มีความสุข …

“เมื่อท่านเรียนรู้ที่จะขจัดสภาพจิตใจของท่านออกจากความคิดที่ไม่มีค่า ให้ความคิดของท่านมุ่งศึกษาเรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่า จงเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของท่านเพื่อให้ท่านมีสิ่งรอบข้างที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดที่ดีและยกระดับจิตวิญญาณ จงยุ่งอยู่กับสิ่งที่ชอบธรรม” (Inspiring Music—Worthy Thoughts, Jan. 1974, 28)

พิมพ์