คลังค้นคว้า
บทที่ 67: ยอห์น 8:1–30


บทที่ 67

ยอห์น 8:1–30

คำนำ

ขณะที่พระผู้ช่วยให้รอดประทับอยู่ในเยรูซาเล็มสำหรับเทศกาลอยู่เพิง พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีบางคนนำหญิงคนหนึ่งที่มีความผิดฐานล่วงประเวณีมาหาพระองค์ พวกเขาถามว่าเธอควรถูกหินขว้างจนตายหรือไม่ พระองค์ทรงทำให้ผู้กล่าวหาพูดไม่ออกและทรงแสดงความกรุณาต่อหญิงคนนั้น พระเยซูทรงสอนด้วยว่าพระบิดาทรงเป็นพยานเกี่ยวกับพระองค์

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 8:1–11

หญิงคนหนึ่งซึ่งถูกจับฐานล่วงประเวณีถูกนำมาต่อหน้าพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงเวลาที่พวกเขาอาจพบเห็นหรือเกี่ยวข้องกับคนที่มีภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า

  • เราเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้างเมื่อเราอยู่กับคนอื่นที่มีภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า (นักเรียนอาจตอบว่าเราอาจถูกล่อลวงให้ตัดสินคนเช่นนั้นอย่างไม่ชอบธรรมหรือปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไม่มีเมตตา)

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

เราควรทำอะไรในสถานการณ์บางอย่างเมื่อเราต้องอยู่กับคนที่มีภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า

กระตุ้นให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา ยอห์น 8:1–11 ที่จะช่วยตอบคำถามนี้

อธิบายว่าหลังจากเทศกาลอยู่เพิง พระเยซูคริสต์ยังคงประทับอยู่ในเยรูซาเล็มระยะหนึ่งและทรงสอนผู้คนที่พระวิหาร (ดู ยอห์น 8:1–2)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:3–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเยซูทรงสอนผู้คน

  • เกิดอะไรขึ้นเมื่อพระเยซูทรงสอนผู้คน

  • พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีเหล่านั้นถามคำถามอะไรพระผู้ช่วยให้รอด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีมีเจตนาอะไร (พวกเขาพยายามทำให้พระเยซูขาดความน่าเชื่อถือต่อหน้าผู้คนและหาเหตุผลที่จะกล่าวหาพระองค์เนื่องจากพวกเขาต้องการหาเหตุในการจับกุมและสังหารพระองค์ [ดู ยอห์น 7:1, 32])

อธิบายว่าหากพระเยซูตรัสว่าให้เอาหินขว้างหญิงคนนั้น พระองค์จะรับรองการลงโทษซึ่งไม่เป็นที่นิยมในบรรดาชาวยิวและเป็นข้อห้ามตามกฏหมายโรมัน หากพระเยซูตรัสว่าไม่ต้องเอาหินขว้างหญิงคนนั้น พระองค์จะถูกกล่าวหาว่าไม่ใส่ใจกฎของโมเสสหรือปฏิบัติต่อระเบียบข้อบังคับซึ่งเป็นที่ยอมรับในอดีตอย่างไม่เคารพ (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:450–51.)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:7–8 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบอย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 7 พระดำรัสตอบของพระเยซูคริสต์คืออะไร

  • ท่านคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ชายเหล่านี้ตระหนักอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ใครในพวกท่านไม่มีบาป ให้เอาหินขว้างนางก่อนเป็นคนแรก” (ข้อ 7)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:9 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์พิจารณาพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านคิดว่าประโยคนี้ “สำนึกของพวกเขากล่าวโทษตัวพวกเขาเอง” (มีอยู่ใน Bible Dictionary) หมายความว่าอย่างไร

  • โดยการเลือกเดินออกไป แสดงว่าชายแหล่านี้ยอมรับอะไร

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษผู้อื่น (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ การยอมรับความไม่ดีพร้อมของเราเองจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษผู้อื่น เขียนหลักธรรมนี้ไว้ใต้คำถามบนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าการยอมรับความไม่ดีพร้อมของเราเองจะช่วยเราหลีกเลี่ยงการกล่าวโทษคนอื่นอย่างไร

เตือนนักเรียนว่าหญิงคนนี้มีความผิดฐานล่วงประเวณี ซึ่งเป็นบาปที่ร้ายแรงมาก (ดู แอลมา 39:3–5)

  • ท่านคิดว่าหญิงคนนี้อาจรู้สึกอย่างไรเมื่อมีการเปิดเผยบาปของเธอต่อพระเยซูและฝูงชนจำนวนมาก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:10–11 ขอให้นักเรียนอ่านออกเสียงพระคัมภีร์ต่อไปนี้จากงานแปลของโจเซฟ สมิธ ข้อ 11: “และหญิงคนนั้นก็สรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าจากโมงนั้นไป และเชื่อในพระนามของพระองค์” ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบหญิงคนนี้อย่างไร

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงทรงแสดงความรักและมีพระเมตตาต่อหญิงคนนี้ในทางใดบ้าง

  • พระผู้ช่วยให้รอดประทานคำแนะนำอะไรกับหญิงคนนี้

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้ยกโทษบาปของหญิงคนนี้ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์

“พระบัญชาของพระองค์ที่มีต่อเธอคือ ‘จงไปเถิดและจากนี้อย่าทำบาปอีก’ พระองค์ทรงกำลังแนะนำหญิงบาปคนนี้ให้ไปตามทางของเธอ ละทิ้งชีวิตที่ชั่วร้ายของเธอ ไม่ทำบาปอีก และเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอ พระองค์กำลังตรัสว่า หญิงเอ๋ย จงไปเถิด และเริ่มการกลับใจของเจ้า พระองค์ทรงชี้แนะขั้นตอนที่เธอจะเริ่มต้น—เพื่อ ละทิ้งการล่วงละเมิดของเธอ” (The Miracle of Forgiveness [1969], 165)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดจาก ข้อ 10–11 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีพระเมตตาต่อเราโดยประทานโอกาสให้เรากลับใจ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • การเข้าใจความจริงนี้สามารถช่วยเราเมื่อเราทำบาปได้อย่างไร

  • ความจริงทั้งสองประการที่เราระบุไว้จะช่วยเราตอบสนองสถานการณ์เมื่อเราอยู่กับคนที่ภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมของพวกเขาไม่สอดคล้องกับพระบัญญัติและมาตรฐานของพระเจ้าได้อย่างไร

  • ตามที่กล่าวไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธ ข้อ 11พระเมตตาของพระผู้ช่วยให้รอดส่งผลต่อหญิงคนนี้อย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนลงในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขาถึงความรู้สึกที่พวกเขามีเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเนื่องจากความเต็มพระทัยของพระองค์ที่ทรงเมตตาและประทานโอกาสให้เรากลับใจ

ยอห์น 8:12–30

พระเยซูทรงสอนว่าพระบิดาของพระองค์ทรงเป็นพยานถึงพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนหลับตาและพยายามวาดรูปสิ่งของง่ายๆ บางอย่าง จากนั้นขอให้พวกเขาลืมตาและเปรียบเทียบภาพที่พวกเขาวาดกับภาพของเพื่อนข้างๆ

  • มีอะไรบ้างที่ท่านสามารถทำได้ดีขึ้นเมื่อมีแสงสว่าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูทรงประกาศเกี่ยวกับพระองค์เอง

  • พระเยซูทรงเรียกพระองค์เองว่าอะไร (ให้เขียนหลักคำสอนต่อไปนี้ไว้บนกระดาน พระเยซูคริสต์ทรงเป็นความสว่างของโลก)

เตือนนักเรียนว่าพระเยซูทรงประกาศสิ่งนี้ที่เทศกาลอยู่เพิง ในช่วงค่ำของแต่ละวันตลอดเทศกาลทั้งแปดวัน เสาตะเกียงขนาดใหญ่หรือโคมในสนามของพระวิหารจะจุดไฟสว่างไสว เพื่อให้ความสว่างแก่คนมากมายในเยรูซาเล็มที่มาเฉลิมฉลอง

  • พระเยซูคริสต์ประทานความสว่างแก่หญิงที่ถูกจับฐานผิดประเวณีและบรรดาชายที่กล่าวหาเธออย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากพระคำของพระผู้ช่วยให้รอดใน ข้อ 12 (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ ถ้าเราทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เราจะหลีกเลี่ยงความมืดบอดทางวิญญาณและเต็มไปด้วยความสว่างของพระองค์)

  • ท่านจะรู้สึกว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านหลีกเลี่ยงการเดินในความมืดทางวิญญาณอย่างไร

อธิบายว่าคำพยากรณ์พันธสัญญาเก่าหลายข้อระบุว่าพระเมสสิยาห์จะทรงเป็นความสว่างแก่บรรดาประชาชาติ (ดู อิสยาห์ 49:6; 60:1–3) ดังนั้น ในการประกาศพระองค์ว่าทรงเป็นความสว่างของโลก พระเยซูทรงกำลังประกาศว่าพระองค์ทรงเป็นพระเมสสิยาห์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:13 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าพวกฟาริสีตอบสนองอย่างไรต่อการประกาศของพระผู้ช่วยให้รอด

  • พวกฟาริสีตอบสนองอย่างไรต่อการประกาศของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เหตุใดพวกเขาจึงกล่าวว่าคำพยานหรือประจักษ์พยานของพระเยซูไม่จริง (เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพยานถึงพระองค์เอง)

อธิบายว่าพระเยซูทรงเตือนพวกฟาริสีว่ากฎของโมเสสเรียกร้องว่าประจักษ์พยานต้องมีอย่างน้อยสองคนเพื่อให้เกิดความจริง (ดู ยอห์น 8:17; เฉลยธรรมบัญญัติ 17:6) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:18 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าใครอื่นอีกที่เป็นพยานว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 18 พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าใครที่เป็นพยานคนที่สองถึงความเป็นพระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ (ท่านอาจต้องการเน้นว่าผ่านทางพระดำรัสนี้พระเยซูทรงยืนยันว่าพระองค์และบิดาของพระองค์ทรงเป็นพระสัตภาวะที่แยกกันสองพระองค์)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:19 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่พวกฟาริสีไม่เข้าใจเกี่ยวกับพระเยซูและพระบิดาของพระองค์

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 19 เหตุใดพวกฟาริสีจึงไม่รู้จักพระบิดา (พวกฟาริสีไม่รู้จักพระบิดาเนื่องจากพวกเขาไม่รู้จักพระเยซูและว่าโดยแท้แล้วพระองค์ทรงเป็นใคร)

  • ตามที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสบอกพวกฟาริสี เราต้องทำอะไรเพื่อจะรู้จักพระบิดาบนสวรรค์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ เราได้รู้จักพระบิดา โดยใช้คำพูดเหล่านี้ของนักเรียน ให้เขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ในทุกสิ่งที่พระเยซูเสด็จมาเพื่อตรัสและทำ รวมถึงและโดยเฉพาะในการทนทุกข์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ พระองค์ทรงแสดงให้เราเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ของเราทรงเป็นใครและทรงเป็นอย่างไร พระองค์ทรงทุ่มเทกับบุตรธิดาของพระองค์มากเพียงใดในทุกยุคทุกสมัยและในทุกประเทศ พระเยซูทรงพยายามเปิดเผยและทรงทำให้พระอุปนิสัยที่แท้จริงของพระบิดาของพระองค์ พระบิดาในสวรรค์ของเราเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทั้งในคำพูดและการกระทำ …

“เมื่อพระคริสต์ทรงให้อาหารคนหิวโหย รักษาคนป่วย ตำหนิความหน้าซื่อใจคด วิงวอนขอศรัทธา—นี่คือพระคริสต์ผู้ทรงกำลังแสดงให้เราเห็นทางของพระบิดาผู้ทรง ‘เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา กริ้วช้า อดทนนาน และเปี่ยมด้วยพระกรุณาธิคุณ’ ในพระชนม์ชีพของพระองค์และโดยเฉพาะในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ พระคริสต์ทรงประกาศว่า ‘นี่คือพระเมตตา ของพระผู้เป็นเจ้า ที่เราแสดงให้ท่านเห็น เช่นเดียวกับพระเมตตาของเราเอง’” (“ความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2003, 84, 86, 87)

  • ตามที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กล่าว เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราเมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

สรุป ยอห์น 8:21–24 โดยอธิบายว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนพวกฟาริสีว่าหากพวกเขาไม่เชื่อในพระองค์พวกเขาจะตายในบาปของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 8:25–30 ขอให้ชั้นเรียนมองหาความจริงเพิ่มเติมที่พระเยซูทรงสอนพวกฟาริสีเกี่ยวกับพระองค์เองและพระบิดาบนสวรรค์ ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

  • ความจริงเพิ่มเติมอะไรที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนเกี่ยวกับพระองค์เองและพระบิดาบนสวรรค์

  • คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจสัมพันธภาพระหว่างพระผู้ช่วยให้รอดและพระบิดาบนสวรรค์มากขึ้นอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนใช้เวลาสองสามนาทีทบทวนและไตร่ตรองเรื่องราวที่พวกเขาศึกษาเกี่ยวกับพระคำและการกระทำของพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาใหม่ปีนี้ (ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของหญิงที่ถูกจับฐานผิดประเวณี) ท่านอาจต้องการแสดงภาพจาก หนังสือภาพพระกิตติคุณ ([2009]; ดู LDS.org ด้วย) ที่แสดงเหตุการณ์การปฏิบัติศาสนกิจขณะทรงเป็นมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนสรุปเรื่องราวที่พวกเขาแต่ละคนนึกถึงและอธิบายกับชั้นเรียนว่าเรื่องนั้นสอนเกี่ยวกับพระบิดาในสวรรค์ของเราอย่างไร

สรุปโดยแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 8:7 “ใครในพวกท่านไม่มีบาป ให้เอาหินขว้างนางก่อนเป็นคนแรก”

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดได้ให้การทดสอบตนเองต่อไปนี้เพื่อดูว่าบางครั้งเรามีความผิดในการขว้างก้อนหินหรือไม่

“พี่น้องที่รักของข้าพเจ้า ลองพิจารณาคำถามต่อไปนี้โดยถือเป็นการทดสอบตนเอง

“ท่านผูกใจเจ็บผู้อื่นไหม

“ท่านนินทาไหม แม้สิ่งที่ท่านพูดอาจจะเป็นเรื่องจริง

“ท่านกีดกัน ผลักไส หรือลงโทษผู้อื่นเพราะบางสิ่งที่พวกเขาทำไหม

“ท่านแอบอิจฉาผู้อื่นไหม

“ท่านอยากทำร้ายผู้อื่นไหม

“ถ้าท่านตอบคำถามเหล่านี้ข้อใดข้อหนึ่งว่าใช่ ท่านอาจต้องใช้โอวาทสองคำที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น หยุดเถิด!

“ในโลกที่เต็มไปด้วยการให้ร้ายและความไม่เป็นมิตร เป็นการง่ายที่จะเก็บรวบรวมก้อนหินมาขว้างใส่กัน แต่ก่อนที่เราจะทำเช่นนั้น ขอให้เราระลึกถึงพระวจนะของพระองค์ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์และแบบอย่างของเรา ‘ใครในพวกท่านไม่มีบาป ให้เอาหินขว้างนางก่อนเป็นคนแรก’

“พี่น้องทั้งหลาย ขอให้เราวางก้อนหินของเรา” (ดู “ผู้มีใจกรุณาย่อมได้รับพระกรุณา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 76)