คลังค้นคว้า
บทที่ 85: กิจการของอัครทูต 4–5


บทที่ 85

กิจการของอัครทูต 4–5

คำนำ

หลังจากรักษาชายง่อยที่พระวิหาร (ดู กิจการของอัครทูต 3) เปโตรและยอห์นถูกจับกุม สภายิวสั่งให้พวกเขาหยุดสอนในพระนามของพระเยซู อย่างไรก็ตาม อัครสาวกยังคงสั่งสอนและรักษาในพระนามของพระเยซูต่อไป พวกเขาถูกจับกุมอีกครั้งและถูกเฆี่ยนเพราะปฏิเสธการทำตามคำสั่งของผู้นำชาวยิว สมาชิกศาสนจักรดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย แต่มีสองคนสิ้นชีวิตเนื่องจากกล่าวเท็จต่อเปโตรและพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 4:1–31

สมาชิกสภายิวสั่งเปโตรและยอห์นให้หยุดสอนในพระนามของพระเยซู

ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรในสถานการณ์ต่อไปนี้

  1. เพื่อนคนหนึ่งเขียนบางสิ่งที่ไม่จริงเกี่ยวกับศาสนจักรในสื่อสังคม

  2. โค้ชทำตารางการแข่งขันที่ทำให้ทีมของท่านต้องเล่นในวันอาทิตย์

  3. เพื่อนของท่านถามความคิดเห็นท่านเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมซึ่งเป็นที่สนใจและได้รับการสนับสนุนโดยทั่วไปแต่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนจักร

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามว่า

  • มีสถานการณ์อื่นใดอีกบ้างที่เราอาจจำเป็นต้องแบ่งปันหรือปกป้องความเชื่อของเรา

  • การแบ่งปันหรือปกป้องความเชื่อของเราสามารถเป็นการท้าทายอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 4–5 ที่จะนำทางพวกเขาได้ในสถานการณ์แบบนี้

เชื้อเชิญให้นักเรียนสรุปสิ่งที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับเหตุการณ์และคำสอนที่บันทึกใน กิจการของอัครทูต 3 หากจำเป็น ย้ำกับพวกเขาว่าหลังจากรักษาชายง่อย เปโตรและยอห์นสอนกลุ่มคนที่มารวมกันรอบพวกเขาที่พระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:1–4 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นกับเปโตรและยอห์นเมื่อพวกเขาสอนผู้คนที่พระวิหาร

  • เกิดอะไรขึ้นกับเปโตรและยอห์น

สรุป กิจการของอัครทูต 4:5–6 โดยอธิบายว่าเปโตรและยอห์นถูกจับกุมและถูกนำไปอยู่ต่อหน้าสภาปกครองชาวยิวที่เรียกว่าสภายิว (ดู Bible Dictionary, Sanhedrin) ย้ำกับนักเรียนว่าสมาชิกหลายคนของสภายิวมีส่วนทำให้เกิดการจับกุมและการตรึงกางเขนพระผู้ช่วยให้รอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำถามที่ผู้นำชาวยิวถามเปโตรและยอห์น

  • ผู้นำชาวยิวถามอะไรเปโตรและยอห์น

  • อาจเกิดอะไรขึ้นกับเปโตรและยอห์นหากพวกเขาบอกว่าพวกเขาเป็นผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 4:8–21 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาสิ่งที่เปโตรประกาศต่อสภา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน กิจการของอัครทูต 4:10–12 เปโตรสอนความจริงอะไรแก่สภา (นักเรียนอาจระบุความจริงหลายประการ แต่ให้แน่ใจว่าได้เน้นว่า พระนามของพระเยซูคริสต์เป็นพระนามเดียวที่เราจะรับความรอดได้)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 13 เหตุใดสภาจึงประหลาดใจกับเปโตรและยอห์น

เชื้อเชิญให้นักเรียนทบทวน กิจการของอัครทูต 4:8 ในใจ โดยมองหาว่าอะไรกระตุ้นเปโตรและช่วยให้เขาพูดด้วยความกล้าหาญต่อสภา

  • ท่านคิดว่าการเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์มีอิทธิพลต่อความสามารถของเปโตรในการสอนพระกิตติคุณด้วยความกล้าหาญอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากแบบอย่างของเปโตรดังที่บันทึกใน ข้อ 8 และ 13 (นักเรียนอาจใช้คำพูดของพวกเขาเอง แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยความกล้าหาญได้)

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาตัวอย่างเพิ่มเติมที่แสดงถึงหลักธรรมนี้เมื่อนักเรียนศึกษา กิจการของอัครทูต 4–5 ต่อไป

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 18 สภาออกคำสั่งอะไรแก่เปโตรและยอห์น

  • ตามที่กล่าวใน ข้อ 19–20 เปโตรและยอห์นตอบสนองต่อคำสั่งของสภาอย่างไร

สรุป กิจการของอัครทูต 4:23–28 โดยอธิบายว่าหลังจากเปโตรและยอห์นได้รับการปลดปล่อย พวกเขาไปรวมตัวกับผู้ที่เชื่อคนอื่นๆ และสวดอ้อนวอนกับพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:29–30 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าผู้ที่เชื่อทูลขออะไรจากพระผู้เป็นเจ้า

  • ผู้ที่เชื่อทูลขออะไรจากพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:31 ขอให้ชั้นเรียนดูตามและมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการสวดอ้อนวอนของพวกเขา

  • เกิดอะไรขึ้นหลังจากผู้คนสวดอ้อนวอน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราจะทำอะไรเพื่อเชื้อเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทรงช่วยเราพูดพระคำของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความกล้าหาญ

พูดถึงสถานการณ์สมมติบางเรื่องที่กล่าวไว้เมื่อเริ่มต้นบทเรียน

  • เราสามารถมีความกล้าหาญในการแบ่งปันพระกิตติคุณในสถานการณ์เช่นนี้ในทางใดบ้าง

  • เราจะแบ่งปันและปกป้องพระกิตติคุณกับผู้อื่นแต่ยังคงความน่าเคารพและสุภาพได้อย่างไร

  • พระวิญญาณบริสุทธิ์เคยช่วยท่านพูดพระคำของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความกล้าหาญเมื่อใด

กิจการของอัครทูต 4:32–5:11

สมาชิกของศาสนจักรดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย แต่อานาเนียกับสัปฟีรากล่าวเท็จต่อเปโตร

ขอให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์สมมติต่อไปนี้

  1. เยาวชนกลุ่มหนึ่งกำลังวางแผนไปพระวิหารเพื่อบัพติศมาแทนคนตาย สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มรู้ว่าเธอต้องไปพบอธิการเพื่อขอใบรับรอง แต่เธอก็รู้ด้วยว่าเธอทำบาปบางอย่างที่ยังไม่ได้สารภาพ

  2. เยาวชนชายคนหนึ่งกำลังเตรียมรับใช้งานเผยแผ่ เขารู้ว่าอธิการจะถามคำถามเกี่ยวกับความมีค่าควรของเขาในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา เขากำลังพยายามหาทางตอบคำถามเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องบอกอธิการเกี่ยวกับความผิดบางอย่างที่เขาทำ

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 4:32–5:11 ที่จะช่วยพวกเขาเข้าใจความสำคัญของการซื่อสัตย์กับผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 4:32–35 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่สมาชิกศาสนจักรทำกับทรัพย์สมบัติของพวกเขา

  • สมาชิกศาสนจักรทำอะไรกับทรัพย์สมบัติของพวกเขา

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 34–35 มีขั้นตอนอะไรในการแบ่งปันทรัพย์สมบัติทางโลกของพวกเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 5:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าคู่สามีภรรยาที่ชื่อว่าอานาเนียกับสัปฟีราทำอะไรกับเงินที่พวกเขาได้รับจากการขายที่ดิน

  • อานาเนียกับสัปฟีราทำอะไรที่ร้ายแรงมาก

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 5:3–4 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งที่เปโตรพูดกับอานาเนีย

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 4 ในที่สุดแล้วอานาเนียกล่าวเท็จแก่ใคร

  • จากคำตอบของเปโตร เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรเกี่ยวกับการกล่าวเท็จแก่ผู้รับใช้ของพระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดของพวกเขาเองเพื่อระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรากล่าวเท็จแก่ผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า นั่นเป็นเหมือนเรากำลังกล่าวเท็จกับพระองค์)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการกล่าวเท็จแก่ผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นเหมือนการกล่าวเท็จกับพระองค์

เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 5:5–11 ขอให้ขั้นเรียนดูตามโดยมองหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับอานาเนียและสัปฟีราอันเป็นผลมาจากการทำผิดพันธสัญญาของพวกเขาและกล่าวเท็จกับเปโตร

  • เกิดอะไรขึ้นกับอานาเนียและสัปฟีรา

  • แม้ว่าเราหรือคนที่เรารู้จักอาจไม่ได้ประสบผลร้ายแรงและโดยฉับพลันเช่นนั้นเมื่อกล่าวคำเท็จ แต่เราอาจประสบกับผลอะไรบ้างหากเรากล่าวเท็จกับพระเจ้าหรือทำผิดพันธสัญญาของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ ขอให้นักเรียนฟังดูผลของการไม่ซื่อสัตย์

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ในสมัยของเรา ผู้ที่ถูกพบว่าไม่ซื่อสัตย์ไม่ได้ตายเหมือนกับอานาเนียและสัปฟีรา แต่บางสิ่งในตัวเขาตาย มโนธรรมเสื่อม อุปนิสัยด้อยลง สูญสิ้นความเคารพตนเอง คุณธรรมตายไป” (We Believe in Being Honest, Oct. 1990, 4)

  • ตามที่ประธานฮิงค์ลีย์กล่าว ผลของการกล่าวเท็จมีอะไรบ้าง พูดถึงสถานการณ์สมมติจากช่วงแรกในหมวดนี้ของบทเรียน

  • บุคคลที่อยู่ในสถานการณ์สมมตินี้จำเป็นต้องรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราหากเราโกหกผู้นำฐานะปุโรหิต

  • พรใดมาจากการซื่อสัตย์ต่อผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า

กิจการของอัครทูต 5:12–42

อัครสาวกถูกจับขังคุกเพราะทำการรักษาในพระนามของพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของเปโตรและยอห์นและเป็นผู้สื่อข่าวให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง อธิบายว่าพวกเขาได้รับเชิญให้ศึกษาบางส่วนของ กิจการของอัครทูต 5:12–32 จากนั้นเขียนพาดหัวข่าวเพื่อสรุปสิ่งที่เกิดขึ้น (เพื่อบอกบริบทของพระคัมภีร์เหล่านี้ ให้เตือนความจำนักเรียนว่าสภายิวสั่งให้เปโตรและยอห์นหยุดพูดในพระนามของพระเยซูคริสต์) ทำตามคำแนะนำที่ให้กับข้อพระคัมภีร์ในแต่ละช่วง

  1. กิจการของอัครทูต 5:12–16 (อ่านข้อนี้เป็นชั้นเรียน และเขียนพาดหัวข่าวด้วยกัน)

  2. กิจการของอัครทูต 5:17–23 (ขอให้นักเรียนอ่านข้อนี้กับคู่และเขียนพาดหัวข่าว เชื้อเชิญให้บางคู่แบ่งปันพาดหัวข่าวของพวกเขากับชั้นเรียน)

  3. กิจการของอัครทูต 5:24–32 (ขอให้นักเรียนอ่านตามลำพังและเขียนพาดหัวข่าวเอง เชื้อเชิญให้นักเรียนบางคนแบ่งปันพาดหัวข่าวของพวกเขากับชั้นเรียน)

หลังจากนักเรียนแบ่งปันพาดหัวข่าวของเขาแล้ว ให้ถามว่า

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 29เหตุใดเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ จึงบอกว่าพวกเขาต้องสั่งสอนในพระนามของพระเยซูต่อไปแม้จะมีคำสั่งจากสภา

เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์ …

  • จากสิ่งที่ท่านอ่านใน กิจการของอัครทูต 4–5 เราจะเติมข้อความนี้ให้ครบถ้วนว่าอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนข้อความที่ครบถ้วนบนกระดานดังนี้ ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์ พระองค์จะทรงอยู่กับเรา)

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ ในทางใดบ้างเมื่อพวกเขาเชื่อฟังพระองค์มากกว่าสภา (พระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พวกเขาเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ [ดู กิจการของอัครทูต 4:8, 31] ทรงทำให้พวกเขาทำปาฏิหาริย์ได้ [ดู กิจการของอัครทูต 5:12–16] และทรงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์ไปปลดปล่อยพวกเขาออกจากคุก [ดู กิจการของอัครทูต 5:17–20])

  • ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเลือกเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้ามากกว่ามนุษย์เมื่อใด พระผู้เป็นเจ้าทรงเสดงว่าพระองค์ทรงอยู่กับท่านหรือคนนี้อย่างไร

ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 5:33–42 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาตัวอย่างเพิ่มเติมของวิธีที่พระเจ้าทรงอยู่กับเปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ

ชี้ให้เห็นว่าเราเรียนรู้ใน กิจการของอัครทูต 5:33 ว่าสภาพยายามจะสังหารเปโตรและยอห์น

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 41–42 อัครสาวกยังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเมื่อเผชิญการข่มขู่นี้อย่างไร พระเจ้าทรงอยู่กับพวกเขาในช่วงเวลานี้อย่างไร

  • ความจริงที่เราระบุในบทเรียนนี้ช่วยเราเมื่อเราดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนที่อยู่รอบข้างเราได้อย่างไร

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงความจริงที่สอนในวันนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 4:1–13 การแบ่งปันและการปกป้องพระกิตติคุณด้วยความกล้าหาญ

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนวิธีที่เราจะแบ่งปันและปกป้องพระกิตติคุณอย่างเหมาะสมกับคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อของเรา

“แม้ว่าเราจะสุภาพเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่เราต้องไม่อะลุ้มอล่วยหรือผ่อนผันคำมั่นสัญญาของเราต่อความจริงที่เราเข้าใจ เราต้องไม่ละทิ้งมุมมองหรือค่านิยมของเรา พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และพันธสัญญาที่เราทำจะทำให้เรารับบทเป็นนักสู้ในการแข่งขันนิรันดร์ระหว่างความจริงกับความผิดพลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ตรงกลางในการแข่งขันนั้น …

“… เราทุกคนควรทำตามคำสอนพระกิตติคุณให้รักเพื่อนบ้านของเราและหลีกเลี่ยงการโต้เถียง ผู้ติดตามพระคริสต์ควรเป็นแบบอย่างของการเป็นพลเมืองดี เราพึงรักทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดี และแสดงความห่วงใยต่อความเชื่ออันจริงใจของพวกเขา แม้เราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ควรหยาบคาย จุดยืนและการสื่อสารของเราในหัวข้อซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันไม่ควรก่อให้เกิดความขัดแย้ง เราควรฉลาดเมื่อกำลังอธิบายและปฏิบัติตามจุดยืนของเรา และเมื่อเรามีอิทธิพลต่อผู้อื่น” (“รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 26, 27)

กิจการของอัครทูต 4:10 “โดยพระนามของพระเยซู”

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนสิ่งต่อไปนี้เกี่ยวกับความสำคัญของพระนามของพระเยซูคริสต์

“ที่สำคัญที่สุดและสนับสนุนทุกสิ่งที่เราทำ โดยยึดการเปิดเผยเป็นหลัก คือพระนามของพระเจ้า ซึ่งคือสิทธิอำนาจที่เราใช้ปฏิบัติในศาสนจักร ทุกคำสวดอ้อนวอน แม้จากเด็กเล็กๆ ลงท้ายด้วยพระนามของพระเยซูคริสต์ พรทุกอย่าง ศาสนพิธีทุกอย่าง การแต่งตั้งทุกอย่าง การกระทำอันเป็นทางการทุกอย่าง กระทำในพระนามของพระเยซูคริสต์ นี่คือศาสนจักรของพระองค์ และตั้งชื่อตามพระองค์—ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (ดู คพ. 115:4)” (“พยาน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 96)

กิจการของอัครทูต 4:32–35 “ทั้งหมดเป็นของส่วนกลาง”

“สมาชิกของศาสนจักรในเยรูซาเล็มพยายามที่จะดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวาย ‘ทั้งหมดเป็นของส่วนกลาง’ (กิจการของอัครทูต 4:32) อาจไม่ได้หมายความว่าพวกเขานำเอาทรัพย์สมบัติของพวกเขามารวมกันและจากนั้นแบ่งให้ผู้ที่เชื่อเป็นส่วนเท่าๆ กัน แต่พวกเขาใช้ทรัพย์สมบัติที่มีเกินมาเพื่อดูแลคนยากไร้และคนขัดสนในบรรดาพวกเขา ความพยายามที่คล้ายคลึงกันในการดำเนินชีวิตตามกฎแห่งการอุทิศถวายเกิดขึ้นในบรรดาผู้คนของเอโนคและในพระคัมภีร์มอรมอนด้วย (ดู โมเสส 7:18; 4 นีไฟ 1:3–18; คพ. 105:3–5)” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 286–287)

พิมพ์