คลังค้นคว้า
บทที่ 69: ยอห์น 9


บทที่ 69

ยอห์น 9

คำนำ

พระเยซูทรงรักษาชายที่ตาบอดแต่กำเนิด พวกฟาริสีสอบสวนชายคนนี้และขับชายคนนี้ออกจากธรรมศาลาเนื่องจากเขาปฎิเสธที่จะกล่าวโทษพระเยซูว่าเป็นคนบาปที่รักษาในวันสะบาโต พระผู้ช่วยให้รอดทรงไปพบชายคนนี้ และชายคนนี้นมัสการพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ยอห์น 9:1–7

พระเยซูทรงรักษาชายที่ตาบอดแต่กำเนิด

นำบทความข่าวซึ่งบรรยายถึงคนที่เผชิญความยากลำบากมาที่ชั้นเรียน สรุปบทความนั้นให้นักเรียนฟัง หรือเขียนหัวข้อข่าวบนกระดาน

  • ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรจากคนที่ประสบความยากลำบาก

ชี้ให้เห็นว่าบางคนสงสัยว่าเหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงยอมให้ความยากลำบากส่งผลอย่างมากต่อชีวิตพวกเขา

ขอให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา ยอห์น 9:1–5 ที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจสาเหตุที่พระผู้เป็นเจ้าทรงยอมให้ความยากลำบากส่งผลต่อชีวิตเรา

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 9:1–2 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความยากลำบากที่มนุษย์เผชิญ เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 สานุศิษย์ถามอะไรเกี่ยวกับสาเหตุความยากลำบากของชายคนนี้

อธิบายว่าหลายคนในสมัยของพระผู้ช่วยให้รอดเชื่อเหมือนดังที่บางคนในสมัยของเราเชื่อว่าความยากลำบากที่ผู้คนเผชิญนั้นเป็นผลมาจากบาปที่พวกเขาหรือบิดามารดาของพวกเขาเคยทำไว้ (ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าคำถามของสานุศิษย์สันนิษฐานถึงความเป็นจริงของการดำรงอยู่ก่อนเกิด)

  • ท่านคิดว่าความเชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่ เหตุใดจึงถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 9:3–5 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับการตาบอดของชายคนนี้

  • ท่านคิดว่า “เพื่อให้พระราชกิจของพระเจ้าปรากฎในตัวเขา” หมายความว่าอย่างไร (ข้อ 3)

  • จากคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดในข้อเหล่านี้ เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรเกี่ยวกับความยากลำบากของเรา (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้ความยากลำบากของเราเพื่อแสดงให้เห็นงานและพลังอำนาจของพระองค์)

อธิบายว่าแม้อาจมีเหตุหลายประการของความยากลำบากในชีวิตเรา แต่พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้ความท้าทายของเราเพื่อช่วยให้บรรลุจุดประสงค์อันชอบธรรมของพระองค์

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงความยากลำบากที่พวกเขาเคยเผชิญหรือกำลังเผชิญอยู่เวลานี้ ขณะที่นักเรียนศึกษา ยอห์น 9 ต่อ ขอให้พวกเขาไตร่ตรองวิธีซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงงานและพลังอำนาจของพระองค์ผ่านพวกเขาเนื่องจากความยากลำบากเหล่านั้น

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 9:6–7 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาวิธีซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงให้เห็นงานและพลังอำนาจของพระองค์ผ่านประสบการณ์ของชายตาบอด

  • ท่านจินตนาการว่าชายคนนี้มองเห็นได้เป็นครั้งแรกน่าจะเป็นอย่างไร

  • ความยากลำบากของชายคนนี้ทำให้คนอื่นได้เห็นพลังอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร

  • ในเรื่องราวนี้ ชายคนนี้ต้องไปล้างโคลนออกในสระสิโลอัมเพื่อให้มองเห็น ท่านอาจต้องทำอะไรเพื่อที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงแสดงให้เห็นงานและพลังอำนาจของพระองค์ในชีวิตท่าน

ยอห์น 9:8–41

พระผู้ช่วยให้รอดทรงตามไปพบชายคนนี้ที่พระองค์ทรงรักษาหลังจากพวกฟาริสีขับเขาออกไป

สรุป ยอห์น 9:8–15 โดยอธิบายว่าหลังจากชายตาบอดหายแล้ว บางคนโต้เถียงกันว่าเขาเป็นคนที่ตาบอดมาตั้งแต่เกิดจริงหรือไม่ บางคนสงสัยว่าเขาหายได้อย่างไร จึงนำเขามาอยู่ต่อหน้าพวกฟาริสี และเริ่มสอบสวนเขา

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 9:14 หาวันที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาคนตาบอด ขอให้นักเรียนรายงานสิ่งที่เขาพบ

  • ท่านคิดว่าพวกฟาริสีจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการที่พระเยซูทรงรักษาชายคนนี้ในวันสะบาโต

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก ยอห์น 9:16–38 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาความยากลำบากอีกอย่างหนึ่งที่ชายซึ่งหายเป็นปรกติคนนี้เผชิญ

แทนที่จะให้นักเรียนอ่าน ท่านอาจฉายส่วนที่เหลือของวีดิทัศน์ “Jesus Heals a Man Born Blind” (นาทีที่ 3:37–7:47) แนะนำให้นักเรียนมองหาความยากลำบากอีกอย่างซึ่งชายที่หายเป็นปรกติคนนี้ต้องเผชิญ

ช่วยเตรียมนักเรียนเพื่อระบุหลักธรรมจากเรื่องราวนี้โดยเตือนพวกเขาว่าบิดามารดาของชายตาบอดถูกนำมาอยู่ต่อหน้าพวกฟาริสีเพื่อสอบสวน

  • ตามที่กล่าวใน ข้อ 22 เหตุใดบิดามารดาของชายตาบอดจึงให้บุตรชายของพวกเขาอธิบายว่าเขามองเห็นได้อย่างไร

อธิบายว่า “ธรรมศาลาใช้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาและสังคมของชุมชนชาวยิวหลายชุมชน ธรรมศาลาเป็นสถานที่สำหรับการสอนและการนมัสการทางวิญญาณ เช่นเดียวกันกับโอกาสทางสังคมและการศึกษา เนื่องจากธรรมศาลาเป็นศูนย์กลางของสังคมชาวยิว การถูกขับออกจากธรรมศาลา … มีความหมายมากกว่าการได้รับปัพพาชนียกรรมและขาดสัมพันธภาพกับชุมชนทางศาสนา นี่หมายถึงการเนรเทศออกจากเรื่องทางวัฒนธรรมและสังคมด้วย การคุกคามนี้รุนแรงอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้บิดามารดาของชายที่เกิดมาตาบอดไม่ให้ยุ่งกับการสอบสวน [การรักษาของบุตรชายของพวกเขา] มากจนเกินไป ” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 230)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 24 ท่านคิดว่าชายที่หายเป็นปรกติคนนี้กำลังประสบกับความกดดันอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ข้อ 30–33 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่ชายคนนี้ตอบพวกฟาริสี และบอกนักเรียนว่างานแปลของโจเซฟสมิธ ยอห์น 9:32 เพิ่มข้อความว่า “ยกเว้นเขามาจากพระเจ้า” ที่ท้ายข้อ

  • ชายคนนี้ให้เหตุผลอะไรเพื่อปกป้องพระเยซู (ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำพูดของเขาใน ข้อ 33)

  • ชายคนนี้รู้อะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

ชี้ให้เห็นว่าชายคนนี้ถูกขับออกจากธรรมศาลาเพราะการปกป้องคนที่รักษาเขาอย่างไม่เกรงกลัว (ดู ข้อ 34)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดชายคนนี้จึงเต็มใจซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แม้นั่นจะหมายถึงการถูกขับออกจากธรรมศาลา

เตือนนักเรียนว่าหลังจากชายคนนี้ถูกขับออกจากธรรมศาลา พระผู้ช่วยให้รอดทรงพบเขาและถามว่าเขา “วางใจในบุตรมนุษย์” หรือไม่ (ข้อ 35) เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 19:36–38 ขอให้ชั้นเรียนมองหาคำตอบของชายคนนี้

  • เกิดอะไรขึ้นกับประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์ของชายคนนี้ (เขาได้รู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากชายคนนี้เกี่ยวกับการคงความชื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เรารู้ (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกันไป แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเราคงความชื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เรารู้ทั้งที่มีการต่อต้าน ประจักษ์พยานของเราจะเข้มแข็งขึ้น เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ยิ่งขึ้น เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง อีเธอร์ 12:6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เรายังคงซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเมื่อเราประสบกับการต่อต้านความเชื่อของเรา

  • ท่านคิดว่าเหตุใดประจักษ์พยานของเราจึงเข้มแข็งขึ้นหลังจากเราทนต่อการต่อต้านหรือการทดลองศรัทธาของเรา

  • ประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็งขึ้นเนื่องจากการต่อต้านอย่างไร

เพื่อช่วยให้นักเรียนระบุอีกหลักธรรมหนึ่งจากเรื่องราวนี้ ถามว่ามีนักเรียนกี่คนที่ใช้เลนส์แก้ไขสายตา (เช่นใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์)

  • เลนส์เหล่านี้ทำให้การมองเห็นของท่านเป็นอย่างไร

  • การมองเห็นทางกายภาพของชายคนนี้เป็นอย่างไรหลังจากพระเยซูทรงรักษาเขาหาย

  • การมองเห็นทางวิญญาณหรือความเข้าใจของชายคนนี้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 9:11, 17, 33 ในใจ โดยมองหาวลีที่บรรยายการมองเห็นหรือความเข้าใจของชายคนนี้ว่าพระเยซูคือใคร ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ (คำตอบของพวกเขาอาจรวมถึง “ชายคนหนึ่งชื่อเยซู” “ผู้เผยพระวจนะ” และชายที่ “มาจากพระเจ้า” เขียนวลีเหล่านี้บนกระดานและเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายในพระคัมภีร์ของพวกเขา)

  • ตามที่กล่าวไว้ในวลีเหล่านี้ เกิดอะไรขึ้นกับการมองเห็นทางวิญญาณของชายคนนี้ (การมองเห็นทางวิญญาณได้รับการแก้ไขหรือพัฒนา วลีเหล่านี้สะท้อนถึงการเติบโตของวุฒิภาวะและความเข้าใจทางวิญญาณของชายคนนี้เกี่ยวกับพระอัตลักษณ์ที่แท้จริงของพระเยซู)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการมองเห็นและความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดถึงชัดขึ้น (เขาใช้ศรัทธาโดยแน่วแน่ต่อสิ่งที่เขารู้)

ขอให้นักเรียนอ่าน ยอห์น 9:36–38 โดยมองหาว่าในที่สุดชายคนนี้มองเห็นพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

  • ในที่สุดชายคนนี้มองเห็นอะไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด (เขาตระหนักว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า)

  • การมองเห็นของชายคนนี้ถูกต้องเพียงใด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าประธานฮันเตอร์พูดว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายคนนี้

ภาพ
ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์

“เขาได้รับการรักษาให้มองเห็น สองครั้ง—ครั้งหนึ่งเพื่อรักษาข้อบกพร่องแต่กำเนิด [ข้อบกพร่องทางกายแต่กำเนิด] และอีกครั้งหนึ่งเพื่อมองเห็นพระมหากษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งหลายก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นไปยังบัลลังก์นิรันดร์ของพระองค์ พระเยซูทรงชุบชีวิตทั้งการมองเห็นทางโลก และ ทางวิญญาณ” (“The God That Doest Wonders,” Ensign, May 1989, 16–17)

  • การรักษาตาบอดทางกายภาพของชายคนนี้อาจหมายถึงการรักษาทางวิญญาณของเขาอย่างไร

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจากเรื่องนี้เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราเมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การมองเห็นทางวิญญาณและความเข้าใจของเราจะชัดเจนขึ้น เขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดาน)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการใช้ศรัทธาจึงจำเป็นต่อการเห็นและเข้าใจความจริงทางวิญญาณได้ชัดเจนขึ้น

อธิบายว่าพวกฟาริสีบางคนยืนอยู่ใกล้ๆ เมื่อชายคนนี้เห็นและนมัสการพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ยอห์น 9:39–41 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเกี่ยวกับการตาบอด

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนพวกฟาริสีว่าอย่างไร

อธิบายว่าเพื่อตอบคำถามพวกฟาริสีว่า “เราตาบอดด้วยหรือ?” (ข้อ 40) “พระผู้ช่วยให้รอดทรงใช้อุปลักษณ์สอนว่าคน ‘ตาบอด’—ซึ่งไม่รู้ว่าพระองค์คือใคร—‘จะไม่มีบาป’ (ยอห์น 9:41) ในทางตรงกันข้าม คนที่ ‘มองเห็น’— ผู้ที่ได้รับพยานมากพอเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระพันธกิจแห่งสวรรค์ของพระองค์ซึ่งพวกเขาน่าจะรู้อยู่ว่าพระองค์คือใคร—จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา พวกฟาริสีนี้อยู่ในบรรดาคนที่ ‘มองเห็น’ ดังนั้น ‘บาป [ของพวกเขา] ยังมีอยู่’ กล่าวในทางวิญญาณได้ว่า พวกเขาเลือกที่จะตาบอดเนื่องจากพวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับพระเยซูในฐานะพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า แม้พวกเขาได้รับพยานมากมาย” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่, 231)

เพื่อสรุป เชื้อเชิญให้นักเรียนมองดูหลักธรรมสองประการบนกระดานและไตร่ตรองว่าหลักธรรมใดที่พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาควร ประยุกต์ใช้ ในชีวิตพวกเขา (พวกเขาอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องประยุกต์ใช้หลักธรรมทั้งสอง) ให้เวลานักเรียนเขียนว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมนี้อย่างไรในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาสวดอ้อนวอนเพื่อรับการนำทางว่าจะทำสิ่งนี้อย่างไร

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ยอห์น 9:2 “ใครทำบาป คนนี้หรือพ่อแม่ของเขา เขาถึงเกิดมาตาบอด?”

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงรักษาชายตาบอดคนนี้ว่า

“จากการที่ทรงทำให้ชายขอทานตาบอดมองเห็นได้ พระเยซูทรงประกาศพระองค์ว่าทรงเป็น (1) ความสว่างของโลก และ (2) พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างน่าทึ่งและปฏิเสธไม่ได้ เหตุการณ์อื่นๆ นอกจากการกระทำของพระองค์แล้ว พระองค์ทรงยืนยันความเชื่อของสานุศิษย์ในเรื่องการดำรงอยู่ก่อน [มรรตัย] ทรงปฏิเสธความเชื่อของบางคนที่ว่าความพิการทางร่างกายเป็นผลมาจากการทำบาปก่อนชีวิตมรรตัย ทรงสอนว่างานของพระองค์เองได้รับมอบหมายจากพระบิดา ทรงยืนยันอีกครั้งว่าพระองค์ทรงเป็นผู้พิพากษาโลก และทรงสอนว่าการปฏิเสธความสว่างกับความจริงนำเอาการกล่าวโทษมาด้วย” (Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:479)

ยอห์น 9:8–38 เมื่อเราใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การมองเห็นทางวิญญาณและความเข้าใจของเราชัดเจนขึ้น

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“จงเชื่อและศรัทธาของท่านจะเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง ความรู้ของท่านเกี่ยวกับความจริงจะเพิ่มขึ้น ประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระผู้ไถ่ การฟื้นคืนชีวิต และการฟื้นฟูจะเป็นดัง ‘บ่อน้ำธำรงชีวิตอยู่ในเขา พุ่งขึ้นไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ’ [คพ. 63:23; ดู ยอห์น 4:14; เยเรมีย์ 2:13 ด้วย] จากนั้นท่านอาจรับการนำทางในการตัดสินใจที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน” (“Personal Revelation: The Gift, the Test, and the Promise,” Ensign, Nov. 1994, 61)

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

“จงใช้ศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด พากเพียรในการฟังคำแนะนำของพระองค์และเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ พระองค์จะประทานพรและนำท่านเมื่อท่านกำลังเดินผ่านโลกซึ่งบางครั้งไม่น่าไว้วางใจ

“ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงนำศาสนจักรของพระองค์ พระองค์ทรงรู้จักและทรงรักเราแต่ละคน เมื่อท่านดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังอย่างซื่อสัตย์ พระองค์จะประทานพรท่าน ดลใจท่าน และทรงนำท่านไปสู่ความรู้ความสามารถที่มากขึ้น ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระองค์ทรงพระชนม์” (“Acquiring Spiritual Knowledge,” Ensign, Nov. 1993, 88)

พิมพ์