คลังค้นคว้า
บทที่ 94: กิจการของอัครทูต 17


บทที่ 94

กิจการของอัครทูต 17

คำนำ

หลังจากออกจากเมืองฟีลิปปี เปาโลและสิลาสสอนพระกิตติคุณในเมืองเธสะโลนิกาและเมืองเบโรอา การข่มเหงจากคนที่ไม่เชื่อในเมืองเหล่านี้ทำให้เปาโลต้องหนีไปกรุงเอเธนส์ ที่นั่น บนเนินเขามาร์ส เขาสอนผู้คนเกี่ยวกับพระลักษณะที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 17:1–15

ชาวยิวบางคนในเมืองเธสะโลนิกาพยายามยับยั้งไม่ให้เปาโลสั่งสอนพระกิตติคุณ

เชื้อเชิญให้นักเรียนอธิบายว่าพวกเขาจะให้คำแนะนำอะไรแก่คนที่อยู่ในสถานการณ์ต่อไปนี้

  1. เยาวชนชายคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกของศาสนจักรฟังสมาชิกคนหนึ่งของโควรัมอัครสาวกสิบสองพูดเกี่ยวกับความสำคัญของการแต่งงานและครอบครัวในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ เพื่อนบางคนของเยาวชนชายคนนี้พูดว่าไม่เห็นด้วยกับคำสอนของอัครสาวก เยาวชนชายคนนี้ต้องการจะรู้ด้วยตัวเขาเองว่าคำสอนของอัครสาวกจริงหรือไม่

  2. เยาวชนหญิงคนหนึ่งสงสัยความสำคัญของการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อนของเธอส่วนใหญ่ใช้เวลาในวันอาทิตย์เพื่อซื้อของและนอน พวกเขาไม่สนใจที่จะไปโบสถ์ มารดาของเธออธิบายถึงพรที่จะมาจากการถวายเกียรติแด่พระเจ้าในวันอาทิตย์ แต่เยาวชนหญิงคนนี้ยังมีปัญหาในการเชื่อว่าการรักษาวันสะบาโตให้ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญ

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาหลักธรรมเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 17 ที่จะช่วยให้พวกเขารู้ด้วยตนเองถึงความเป็นจริงของข่าวสารที่เราได้รับจากผู้รับใช้ของพระเจ้า

อธิบายว่าเปาโลและสิลาสเดินทางไปเมืองเธสะโลนิกาซึ่งพวกเขาสอนชาวยิวในธรรมศาลา (ท่านอาจต้องการเชื้อเชิญให้นักเรียนหาว่าเมืองเธสะโลนิกาตั้งอยู่ที่ไหนในแผนที่พระคัมภีร์ไบเบิล แผนที่ 13 “เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาของอัครสาวกเปาโล”) เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 17:1–3 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลใช้สอนชาวยิว

  • เปาโลใช้อะไรสอนชาวยิว

อธิบายว่า พิสูจน์ (ข้อ 3) หมายถึงการแสดงหรือประกาศ เปาโลใช้ข้อความในพระคัมภีร์เพื่อประกาศหรือแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงเป็นพระคริสต์

เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 17:4–5 ขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าผู้คนในเมืองเธสะโลนิกาตอบสนองต่อคำสอนของเปาโลอย่างไร ท่านอาจต้องการอธิบายว่า เข้าร่วม หมายถึงมารวมหรือมาร่วมด้วยและคำว่า พาล หมายถึงชั่วร้าย

  • ผู้คนตอบสนองต่อคำสอนของเปาโลแตกต่างไปอย่างไร

สรุป กิจการของอัครทูต 17:6–9 โดยอธิบายว่ากลุ่มคนที่ไม่เชื่อพยายามหาเปาโลและสิลาส เมื่อพวกเขาหาไม่พบ คนกลุ่มนี้ไปที่คณะผู้ปกครองของเมืองเธสะโลนิกาและกล่าวหาว่าคำสอนของเปาโลฝ่าฝืนคำสั่งของซีซาร์

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 17:10–12 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าเปาโลและสิลาสหนีไปที่ใด เชื้อเชิญให้นักเรียนรายงานสิ่งที่พบ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 12 ชาวยิวในเมืองเบโรอาตอบสนองต่อคำสอนของเปาโลอย่างไร

ลอกสมการที่ไม่สมบูรณ์ต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

__________________________ + _____________________________ = ความเชื่อ

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 ผู้คนทำอะไรก่อน ซึ่งจากนั้นทำให้พวกเขาเชื่อคำสอนของเปาโล (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดานเป็นส่วนแรกของสมการ พวกเขายอมรับถ้อยคำของเปาโลด้วยความอยากรู้)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจความหมายของการ “[รับ] พระวจนะด้วยความอยากรู้” นำเอาลูกบอลหนึ่งลูกมาที่ชั้นเรียนและเชื้อเชิญนักเรียนสองคนออกมาที่หน้าชั้นเรียน ขอให้นักเรียนคนหนึ่งเตรียมพร้อมรับลูกบอล และบอกอีกคนหนึ่งให้โยนลูกบอลไปหานักเรียนคนแรก หลังจากนั้น ถามชั้นเรียนว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่านักเรียนคนแรกพร้อมรับลูกบอล

จากนั้น เชื้อเชิญให้นักเรียนคนแรกแสดงให้เห็นว่า ไม่ พร้อมรับลูกบอลและยืนอยู่อย่างนั้นขณะที่นักเรียนอีกคนหนึ่งโยนบอลอีกครั้ง ขอให้นักเรียนอีกคนโยนลูกบอล (ระวังอย่าให้เกิดการบาดเจ็บ) ถามชั้นเรียนว่าพวกเขารู้ได้อย่างไรว่านักเรียนคนแรกไม่พร้อมรับลูกบอล เชิญนักเรียนทั้งสองคนกลับไปนั่งที่

เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนแสดงให้เห็นว่าการพร้อมรับคำของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าน่าจะมีท่าทางอย่างไร จากนั้นขอให้พวกเขาแสดงให้เห็นว่าหากบางคน ไม่ พร้อมรับคำของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าน่าจะมีท่าทางอย่างไร (ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจปิดพระคัมภีร์ของพวกเขา พูดกับเพื่อนข้างๆ หรือสนใจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)

  • นอกจากการแสดงออกภายนอกของเขาแล้ว อาจมีอะไรเกิดขึ้นในใจหรือความคิดของบางคนที่พร้อมรับข่าวสารพระกิตติคุณ

ดึงความสนใจของนักเรียนไปที่ช่องว่างที่สองในสมการบนกระดาน

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 ผู้คนทำอะไรอีกที่ทำให้พวกเขาเชื่อคำสอนของเปาโล (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนข้อต่อไปนี้เป็นส่วนที่สองของสมการบนกระดาน พวกเขาค้นดูพระคัมภีร์ทุกวันเพื่อเข้าใจคำของเปาโล)

  • เราสามารถเรียนรู้หลักธรรมอะไรจาก กิจการของอัครทูต 17:10–12 ที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อของเราในคำของผู้รับใช้ของพระเจ้า (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุหลักธรรมต่อไปนี้ หากเรารับคำของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าด้วยความอยากรู้และค้นดูพระคัมภีร์ทุกวัน ความเชื่อในคำของพวกเขาจะมีพลังมากขึ้น)

ทบทวนสถานการณ์ที่บรรยายไว้เมื่อเริ่มบทเรียน

  • หลักธรรมนี้อาจช่วยผู้คนในสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร

  • การศึกษาพระคัมภีร์ทุกวันจะมีอิทธิพลต่อความสามารถของเราในการเชื่อความจริงในทางใดบ้าง

เชื้อเชิญให้นักเรียนนึกถึงช่วงเวลาที่พวกเขาเห็นความเป็นจริงของหลักธรรมนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันประสบการณ์ของพวกเขา

กระตุ้นให้นักเรียนรับคำของศาสดาพยากรณ์ ผู้นำ ครู และบิดามารดาด้วย “ความอยากรู้” และอ่านพระคัมภีร์ทุกวัน

สรุป กิจการของอัครทูต 17:13–15 โดยอธิบายว่าเมื่อชาวยิวในเมืองเธสะโลนิกาได้ยินว่าเปาโลกำลังสั่งสอนในเมืองเบโรอา พวกเขาจึงมายุยงผู้คนของเมืองเบโรอา เปาโลต้องหนีอีกครั้ง เขาจึงเดินทางไปกรุงเอเธนส์

กิจการของอัครทูต 17:16–34

เปาโลสั่งสอนบนเนินเขามาร์ส

เชื้อเชิญนักเรียนเปิดไปที่ภาพถ่ายในพระคัมภีร์ไบเบิล ภาพถ่าย 29 “เอเธนส์” ในคู่มือพระคัมภีร์ ชี้ให้เห็นว่าภาพนี้แสดงให้เห็นหนึ่งในพระวิหารหลายแห่งในกรุงเอเธนส์ที่ใช้นมัสการพระเจ้าปลอม ในพระวิหารเหล่านี้มีรูปปั้นพระเจ้าเหล่านี้ที่มนุษย์ทำขึ้น ข้างนอกเป็นแท่นบูชาสำหรับนำเครื่องพลีบูชามาถวายพระเจ้าปลอมเหล่านี้

สรุป กิจการของอัครทูต 17:16–21 โดยอธิบายว่าเปาโลกังวลใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการนับถือรูปเคารพในกรุงเอเธนส์ะเขาสอนในธรรมศาลาและบริเวณตลาดนัดที่นั่น จากนั้นปรัชญาเมธีจึงเชิญเปาโลให้อธิบาย “คำสอนใหม่” ของเขา (ข้อ 19) แก่สภาศาลซึ่งพบกันบนเนินเขามาร์ส

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 17:22–23 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เปาโลสังเกตเห็นบนแท่นหนึ่งของชาวเอเธนส์

  • เปาโลเห็นอะไรบนแท่นหนึ่งของชาวเอเธนส์

อธิบายว่า ข้อ 22 บันทึกว่าเปาโลชมชาวเอเธนส์โดยพูดว่าพวกเขา “เคร่งศาสนา” หมายความว่าพวกเขา “เลื่อมใสศรัทธาศาสนามาก” หรือ “ระมัดระวังในเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์” แท่น “แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก” (ข้อ 23) เป็นความพยายามของชาวเอเธนส์ที่จะเอาใจพระเจ้าที่ไม่รู้จักหรือพระเจ้าองค์ใดก็ตามที่พวกเขาไม่รู้จักชื่อ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาไม่อยากทำให้พระเจ้าองค์ใดไม่พอใจหรือละเลยองค์ใด

ชี้ให้เห็นประโยคสุดท้ายของ กิจการของอัครทูต 17:23 ถามว่า

  • เหตุใดเปาโลจึงพูดถึงแท่น “แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก” นี้ (เขาใช้แท่นนี้เพื่อแนะนำแนวคิดเรื่องพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริง พระบิดาบนสวรรค์ พระผู้เป็นเจ้าที่พวกเขาไม่รู้จัก)

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่หรือกลุ่มเล็กๆ เชื้อเชิญให้แต่ละกลุ่มค้นคว้าใน กิจการของอัครทูต 17:24–31 เพื่อหาความจริงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าที่ชาวเอเธนส์ไม่รู้จัก ขณะที่พวกเขาศึกษา ให้เขียนหมายเลขข้อ (24–31) บนกระดาน หลังจากให้เวลามากพอแล้ว เชิญนักเรียนหลายๆ คนออกมาที่กระดานและเขียนความจริงข้อหนึ่งที่พวกเขาพบหลังหมายเลขข้อที่พวกเขาพบความจริงนั้น (เพื่อช่วยนักเรียนระบุความจริงใน กิจการของอัครทูต 17:27 อธิบายว่างานแปลของโจเซฟ สมิธในข้อนี้อ่านว่า “พวกเขาควรแสวงหาพระเจ้า หากพวกเขาเต็มใจจะพบพระองค์ เพราะพระองค์ไม่ทรงอยู่ห่างไกลจากเราทุกคนเลย” )

ท่านอาจเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายที่ความจริงแต่ละข้อในพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย ความจริงบางข้อที่พวกเขาเขียนบนกระดานอาจมีดังนี้

  • ข้อ 24: พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างโลก

  • ข้อ 25: พระผู้เป็นเจ้าประทานชีวิตแก่ทุกสิ่ง

  • ข้อ 26: พระผู้เป็นเจ้าทรงปกครองทุกชีวิต

  • ข้อ 27: หากเราเต็มใจแสวงหาพระผู้เป็นเจ้า เราจะพบว่าพระองค์ไม่ทรงอยู่ห่างไกลจากเรา

  • ข้อ 28: เราเป็นเชื้อสายของพระผู้เป็นเจ้า

  • ข้อ 29: พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างเราในรูปลักษณ์ของพระองค์

  • ข้อ 30: พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาทุกคนให้กลับใจ

  • ข้อ 31: พระผู้เป็นเจ้าจะทรงพิพากษาเรา; พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้ทุกคนเป็นขึ้นจากตาย

เชื้อเชิญให้นักเรียนเลือกความจริงหนึ่งข้อบนกระดานที่มีความหมายสำหรับพวกเขา ขอให้พวกเขาสองสามคนแบ่งปันว่าความจริงใดที่พวกเขาเลือกและทำไมจึงมีความหมายต่อพวกเขา

ให้พูดถึง หลักคำสอน “เราเป็นเชื้อสายของพระผู้เป็นเจ้า”

  • “เชื้อสาย”ของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร (เราคือบุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์)

  • เหตุใดจึงสำคัญมากที่ต้องเข้าใจหลักคำสอนนี้ (การตระหนักถึงคุณค่านิรันดร์ของเราต่อพระบิดาบนสวรรค์และศักยภาพของเราในการเป็นเหมือนพระองค์สามารถช่วยเราได้)

  • ปัญหาหรือความสับสนใดอาจเกิดขึ้นเนื่องจากไม่เข้าใจหลักคำสอนนี้

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้ชั้นเรียนฟังว่าเหตุใดเราจึงต้องมองตัวเราเองเป็นอันดับแรกและสำคัญที่สุดว่าเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“จงระวังวิธีที่จะบอกลักษณะตัวท่านเอง อย่าบอกลักษณะหรือนิยามตัวท่านเองโดยใช้คุณสมบัติทางโลก คุณสมบัติ เดียว ที่ควรบอกลักษณะของเราคือเราเป็นบุตรหรือธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ข้อเท็จจริงนั้นอยู่เหนือลักษณะอื่นทั้งปวง รวมถึงเชื้อชาติ อาชีพ ลักษณะทางร่างกาย เกียรติ หรือศาสนา” (How to Define Yourself, June 2013, 48)

  • เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องจดจำเป็นอันดับแรกและสำคัญที่สุดว่าเราคือบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

ให้พูดถึงหลักธรรมนี้ “หากเราเต็มใจแสวงหาพระผู้เป็นเจ้า เราจะพบว่าพระองค์ไม่ทรงอยู่ห่างไกลจากเรา”

  • เราจะพยายามรู้จักและเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นในทางใดได้บ้าง

  • ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าส่งผลต่อความปรารถนาที่เราจะแสวงหาพระองค์อย่างไร

  • ท่านเคย รู้สึก ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงอยู่ใกล้ท่านเมื่อใด

สรุป กิจการของอัครทูต 17:32–34 โดยอธิบายว่าชาวเอเธนส์มีปฏิกิริยาต่างกันไปเมื่อเปาโลกล่าวถึง “เรื่องการเป็นขึ้นจากตาย” (ข้อ 32) บางคนเยาะเย้ยเปาโล บางคนอยากฟังมากขึ้น และบางคนเชื่อ

ท่านอาจต้องการเป็นพยานว่านักเรียนสามารถรู้และเข้าใจพระผู้เป็นเจ้า ถึงแม้คนมากมายไม่รู้จักพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียน แด่พระเจ้าที่รู้จัก บนแผ่นกระดาษหรือบัตรและเขียนวิธีการต่างๆ ที่พวกเขาจะแสวงหาและพัฒนาสัมพันธภาพกับพระผู้เป็นเจ้า กระตุ้นให้พวกเขาวางกระดาษแผ่นนี้ไว้ในที่ซึ่งจะเตือนพวกเขาเกี่ยวกับเป้าหมายของตนเอง

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 17:18 พวกเอปิคูเรียนและพวกสโตอิก

“ในกรุงเอเธนส์ เปาโลเผชิญหน้ากับปรัชญาเมธีชาวเอปิคูเรียนและชาวสโตอิก (ดู กิจการของอัครทูต 17:18) ชาวเอปิคูเรียนได้รับการขนานนามตามเอปิคูรัส (341–270 ปีก่อนคริสตกาล) จากปรัชญาของเขา โลกเกิดขึ้นโดยบังเอิญและไม่มีจุดประสงค์หรือการออกแบบ ชาวเอปิคูเรียนเชื่อว่าบรรดาพระเจ้า หากมีอยู่จริง จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ความสุขนั้นพบได้หากปราศจากความกังวลและความเจ็บปวดความรื่นรมย์ที่เกิดจากความพึงพอใจต้องอยู่ในความพอดี

“ลัทธิสโตอิกเริ่มจากการสอนของชายที่ชื่อซีโน (333–264 ปีก่อนคริสตกาล) ลัทธิสโตอิกเชื่อว่าทุกสิ่งได้รับการสร้าง จัดระเบียบ และเคลื่อนที่โดยเหตุผลจากสวรรค์ ชาวสโตอิกเชื่อว่ามนุษย์ได้รับการจุดประกายความคิดในด้านเหตุผลและควรแสวงหาความสอดคล้องกับระเบียบจากสวรรค์ของสิ่งต่างๆ เอาชนะตัณหา ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงและมีศีลธรรม” (ดู คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 315–16; ดู also Bible Dictionary, Epicureans,Stoics)

กิจการของอัครทูต 17:11 “พวกเขารับพระวจนะด้วยความอยากรู้”

ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนดังนี้

“ยิ่งเรามีใจและความคิดเอนเอียงไปทางพระเจ้ามากขึ้นเท่าไร แสงจากสวรรค์จะกลั่นลงมาในจิตวิญญาณเรามากขึ้นเท่านั้น แต่ละครั้งที่เราแสวงหาแสงสว่างนั้นอย่างเต็มใจและจริงจัง เราทำให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบถึงความพร้อมในการรับแสงสว่างมากขึ้น ในที่สุด สิ่งต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนเลือนราง มืดมน และห่างไกลกลับกลายเป็นกระจ่าง สดใส และใกล้ชิดเรา” (“การได้รับประจักษ์พยานถึงแสงสว่างและความจริง ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 22)

พิมพ์