คลังค้นคว้า
บทที่ 92: กิจการของอัครทูต 15


บทที่ 92

กิจการของอัครทูต 15

คำนำ

สมาชิกศาสนจักรบางคนจากแคว้นยูเดียบอกผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติในเมืองอันทิโอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าสุหนัตเพื่อได้รับความรอด เปาโลและบารนาบัสนำเอาปัญหานี้ไปปรึกษาอัครสาวกในกรุงเยรูซาเล็ม ระหว่างเหตุการณ์ที่เรียกว่าการประชุมในกรุงเยรูซาเล็ม (ประมาณ ค.ศ. 49–50) เปโตรเป็นพยานว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยชาวยิวและคนต่างชาติให้รอด ไม่ว่าเขาจะเข้าสุหนัตหรือไม่ อัครสาวกส่งจดหมายไปถึงสมาชิกศาสนจักรเพื่ออธิบายว่าการเข้าสุหนัตไม่จำเป็นสำหรับความรอด เปาโลเลือกสิลาสเป็นคู่ผู้สอนศาสนาของท่านและเริ่มงานเผยแผ่ครั้งที่สอง

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

กิจการของอัครทูต 15:1–29

โดยผ่านคำแนะนำที่ได้รับการดลใจ เปโตรและอัครสาวกคนอื่นๆ พิจารณาว่าการเข้าสุหนัตไม่ได้เป็นข้อกำหนดจากพระเจ้าอีกต่อไป

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนรายการบนกระดานเกี่ยวกับการตัดสินใจหลายๆ อย่างที่พวกเขาต้องทำเวลานี้และในอนาคต

  • ท่านจะคุยกับใครเมื่อท่านจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ เหตุใดท่านจึงคุยกับพวกเขา

  • เหตุใดจึงเป็นการฉลาดที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าก่อนตัดสินใจ

เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาความจริงเมื่อพวกเขาศึกษา กิจการของอัครทูต 15 ที่จะช่วยนำทางพวกเขาได้เมื่อพวกเขาพยายามรู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่มีไว้สำหรับพวกเขา

อธิบายว่าขณะที่เปาโลและบารนาบัสกำลังไปเยือนวิสุทธิชนในเมืองอันทิโอก ชาวยิวบางคนจากแคว้นยูเดียที่ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่ศาสนาคริสต์ได้กล่าวอ้างว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติจำเป็นต้องทำบางอย่างเพื่อได้รับความรอด

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 15:1 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าชายเหล่านี้จากแคว้นยูเดียอ้างว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติต้องทำอะไรเพื่อได้รับความรอด

  • ชายเหล่านี้อ้างว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติต้องทำอะไรเพื่อได้รับความรอด

อธิบายว่าในส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่ทำกับอับราฮัม พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาว่าชายทุกคนที่เข้าสู่พันธสัญญากับพระองค์ต้องเข้าสุหนัต “การเข้าสุหนัตกระทำโดยการตัด ‘หนังหุ้มปลายองคชาต’ ของเพศชายทั้งทารกและผู้ใหญ่” (คู่มือพระคัมภีร์, “เข้าสุหนัต,” scriptures.lds.org) การเข้าสุหนัตจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหมายสำคัญหรือการเตือนถึงพันธสัญญาที่ผู้คนทำกับพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 15:2–3 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเปาโลและบารนาบัสได้ยินชายเหล่านี้อ้างว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติต้องเข้าสุหนัต

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 เกิดอะไรขึ้นเมื่อชายเหล่านี้บอกว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติจำเป็นต้องเข้าสุหนัต

  • สมาชิกศาสนจักรในเมืองอันทิโอกตัดสินใจว่าต้องทำอะไร

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 15:4–6 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเปาโลและคนอื่นๆ มาถึงกรุงเยรูซาเล็ม

  • หลังจากเปาโลและบารนาบัสเล่าถึงประสบการณ์การแบ่งปันพระกิตติคุณกับคนต่างชาติ พวกฟาริสีที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสบางคนเชื่อว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติจำเป็นต้องทำอะไรเพื่อได้รับความรอด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6 บรรดาอัครสาวกและผู้ปกครองมาประชุมกันเพื่อทำอะไร

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บนกระดานหรือทำเป็น เอกสารแจกให้นักเรียน

ภาพ
เอกสารแจก

กิจการของอัครทูต 15:7–11

คู่มือครูเซมินารี พันธสัญญาใหม่—บทที่ 92

  1. ใครยืนขึ้นพูด

  2. ท่านคิดว่าเปโตรหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขากล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้า “ไม่ทรงถือเรา [ชาวยิวที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส] ถือเขา [ชาวต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใส]”

  3. วลีใดบ้างใน ข้อ 8, 9, และ 11 ที่ระบุว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตเพื่อได้รับความรอด

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นคู่ๆ เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน กิจการของอัครทูต 15:7–11 กับคู่ของพวกเขา โดยมองหาคำตอบของคำถามที่เขียนไว้ ก่อนที่พวกเขาจะอ่าน ให้อธิบายว่าวลี “เมื่อถกเถียงกันมากแล้ว” ใน ข้อ 7 หมายความว่าบรรดาอัครสาวกได้อภิปรายกันอย่างเข้มข้นในเรื่องการเข้าสุหนัต

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขากับชั้นเรียน หลังจากนักเรียนตอบคำถามแรก เตือนพวกเขาว่าเปโตรเป็นอัครสาวกอาวุโสบนแผ่นดินโลก ดังนั้นจึงเป็นผู้มีสิทธิอำนาจพูดแทนพระเจ้า

  • วิธีหนึ่งที่เราสามารถรู้พระประสงค์ของพระเจ้าคืออะไร (นักเรียนควรระบุความจริงทำนองนี้ เราสามารถรู้พระประสงค์ของพระเจ้าผ่านศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ของพระองค์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

  • อัครสาวกที่มีชีวิตอยู่ช่วยให้เรารู้การเปิดเผยต่างๆ ที่พวกท่านได้รับในวิธีใดบ้าง

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 15:12–15 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าฝูงชนตอบสนองอย่างไรต่อคำประกาศของเปโตรว่าการเข้าสุหนัตไม่จำเป็นสำหรับความรอด

  • ผู้คนตอบสนองอย่างไรต่อคำประกาศของเปโตร

  • เปาโลและบารนาบัสทำอะไรเพื่อยืนยันคำประกาศของเปโตรว่าคนต่างชาติไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัต

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 15 ยากอบบอกว่าคำประกาศของเปโตร (สิเมโอน) สอดคล้องกับคำของใคร

ท่านอาจต้องการอธิบายว่าเปโตรควบคุมการประชุมและดูเหมือนว่ายากอบมีบทบาทเด่นที่นั่นเช่นกัน ยากอบเป็นน้องชายต่างมารดาของพระเยซูคริสต์และเป็นอธิการคนแรกของศาสนจักรในกรุงเยรูซาเล็ม สรุป กิจการของอัครทูต 15:16–18 โดยอธิบายว่ายากอบพูดถึง อาโมส 9:11–12 เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำประกาศของเปโตรสอดคล้องกับคำของผู้เผยพระวจนะดังที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์

  • ตามที่ยากอบสอน อีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถรู้พระประสงค์ของพระเจ้าคืออะไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกันแต่ควรระบุความจริงทำนองนี้ เราสามารถรู้พระประสงค์ของพระเจ้าผ่านการศึกษาพระคัมภีร์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 15:19–20 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ยากอบแนะนำให้ผู้นำศาสนจักรทำ อธิบายว่าคำว่า ความเห็น ใน ข้อ 19 หมายถึงแนวทางหรือข้อชี้แนะ (ดู บรูซ อาร์. แมคคองกี, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 2:143)

  • ยากอบแนะนำให้ผู้นำศาสนจักรทำอะไรให้คนต่างชาติ (ยากอบแนะนำผู้นำศาสนจักรไม่ให้ “เพิ่มความยุ่งยากแก่คนต่างชาติ” [ข้อ 19] หรือไม่ทำให้การดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณยากขึ้นสำหรับคนต่างชาติ และไม่เรียกร้องให้พวกเขาทำพิธีกรรมตามกฎของโมเสสก่อนเข้าร่วมศาสนจักร ในการพูดเช่นนี้ ยากอบกำลังสนับสนุนการตัดสินใจที่เปโตรให้ไว้ก่อนหน้านั้น)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 20 กฎของโมเสสส่วนใดที่ยากอบคิดว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวต่างชาติยังจำเป็นต้องรักษาอยู่ (การงดเว้นจากการล่วงประเวณีที่เป็นบาป การกินเนื้อสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องพลีบูชารูปเคารพ และการกินเลือด)

เชื้อเชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก กิจการของอัครทูต 15:22–27 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาการตัดสินใจของสภา

  • อัครสาวกตัดสินใจทำอะไร (ส่งสาส์นไปถึงสมาชิกศาสนจักรโดยประกาศว่าการเข้าสุหนัตไม่ได้เป็นข้อกำหนดสำหรับความรอด)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดอัครสาวกจึงตัดสินใจส่งผู้นำศาสนจักรเช่นเปาโลและสิลาสไปส่งสาส์น (นักเรียนอาจมีหลายคำตอบ แต่หนึ่งเหตุผลคือเพื่อเป็นการยืนยันว่าคำประกาศมาจากการตัดสินใจที่เป็นหนึ่งเดียวกันของอัครสาวก ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองทำตามการถือปฏิบัติแบบเดียวกันนี้ในสมัยของเราเพื่อให้สมาชิกศาสนจักรมีแนวทางที่มาจากการดลใจ)

  • เราสามารถเรียนรู้ความจริงอะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีที่ผู้นำศาสนจักรได้รับการดลใจเกี่ยวกับปัญหาที่ยาก (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้เขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน โดยการปรึกษากันและแสวงหาการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้นำศาสนจักรได้รับการดลใจเกี่ยวกับปัญหาที่ยาก)

เพื่อให้นักเรียนเข้าใจ หลักธรรม ว่าความจริงนี้เกี่ยวข้องกับศาสนจักรในปัจจุบันอย่างไร เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“ปัจจุบันแบบแผนเดียวกันนี้ดำเนินอยู่ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ประธานศาสนจักรอาจประกาศหรือตีความหลักคำสอนตามการเปิดเผยที่ท่านได้รับ (ดู ตัวอย่าง คพ. 138) การอรรถาธิบายหลักคำสอนอาจมาโดยผ่านสภาร่วมของฝ่ายประธานสูงสุดกับโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ดู ตัวอย่าง ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2) ข้อหารือในสภามักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระคัมภีร์มาตรฐาน คำสอนของผู้นำศาสนจักร ตลอดจนวิธีปฏิบัติในอดีต แต่ท้ายที่สุด เฉกเช่นในศาสนจักรสมัยพันธสัญญาใหม่ วัตถุประสงค์มิได้อยู่ที่ความเป็นเอกฉันท์ในบรรดาสมาชิกสภาเท่านั้นแต่อยู่ที่การเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย นั่นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเหตุผลและศรัทธาเพื่อทราบถึงพระดำริและพระประสงค์ของพระเจ้า” (“หลักคำสอนของพระคริสต์” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 88)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่ผู้นำศาสนจักรต้องต้องปรึกษากันบ่อยๆ เมื่อแสวงหาการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง กิจการของอัครทูต 15:28–29 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาสิ่งที่อัครสาวกและบรรดาผู้ปกครองเขียนในสาส์นถึงสมาชิกศาสนจักร

  • อัครสาวกและบรรดาผู้ปกครองเขียนอะไรในสาส์นถึงสมาชิกศาสนจักร

  • ใน ข้อ 28 วลี “ไม่วางภาระบนพวกท่านเว้นแต่สิ่งต่างๆ ที่จำเป็น” หมายความว่าอย่างไร (ผู้คนไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังข้อกำหนดเพิ่มเติมใดๆ ที่มาจากคนและไม่ได้มาจากพระผู้เป็นเจ้า)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 28 อัครสาวกรู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับคนต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสได้อย่างไร

ชี้ให้เห็นว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ดลใจอัครสาวกเมื่อพวกเขาปรึกษากัน พระองค์ประทานพยานยืนยันเช่นกันว่าการตัดสินใจของพวกเขาถูกต้อง

  • จากวิธีที่ผู้นำศาสนจักรรู้พระประสงค์ของพระเจ้าดังที่บันทึกไว้ใน ข้อ 28 เราสามารถรู้พระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจว่า เราสามารถรู้พระประสงค์ของพระเจ้าผ่านการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขียนความจริงนี้ไว้บนกระดาน)

เชื้อเชิญให้นักเรียนดูความจริงต่างๆ บนกระดาน

  • ความจริงเหล่านี้ช่วยเราได้อย่างไรเมื่อเราจำเป็นต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ

  • จากความจริงเหล่านี้ เราต้องทำอะไรเพื่อจะรู้พระประสงค์ของพระเจ้า

  • ท่านเคยรู้สึกว่าท่านรู้พระประสงค์ของพระเจ้าเมื่อท่านทำตามความจริงเหล่านี้เมื่อใด

กระตุ้นให้นักเรียนศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ในปัจจุบันและพระคัมภีร์ อธิบายว่าเมื่อพวกเขาทำเช่นนั้น พวกเขาจะรู้พระประสงค์ของพระเจ้าผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ

กิจการของอัครทูต 15:30–41

เปาโลและคนอื่นๆ ส่งสาส์นของอัครสาวกไปให้สมาชิกในเมืองอันทิโอก

สรุป กิจการของอัครทูต 15:30–41 โดยอธิบายว่าผู้นำศาสนจักรหลายคนส่งสาส์นของอัครสาวกไปให้สมาชิกในเมืองอันทิโอก หลังจากสั่งสอนในเมืองอันทิโอก เปาโลขอให้บารนาบัสไปกับเขาเพื่อเยี่ยมทุกแห่งที่พวกเขาเคยสั่งสอนพระกิตติคุณ บารนาบัสต้องการพามาระโกไปกับพวกเขา แต่เปาโลปฏิเสธ หลังจากมีการขัดแย้งบ้างระหว่างผู้นำศาสนจักรทั้งสอง บารนาบัสตัดสินใจพามาระโกไปกับเขา เปาโลจึงเลือกสิลาสเป็นคู่เผยแผ่ศาสนาและออกไปทำงานเผยแผ่ศาสนาครั้งที่สอง อธิบายว่าการไม่เห็นด้วยกับคนอื่นไม่ถือเป็นบาป อย่างไรก็ตาม แทนที่จะขัดแย้งกัน เราควรแสวงหาทางออกของความไม่ลงรอยกันของเรา (เราเรียนรู้ใน 2 ทิโมธี 4:11 ว่าปัญหาระหว่างเปาโลและมาระโกได้รับการแก้ไขในภายหลัง)

สรุปโดยเป็นพยานถึงความจริงที่นักเรียนระบุใน กิจการของอัครทูต 15

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

กิจการของอัครทูต 15:6 “บรรดาอัครทูตกับบรรดาผู้ปกครองจึงประชุมปรึกษากันในเรื่องนี้”

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยพระประสงค์ต่อศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

“พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยพระประสงค์และหลักคำสอนต่อศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยอย่างไร พระองค์อาจทรงใช้ผู้ส่งสารหรือทรงกระทำด้วยพระองค์เอง พระองค์อาจตรัสด้วยสุรเสียงของพระองค์หรือเสียงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์—อันเป็นการสื่อสารระหว่างพระวิญญาณกับวิญญาณซึ่งอาจแสดงออกในคำพูดหรือความรู้สึกที่สื่อความเข้าใจได้ยิ่งกว่าคำพูด (ดู 1 นีไฟ 17:45; คพ. 9:8) พระองค์อาจทรงสื่อสารกับผู้รับใช้ของพระองค์โดยตรงหรือกระทำในสภา (ดู 3 นีไฟ 27:1–8)” (หลักคำสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา,พ.ค. 2012, 87)

กิจการของอัครทูต 15:6–11 เปโตรประกาศพระดำริของพระเจ้าหลังจากอัครสาวกปรึกษากัน

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนเกี่ยวกับการตัดสินใจของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองดังนี้

“ไม่มีการตัดสินใจออกมาจากการปรึกษาหารือของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองหากปราศจากความเป็นเอกฉันท์ในบรรดาทุกคนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเริ่มพิจารณาเรื่องต่างๆ อาจมีความเห็นต่างกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน บุรุษเหล่านี้มาจากภูมิหลังต่างกัน พวกท่านเป็นคนที่คิดด้วยตนเอง แต่ก่อนการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ต้องมีความคิดและเสียงเป็นเอกฉันท์

“นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าจะทำตามพระวจนะที่พระเจ้าทรงเปิดเผย ข้าพเจ้าอ้างจากการเปิดเผยดังนี้

“‘คำตัดสินของโควรัมเหล่านี้, หรือโควรัมใดก็ตามในโควรัมเหล่านี้, ต้องกระทำในความชอบธรรมทั้งมวล, ในความบริสุทธิ์, และความนอบน้อมแห่งใจ, ความอ่อนโยนและความอดกลั้น, และในศรัทธา, และคุณธรรม, และความรู้, ความยับยั้งตน, ความอดทน, ความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า, ความกรุณาฉันพี่น้องและจิตกุศล;

“‘เพราะสัญญาคือ, หากสิ่งเหล่านี้มีมากมายในพวกเขา พวกเขาจะไม่ไร้ผลในความรู้เรื่องพระเจ้า’ (คพ. 107:30–31)

“ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมโดยใช้ประจักษ์พยานส่วนตัวว่าระหว่างระยะเวลายี่สิบปีที่ข้าพเจ้ารับใช้เป็นสมาชิกสภาอัครสาวกสิบสอง และอีกเกือบสิบสามปีที่ข้าพเจ้ารับใช้ในฝ่ายประธานสูงสุด เรื่องสำคัญทุกเรื่องไม่เคยดำเนินการโดยไม่มีการออกความเห็น ข้าพเจ้าเคยเห็นความคิดเห็นที่ต่างกันในการปรึกษาหารือ จะมีการกลั่นกรองและประเมินความเห็นตลอดจนแนวคิดที่ได้จากกระบวนการนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงหรือความเป็นปฏิปักษ์ในบรรดาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่เรื่องสวยงามและน่าทึ่ง—เห็นทัศนะหลากหลายที่ออกมาภายใต้อิทธิพลนำทางของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์และภายใต้พลังของการเปิดเผยจนเกิดความปรองดองและความเห็นพ้องต้องกันอย่างสมบูรณ์ ในตอนนั้นเท่านั้นที่การนำไปปฏิบัติได้เกิดขึ้น ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า นั่นแสดงให้เห็นถึงวิญญาณแห่งการเปิดเผยที่แสดงให้ประจักษ์ครั้งแล้วครั้งเล่าในการกำกับดูแลงานนี้ งานของพระเจ้า” (God Is at the Helm, May 1994, 59)

กิจการของอัครทูต 15:20 “สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการกินเลือด”

“เนื่องจากกฎของโมเสสห้ามการกินเลือด (ดู เลวีนิติ 3:17; 17:10–14; 19:26) คำแนะนำของยากอบให้ยกเว้นจาก ‘สัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และจากการกินเลือด’ อาจหมายถึงการหลีกเลี่ยงการทำให้ชาวยิวขุ่นเคืองใจและจะขัดขวางงานเผยแผ่ศาสนาท่ามกลางพวกเขา” (คู่มือนักเรียน พันธสัญญาใหม่ [คู่มือของระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2014], 309)

พิมพ์