บทที่ 32
มัทธิว 27:1–50
คำนำ
ในส่วนหนึ่งของการสมคบคิดจะสังหารพระเยซูคริสต์ ผู้นำชาวยิวนำพระเยซูไปหาปีลาตเจ้าเมือง ผู้ปกครองชาวโรมัน ปีลาตปล่อยให้พระเยซูถูกโบยตีและตรึงกางเขน พระเยซูทรงยอมรับทุกขเวทนาและความตายเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระบิดาเกิดสัมฤทธิผล
ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน
มัทธิว 27:1–25
พระเยซูถูกส่งไปหาปีลาตเพื่อรับการลงโทษให้ตรึงไว้ที่กางเขน
ขอให้นักเรียนพิจารณาคำถามต่อไปนี้
-
ถ้าท่านสามารถเห็นเหตุการณ์จากพระคัมภีร์เหตุการณ์หนึ่ง ท่านจะเลือกเหตุการณ์ใด
เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา อธิบายว่าระหว่างบทเรียนนี้ นักเรียนจะศึกษาหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก เชื้อเชิญให้นักเรียนจินตนาการว่าได้เห็นกับตาในสิ่งที่เกิดขึ้น
เขียนข้อความที่ไม่ครบถ้วนต่อไปนี้บนกระดาน วันนี้ฉันเห็นและรู้สึก …
พูดถึงข้อความที่ไม่ครบถ้วนบนกระดาน และอธิบายว่านักเรียนจะมีโอกาสเติมข้อความให้ครบถ้วนในท้ายบทเรียนตามสิ่งที่พวกเขาประสบระหว่างการศึกษา มัทธิว 27:1–50
เตือนนักเรียนว่าเมื่อพระเยซูทรงถูกจับกุม “แล้วสาวกทั้งหมดก็ละทิ้งพระองค์ และพากันหนีไป” (มัทธิว 26:56) คายาฟาส มหาปุโรหิตและสภายิวจับกุมพระเยซูด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระเจ้า—อาชญากรรมที่มีโทษถึงตายภายใต้กฎหมายของชาวยิว อย่างไรก็ดี ภายใต้กฎของโรมัน ชาวยิวไม่มีอำนาจที่จะประหารใครเนื่องจากการหมิ่นประมาท ดังนั้น ผู้นำชาวยิวพยายามหาข้อกล่าวหาภายใต้กฎหมายโรมันเพื่อพระเยซูจะถูกลงโทษถึงตาย
สรุป มัทธิว 27:1–10 โดยอธิบายว่าผู้นำชาวยิวส่งพระเยซูไปหาปีลาตเจ้าเมือง ผู้ปกครองชาวโรมันของแคว้นยูเดีย เมื่อยูดาสเห็นเหตุการณ์นี้ เขารู้สึกเสียใจที่เลือกทรยศพระเยซู เขาพยายามนำเงินที่ได้รับจากผู้นำชาวยิวไปคืน และหลังจากนั้นจึงฆ่าตัวตาย เนื่องจากเงินนั้นเป็น “เงินที่เปื้อนเลือด” (มัทธิว 27:6) และดังนั้นจึงผิดพระบัญญัติที่จะเก็บไว้ในคลัง ผู้นำชาวยิวจึงใช้เงินนั้นชื้อทุ่งช่างหม้อ ที่สำหรับฝังศพคนแปลกหน้า (หรือคนต่างชาติ) มัทธิวกล่าวว่าเหตุการณ์นี้ทำให้คำพยากรณ์ที่พบใน เศคาริยาห์ 11:12–13 เกิดสัมฤทธิผล
เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนผลัดกัน อ่าน ออกเสียงจาก มัทธิว 27:11–14 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาข้อกล่าวหาที่ผู้นำชาวยิวกล่าวโทษพระเยซูต่อหน้าปีลาต
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 ปีลาตถามอะไรพระเยซู
อธิบายว่าผู้นำชาวยิวกล่าวหาว่าพระเยซูเป็นกบฏ หรือพยายามล้มล้างรัฐบาลโรมัน และอ้างว่าพระเยซูประกาศว่าพระองค์เป็นกษัตริย์และพยายามจัดตั้งอาณาจักรของพระองค์เอง
-
ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 14 เหตุใดปีลาตจึงประหลาดใจยิ่งนัก
ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะพูดอะไรกับปีลาตเพื่อปกป้องพระผู้ช่วยให้รอดหากพวกเขามีโอกาสพูด เชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขากับชั้นเรียน
สรุป มัทธิว 27:15–16 โดยอธิบายว่าทุกปีระหว่างเทศกาลปัสกา เป็นธรรมเนียมของผู้ปกครองชาวโรมันที่จะให้อภัยโทษอาชญากรที่ต้องโทษ มีการอนุญาตให้ผู้คนเลือกนักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัว นักโทษซึ่งเป็นที่รู้จักในช่วงที่พระเยซูถูกคุมขังเป็นชายคนหนึ่งชื่อบารับบัส ผู้ต้องโทษเป็นขโมย ก่อกบฏต่อต้านอำนาจโรมัน และฆาตกร
เชิญนักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มัทธิว 27:17–25 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าปีลาตถามอะไรฝูงชนที่มาประชุมกันที่ราชสำนักของผู้ปกครอง
มัทธิว 27:26–50
พระเยซูถูกโบยตี ล้อเลียน และตรึงกางเขน
ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 27:26 และเชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูคริสต์ถูกกระทำอะไรบ้างก่อนจะถูกส่งไปตรึงกางเขน
-
ถูกโบยตีหมายความว่าอย่างไร (ถูกเฆี่ยนซ้ำๆ )
ท่านอาจให้นักเรียนดูหินก้อนเล็กที่มีปลายแหลมหรือปลายหยักและอธิบายว่าเชือกที่ใช้สำหรับการโบยตีมักจะมีวัตถุปลายแหลม (เช่นก้อนหิน โลหะ หรือกระดูก) ถักใส่เกลียวเชือก การลงโทษนี้มักสงวนไว้สำหรับคนรับใช้ ขณะที่คนสูงศักดิ์หรือเสรีชนของโรมจะถูกตีด้วยไม้เรียว หลายคนไม่รอดจากการโบยตีเนื่องจากการบาดเจ็บทางร่างกายแสนสาหัสที่เกิดขึ้น
เชื้อเชิญให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มัทธิว 27:27–32 ขอให้ชั้นเรียนดูตาม โดยมองหาว่าทหารโรมันทำอะไรกับพระเยซู
-
ทหารโรมันล้อเลียนอะไรพระเยซู
-
ท่านคิดว่าเหตุใดทหารจึงหาคนแบกกางเขนให้พระเยซู (พระเยซูอาจจะอ่อนกำลังหลังจากประสบกับความเจ็บปวดที่เกินจะจินตนาการได้และเสียพระโลหิตเป็นจำนวนมากในเกทเสมนีและขณะถูกโบยตี)
-
โดยที่รู้ว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก ท่านจะรู้สึกอย่างไรหากท่านถูกบังคับให้แบกกางเขนของพระเยซู
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 27:33–34 และขอให้ชั้นเรียนมองหาว่าพระเยซูทรงปฏิเสธที่จะทำอะไรก่อนถูกตรึงกางเขน
-
พระเยซูทรงปฏิเสธที่จะทำอะไร (ดื่มสิ่งที่มีคนเอามาให้)
การให้เครื่องดื่มนี้ทำให้การพยากรณ์ที่อยู่ใน สดุดี 69:21 เกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจต้องการอธิบายว่าเหล้าองุ่น “ผสมกับของขม” (มัทธิว 27:34) หรือที่มาระโกบันทึกว่า “เหล้าองุ่นผสมกับมดยอบ” (มาระโก 15:23) เป็นธรรมเนียมการให้เพื่อเป็นยาระงับความเจ็บปวดของคนที่กำลังจะตาย โดยการปฏิเสธที่จะดื่ม พระเยซูทรงเลือกอย่างใคร่ครวญแล้วว่าจะไม่ทำให้ประสาทสัมผัสของพระองค์เฉื่อยชา ทรงแสดงความตั้งพระทัยที่จะครองสติตลอดทั้งการทนทุกข์เพื่อการชดใช้ที่เหลืออยู่
ขอให้นักเรียนหลายๆ คนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก มัทธิว 27:35–45 ขอให้ชั้นเรียนมองหาสิ่งอื่นที่ผู้คนทำเพื่อล้อเลียนหรือล่อลวงพระเยซู
-
ผู้คนล้อเลียนหรือล่อลวงพระเยซูอย่างไร
-
โดยที่รู้ว่าพระเยซูทรงมีพลังอำนาจที่จะปลดปล่อยพระองค์ ท่านคิดว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ลงมาจากกางเขน
เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน มัทธิว 27:46 ในใจ โดยมองหาสิ่งที่พระเยซูตรัสขณะอยู่บนกางเขน
-
พระเยซูตรัสอะไร (“พระเจ้าของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?”)
เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานี้ เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง
“ด้วยความเชื่อมั่นสุดจิตวิญญาณ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า … พระบิดาผู้ทรงดีพร้อม ไม่ ได้ทรงทอดทิ้งพระบุตรของพระองค์ในโมงนั้น ตามจริงแล้ว ด้วยความเชื่อส่วนตัว ข้าพเจ้าเชื่อว่าในการปฏิบัติศาสนกิจของพระคริสต์ขณะประทับอยู่บนแผ่นดินโลก พระบิดาไม่เคยทรงอยู่ใกล้พระบุตรของพระองค์มากกว่าช่วงเวลาสุดท้ายแห่งความทุกข์ทรมานอันขมขื่นนี้ อย่างไรก็ดี … พระบิดาทรงถอนการปลอบประโลมของพระวิญญาณออกไปชั่วครู่จากพระเยซู ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากการประทับอยู่ของพระองค์” (“ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 107)
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ทรงถอนพระวิญญาณของพระองค์ออกจากพระเยซูในช่วงเวลานี้
เพื่อช่วยนักเรียนระบุความจริงจาก ข้อ 46 อ่านคำกล่าวที่เหลือจากเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์
“แต่นี่เป็นข้อกำหนด โดยแท้แล้วนี่เป็นส่วนสำคัญของการชดใช้ว่าพระบุตรผู้ทรงดีพร้อมพระองค์นี้ ผู้ไม่เคยรับสั่งวาจาหยาบหรือทรงทำสิ่งผิด หรือทรงสัมผัสสิ่งไม่สะอาด ต้องทรงรู้ว่ามนุษยชาติ—เราทุกคน—รู้สึกอย่างไรเมื่อเราทำบาปเช่นนั้น เพื่อให้การชดใช้ของพระองค์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ พระองค์ต้องทรงรู้สึกว่าจะเป็นเช่นไรที่ต้องสิ้นพระชนม์ไม่เพียงทางวรกายเท่านั้นแต่ทางวิญญาณด้วย เพื่อจะทรงสัมผัสได้ว่าจะเป็นเช่นไรเมื่อพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จากไป ทิ้งให้รู้สึกอ้างว้างเดียวดาย น่าสลดใจ สิ้นหวังเพียงลำพัง” (“ไม่มีใครอยู่กับพระองค์,” 107)
-
ตามที่กล่าวใน มัทธิว 27:46 และคำกล่าวของเอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์ ท่านจะสรุปสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบในส่วนหนึ่งของการชดใช้อย่างไร (นักเรียนอาจใช้คำพูดต่างกัน แต่ให้แน่ใจว่าพวกเขาระบุความจริงต่อไปนี้ ในส่วนหนึ่งของการชดใช้ พระเยซูคริสต์ทรงรู้สึกถึงการถอนตัวของพระวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์)
-
ตามที่เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์กล่าว เหตุใดพระเยซูคริสต์ทรงประสบกับการถอนตัวของพระวิญญาณ (เพื่อรู้สึกว่าความตายทางวิญญาณเป็นอย่างไร)
อธิบายว่าเราประสบความตายทางวิญญาณ หรือการถอนตัวของพระวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ เมื่อเราทำบาป เป็นพยานว่าเนื่องจากพระเยซูคริสต์ประสบกับความตายทางวิญญาณในสวนเกทเสมนีและบนกางเขน พระองค์ทรงช่วยเราได้เมื่อเราแยกออกจากพระวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์เนื่องจากการเลือกที่ไม่ดีของเรา พระองค์จะทรงช่วยเราเช่นกันเมื่อเรารู้สึกโดดเดี่ยว
เชื้อเชิญให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 27:50 และบางส่วนจากงานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 27:54 ซึ่งเปลี่ยนประโยคว่า “พระเยซู, เมื่อพระองค์ทรงร้องเสียงดังอีกครั้งว่า พระบิดา สำเร็จแล้ว พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จแล้ว แล้วสิ้นพระชนม์” โดยมองหาว่ามีอะไรอื่นอีกที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสระหว่างอยู่บนกางเขน
-
ตามที่กล่าวไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธในข้อนี้ เหตุใดพระเยซูทรงทนรับทุกขเวทนาทุกอย่าง (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระเยซูคริสต์ทรงทนรับทุกขเวทนาเพื่อให้พระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์เกิดสัมฤทธิผล)
เตือนความจำนักเรียนถึงบทเรียนที่ผ่านมา ซึ่งพวกเขาศึกษา มัทธิว 26 และเรียนรู้เกี่ยวกับการทนทุกข์ของพระผู้ช่วยให้รอดในสวนเกทเสมนีและความเต็มพระทัยของพระองค์ที่จะยอมให้พระประสงค์ของพระองค์เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนเขียน มัทธิว 26:39 เป็นข้ออ้างโยงไว้ในพระคัมภีร์ใกล้กับ มัทธิว 27:50 เพื่อช่วยให้พวกเขาไม่ลืมว่าพระเยซูทรงทำสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทำ
-
เหตุใดพระบิดาทรงมีพระประสงค์ให้พระเยซูทรงประสบทุกขเวทนาดังที่พระองค์ทรงประสบ โดยเริ่มที่เกทเสมนีและถึงจุดสูงสุดบนกางเขน
อธิบายว่าหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะแสดงความสำนึกคุณของเราต่อพระเจ้าสำหรับสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์เพื่อเราคือการดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม กลับไปดูข้อความที่ไม่ครบถ้วนบนกระดานที่ท่านเขียนเมื่อเริ่มชั้นเรียน “วันนี้ฉันเห็นและรู้สึก …” เชื้อเชิญให้นักเรียนเติมข้อความให้ครบถ้วนในสมุดจดหรือสมุดบันทึกการศึกษาพระคัมภีร์ของพวกเขา หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนสองสามคนมาแบ่งปันสิ่งที่เขียน